• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก

 

                              

คอลัมน์สิบแปดมงกุฎ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อเร็ว ๆ นี้แจ้งว่า ได้มีผู้ตั้งตัวเป็นหมอเถื่อน โดยถือโอกาสที่กำลังมีไข้เลือดออกระบาด หลอกลวงชาวบ้านโดยเอาสายยางรัดแขนเด็กที่มีไข้ เมื่อมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังก็บอกผู้ปกครองว่า เด็กเป็นไข้เลือดออกต้องพาไปฉีดยารักษาทุกวัน บางรายก็ตายเพราะยาฉีดโดยที่เด็กไม่ได้เป็นไข้เลือดออกจริง ผู้ปกครองมักหลงเชื่อจนต้องเสียชีวิตลูกหลานและเงินทองไปโดยไม่สมควร”

เพื่อไม่ต้องตกเป็นเหยื่อในเรื่องนี้ ผู้ปกครองทั้งหลายควรทราบว่า อาการและความรุนแรงของไข้ เลือดออก แบ่งได้เป็น 4 ขั้น

ขั้นที่หนึ่ง
เด็กจะมีไข้สูง อาจมีอาการหวัด, ไอ หรือปวดศีรษะ, เบื่ออาหาร,อาเจียนร่วมด้วย

ขั้นที่สอง จะเริ่มมีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา, จุดเลือดออกใต้ผิวหนัง, อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

ขั้นที่สาม ไข้เริ่มลดหรือหายไป แต่เด็กกลับซึมลง ตัวเย็น ชีพจรเร็ว กระสับกระส่าย กระหายน้ำมาก ระยะนี้เด็กเริ่มช็อค

ขั้นที่สี่ ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหรือช็อครุนแรง โดยทั่วไปไข้เลือดออกจะหายได้เอง หลังจากมีไข้สูงอยู่ 5 วัน พวกนี้มีอาการอยู่ใน 2 ขั้นแรก มีเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นสามและสี่รวมกัน ต้องรับตัวไว้ในโรงพยาบาล เฉพาะขั้นที่ 4 อย่างเดียวพบได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเด็กมีอาการได้ 3-5 วันสังเกตให้ดีว่า เมื่อไข้ลด เด็กซึมลง มือเท้าเย็นจัดหรือไม่ เพราะจะเริ่มช็อคได้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

วิธีตรวจอย่างคร่าว ๆ ที่เชื่อถือได้
คือ การทำการทดสอบโดยวิธีรัดแขน (การทดสอบทูร์นิเกต์) ต้องใช้เครื่องวัดความดันโลหิต (รายละเอียดมีใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 6) บีบลูกยางจนปรอทขึ้นไปอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างค่าซีสโตลิค กับไดแอสโตลิค คอยระวังให้ระดับอยู่คงที่ตลอดเวลา นาน 5 นาที แล้วลดแรงดันลงจนถึงศูนย์ ตรวจดูที่ผิวหนังต่ำกว่าที่รัดแขน ถ้ามีจุดเลือดออกมากกว่า 20 จุด ในเนื้อที่กว้าง 1 นิ้วฟุต ยาว 1 นิ้วฟุต แสดงว่าการทดสอบให้ผลบวก ถ้าไม่มีจุดเลยหรือมีน้อยกว่านี้ แสดงว่าการทดสอบเป็นลบ (การใช้สายยางรัดไม่ถูกต้องเพราะแรงรัดไม่ได้มาตรฐาน) การแปลผลต้องระวังให้มาก เพราะไข้หวัดหรือไข้ออกผื่นอื่น ๆ ก็ให้ผลบวก นอกจากนี้ ไข้เลือดออกขั้นช็อคอาจให้ผลลบได้ จึงต้องดูอาการและการเปลี่ยนแปลงทุกวันประกอบไปด้วย
 
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง เมื่อเด็กมีไข้สูง สงสัยเป็นไข้ เลือดออก ห้ามใช้ยาลดไข้พวกแอสไพริน, ยาตราหัวสิงห์, ทัมใจ, ประสระนอแรด, บวดหาย ฯลฯ เพราะจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เลือดออกมากขึ้น ให้ใช้ยาแก้ไข้พาราเซตามอลเท่านั้น และให้ดื่มน้ำมาก ๆ มีวิธีทำน้ำเกลือดื่มง่าย ๆ คือต้มน้ำ 1 ขวดน้ำปลาใหญ่ ใส่เกลือป่นครึ่งช้อนชา น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ดื่มให้หมดในเวลา 4 ถึง 6 ชั่วโมง

เนื่องจากยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง การป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ยุงลายซึ่งเป็นตัวนำเชื้อจะออกหากินเวลากลางวัน และไข่ในน้ำสะอาด เช่น ตุ่มน้ำที่เปิดฝาไว้, จานรองตู้กับข้าว, น้ำฝนที่ขังตามภาชนะต่าง ๆ จึงต้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและให้เด็กนอนกางมุ้งในเวลากลางวันด้วย

 

ข้อมูลสื่อ

19-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 19
พฤศจิกายน 2523
อื่น ๆ