• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดฟัน

ปวดฟัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ เผอิญได้ไปเจอกับคนไทยกลุ่มกลุ่มหนึ่งที่นั่น พอรู้ว่าผมเป็นทันตแพทย์ก็รีบตรงรี่เข้ามาปรึกษา บอกว่าหนึ่งในคณะที่ไปเที่ยวด้วยกันกำลังปวดฟัน ผมพอจะช่วยอะไรได้บ้างไหม พอดีผมก็มีแต่ยาแก้ปวดติดตัวไป เลยให้ยาไปกินพอแก้ขัด จะได้เที่ยวต่อโดยไม่เซ็งจนเกินไป

พูดถึงปัญหาเรื่องปวดฟันนี่ ผมเองตอนเด็กๆก็เคยปวดฟันเหมือนกัน เป็นอาการปวดที่ทรมานมาก ใครที่เคยปวดจะรู้ซึ้ง เรียกว่าปวดจนไม่รู้จะอยู่ท่าไหนกันดีเลยล่ะครับ ผู้หญิงบางคนถึงกับออกปากว่าเจ็บท้องคลอดบุตรยังทรมานแพ้การปวดฟัน เวลาผมพบผู้ป่วยที่กำลังปวด จึงรู้สึกเห็นใจมาก

การที่อาการปวดฟันมีความรุนแรงก็เพราะว่า ตรงบริเวณนี้มีเส้นเลือด เส้นประสาทอยู่จำนวนมาก การรับความรู้สึกจึงรวดเร็ว ฉับไว ประกอบกับโพรงประสาทฟันเป็นโพรงแบบปิด ถ้ามีการอักเสบเกิดขึ้น จะมีความดันเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อความดันเพิ่ม แต่ไม่มีทางออก จึงทำให้เจ็บปวดมาก

สาเหตุของการปวดฟัน โดยทั่วไปมีอยู่ 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

1. การปวดที่ตัวฟันเอง มักมาจากการที่ฟันผุ ทำให้เนื้อฟันถูกทำลายเกิดเป็นรู เมื่อมีเศษอาหารไปติดจะทำให้ปวด ยิ่งถ้ารูผุลึกลงไปมากๆ จนถึงโพรงประสาทฟันซึ่งอยู่ชั้นในสุด จะยิ่งทำให้การปวดทวีขึ้นแสนสาหัส นอกจากสาเหตุฟันผุแล้ว อาจเกิดจากฟันแตก ฟันบิ่น หรือฟันสึก การมีฟันสึกบริเวณคอฟันมักพบในผู้ใหญ่ที่ขยันแปรงฟัน แต่ยังแปรงไม่ถูกวิธี คือ แปรงตามขวาง และใช้แปรงที่มีขนแข็งมากๆ ความแข็งของแปรงประกอบกับการถูไปมาบ่อยๆ ทำให้ฟันสึกเหมือนถูกเลื่อย นานๆ เข้าคอฟันจะสึกลงไปเป็นรูปลิ่ม และอาจลึกถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ปวดฟันได้

2. การปวดฟันที่มีสาเหตุมาจากอวัยวะรอบๆ ตัวฟัน เราเรียกเป็นภาษาหมอฟันว่า โรคปริทันต์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การมีเศษอาหารติดที่ซอกฟันที่ใดที่หนึ่งบ่อยๆ ทำให้เหงือกบริเวณนั้นอักเสบ เกิดอาการปวด หรือเป็นเพราะการแปรงฟันไม่สะอาด ทำให้มีเชื้อโรคสะสมที่ขอบเหงือกรอบๆ ซี่ฟัน นานๆเข้าสารพิษจากเชื้อโรคจะทำลายเนื้อเยื่อที่ยึดรอบซี่ฟัน เกิดการอักเสบ ฟันโยก และปวดได้

การป้องกันมิให้อาการปวดฟันมาแผ้วพานชีวิตของเรานั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ การรักษาความสะอาดฟันให้ดี อย่าให้เกิดโรคฟันผุ หรือโรคปริทันต์ขึ้นในปากเราได้ แต่ก็นั่นแหละครับ บางทีวิธีที่ดีที่สุดอาจทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะต้องอาศัยการดูแลอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธีจริงๆ เรียกว่า ถ้าไม่รักเหงือกรักฟันกันจนหมดหัวใจแล้วละก็ คงทำวิธีที่สมบูรณ์แบบนี้ไม่ไหว

มีอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเตือนภัยให้ท่านผู้อ่านได้รู้ตัวและรีบแก้ปัญหาก่อนที่โรคจะลุกลามไปไกล คือ การหมั่นอ้าปากตรวจฟันตนเองเสมอๆ ดูว่าซี่ไหนเริ่มเป็นรู ตรงไหนมีเศษอาหารติดเป็นประจำ หรือแปรงฟันแล้วมีเลือดออก หรือมีอาการเสียวฟัน ความผิดปกติเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนภัยให้เรารู้ตัวล่วงหน้า หากรีบแก้ไข โรคก็จะหยุดอยู่แค่นี้ ไม่ทำให้เราต้องปวดฟันได้

แต่ถ้าหากท่านผู้อ่านบางคนทนรอบทความผมไม่ไหว เพราะฟันมันปวดไปซะแล้ว ก็อย่าได้ตกใจไปเลยครับ กรุณาช่วยตัวเองในเบื้องต้นด้วยการกินยาแก้ปวด และหลีกเลี่ยงการใช้งานฟันซี่นั้น แล้วรีบไปพบหมอฟันโดยด่วน อย่าเอายาแก้ปวด ยาหม่อง หรือยาร้อนๆ ต่างๆ อุดลงไปในฟันนะครับ เพราะจะมีผลเสียตามมา คือ ทำให้เหงือกเป็นแผลไหม้ได้ รีบๆ ไปพบหมอฟันแล้วอาจมีวิธีรักษาให้ท่านไม่ต้องเสียฟันซี่นั้นไปก็ได้นะครับ

นี่ก็ปีใหม่อีกปีหนึ่งแล้ว ผมเลยขอถือโอกาสอวยพรปีใหม่ ให้ทุกท่านมีสุขภาพช่องปากที่ดี ปราศจากการปวดฟันตลอดไปนะครับ

ข้อมูลสื่อ

129-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533
หมอไก๋