• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศิลปะในการฟัง คุณหมอพูด

ศิลปะในการฟัง คุณหมอพูด


ทุกวันนี้นักจิตวิทยาได้ให้ความสนใจอย่างมากในเรื่องที่แพทย์พูดกับคนไข้ แล้วคนไข้จำเรื่องที่แพทย์พูดได้แค่ไหน ความสนใจนี้ไม่เป็นแต่เพียงการค้นคว้าทางการศึกษาเท่านั้น แต่ยังค้นหาทางเพื่อให้การสื่อสารทางการแพทย์ได้ผลอีกด้วย
จากสาเหตุนี้ ในแต่ละปีประเทศทั่วโลกได้เสียเงินทองไปโดยเปล่าประโยชน์ในเรื่องการฟัง-พูดกันไม่รู้เรื่อง, การกินยาไม่ถูกต้อง และแม้แต่คนที่เข้ารับการผ่าตัดแล้ว หลังผ่าตัดสุขภาพไม่คืนสู่สภาพปกติ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของศัลยแพทย์ (หมอผ่าตัด) ทำให้เสียเวลาในการทำงาน ต้องกลับเข้าอยู่โรงพยาบาลอีกและส่วนที่คิดว่าเสียน้อยนิด แต่ความจริง แล้วประมาณค่าไม่ได้คือ ความทุกข์ ทรมาน

ดร.ฟิลิป ลีย์ (Dr.Philip Ley ) แห่งคณะสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ ที่พลีมัทโพลี่เทคนิค ในเมืองดีวอน ทบทวนการวิจัยเรื่องความจำของคนไข้ เกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้รับจากแพทย์ เขาสรุปว่า จำนวนการลืม สัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนเนื้อหาที่ให้ เกี่ยวโยงกับความรู้เรื่องการรักษาของคนไข้ และขึ้นกับความกระวนกระวายของคนไข้ ขณะแพทย์ตรวจด้วยหูฟัง พร้อมออกเสียง “อืมม์ อืมม์ ” นอกจากนี้อายุอาจมีผลต่อความจำด้วยเหมือนกัน
สิ่งที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นคือ เรื่องที่คนไข้ลืมบ่อยที่สุด คือคำแนะนำและคำสั่งแพทย์ มีเหตุผลว่าคนไข้เห็นรายละเอียดในเรื่องนี้ ไม่สำคัญเหมือนรายละเอียดในเรื่องอื่น ๆ

การวิจัยปรากฏผลว่า คนมีความโน้มเอียงจะจำสิ่งที่นายแพทย์บอกเมื่อเริ่มต้นของการตรวจ ดังนั้นถ้าให้รายละเอียดสำคัญในตอนท้ายของการสนทนา ก็มีแนวโน้มที่จะลืมหรือสับสน
เป็นความจริงอันหนึ่งว่า คนแต่ละคนให้ความสำคัญต่อข้อความที่แพทย์บอกต่างกัน และให้ความสำคัญกับคำพูดบางอันมากกว่าอันอื่น ซึ่งก็มักเป็นคำพูดที่ไม่สำคัญในการรักษาเป็นส่วนมาก แต่คนไข้จะจำได้แม่น

วิธีหนึ่งที่จะช่วยคนไข้ไม่ให้ลืมรายละเอียดที่แพทย์ให้ คือการจดลงกระดาษ แต่วิธีนี้มีปัญหาคนไข้อาจจะหมกมุ่นกับการจดมากไป จนลืมว่าสิ่งสำคัญที่ควรให้ความสนใจคืออะไร ถ้าคนไข้ทำกระดาษแผ่นนี้หายก็คงเกิดปัญหาขึ้นอีก
ดร.ลีย์ ได้ทำการทดลองในคนไข้ 162 คน โดยให้คนไข้ทบทวนเนื้อหาทันทีภายหลังการฟังอย่างเดียวกลุ่มหนึ่งภายหลัง การฟังประกอบการเห็นภาพกลุ่มหนึ่ง และภายหลังการเขียนลงสมุดอีกกลุ่มหนึ่งปรากฏผลว่าทั้ง 3 กลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ในจำนวนเนื้อหาที่ทบทวนได้เลย

นักวิจัยคนอื่นพบว่า คำวินิจฉัยเป็นสิ่งที่คนไข้จำได้ดีที่สุด ส่วนคำสั่งและคำแนะนำที่ให้หลังการวินิจฉัย คนไข้จำจะคลาดเคลื่อน ดังนั้น ดร.ลีย์ และเพื่อนร่วมงานจึงหาทางที่จะช่วยคนไข้ในการจำ
นักวิจัยขอให้แพทย์ใช้คำและประโยคสั้น ๆ พูดซ้ำ ๆ และใช้ข้อความที่เห็นชัดเจนมากกว่า กล่าวลอย ๆ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จต่าง ๆ กันไป
สิ่งที่ช่วยคนไข้มากที่สุดในการจำและทำตามแพทย์สั่ง คือแพทย์ต้องหลีกเลี่ยงการพูดลอย ๆ ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “น้ำหนักคุณจะลด” ควรพูดว่า “น้ำหนักคุณจะลด 3 กิโลกรัม” เมื่อคนไข้ได้ยินคำที่บ่งชัดเช่นนี้ก็จะจำได้

นอกจากนี้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะความรู้สึกของคนไข้ ส่วนมากมักมองแพทย์เหมือนพระเจ้า การวิจัยหลายอันแสดงว่า ในชุมชนหนึ่งๆ คนจะให้ความนับถือแพทย์สูง ถ้าแพทย์และคนไข้พบกันในรูปแบบผู้เหนือกว่าและผู้ด้อยกว่าก็ยังหนีไม่พ้นการเพิ่มภาระหนักใจให้คนไข้ขณะเข้าห้องตรวจ

 

ข้อมูลสื่อ

21-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 21
มกราคม 2524
อื่น ๆ
สุภาวดี ลิมปนาทร