• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำอย่างไรจิตใจจึงจะเป็นสุข(ตอนที่ 5 )

ทำอย่างไรจิตใจจึงจะเป็นสุข(ตอนที่ 5 )


“เราจะทำอย่างไรให้ใจคอเป็นสุข
?” การรู้จักใช้ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญมาก ชีวิตจะต้องมีแบบแผน มีแนวทางเพราะถ้าปล่อยกันตามสะดวกตามยถากรรม พอเจอมรสุมเข้าก็เกิดการระส่ำระสายทุกที กฎง่าย ๆ ของชีวิตอันหนึ่งที่ทำให้เราผาสุข โดยเฉพาะเวลากลุ้มอกกลุ้มใจ หรือว่าเวลาโรคประสาทกำลังกินอยู่ ก็คือ การรู้จักอ่อนใจให้คลายความตึงเครียดเสียบ้าง ความตึงเครียดต่าง ๆ นั้น มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากเราเคร่ง หรือรวบรัดทั้งตัวทั้งใจมากเกินไป และมีเหตุอยู่หลายอันที่ทำให้เกิดเช่นนั้น ซึ่งถ้าเราแก้เหตุหรือยับยั้งเหตุอันนั้นเสียบ้าง ก็จะทำให้มีความสุขสบายได้มากทีเดียว อย่างเช่น

1. กำลังของเราย่อมจะมีเหลือเฟือ จึงไม่น่าจะพูดว่าไม่มีกำลัง เพราะโดยมากเรารวบรวมกำลังไปใช้ไม่เหมาะเท่านั้นเอง เช่น ในเวลาธรรมดาปกติ เรายกตุ่มคนเดียวไม่ไหวแน่ แต่พอตกอกตกใจไฟไหม้ กลับยกขึ้นบ่าแบกไปลิ่วทีเดียว นั่นจะเห็นได้ง่ายว่า กำลังกายนั้นมีอยู่มาก กำลังใจก็เช่นเดียวกัน บางคนกระปรี้กระเปร่า เอาจริงเอาจังมาก มีความสนใจขวนขวายไปเสียทุกอย่าง แล้วก็อยากจะทำโน่นทำนี่มากเกินไป แต่ครั้นพอมีความคิดใหม่มากขึ้น แล้วทำอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง คล้าย ๆ ที่ชาวบ้านว่า จับปลาสองมือ ตอนนี้แหละที่เป็นตอนที่เดือดร้อน เกิดความกระวนกระวายใจ ทำอะไรก็ทำไม่ได้ จะไม่ทำก็อยู่ไม่ได้ สิ่งเดือดร้อนก็อยู่ที่นั่งบ่นอยู่นั่นแล้วว่างานมาก ไม่มีเวลาก็เลยไม่ได้ทำอะไร เพราะเวลาจะหมดไปด้วยการนั่งบ่นนั่งกังวล หรือที่กลัวว่าจะไม่มีเวลา จะอย่างไรก็ตามคนเราแต่ละคนก็ต้องหาความพอดี ว่าควรจะมีความรับผิดชอบแค่ไหน เราจึงควรทำอะไรให้สำเร็จไปสักอย่าง แล้วค่อยเริ่มอย่างใหม่ ถ้าหากว่ามีแนวความคิดหลายอย่าง ก็ควรจะเก็บไว้ในลิ้นชักในสมองบ้าง ให้เป็นคลังหรือธนาคารอยู่ในสมอง แล้วดึงเอาอันที่ให้ผลตอบแทน หรือให้ดอกเบี้ยมากๆ ออกมาใช้ ถ้ารู้จักทำเช่นนี้ชีวิตก็เป็นสุข

2. อย่าหาธุระให้ยุ่งไปทั้งวัน ต้องรีบร้อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพราะจะไม่สามารถรวบรวมกำลังเฉพาะงานเฉพาะอย่างได้ ต้องมีเวลาว่างระหว่างงานหนึ่งกับงานหนึ่ง พอสงบใจได้สักครู่หนึ่ง ก่อนจะเริ่มใหม่ และโดยมากนายช่างผู้ชำนาญก็ใช้วิธีนี้คือ มีเวลาที่จะพักประสาทแล้วทำงานให้ดีมากๆ ดีกว่าที่จะเร่งรีบและเอาดีอะไรไม่ได้สักอย่าง การที่หย่อนคลายความตึงเครียดลงชั่วครู่แล้วเริ่มงานใหม่ ได้ให้ผลประโยชน์มาแล้วมากต่อมาก ดังนั้น การกะงานประจำวัน จึงต้องมีช่องว่างเผื่องานจรไว้บ้างเป็นประจำ เพราะงานที่ไม่ได้คาดหมายนั้น เราควรจะคาดหมายว่ามันจะเกิดขึ้นเสมอ

3. ความรู้สึกพอใจภูมิใจในงาน ทำให้เกิดความชื่นใจ เราอย่าทำงานโดยระลึกว่าต้องเอาให้เสร็จ ต้องเอาให้ได้ในวันนี้ จะทำให้อารมณ์ถูกกระทบกระเทือน และระส่ำระสายมาก เลยเกิดความเคร่งเครียด จึงควรที่จะเริ่มงานไม่ว่าจะมาด้านไหน และทำด้วยความตั้งใจระมัดระวัง ควรจะจำสุภาษิตที่ว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างขึ้นในวันวันเดียว ดังนั้นงานของเราถึงแม้จะยังไม่เสร็จเราก็ควรจะพอใจ

4. ความรีบร้อน อันนี้ทุกคน ก็รู้ว่าเป็นนิสัยที่ไม่ใคร่ดี เพราะทำให้เกิดความไม่สบายใจ เกิดความผิดพลาด เกิดความยุ่งเหยิงสับสน ความรีบร้อนเป็นศัตรูร้ายกาจแก่สมรรถภาพของคนทำให้การวางแผนต่าง ๆ บกพร่องแต่ว่าความรีบร้อนในบางโอกาสก็จำเป็น แต่ควรจะรีบอย่างมีศิลปะหน่อย คือ ไม่ใช่รีบร้อน แต่ว่าเป็นเรื่องรวดเร็ว ได้มีผู้กล่าวเป็นคำเตือนใจไว้ว่า “ฉันจะไม่รีบฉันจะไม่ตื่นเต้น ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะบังคับแค่ไหน” แล้วก็ท่องเอาไว้ทุกครั้งที่มีงานด่วน

5. ความกลัวที่จะผิดหวัง
อันนี้เป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดที่ทำให้เกิดความตึงเครียด อาจจะเกิดขึ้นระหว่างที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้กลัวไปว่าจะทำงานไม่สำเร็จ กลัวไปว่าจะทำงานไม่ตลอดรอดฝั่งกลัวไปว่าจะทำงานไม่ได้ดีพอความกลัวก็ต้องใช้อารมณ์ ใช้ใจเหมือนกัน และอารมณ์หรือจิตใจแทนที่จะไปด้านงานการ ก็ไปอยู่ในเรื่องความกลัวนี่เสียหมด เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า ความสำเร็จอยู่ที่ความสามารถกับความชำนาญและถ้าหากได้ใช้ความพยายามตามปกติโดยมากงานก็สำเร็จ อย่าไปเชื่อว่าเราจะมีกำลังหนุนอย่างใดแล้วพยายามมันมากขึ้น เพราะกำลังของแต่ละคนย่อมมีอยู่ในขอบเขตจำกัดเท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่ไม่กลัวความผิดหวังก็ทำงานได้ดีและถ้าทำได้ดีกว่าปกติก็เป็นผลกำไร นั่นคือ ความชื่นใจ

การรู้จักหย่อนใจจะมีผลเต็มที่ “ปล่อยตามสบายเสียบ้าง” ต้องพยายามฝึกฝนตัวเองให้รู้จักทำอะไรง่าย ๆ แล้วท่านจะประหลาดใจที่เกิดความสำเร็จขึ้นมาอย่างง่าย ๆ เหมือนกัน ถ้าเราเอาจริงเอาจังมากก็จะเคร่งเครียดมาก ลอยปล่อยเวลาว่างเสียบ้าง แล้วความกระปรี้กระเปร่าจะกลับคืนมา ระหว่างงานยุ่ง ๆ ลองนั่งหรือนอนเงียบ ๆ ดูบ้างให้ร่างกายและจิตใจได้พักอย่าพยายามอะไรมากนัก ถ้าท่านพยายามอยู่แล้วอย่างเต็มฝีมือ และไม่ควรลืมว่าถ้าต้องพยายาม ก็ขอให้พยามอย่างสบาย ๆ แล้ว จะทำอะไรได้สำเร็จด้วยดี
กำลังใจของคนเราจะเกิดขึ้นได้หรือจะเพิ่มพูนขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติอย่างที่ เบคอน นักจินตกวีเอกได้กล่าวว่า “ทฤษฏีทุกอย่างมีแต่ความล้มเหลว” แต่การกระทำนั่นแหละจะเป็นผลอันยั่งยืน หรือว่าทฤษฏีจะมีอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีการกระทำ

 การกระทำจะเพิ่มพูนกำลังใจนั้นก็มีได้ดังเช่น
1) การตัดสินใจเสียเดี๋ยวนี้ว่า
เราจะทำอะไร ถ้าไม่อย่างงั้นเราก็มีแต่ความลังเล มีแต่ความพ่ายแพ้
ความลังเลทำให้จิตใจอ่อนแอ และเมื่อใดจิตใจอ่อนแอก็เป็นเหยื่อของโรคประสาท

2) ต้องพยายามที่จะให้ความสนใจต่อทุกสิ่ง คือ ไม่เบื่อหน่ายต่อเหตุการณ์ และมีความพอใจต่อทุกคน คำรู้สึกขอบคุณและชื่นชมต่อบุคคลอื่นและสิ่งของ มีแต่ช่วยให้เราสบายใจขึ้น ถ้าหากมองโลกในแง่ร้ายก็จะพ่ายแพ้ แก่ภัยตัวเองหรือใจตัวเองได้ง่ายที่สุด

3) จงใช้แนวความคิดของท่าน อุดมคติของท่านร่วมกับปัญญา เพื่อที่จะตัดสินใจต่อเหตุการณ์ต่อวิถีชีวิต การรู้จักใช้ปัญญา เพื่ออุดมคติ เป็นกำลังใจอันสำคัญยิ่งและกำลังใจอันนี้จะเป็นสิ่งซึ่งยั่งยืนถาวร เต็มไปด้วยเหตุผล

ถ้าเราได้พยายามฝึกกำลังใจวันละเล็กละน้อย ก็จะเกิดความเคยชินขึ้นจนเป็นนิสัย ถึงแม้บางครั้งไม่เกิดผลก็ขอให้พยายามใหม่พยายามไปเรื่อย ๆ วันนี้ไม่ได้ วันหน้าได้บ้าง วันโน้นอาจจะได้ดีขึ้นมาจนได้ ขอให้เราเป็นตัวของตัวเอง พยายามสร้างกำลังใจขึ้นและแล้วโรคประสาทก็ดี ความแกว่งไกวทางจิตใจก็ดี จะไม่มาเยี่ยมกรายท่านเลย

 

ข้อมูลสื่อ

22-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 22
กุมภาพันธ์ 2524
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประสพ รัตนากร