• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคประสาท ประเภทต่าง ๆ (ตอนที่ 2)

โรคประสาท ประเภทต่าง ๆ (ตอนที่ 2)

ลักษณะที่เกิดของโรคเส้นประสาทนั้น จะเห็นได้ไม่ยากนัก ถ้าหากใช้การเปรียบเทียบ อย่างเช่น เมื่อคน ๆ หนึ่งมีความต้องการอะไรขึ้นมา เขาก็ย่อมดิ้นรนที่จะหาสิ่งเหล่านั้นมาให้ได้ แต่ความต้องการบางชนิด เป็นการขัดกับส่วนสูงของจิตใจ ถึงแม้จะอยากสักเพียงใด ก็ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากประเพณีก็ดี ความอดกลั้นก็ดี ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมก็ดี ทำให้เราต้องเหนี่ยวรั้งตัวเองให้อยู่ในวิถีที่ชอบของชีวิต บางคนก็เหนี่ยวรั้งได้โดยสะดวก เพราะมีกำลังใจเข้มแข็งพอ ได้รับการฝึกฝนมาดีพอ และมีสิ่งแวดล้อมที่พอจะชักจูงไปทางอื่นเสียได้ ก็พอจะทนต่อความอยากความใคร่เช่นนั้นได้ แต่บางคนจิตใจเบื้องต่ำมันมากเกินไป เกินที่จะเหนี่ยวรั้งเอาไว้ได้ และจิตใจเบื้องสูงก็อ่อนแอ ผลสุดท้ายก็ทำสิ่งซึ่งไม่น่าจะทำ จนเสียผู้เสียคนไป พาลเกเรไปก็มากเป็นโรคจิตไปก็มาก

มีบุคคลอีกจำพวกหนึ่ง ที่บุคลิกลักษณะเดิมก็อ่อนแอ ถึงแม้จะมีความต้องการไม่มากนัก แต่ความเหนี่ยวรั้งสูงจนเกินควร ก็อาจจะทำให้ต้องอยู่ในสภาพที่คับแค้นใจอยู่ตลอดเวลา ความคับแค้นอันนี้ ในบางโอกาสก็ทำให้บุคคลผู้นั้นเป็นทุกข์มาก แต่คนเราจะอยู่ในความทุกข์เช่นนั้นไมได้นานเท่าไร จะต้องมีทางออกทางหนี ทางออกง่าย ๆ ก็เช่นความขี้ลืม ช่วยให้เราลืมสิ่งอื่น ก่อให้เกิดความคับใจ และบางครั้งเราก็มีทางออกที่ปฏิบัติได้ เช่น เพลิดเพลินไปในการกีฬาบ้าง ในการตากอากาศบ้าง สำหรับผู้ที่ไม่มีหนทางหรือทางออกดังกล่าวก็เกิดอาการกลุ้มใจ

ความกลุ้มใจนี้เป็นเรื่องของ อารมณ์ และอารมณ์นั้นเราพิสูจน์ได้แน่นอนว่า นอกจากทำให้เกิดอาการทางจิตแล้ว ยังมีอาการทางร่างกายอีกด้วย เช่นเวลาโกรธขึ้นมา ที่ว่าหน้าเขียวหน้าเหลือง บางคนตกใจมากเลยปวดท้อง ลักษณะอาการเช่นนี้เป็นลักษณะเฉพาะบุคคล และเป็นทางช่วยตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ดังนั้นในคนที่บุคลิกลักษณะอ่อนแอ เมื่อพบกับความยุ่งยากใจ แล้วหาทางออกทางหนีไม่ได้ ก็จะต้องออกมาเป็นอาการทางร่างกาย อย่างเช่น ที่เขียนในฉบับที่แล้ว คือ อาการเหนื่อยอ่อนบ้าง เจ็บปวดบ้าง ท้องไส้ไม่ปกติบ้าง ชีพจรเต้นเร็ว หรือช้ากว่าธรรมดาบ้าง อาการซู่ซ่าตามผิวหนังบ้าง เหล่านี้เป็นต้น

อาการต่าง ๆ เมื่อรวมกลุ่มกันเข้าก็เป็นประเภทของโรคไป โรคทางประสาทที่พบมากที่สุด ก็อาจจะมีได้ดังนี้
1. พวกที่รู้สึกตัวว่าไม่สบาย
ให้มีอาการเจ็บปวดที่โน่นที่นี่ รู้สึกไม่สบายไม่มากก็น้อยอยู่เสมอ เช่นปวดศีรษะตุบ ๆ รู้สึกถ่วงในลูกตา กินไม่ได้รส รู้สึกมีก้อนในหน้าอก รู้สึกว่าอาหารย่อยไม่ดี รู้สึกเจ็บที่โน่นที่นี่ ครั้งแรกก็เป็นเล็ก ๆ น้อย ต่อมาก็เคยเข้าจนเป็นนิสัย จนในที่สุดคนไข้มักจะมีอาการมากกว่าที่ควร และเป็นเหยื่อของอาการเหล่านี้ โดยไม่มีความหมายเท่าไรนัก ต้องมีอาการเป็นคนไข้อยู่เสมอ จนเพื่อนฝูงญาติพี่น้องไม่เอาใจใส่ อาการเหล่านี้จะสามารถรักษาให้หายได้ถ้าได้ทำความเข้าใจในเรื่องความเป็นมาของโรคโดยแท้จริง และรู้จักเนื้อแท้ของตัวเองมากขึ้น

2. พวกเหนื่อยอ่อน
พวกนี้มีอาการมาก ดูหมดเรี่ยวหมดแรงเอาจริง ๆ เหมือนกับที่ว่าประสาทอ่อนเพลีย และเชื่อผิด ๆ ว่าต้องพักเท่านั้นจึงจะหาย แต่ความจริงแล้วยิ่งพักไปก็ยิ่งเหนื่อยมาก จึงควรที่จะได้มีการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นจนเป็นกิจวัตร กล้ามเนื้อจะแข็งแรงขึ้น รู้สึกตัวเองว่าสมบูรณ์ขึ้น จะได้อยากอยู่ในโลกมากขึ้น
 

3. คอนเวอร์ชั่น หรือ ฮีสทีเรีย
บางครั้งก็เรียกกันว่า โรคอุปาทาน และก็เป็นเรื่องอุปาทานจริง ๆ เพราะไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องรักหรือเรื่องเซ็กส์ (เรื่องกามารมณ์) อะไรทั้งสิ้น ความจริงมีอยู่ว่าผู้ป่วยมีอารมณ์ไม่สงบอย่างรุนแรง แล้วมีความคิดสับสนกันอยู่ในบางครั้ง จึงเกิดมีอาการเทียมทางร่างกายขึ้น เช่น อาการอัมพาต อาการชา อาการเช่นนี้ก็เป็นทางออกธรรมชาติ ตามปกติเวลาไม่พอใจขึ้นมามาก ๆ ก็ร้องกรีด บางคนก็กระทืบเท้า เตะ ถีบ และมีลักษณะทางร่างกายที่รุนแรงอย่างอื่น ๆ เหมือนกับว่าดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากเหล่านั้น แต่ส่วนใหญ่ก็ทำไปชั่วครู่ จึงไม่ใช่เป็นโรค ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไร ถ้าถูกบีบคั้นหนัก ๆ เข้าก็จะมีอาการเหมือนเด็ก ๆ ซึ่งเป็นอาการอุปาทานก็ได้ และตอนนี้ควรจะเลิกใช้คำว่า ฮิสทีเรียได้แล้ว
 

4. พวกหวาดกลัวตกใจง่าย
พวกที่มีความกระวนกระวายจัดกลัวที่จะต้องไปที่นั่นที่นี่ กลัวแม้กระทั่งจะกินจะอยู่ กลัวจะไม่สบาย คนไข้เหล่านี้มักจะเคร่งเครียด เอาจริงเอาจัง ไม่ค่อยฟังเหตุผล หงุดหงิดง่าย คล้าย ๆ กับกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ และกลัวในสิ่งซึ่งไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่ตัวเอง ความกลัวเป็นเรื่องสัญชาตญาณ เป็นเรื่องของอารมณ์ตามปกติ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายขายหน้า และไม่มีอันตรายอย่างใด ถ้าหากปล่อยเฉย ๆ เสียบาง เลิกเอาใจใส่เสียบ้าง มันก็จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากฝังจิตฝังใจอยู่มันก็จะเหมือนสนิม ซึ่งทำให้เหล็กกร่อนลงทุกวัน ความกลัวเหมือนปืนซึ่งมีลูกปืนชนิดซ้อมรบเท่านั้น ไม่ใช่กระสุนจริง จึงไม่ควรจะฝังจิตฝังใจให้เป็นอันตรายแต่อย่างใด ส่วนความกระวนกระวายนั้น ก็เกิดขึ้นขากความกลัว การศึกษาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ก็จะช่วยให้ความหวาดกลัวและความกระวนกระวายลดน้อยลง ความจริงนั้น ความกลัวทำให้เรากล้า เพราะเป็นเรื่องตรงกันข้าม การเข้าใจเรื่องกลัว บางทีก็ทำให้สบายใจขึ้น กล้าขึ้น
 

5. พวกซึมเศร้า
อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างที่ร่างกายอ่อนแอและโดยเฉพาะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมาก ๆ เช่น เมื่อถึงวัยที่จะหมดประจำเดือน หรืออาจจะเกิดเพราะความยุ่งใจ คับใจ ทำให้มีความเศร้าจัด ความจริงแล้ว แม้แต่ในคนปกติ อารมณ์ของเราก็ขึ้นๆ ลงๆ อยู่เสมอ บางครั้งก็ดีใจ บางครั้งก็เสียใจ เป็นไปอย่างนี้ทุกวัน แต่บางคนจะเสียใจมากกว่าดีใจ มีความฝังจิตฝังใจในเรื่องเศร้า ๆ ต่าง ๆ ความเศร้าก็มีมากกว่าปกติ ร่างกายและจิตใจก็เงื่องหงอยเชื่องช้า ใจคอวอกแวกตั้งใจไม่ได้ บางทีก็ทำให้มึนงง บางทีก็ทำให้ว้าเหว่ ไม่ค่อยอยากพบเพื่อนฝูง ใจคอหดหู่ มักจะปรักปรำตัวเองว่าเป็นคนไม่มีประโยชน์ ไม่มีหวังที่จะรักษาให้หาย เขาเปรียบเทียบคล้าย ๆ กับว่าใส่แว่นสีน้ำเงินมองดูโลก ก็เห็นโลกในแง่มืด ๆ มัว ๆ เขาเหล่านี้ก็นึกว่าโลกนี้เป็นสีอะไรยากที่จะแจ้ง แต่อย่างไรก็ตาม อาการซึมเศร้านี้มักจะมีเวลาจำกัด เพราะเราจะทนอยู่ได้ไม่นานนัก เมื่อเข้าใจตัวเองดีขึ้น ยอมรับข้อเท็จจริงของโลก อาการนั้น ๆ ก็จะหายไป

6 พวกทอดอาลัย
แพ้แรงแพ้ใจของตัวเอง มักจะเกิดขึ้นแก่ผู้ซึ่งมีความเคร่งเครียดทางร่างกายและจิตใจมานาน ๆ ขาดความรอบคอบในการใช้ชีวิต ทางประสาทก็ปั่นป่วน คล้าย ๆ เกิดพิษขึ้นในตัวเอง เหมือนกับพิษของโรคทางร่างกาย พวกนี้เมื่อป่วยตอนแรกจะเห็นว่ามีอาการหนักมาก ถ้าได้พักและได้รับการรักษาก็จะหายได้อย่างรวดเร็ว

7. พวกติดเหล้า
การที่ดื่มเหล้าเป็นอาจิณหรือที่บางท่านเรียกว่าสุราวิสัยนั้น มักจะเป็นผลเนื่องจากประสาทไม่เป็นปกติ คนที่ใจคอเข้มแข็งปลอดโปร่ง มักจะไม่ดื่มจนเกินควร พวกที่ดื่มนี้เนื่องมาจากชีวิตไม่ค่อยผาสุก มีความยุ่งใจ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย และเหตุอื่น ๆ อีก รวมความก็เพื่อกลบเกลื่อนความผิดปกติของตัวเองจึงหาทางออกด้วยการดื่มสุรา

8. ความประพฤติแปรปรวน
อย่างเช่น ในเด็ก ๆ หรือในผู้ใหญ่ก็ตาม เมื่อรู้สึกไม่ค่อยเป็นสุข ก็มักจะมีนิสัย มีความประพฤติไม่ค่อยปกติไปด้วย อย่างเช่น เด็กบางคนที่มีนิสัยชอบขโมย ก็เนื่องมาจากความยุ่งยากใจ เหมือนกับคนพูดโกหกโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งความจริงไม่ต้องโกหกก็ได้ และนอกจากนั้นยังพบในพวกซึ่งมีความประพฤติผิดปกติทางเพศ หรือทางสังคมอื่นๆ อีกมาก จึงเป็นเรื่องที่พูดกันเสมอว่า คนที่ไม่ดีต่าง ๆ ถ้าจิตใจไม่ปกติก็คงจะเป็นโรค และโดยมากก็เป็นโรคทางประสาท จึงควรจะได้รับการรักษา

ตามที่กล่าวมานี้ เป็นชนิดต่าง ๆ ของโรคประสาท และยังมีโรคหรืออาการบางประเภทที่อาจจะเหลื่อมล้ำกันอยู่บ้าง แต่ก็มีชนิดใหญ่ๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเราทำความเข้าใจมัน ก็จะหายหวาดกลัว และหายกระวนกระวายเป็นปกติกับเพื่อนฝูงเขาได้
การทำความเข้าใจหรือรู้เรื่องโรค เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันตัวเองได้ จึงเป็นอุดมคติอันหนึ่ง ในการส่งเสริมสุขภาพจิต

 

ข้อมูลสื่อ

19-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 19
พฤศจิกายน 2523
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประสพ รัตนากร