• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปิศาจแอลกอฮอล์

ปิศาจแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่แสดงการพัฒนาของสังคมไปสู่สังคมบริโภค เพราะว่าไม่ใช่เป็นการดื่มเพื่อดับกระหายเหมือนเวลาเราดื่มน้ำ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นการดื่มเพื่อสนองตัณหาหรือความอยาก

มีผู้พบหลักฐานว่า ในราวก่อนคริสตกาลประมาณ 400 ปี ในเมืองอเล็กซานเดรียสามารถกลั่นเหล้าได้แล้ว คำว่า “แอลกอฮอล์” (alcohol) มาจากภาษาอารบิกว่า alcohol ซึ่งหมายถึง ผงแร่แอนติโมนีออกไซด์ ที่ใช้ทาเปลือกตาให้ดำ จากนั้นคำนี้ก็มีการใช้ในสเปน โดยใช้คำว่า alcoholar ที่แปลว่า เปลี่ยนให้ดำ ส่วนในศตวรรษที่ 16 พาราเซลซัส (Paracelsus) ได้ใช้คำว่า alcohol vini เป็นคำแทนเครื่องดื่มที่สกัดจากเหล้าองุ่น จากนั้นคำนี้ก็กร่อนไปเหลือเพียง alcohol

การดื่มแอลกอฮอล์ในชนชาติต่างๆ นั้น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาค่อนข้างยาวนาน แต่เราพบว่า เมื่อพิจารณาจากทางกลุ่มศาสนา มีชาวคริสต์บางกลุ่มถือว่า การดื่มเหล้าองุ่นเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งทางศาสนา พระหรือนักบวชนิกายต่างๆ เช่น นิกายเยซูอิตก็สามารถดื่มเหล้าองุ่นได้ ในขณะที่ชาวคริสต์บางกลุ่มต่อต้านการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น นิกายมอร์มอน ในรัฐยูทาร์ของสหรัฐอเมริกาที่ปฏิญาณว่าจะไม่ดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต

ชาวอิสลามในหลายๆ ประเทศ เป็นกลุ่มศาสนาที่ใหญ่ที่สุดที่ได้ต่อต้านการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการห้ามอย่างได้ผล โดยใช้กฎศาสนาเป็นกฎหมายในบ้านเมือง ทั้งนี้เพราะชาวอิสลามซาบซึ้งดีถึงอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ส่วนประเทศไทยที่มีพลเมืองกว่าร้อยละ 90 ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ กลับใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับเงินที่ใช้ซื้อเชื้อเพลิง (เช่น น้ำมัน) เข้าประเทศในแต่ละปี เป็นสิ่งที่น่าอับอายที่ปรากฏการณ์นี้ได้เกิดขึ้นในประเทศที่อ้างตนว่า เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาของโลก มีวัดวาอารามทั่วไป แต่การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ (เช่น กระแช่ อุ น้ำขาว และสาโท) นั้น มีอยู่ทุกหัวระแหง

ดื่มเหล้าแล้วได้อะไร

ในทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเราทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็จะมีสิ่งที่ตอบแทนออกมา ดังนั้น หลังจากดื่มเหล้าแล้ว เราย่อมได้อะไรตามมาด้วยเสมอ สิ่งนั้น ได้แก่

1. สารอาหาร

สารอาหารที่ว่านี้ คือ สารที่ให้พลังงานในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์นี้เป็นสารที่ให้พลังงานถึง 7.1 กิโลแคลอรี/กรัม ซึ่งให้พลังงานสูงกว่าแป้งและโปรตีน แต่ต่ำกว่าไขมัน ปัญหาทางโภชนาการของแอลกอฮอล์ ก็คือ แอลกอฮอล์นั้นเป็นอาหารที่ให้พลังงานที่ว่างเปล่า (empty calory) ทั้งนี้เพราะว่าเป็นสารอาหารที่ทำให้เกิดอาการอิ่ม เป็นการอิ่มพลังงาน เมื่ออิ่มพลังงานแล้ว ร่างกายก็จะไม่มีความรู้สึกอยากอาหาร เมื่อไม่อยากอาหารก็จะส่งผลให้มีการขาดสารอาหารอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

2. ความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ชั่วขณะ

แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาทความคิดของผู้ที่ดื่มเข้าไป ผู้ที่ได้แอลกอฮอล์ถึงระดับหนึ่ง ประสาทจะยกเลิกการรับข้อมูลที่ไม่ต้องการ

ตัวอย่างเช่น ข้าราชการที่ไม่ได้ 2 ขั้นก็มักจะดื่มเหล้าเพื่อจะให้เกิดการยกเลิกข้อมูล หรือผู้ที่อกหักรักไม่สมหวังก็จะหาทางออกด้วยการดื่มเหล้าเข้าไปเพื่อให้ลืมความเศร้า จากนั้นก็จะมีการแสดงจิตใต้สำนึกออกมา จิตใต้สำนึกบางส่วนอาจเป็นความแค้น ความอาฆาตต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้เก็บมาเป็นเวลานาน เมื่อมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป จิตใต้สำนึกจะแสดงออกมาด้วยคำพูด หรือการกระทำ นอกจากการแสดงความเก็บกดในจิตแล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้บางคนเก็บหิริโอตตัปปะเข้ากระเป๋าไว้ชั่วคราว เช่น ทำให้ผู้ชายมีความกล้าหน้าด้านที่จะเข้าโรงอาบ อบ นวด หรือเที่ยวผู้หญิง ซึ่งพบมากในกลุ่มวัยรุ่น นิสิต นักศึกษา ในบางกรณีก็ทำให้ขาดสติยับยั้งจนอาจทำให้กลายเป็นโจร

3. การกลับไปสู่ห้วงทุกข์

เมื่อสร่างเมาแล้ว สถานการณ์ที่พยายามหลีกหนีก็จะเลวลง เพราะผู้ที่มัวเมากับการดื่มสุรานั้น จะเป็นผู้ที่ถูกดูหมิ่นจากสังคม เป็นตัวอย่างที่ใครๆ จะเอาไปสอนลูกหลานว่า เป็นลักษณะของคนที่ล้มเหลวในชีวิต

ผู้ที่ดื่มสุราจะไม่เป็นที่ต้องการของสังคม ทั้งหน้าที่การงานก็จะถูกดึงหรือยึดกลับคืนไป เมื่อสร่างเมาแล้วสมรรถภาพในทางความคิดก็จะตกต่ำ เชาว์ปัญญาจะลดลง เนื่องจากไม่สามารถที่จะคิดอะไรได้ นอกจากนี้สมรรถนะทางกายก็จะเสื่อม กล้ามเนื้อจะเมื่อยล้า เนื่องจากขาดสารที่ให้พลังงาน ทั้งนี้ดังที่กล่าวไว้แล้วว่าแอลกอฮอล์นั้นทำให้อิ่มเร็ว ความอยากกินอาหารเพื่อนำพลังงานไปสะสมจึงน้อยลง ดังนั้น หลังจากสร่างเมาแล้วจะมีความรู้สึกว่ากล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเกิดอาการเมื่อยล้า ระบบการสร้างเสียงในลำคอก็จะหย่อนสมรรถภาพ มักพบว่า นักร้อง ไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกทุ่ง หรือเพลงสากลเมื่อหันไปติดเหล้าแล้ว น้ำเสียงนั้นจะลดความใสลง หน้าตาของผู้ที่สร่างเมานั้นจะไม่สดชื่นจนไม่มีใครอยากเข้าใกล้ชิด

แอลกอฮอล์กับหญิงมีครรภ์

แอลกอฮอล์มีผลต่อหญิงมีครรภ์ในแง่ที่ว่าอาจจะทำให้ลูกที่ออกมานั้นเป็นเด็กที่ขาดสารอาหาร มีอาการของโรคติดสุราออกมาได้เลยตั้งแต่กำเนิด นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลซึ่งรอการยืนยันว่า แอลกอฮอล์นั้นทำให้หญิงมีครรภ์แท้งได้

ในเมืองไทยเราพบว่า หญิงที่มีครรภ์แล้วแท้งนั้น เมื่อสืบประวัติกลับไปอาจจะพบหลายคนมีประวัติการดื่มยาบำรุงเลือดในรูปของยาดองเหล้า ซึ่งมักจะมีการโฆษณาสรรพคุณว่า เหมาะสำหรับหญิงมีครรภ์ เป็นยาบำรุงเลือด ซึ่งยาดองเหล่านี้ใช้ตัวทำละลายเป็นแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงทำให้สงสัยว่า ยาดองเหล่านี้บำรุงให้หญิงมีครรภ์นั้นมีลูกที่สมบูรณ์ หรือว่าทำให้ลูกที่คลอดออกมานั้นติดเหล้าแทนหรือก่อให้เกิดการแท้ง

ทางสถาบันวิจัยโภชนาการร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้วิจัยถึงผลของสารที่อยู่ในยาบำรุงเลือดต่อการเกิดพิษในสิ่งมีชีวิต และพบว่ามีสารหลายชนิดซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับดินประสิวแล้ว ทำให้เกิดสารก่อกลายพันธุ์

สารก่อกลายพันธุ์นั้นบางชนิดอาจเป็นสารก่อมะเร็ง หรือบางชนิดอาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดการแท้งได้ ทั้งนี้เนื่องจากยาบำรุงเลือดนั้น มักจะมีการโฆษณาสรรพคุณว่า ช่วยบำรุงให้เจริญอาหาร แต่ความจริงแล้วเมื่อกินยานี้และกินอาหารเข้าไป โอกาสที่สารเคมีในยาจะทำปฏิกิริยากับดินประสิวซึ่งมีอยู่ในอาหารหลายประเภทนั้นก็มีได้มาก

ฉลองปีใหม่

ในช่วงปีใหม่ในแต่ละปีนั้น คนไทยได้เฉลิมฉลองการที่ปฏิทินได้หมุนเวียนกลับมาใช้เดือนมกราคมกันอีกครั้งหนึ่งอย่างเต็มที่ แต่ละปีจะมีคนติดเหล้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มการดื่มสุราอย่างมากมายในช่วงนี้ เป็นการทำให้คนไทยห่างไกลพุทธศาสนาทุกปี การฉลองปีใหม่ด้วยการดื่มเป็นสิ่งไม่ดีที่ทุกคนก็ทราบ แต่ก็ยังมีการกระทำอยู่เป็นกิจวัตรประจำปี

การฉลองปีใหม่ที่ถูกต้องนั้น ควรพยายามปฏิบัติตนให้สดใส ตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น ไม่ใช่ตื่นขึ้นมาอย่างไม่มีความสุข อีกทั้งร่างกายก็อ่อนแอในตอนเช้าของวันปีใหม่หลังจากที่ได้ไปฉลองด้วยการดื่มสุราและสิ่งเสพติดต่างๆ มาอย่างหนักในวันสิ้นปี (เก่า) รัฐบาลน่าจะสร้างนโยบายที่ส่งเสริมให้คนไทยยุคใหม่อยู่ได้โดยการไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่ารัฐฯ จะต้องขาดเงินภาษีอากรจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปบ้างก็ตาม

เล่าเรื่องเหล้า

  • ผลิตเหล้าเขาทำอย่างไร

หลักเบื้องต้นของการผลิตเหล้า คือ การหมัก ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ โดยปฏิกิริยาของน้ำย่อยจากยีสต์ เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาหลายขั้นตอน นอกจากเกิดการเปลี่ยนแปลงแก่น้ำตาลแล้ว ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงกับพวกที่ไม่ใช่น้ำตาลที่มีอยู่ในวัตถุดิบด้วย

การผลิตเหล้าทำได้จากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น เมล็ดข้าวชนิดต่างๆ ลำต้นของอ้อย งวงมะพร้าว งวงตาล ผลไม้ต่างๆ หัวมัน บีทรูด เป็นต้น วัตถุดิบที่ใช้ผลิตเหล้าในประเทศส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าว หรือกากน้ำตาล หรือทั้งสองอย่างผสมกัน วัตถุดิบจำพวกข้าวอาจใช้ตัวข้าว ข้าวกล้อง หรือปลายข้าว ซึ่งอาจจะใช้ข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าก็ได้ แต่นิยมใช้ข้าวเหนียวมากกว่าเพราะให้กลิ่นและรสของเหล้าดีกว่า

การหมักเหล้าด้วยวัตถุดิบจำพวกข้าวเรียกว่า การทำส่าข้าว สำหรับวัตถุดิบจำพวกน้ำตาล นอกจากกากน้ำตาลแล้วที่นิยมใช้รองลงไป ได้แก่ น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว น้ำอ้อย น้ำตาลจากการใช้วัตถุดิบจำพวกน้ำตาลมาหมักทำเหล้าเรียกว่า การหมักส่าแดง เหล้ากลั่นของไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิม คือ เหล้าโรง หรือสุราโรง ซึ่งก็คือ สุราขาว นั่นเอง

  • กลยุทธ์การโฆษณาว่าด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

บริษัทขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้กลยุทธ์การโฆษณาโดยอาศัยหลักจิตวิทยาเพื่อโน้มน้าวจิตใจนักดื่มให้เคลิบเคลิ้มตาม การใช้ดารายอดนิยมหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นนายแบบในการโฆษณา เพื่อหวังให้คนดูมีความรู้สึกคล้อยตามเห็นว่าเท่ มีเสน่ห์ เชื่อมั่น เมื่อได้ดื่ม การโฆษณาที่เน้นให้เห็นภาพพจน์การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อให้ผู้ดูเกิดความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยกับการดื่ม

นอกจากนั้นก็เน้นให้เห็นว่าการดื่มทำให้คนมีเกียรติ ใช้ผู้แสดงแต่งกายดูเหมือนอยู่ในวงสังคมที่เรียกกันว่าชั้นสูง หรือสร้างภาพพจน์ว่าเหล้าที่โฆษณาเป็นเหล้าที่ชาวต่างประเทศนิยมดื่ม แม้เมื่อเข้ามาในประเทศไทยก็ยังถามหาเหล้าชนิดนั้นอยู่ การโฆษณาแบบนี้เป็นการสร้างค่านิยมให้คนไทยหันมาชื่นชมเหล้าฝรั่ง

นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาแอบแฝงมาในรูปของการให้การสนับสนุน เช่น ให้การสนับสนุนการแข่งขันกีฬาต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่เราเห็นป้ายโฆษณาเหล้ายี่ห้อต่างๆ ปรากฏหราตามขอบสนาม อีกทั้งการโฆษณายังมาในรูปของการตีพิมพ์ปฏิทินที่คู่กับการนุ่งน้อยห่มน้อยของหญิงสาว รวมทั้งการจัดประกวดชิงแชมป์ยอดนักดื่มด้วย

ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เรามีสิทธิ์รับรู้ข่าวสารการโฆษณาเหล้าได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี ย่อมตกเป็นเครื่องมือของการโฆษณาเหล่านี้ได้ง่าย ถึงแม้ว่าบ้านเมืองของเราจะมีกฎหมายออกมาว่า การโฆษณาเหล้าทางโทรทัศน์ให้ออกอากาศได้หลัง 22.00 น. ไปแล้ว และให้มีการจำหน่ายเหล้าได้หลัง 11.00 น. รวมทั้งให้หยุดจำหน่ายเหล้าในวันสำคัญทางศาสนา แต่กฎเหล่านี้ก็มักรอดพ้นจากการควบคุมมาโดยตลอด

ในปี พ.ศ.2530 กรมสรรพสามิตสามารถเก็บภาษีสุราและค่าปรับได้ 6,399 ล้านบาท ยอดจำหน่ายสุราในปี พ.ศ.2530 จำหน่ายได้ถึง 302,820,000 ลิตร ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2529 ร้อยละ 25.6

  • เหล้าทำลายครอบครัว

เหล้าไม่เพียงแต่ทำลายผู้ดื่มเท่านั้น แต่ยังทำลายไปถึงครอบครัวด้วย การดื่มเหล้าเป็นการผลาญทรัพย์ที่หามาได้เพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นค่าอาหาร เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ ทำให้บางครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสิน คนในครอบครัวต้องลำบากยากจนและสุขภาพเสื่อมโทรม

ภรรยาต้องรับภาระหนักเมื่อสามีติดเหล้า เพราะสามีบางคนไม่เหลือรายได้พอที่จะจุนเจือครอบครัว นอกจากนี้ ยังเป็นการทำร้ายจิตใจคู่ชีวิต และอาจทำให้ชีวิตสมรสต้องเดินอยู่บนเส้นขนานตลอดไปด้วย จากการวิจัยในสหรัฐฯ รายงานว่า การหย่าร้างร้อยละ 70 มีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้า

เด็กต้องอยู่ในสภาพพ่อไปทางแม่ไปทาง ขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ เด็กเหล่านี้มีโอกาสจะเดินไปสู่เส้นทางสายเร่ร่อนได้อย่างง่ายดาย ครอบครัวที่ติดเหล้ามีส่วนอย่างมากในการชักนำให้เด็กติดเหล้าจนเสียการเรียน ดังในกรณีที่เด็กชายอายุ 6 ขวบเริ่มดื่มเหล้า เมื่อพ่อแม่เรียกให้ผสมเหล้าให้ดื่มบ่อยๆ

เหล้าเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมและโศกนาฎกรรม เพราะเหล้าทำให้ขาดความยั้งคิด เหมือนเช่นที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ลูกชายวัยรุ่นทำร้ายร่างกายแม่ เพราะขอเงินไปซื้อเหล้าแล้วไม่ได้ สามีดื่มเหล้าแล้วทำร้ายร่างกายภรรยา เด็กถูกพ่อแม่ที่ติดเหล้าทุบตี รวมทั้งอาชญากรรมทางเพศ (การข่มขืน) ส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้า

  • เหล้าคร่าชีวิตบนท้องถนน

เหล้าทำให้การตัดสินใจและความว่องไวช้าลง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ในปีหนึ่งๆ ชาวกรุงเทพฯ ต้องเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุปีละกว่า 16,000 คน และทรัพย์สินเสียหายประมาณปีละเกือบ 40,000 ล้านบาท จากสถิติผู้เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุจราจร ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับขี่เมาสุรา ซึ่งสูงถึงร้อยละ 33.49 และสูงกว่าการเสียชีวิตเพราะเหตุอื่น

โรงพยาบาลตำรวจได้ตรวจหาแอลกอฮอล์ในผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุจราจรพบว่า ในปี พ.ศ.2531 ผู้ป่วย194 ราย ตรวจพบแอลกอฮอล์ 182 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.81 นอกจากนั้นยังได้มีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์จากศพ ซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุล่าสุดจำนวน 929 ราย พบแอลกอฮอล์ 709 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.32 จะเห็นได้ว่าในปีหนึ่งๆ เหล้าคร่าชีวิตและทรัพย์สินไปมิใช่น้อย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราน่าจะมีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากการขับรถขณะมึนเมาสุรากันเสียที

นานาทรรศนะกับเหล้า

แม้เหล้าจะทำให้เกิดปัญหา แต่ก็ยังเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับการยอมรับในสังคม ต่างกับยาเสพติดให้โทษชนิดอื่นที่ถูกระบุว่า ผิดกฎหมาย บ่อนทำลายชาติ อย่างไรก็ตาม ลองมาฟังความคิดเห็นจากบุคคลต่อไปนี้ ว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับ “เหล้า” อย่างไรบ้าง

ร.ม.ว.ชวน หลีกภัย : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“สาเหตุของอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการดื่มเหล้า โดยเฉพาะอุบัติเหตุเวลานี้มีปัญหามาก ผมคิดว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้า จะพยายามรณรงค์ในเรื่องนี้ แต่จะต้องศึกษาข้อมูลที่ชัดเจนเสียก่อน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่โดยมอบให้ผู้เชี่ยวชาญไปทำการศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายปฏิบัติ”

ปริศนา เทียมบุญกิจ : นักศึกษา
“ถ้ามองในแง่ศาสนา การดื่มเหล้าถือว่าผิดศีล เพราะทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจก่อให้เกิดการกระทำผิดหลายอย่าง คนดื่มเหล้ามักจะพูดเข้าข้างตัวเอง และชอบยกข้ออ้างว่าดื่มเพื่อเข้าสังคม ซึ่งไม่เห็นด้วย เพราะความจริงแล้วการเข้าสังคมไม่จำเป็นต้องมีเหล้าเสมอไป เราก็สนุกสนานเฮฮาได้โดยไม่ต้องพึ่งเหล้า อยากฝากให้คนที่ดื่มเหล้าหันมาเอาใจใส่เรื่องสุขภาพกันหน่อย”

ประชา แสงทองสุข : นักศึกษา
“ไม่ชอบดื่ม เพราะรู้ดีว่าไม่ดีต่อร่างกาย นอกจากควบคุมตัวเองไม่ได้ ยังเปลี่ยนบุคลิกภาพ และการดื่มเหล้าก็เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ปกติไม่ชอบคุยกับคนที่ดื่มเหล้า เพราะคุยไม่รู้เรื่อง ไม่มีประโยชน์ พูดจาเรื่อยเปื่อยไร้สาระ คิดว่าสาเหตุที่ทำให้คนดื่มเหล้ากันมากนั้น สังคมก็มีส่วนมากเหมือนกัน บางครั้งจะรู้จักหรือสนิทสนมกันโดยผ่านวงเหล้า แต่บางคนที่คิดว่า การดื่มเหล้าเป็นเครื่องแสดงความจริงใจต่อกัน คิดว่าเขาคิดผิด เพราะในวงเหล้า ดื่มมากจนเมามายคุมสติไม่อยู่ บางครั้งก็ทะเลาะวิวาทกันเอง ทำให้เสียเพื่อนไปเลยก็มีให้เห็นบ่อยๆ”

น.พ.เกียรติ นาคะเกศ : หัวหน้าฝ่ายเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลเลิดสิน
“ทำอะไรอย่ายึดติด ขอให้เดินทางสายกลาง ในการแก้ปัญหา สุราไม่ใช่เพื่อน ฉะนั้นอย่าคิดว่า สุราจะช่วยให้ท่านคลายทุกข์ได้ ตรงข้ามกลับจะเพิ่มทุกข์หนักเข้าไปอีก”

ฟังทรรศนะของผู้ใหญ่มาก็มาก ทีนี้เราลองมาฟังความคิดของเด็กๆ กันดูบ้างว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับคนที่ดื่มเหล้า

ด.ช.ฉัตรชัย พวงแดง : โรงเรียนวัดยางสุทธาราม
“ผมไม่อยากเข้าใกล้คนที่กินเหล้าครับ กลัวจะโดนลูกหลง ผู้ใหญ่กินเหล้าแล้วชอบอาละวาด เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ครูสอนว่า คนดีไม่กินเหล้า คนชั่วกินเหล้าครับ”

ด.ญ.ดวงเพ็ญ จาบจวบสิน : โรงเรียนโดมมะลิ
“หนูไม่ชอบคนกินเหล้าเพราะเมาแล้วอาละวาด ครูบอกว่า อย่าติดยาเสพติด เหล้าเป็นสิ่งไม่ดี ให้เตือนคุณพ่อคุณแม่อย่ากินเหล้า”

ท้ายสุดของการคุยกันในครั้งนี้ ขอนำข้อคิดของคุณหมอที่รักษาเกี่ยวกับระบบประสาทและสมองท่านหนึ่งมาฝาก เผื่อว่านักดื่มหลายๆ คนอ่านแล้วอาจเกิดสะดุดความคิด เปลี่ยนใจหันมาเลิกเหล้าได้ ก็จะเป็นการดีไม่น้อยทีเดียวค่ะ

น.พ.ประเสริฐ บุญเกิด : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
“ส่วนมากทุกคนก็รู้จักพิษของเหล้า โทษของเหล้า คือ อย่างแรก ทำให้เสียเงิน อย่างที่สอง คือ ถ้าดื่มจนติดงอมแงมก็จะทำให้ครอบครัวแตกสลาย นอกจากนั้น ยังทำให้ระบบประสาทและสมองเสียไป คนที่ดื่มเหล้าติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เมื่อผ่าสมองดูจะพบว่า สมองของผู้นั้นจะเหี่ยว หรือฝ่อมากกว่าคนที่ไม่ดื่มเหล้า และมีโอกาสเป็นโรคของสมองเสื่อมมากกว่า นอกจากนี้สมองเล็กที่อยู่ข้างหลังที่เรียกว่าซีลีเบลรัม ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว หรือควบคุมการเดินจะเสียไป แม้ว่าจะเลิกดื่มเหล้าแล้วเป็นเดือน ก็ยังมีอาการเซ ทรงตัวไม่อยู่ ชาวบ้านเรียกว่า “เมาดิบ” ในเมืองไทยยังพบน้อยราย ไม่มากเท่าต่างประเทศ

แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดีหลายคนก็ยังดื่มอยู่ทุกวัน ก็แสดงว่าพวกนี้กำลังใจอ่อนแอ ถ้ากำลังใจอ่อนแอ จะหยุดก็หยุดไม่ได้ ถ้ากำลังใจเข้มแข็งนึกจะหยุดวันนี้ พรุ่งนี้ก็หยุดได้ จะบังคับใจให้ทำอะไร ไม่ทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น ทางที่จะหยุด คือ ต้องสร้างกำลังใจอยู่ทุกวัน ด้วยการพยายามอยู่ในกรอบของศีลธรรม

การออกกำลังกายก็ช่วยได้ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งถ้าร่างกายแข็งแรงก็มีผลโดยตรงต่อจิตใจ ทำให้จิตใจแข็งแรงตามไปด้วย โอกาสที่จะบังคับใจตัวเองให้เลิกเหล้าได้ก็มีมากขึ้น”

ข้อมูลสื่อ

129-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533
อื่น ๆ
รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ