• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุยกับผู้อ่าน

คุยกับผู้อ่าน


“หมอชาวบ้าน” ฉบับในมือท่านผู้อ่านว่าด้วยเรื่อง เบาหวาน อันเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่ง ประเทศใด ๆ ก็ตามมักจะมีอัตราคนเป็นเบาหวานประมาณร้อยละ 2 ถึง 3 ประเทศไทยมีพลเมืองเกือบ 50 ล้านคน ก็จะมีผู้เป็นเบาหวานกว่า 1 ล้านคน!

ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน และได้รับการรักษาอยู่ทั่วประเทศคงมีจำนวนไม่กี่พันคน คนเป็นเบาหวานเกือบทั้งหมด คือประมาณ 1 ล้านคน ไม่ได้รับการวินิจฉัย และไม่ได้รับการรักษา เมื่อไม่ได้รับการรักษา ก็จะมีสิ่งแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ตามัว มือเท้าชา ขาเป็นแผลเน่าจนต้องตัดขา เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจนหมดสติ และตาย หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ไตเสื่อม จนตายจากไตวาย เป็นต้น
ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เราจะเห็นผู้ป่วยเบาหวานที่มีสิ่งแทรกซ้อนเหล่านี้เป็นประจำ เพราะเรามีมวลชนเบาหวาน ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งไม่ได้รับการรักษา คอยปล่อยให้เกิดอาการแทรกซ้อนอยู่ แล้วเราก็รอรักษาอาการแทรกซ้อนกัน ซึ่งก็มักจะเป็นการสายเสียแล้ว ปัญหาเบาหวานจึงสะท้อนให้เห็นว่ายุทธวิธีในการแพทย์ของเราเป็นแบบตั้งรับ

แท้ที่จริงจะต้องตั้งรุกออกแก้และป้องกันปัญหาอย่าให้มันเกิดขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานทั้ง 1 ล้านคนจะ ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ ถ้าจะให้ประชาชนทั้งประเทศแห่กันไปตรวจเบาหวานที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะพัง เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปได้ก็คือ สอนให้ประชาชนตรวจน้ำตาลในปัสสาวะของตนเอง ซึ่งทำได้แน่นอน เราเคยลองมาแล้ว ต่อผู้ที่ตรวจพบจึงค่อยรับการตรวจยืนยันว่าเป็นเบาหวานแน่นอนหรือไม่

การรักษาเบาหวานที่ดีที่สุดก็คือ ประชาชนมีความรู้ในการรักษาตัวเอง เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนไปประชุมที่สหรัฐอเมริกา ได้รับคำบอกเล่าว่าผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ได้รับการรักษาไม่ดี เพราะในอเมริกามีการเน้นที่การพึ่งแพทย์มากเกิน แพทย์ถึงจะมีความรู้ดี แต่ก็มีธุระยุ่งมากเกินกว่าที่จะสนใจจดจำและสามารถให้การรักษาที่ดีแก่ทุก ๆ คนได้อย่างสม่ำเสมอ ตัวของตัวเองแต่ละคนนั่นแหละที่สนใจ ห่วงใย และหวังดีต่อตัวเองมากที่สุด หน้าที่ของแพทย์คือให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับคอยช่วยรักษาปัญหาแทรกซ้อนที่ยาก เป็นความสามารถของผู้อื่น ส่วนการรักษาประจำนั้นถ้าแต่ละคนทำเองแล้วจะได้ผลดีที่สุด

นี่คือหลักการของ “หมอชาวบ้าน” และหลักการของการสรธารณสุขมูลฐาน ขอให้ชุมชนทุกแห่งช่วยกันรณรงค์ให้มีการตรวจและรักษาเบาหวานกันอย่างทั่วถึงเพื่อความสุขและความมีอายุยืนของเพื่อนร่วมชาติของเราเอง.

 

ข้อมูลสื่อ

19-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 19
พฤศจิกายน 2523
ศ.นพ.ประเวศ วะสี