• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สะพานข้อมูลไทย-ลาว (ตอนจบ)

สะพานข้อมูลไทย-ลาว (ตอนจบ)

ผมทิ้งค้างเอาไว้ว่าจะไปจัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้แก่แพทย์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แพทย์ของเขามี 3 ชั้น คือ แพทย์ชั้นสูง เทียบเท่ากับแพทย์บ้านเรานี้เอง แพทย์ชั้นกลางหรือแพทย์ผู้ช่วย ที่เมืองไทยไม่ได้สร้างบุคลากรแขนงนี้ และแพทย์ชั้นต้น คือ พยาบาล นั่นเอง

ในหลักสูตรก็มีผู้มาร่วมอบรมทั้ง 3 ชั้น โดยส่วนใหญ่เป็นแพทย์ชั้นสูง ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ ระดับความรู้มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งสำหรับท่านที่เป็นครูบาอาจารย์คงจะทราบดีว่า การที่ระดับของผู้เรียนหนังสือที่มีความแตกต่างกันมากจะก่อให้เกิดปัญหากับการสอนสักเพียงไหน

ผมยังจำได้ดีกับนัยน์ตาที่ว่างเปล่าของแพทย์ชั้นกลาง 2 คน ที่บังเอิญจับคู่มานั่งติดกัน ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะรับความรู้ที่เราถ่ายทอดให้ได้เลย และไม่เคยถามเช่นกัน ผมจำเป็นต้องรักษาส่วนใหญ่ของห้องไว้ โดยพยายามไม่ไปตอแยกับ 2 คนนั้นมาก เพราะเคยลองถามดูก็ไม่สู้ได้ความอะไร มิหนำซ้ำมองเราขวางๆ ซะอีกที่ไปถาม นี่ผมไม่ได้เอานักเรียนของตัวเองมาขายนะครับ เพียงอยากเล่าประสบการณ์ที่พบเห็นมาเล่าสู่กันฟัง แต่โดยส่วนรวมแล้วทุกคนเป็นมิตรมาก ให้ความช่วยเหลือทุกอย่างเป็นอย่างดีโดยไม่เกี่ยงงอน (แม้ว่าจะช้าหน่อยตามระบบราชการ)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมประทับใจ ก็คือ การหาคนมาช่วยสอนในหลักสูตร ทุกคนยอมรับมาสอนโดยไม่ขัดข้องและสอนได้ดีเป็นที่น่าประทับใจ น่าเสียดายที่กระทรวงสาธารณสุขของเขาเองมองข้ามทรัพยากรบุคคลเหล่านี้ไป เพราะเท่าที่ผมลองทบทวนรายงานของผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านๆ มาปรากฏว่า มักเป็นการฉายเดี่ยว โดยผู้เชี่ยวชาญพูดซะเองหมด วิธีนั้นอาจจะง่ายเพราะไม่ต้องไปคิดเรื่องการประสานงานให้ปวดสมอง แต่ผมมีหลักการว่า ถ้าคนไทยเรียนรู้ที่จะยืนบนขาของตนเองได้ดังเช่นที่เราปฏิบัติอยู่ ชนชาติลาวก็น่าจะทดลองตั้งไข่เองบ้าง เพราะการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นตลอดไปนั้น ผลเสียจะตกอยู่กับชนชาตินั้นเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่อาจารย์ประเวศ วะสี บรรณาธิการนิตยสารหมอชาวบ้านนี้ ก็เขียนหรือกล่าวไว้เสมอว่า ต้องสร้างปัญญาให้เกิด เราจึงจะคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ดีขึ้นได้

การที่ผมไปติดต่อหาวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ ของเขามาช่วยสอนได้ถึง 12 คน ทำให้ผมเองมีเวลาที่จะทำอย่างอื่น เช่น การติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลในกำแพงนครเวียงจันทน์ 4 โรง ให้มาเป็นเครือข่ายของระบบเฝ้าระวังโรคเฉพาะที่ มีเวลาที่พอจะโน้มน้าวจิตใจของผู้แทนที่มาจากแขวงต่างๆ ได้อีก 4 แขวง คือ 3 เขตลงมาทางใต้ คือ สวันนาเขต จำปาศักดิ์ และคำม่วน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับไทยยาวเหยียดเกือบตลอดแนวภาคอีสาน และแขวงหลวงพระบางซึ่งอยู่ไปทางภาคเหนือ

ผมมีข้อคิดอยู่ในใจว่า เมื่อการจัดตั้งระบบเฝ้าระวังโรคดำเนินไปได้ดี เราก็จะได้เริ่มข้อมูลของโรคประจำถิ่นทางฝั่งลาว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมของ ส.ป.ป.ล. คือ ฯพณฯ คำบุ สุมีชัย ได้กล่าวกับผมในวันมาเปิดหลักสูตรอบรมว่า เชื้อโรคมันไม่มีตา มันเป็นที่ฝั่งนี้ได้ มันก็ข้ามไปฝั่งโน้นได้ มีโรคหลายโรคที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเฝ้าระวังโรคนี้ ได้แก่ อุจจาระร่วงร้ายแรง ที่เรามีประสบการณ์มาจากการระบาดที่ตาก แล้วสงบยากเพราะชนชาติกะเหรี่ยงข้ามไปมาได้อย่างเสรี ใครจะไปรู้ว่าเหตุการณ์นั้นอาจจะมาเกิดฟากนี้ก็ได้

กาฬโรค ที่ประเทศไทยเราพบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2497 แต่ลาวเขาก็ว่าของเขายังมีอยู่ แต่ชุกชุมแค่ไหนบอกไม่ได้ เพราะฉะนั้น การเฝ้าระวังโรคนี้ ก็จะเป็นการบอกทิศทางของโรคให้กับเราได้

โรคโปลิโอ ที่ประเทศไทยกำลังมีโครงการกวาดล้างอยู่ในขณะนี้ เราจะอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ถ้าหากประเทศลาวยังมีความครอบคลุมของการให้วัคซีนโปลิโออยู่ในระดับร้อยละ 17 เช่นนี้ เพราะความจำกัดในหลายด้าน ผู้บริหารโครงการโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่นี่ ยังเป็นคนหนุ่มที่มีแนวความคิดดีฉลาดชื่อหมอบุญเพ็ง พิลาวงศ์ ก็บ่นเรื่องข้อมูลการเฝ้าระวังโรคที่ไม่ดีและบางครั้งก็ขาดความสมบูรณ์ว่าทำให้การวางแผนและวัดประเมินผลงานของตนเองยากมาก

ที่พูดมายืดยาวทั้ง 3 ตอน ก็เพียงต้องการเล่าให้ผู้อ่านทราบถึงงานบางด้านของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะงานด้านระบาดวิทยา และพูดถึงความสำคัญของระบบการเฝ้าระวังโรคให้ทราบโดยย่อ โดยมีหลักสูตรที่ผมมีโอกาสไปทำที่ ส.ป.ป.ล.เป็นส่วนประกอบครับ

ข้อมูลสื่อ

129-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533
นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์