• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคไม่แสดงอาการ (ตอนที่ 1)

โรคไม่แสดงอาการ (ตอนที่ 1)

เย็นวันหนึ่ง เมื่อหมอกลับถึงบ้าน ก็มีญาติผู้ป่วยที่รู้จักมักคุ้นกันคนหนึ่งวิ่งกระหืดกระหอบมาตามหมอให้ไปดูผู้ป่วยที่บ้านซึ่งอยู่ใกล้ๆ

“คนไข้บ่นจุกแน่นหน้าอกมาตั้งแต่เมื่อคืน เย็นนี้เข้าห้องน้ำ จู่ๆ ก็เป็นลมหมดสติฟุบคาห้องน้ำ...” ญาติเล่าให้หมอฟัง

ผู้ป่วยเป็นหญิงอายุ 50 ปีเศษ เป็นโรคความดันเลือดสูงมาร่วม 10 ปี แต่รักษาตัวไม่สม่ำเสมอ จะแวะมาหาหมอเฉพาะเวลารู้สึกปวดศีรษะ ถ้าช่วงไหนรู้สึกสบายดีก็ไม่ยอมมารับยา ทั้งๆ ที่หมอกำชับนักกำชับหนาว่า

“โรคนี้มักจะไม่แสดงอาการ ทั้งๆ ที่ความดันขึ้นสูงจนน่าอันตราย ผู้ป่วยก็อาจรู้สึกสบายดีก็ได้ ดังนั้นต้องหมั่นมาให้หมอตรวจและกินยาอย่าได้ขาด หากขาดการรักษานานๆ ก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงได้...”

ผู้ป่วยรับคำ แต่ก็จะเงียบหายไปประมาณ 4-5 เดือนจึงจะแวะมาที ผู้ป่วยจึงขาดยามากกว่าได้ยารักษา

เมื่อหมอมาถึงบ้านผู้ป่วย และตรวจดูอาการผู้ป่วยที่นอนแน่นิ่งอยู่บนพื้น พบว่าผู้ป่วยหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นแล้ว จึงรีบทำการเป่าปากและนวดหัวใจ แต่ก็ไร้ผลเสียแล้ว

“ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลัน สิ้นใจได้พักใหญ่แล้ว รู้สึกเสียใจด้วยจริงๆ ครับ...” หมอกล่าวกับญาติผู้ป่วยในที่สุด

เหตุการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยคนแล้วคนเล่า

ผู้ป่วยมักเข้าใจว่า เมื่อเป็นโรคต้องมีอาการให้รู้สึกหรือสังเกตได้ เช่น เป็นหวัดก็ต้องมีอาการตัวร้อน คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแค็กๆ เป็นบิดก็ต้องมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือดกะปริดกะปรอย เป็นต้น

ถูกทีเดียว โรคที่เรารู้จักส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการให้เห็นชัดเจน แต่ก็มีโรคอยู่หลายชนิดทีเดียวที่ไม่ได้เป็นไปตามนี้ ตัวอย่างที่แพทย์เราทราบกันดี ก็คือ โรคความดันเลือดสูง

เมื่อถามว่า “โรคความดันเลือดสูงจะมีอาการอะไร”

คำตอบที่ได้รับเกือบร้อยทั้งร้อย ก็คือ “ปวดศีรษะ” “เวียนศีรษะ”

ผู้ตอบนั้นอาจเป็นชาวบ้าน ครู พระ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ความจริงก็คือ คนที่เป็นโรคความดันเลือดสูงส่วนใหญ่จะเป็นโดยไม่รู้ตัว เพราะจะไม่มีอาการอะไรบ่งบอก จะรู้ได้ต่อเมื่อใช้เครื่องมือตรวจวัดความดันเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน คนที่เป็นโรคนี้เมื่อได้รับยารักษา จะรู้ว่าโรคทุเลาหรือไม่ ก็มีอยู่ทางเดียว คือ การตรวจวัดความดันเลือด จะคาดเดาจากความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ แต่คนทั่วไปจะไม่เข้าใจ เพราะมันสวนทางกับความเคยชิน หรือการรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วย

คนที่เป็นโรคนี้ เมื่อไม่รู้ว่าเป็นโรค ก็จะไม่ไปหาหมอ ส่วนพวกที่เคยให้หมอตรวจ พบว่าเป็นความดันสูง เมื่อกินยาได้ไม่กี่วัน นึกว่าสบายดีแล้ว ก็ไม่ยอมกลับไปให้หมอตรวจซ้ำ จึงขาดยา ทั้งๆ ที่โรคนี้จำเป็นต้องอาศัยยาควบคุมไปเรื่อยๆ เมื่อปล่อยให้ความดันเลือดสูงอยู่นาน 5-10 ปี (โดยไม่รู้ตัว) ร่างกายก็ค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง (โดยไม่รู้ตัว) กล่าวคือ เส้นเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงร่างกายจะค่อยๆ ตีบตันทุกส่วน ทำให้อวัยวะต่างๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง อวัยวะเหล่านี้ก็จะค่อยๆ เสื่อมสลาย คล้ายต้นไม้ที่ค่อยๆ เฉาตายเพราะขาดน้ำ จนในที่สุดก็เกิดโรคหัวใจ โรคอัมพาต โรคไตพิการ โรคตาบอด แทรกซ้อนจนยากที่จะเยียวยาได้

มีอยู่บ่อยครั้งที่เราจะได้ข่าวว่าคนนี้ปุปปับเป็นโรคหัวใจหรือเส้นเลือดในสมองแตกตาย คนนั้นจู่ๆ เป็นอัมพาตนอนแบบหรือเดินไม่ได้ คนโน้นอยู่ๆ เป็นโรคไตพิการไม่ทำงาน ความจริงคนเหล่านี้ใช่ว่าจะปุบปับกลายเป็นโรคร้ายเหล่านี้ก็หาไม่ แต่ได้ถูกโรคความดันสูงบั่นทอนอย่างไม่รู้ตัวมานานแล้วต่างหาก
หากจะกล่าวว่า โรคความดันสูงเป็นเสมือน “มัจจุราชมืด” ที่คอยคุกคามชีวิตอย่างเงียบกริบ คงไม่ผิดกระมัง!

ข้อมูลสื่อ

129-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช