• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะลิ

มะลิ
 

 สมุนไพรที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีนบันทึกไว้ ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้น เวลานำมาใช้ต้องดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย”

         

              


มะลิ

 

⇒ “ชื่ออื่น
มะลิลา, มะลิซ้อน (ทั่วไป) ; บักหลีฮวย, เซียวหน้ำเคี้ยง (จีน-แต้จิ๋ว) ; Arabian Jasmine Sambac

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Jasminum Sambac (L.) Ait. วงศ์ Oleaceae

⇒ ลักษณะต้น
เป็นไม้พุ่มกึ่งเถา สูงน้อยกว่า 2 เมตร ลำต้นเป็นเถากลมเล็กยาว กิ่งอ่อนมีขนสั้น ๆ สีขาว ใบออกตรงข้ามกัน ตัวใบลักษณะกลมรี ยาว 4.5-9 ซม. กว้าง 3.5-5.5 ซม. ปลายแหลมสั้น ฐานใบโค้งกลม ขอบใบเรียบ ริมขอบใบด้านล่างมีขนสั้น ๆ ก้านใบสั้น ยาว 3-7 มม. ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ ช่อหนึ่งปกติมี 3 ดอก ออกจากซอกใบหรือปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว 1-3 ซม. มีขนสั้นๆ สีขาว ก้านดอกย่อย ยาว 5-10 มม. กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสีเขียว มีขนสั้น ๆ ส่วนปลายแยกเป็นเส้นปลายแหลม 8-10 เส้น ยาว 5-8 มม. กลีบดอกเป็นหลอดสีขาว ยาว 1.5-2 ซม. มีเกสรตัวผู้ 2 อัน อยู่ติดกับกลีบดอกในหลอดสีขาว รังไข่มี 2 ห้อง แต่ละห้องมี 2 เมล็ด ออกดอกตลอดปี จะออกดอกดกมากในหน้าร้อน ส่วนใหญ่ดอกบานแล้วไม่ค่อยติดเป็นผล ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ปักชำพบปลูกเป็นไม้ประดับและมีปลูกจำนวนมากเพื่อเก็บดอกขายให้คนร้อยพวงมาลัย

⇒ การเก็บมาใช้
ใช้ใบ ดอก และราก เป็นยา
ใบใช้สด เก็บได้ตลอดปี
ดอกใช้สดหรือแห้ง เก็บตอนที่ดอกกำลังบาน ผึ่งลมให้แห้ง เก็บไว้ใช้
รากใช้สด เก็บได้ตลอดปี
 

⇒ สรรพคุณ
ใบ รสฉุนซ่า ใช้แก้ไข้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ของดินฟ้าอากาศ ปวดท้อง อึดแน่น ท้องเสีย
ดอก รสฉุน ชุ่ม สุขุม ใช้สมานท้อง แก้บิด ปวดท้อง ผิวหนังเป็นผื่นคัน แผลเรื้อรัง
ต้มน้ำใช้ล้างตา แก้เยื้อตาอักเสบ
แช่น้ำมันพืชจนพองตัว ใช้หยอดหูแก้ปวดหู
น้ำแช่ดอกมะลิสด ใช้แต่งกลิ่น ทำให้ชุ่มชื่น บำรุงหัวใจ
ราก รสขม สุขุม มีพิษทำให้สลบ แก้ปวดเอ็นขัดยอกเนื่องจากหกล้มหรือถูกกระทบกระแทก เลือดออกตามไรฟัน ปวดหัว นอนไม่หลับ

⇒ วิธีใช้และปริมาณที่ใช้
ใบสด 3-6 กรัม ต้มน้ำกิน
ดอกแห้ง 1.5-3 กรัม ต้มน้ำหรือชงน้ำร้อนกิน ใช้ภายนอก ต้มน้ำล้างตาหรือแช่น้ำมันพืชหยอดหู
รากสด 1-1.5 กรัม คั้นน้ำกิน ใช้ภายนอกตำพอก

⇒ ข้อควรระวัง
1. ดอกมะลิ ปัจจุบันมีการนำมาผสมแต่งกลิ่นใบชา ไม่ควรกินเป็นประจำติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้ความจำไม่ดี ลืมง่าย
2. รากมะลิ กินมากไปอาจทำให้สลบได้
 
⇒ ตำรับยา
1. ใช้ช่วยต่อกระดูก แก้ปวด ใช้รากมะลิตำให้แหลก ใส่เหล้าลงไปอุ่นให้ร้อน ห่อผ้าพอกบริเวณที่ปวด
2. แก้เลือดออกตามไรฟัน ใช้รากมะลิตำให้ละเอียด ใช้ไข่แดงของไข่ไก่ที่ต้มสุกแล้วผสม อุดตามไรฟัน
3. แก้ปวดหัว ใช้รากสดผสมเหล้า ตำพอกขมับ
4. แก้นอนไม่หลับ ใช้ราก 1-1.5 กรัม คั้นน้ำกิน

⇒ ผลทางเภสัชวิทยา
น้ำคั้นจากรากสด 1-8 กรัม ต่อกิโลกรัมของน้ำหนักสัตว์ ฉีดเข้าช่องท้องกบ นกพิราบ หนูใหญ่ หนูเล็ก หนูตะเภา กระต่าย และสุนัข ในขณะมากและน้อย จะมีผลในการสงบประสาท และทำให้นอนหลับไม่เหมือนกัน เช่น กบให้ขนาดมาก จะมีอาการอัมพาตไปทั้งตัว ทดลองกับหัวใจกบและกระต่ายทีแยกออกจากตัว จะทำให้หัวใจเต้นช้าลง ต่อหลอดเลือดที่หูของกระต่ายที่แยกออกจากตัว ทำให้หลอดเลือดขยาย ต่อกล้ามเนื้อขาหลังของกบ จะทำให้คลายตัวและมีฤทธิ์กดประสาททำให้กระต่ายเคลื่อนไหวน้อยลง มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกที่แยกจากตัวของกระต่ายและหนูเล็กทั้งที่ท้องและไม่ท้อง

⇒ หมายเหตุ
ดอก
ใช้ร้อยพวงมะลัย และใช้ลอยน้ำอบกลิ่นให้หอม แต่งกลิ่นขนมต่าง ๆ

ในอินเดีย
ใช้ดอกสด 2-3 กำมือ ตำพอกเต้านมไม่เปียกน้ำ ที่ละข้าง วันละ 1-2 ครั้ง จะหยุดหลั่งน้ำนมภายใน 24 ชั่วโมง และพอกติดต่อไปอีก 2-3 วัน ใช้ในการตรวจสอบน้ำนม และห้ามน้ำนมในกรณีที่เป็นฝีที่เต้านม  นอกจากนี้ ยังใช้ดอกสดกลบกลิ่นในคนที่จมูกและหูเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น

ในมาเลเซีย
ใช้ดอกพอกหัว แก้ปวดหัว
ใบใช้พอกแก้ฟกช้ำ แผลเรื้อรัง โรคผิดหนัง และบาดแผล ต้มน้ำกินแก้ไข ต้มกับน้ำมันพืช ใช้ทาหัว แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับตา ทำให้ตาสว่าง และใช้เป็นยาแก้วิกลจริต ใบแห้งใช้พอกแผลเรื้อรังและโรคผิวหนังอื่น ๆ

ราก
มีพิษมาก แช่เหล้ากิน ใช้เป็นยาทำให้นอนหลับ ทำให้สลบ และพอกแผลสด กล่าวกันว่า รากยาว 1 นิ้ว แช่เหล้ากินทำให้สลบ 1 วัน รากยาว 2 นิ้ว แช่เหล้ากินสลบ 2 วัน ถ้าใช้รากยาว 3 นิ้ว แช่เหล้ากินสลบ 3 วัน ฯลฯ รากต้มน้ำหรือชงน้ำร้อนกิน ใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก หลอดลมอักเสบ และหอบหืด รากใช้ทำเป็นยาล้างตา แก้เยื้อตาอักเสบ รากสดใช้แก้ไข้และกามโรค

ในไทย ตามสรรพคุณยาโบราณกล่าวว่า ต้นแก้คุดทะราด ขับเสมหะและเลือด ดอกหอมเย็นทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้ตาเจ็บ ไข้ทั้งปวง ดอกสดตำสุ่มหัวเด็ก แก้หวัด ดอกแห้งผสมเป็นยาแต่งกลิ่น ใบสดตำผสมกะลามะพร้าว แต้มแผลผุพองหรือแผลฝีดาษ ทำให้แผลแห้งดี ฝนกินแก้ร้อน เสียดท้อง

 

ข้อมูลสื่อ

21-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 21
มกราคม 2524
อื่น ๆ
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ