• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษาฟันที่เหลืองดำจากยาเตตร้าซัยคลีน

การรักษาฟันที่เหลืองดำจากยาเตตร้าซัยคลีน


เมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน ได้มีการศึกษาค้นคว้าถึงการแก้ปัญหาเนื้อฟันเปลี่ยนสี โดยเฉพาะจากการกินยาเตตร้าซัยคลีนเกินขนาดในวัยเด็กเล็ก ผู้ทดลองได้กรอฟันซี่ที่ต้องการแก้ไขออก แล้วใช้วัสดุอุดฟันหน้า ซึ่งมีลักษณะเหมือนยาหม่องแห้ง ๆ 2 กระปุก ควักออกมาอย่างละปริมาณใกล้เคียงกันรวม ๆ แล้วให้ได้เท่ากับขนาดที่จะใช้อุดลงบนฟัน ผสมแล้วอุดลงบนฟันหน้าก็สามารถแก้ปัญหาฟันสีไม่สวยได้ ต่อมาได้มีผู้พัฒนาวัสดุใหม่ ๆ ให้มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้กรดกัดหน้าฟันที่กรอเตรียมไว้แล้ว เพื่อให้วัสดุอุดฟันยึดติดอยู่กับเนื้อฟันได้ดียิ่งขึ้น (เรียกว่า ACID ETCHING TECHNIC) หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาวัสดุอุดฟันขึ้นมาอีก โดยสามารถเทียบสีฟันตามที่ต้องการได้ ทำให้แก้ปัญหาเรื่องความสวยงามได้ตรงจุดยิ่งขึ้น

จนเมื่อสักปีสองปีมานี้ ได้มีบริษัทผู้ผลิตวัสดุทันตกรรมบริษัทหนึ่งในอเมริกา ได้พัฒนาวิธีการต่าง ๆ ข้างต้นขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เรียกว่า ระบบเดนแมตลามิเนต (DEN-MAT LAMINATE SYSTEM) ตามชื่อบริษัทเดนแมต (DEN-MAT)

วิธีการก็คล้าย ๆ กัน คือ กรอหน้าฟันซี่นั้น ๆ ออกเสีย เอากรดลงไปกัดเสียหน่อย ผสมวัสดุอุดฟัน จำเป็นผงกับน้ำให้เหลวข้นได้ที่ แล้วใส่ลงในกระบอกฉีดยาเฉพาะกิจ ฉีดลงบนหน้าฟัน เพราะการแต่งหน้าฟันใหม่นี้ ที่จะให้เหมือนหน้าฟันเดิม เป็นเรื่องยากพอ ๆ กับการแต่งหน้าขนมเค้กโดยผู้ที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงได้มีพลาสติคใส รูปร่างเดียวกับฟันซี่นั้น ๆ เรียกว่า “มงกุฎฟัน” หรือ คารวน์ (CRWN) ครอบลงไปบนหน้าฟันที่มีวัสดุอุดฟันเหลว ๆ กองอยู่ พอวัสดุนั้นแข็งก็เอาคราวน์นั้นออก
แต่งเสียหน่อยก็สวยจนแทบไม่อยากไปไหนพ้นจากหน้ากระจก

เทคนิคของบริษัทนี้มีให้เลือก 6 สีด้วยซ้ำไป เพื่อให้เข้ากับสีของผิว สีของนัยน์ตา และให้เหมาะสมกับวัย นอกจากบริษัทนี้แล้ว ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่นำเสนอวัสดุอุดฟันแบบอื่น ๆ บ้างก็ต้องใช้แสงอุลตราไวโอเลตฉายส่องลงไป เพื่อให้วัสดุอุดฟันนั้นแข็งตัว แต่ก็เป็นอันตรายแก่ดวงตาได้

วิธีใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาเนื้อฟันมีสีไม่เป็นที่จรุงใจแก่ผู้พบเห็นนี้ เท่าที่ย่อ ๆ ก็มีดังที่ได้เล่าให้ฟังนั่นแหละ รายละเอียดบางขั้นบางตอนได้ข้าม ๆ ไปเพื่อประหยัดหน้ากระดาษ และถนอมความคิดของผู้อ่านที่ต้องคอยวาดภาพตามผู้เขียน
หรือถ้าจะทำตามความคิดสมัยเก่า ๆ ก็ต้องกรอฟันออกโดยรอบซี่ แล้วทำฟันปลอมใหม่ครอบลงไปเป็นซี่ ๆ ซึ่งวิธีนี้เสียเนื้อฟัน เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า


รวม ๆ แล้วไม่ต้องถอนฟันเลย

 

ข้อมูลสื่อ

19-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 19
พฤศจิกายน 2523
อื่น ๆ
วิจารณ์ หอประยูร