• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บาดแผลเพียงเล็กน้อยรักษาเองได้

บาดแผลเพียงเล็กน้อยรักษาเองได้


⇒ บาดแผลถลอกมีดบาด
ควรทำความสะอาดบาดแผลโดยล้างด้วยน้ำเกลือนอร์มัล แล้วปิดแผลด้วยผ้าสะอาดแผลจะหายไปเอง เคยมีความเชื่อกันมาแต่ดั้งเดิมว่า ถ้าเผลถูกน้ำจะเป็นหนอง ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง เพราะน้ำโดยทั่วไปจะมีแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่ทำให้เกิดหนองได้อยู่เสมอ เมื่อมาถูกกับแผล เชื้อที่อยู่ในน้ำจะทำให้เกิดหนองในแผลแม้เหงื่อไคลก็ทำให้เกิดหนองได้เพราะเชื้อโรคที่อยู่ตามผิวหนังจะมากับเหงื่อ และเมื่อถูกแผลก็เป็นหนอง ดังนั้น นอกจากทำความสะอาดแล้ว ยังต้องปล่อยให้แห้งไม่ควรปิดผ้าพันแผลแน่น เพราะบ้านเราเมืองร้อนจะอบชื้นอยู่ภายใน ทำให้เป็นหนองง่าย การล้างด้วยน้ำเกลือนอร์มัลเป็นน้ำซึ่งต้มเดือด แม้มีเชื้อโรคก็ตายไปแล้ว และที่มีเกลือใส่ลงไปด้วย ก็เพื่อจะทำให้มีความข้นใสเท่ากับน้ำในร่างกายเวลาล้างจะได้ไม่แสบ

⇒ แผลทั่วไป ควรใส่ยาหรือไม่และใส่ยาอะไรดี ?
แผลถอก แผลมีดบาด ที่ไม่สกปรกมาก เมื่อล้างทำความสะอาดแล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ยาอะไร เพราะยาที่ใส่ เช่น ยาแดง ยาเหลือง มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคจำกัด ฆ่าได้ไม่หมด ทิงเจอร์ไอโอดีน ไม่ควรใส่ลงในแผล เพราะจะกัดเนื้อ ทำให้แสบได้มาก และเนื้อจะตายทำให้แผลหายช้า
แผลถลอกธรรมดา อาจใช้ยาแดงทาได้ เพราะยาแดงเมื่อถูกกับน้ำเหลืองของร่างกายแล้วจะแห้งกรัง เป็นการปกปิดแผลไปในตัว นอกจากนั้นส่วนดีของยาแดงยังเป็นเครื่องเตือนผู้มีแผลว่า ไม่ควรให้ส่วนนั้นไปถูไถกับอะไร อันจะทำให้แผลไม่หายเร็วได้อีกด้วย
การใช้ยาฉุน ใยแมงมุม ขนข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งนิยมทำกันตามท้องถิ่น ไม่ควรทำ เพราะจะเป็นทางนำเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล

⇒ แผลสัตว์กัด สัตว์ที่ไม่มีพิษ เช่น สุนัข ลิง กระรอก แมว ค้างคาว ตลอดจนสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ อาจจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองได้ ควรทำความสะอาด โดยการล้างด้วยน้ำเกลือนอร์มัล และสบู่อ่อน ๆ เช่น สบู่ฟอกตัว แล้วปิดแผลไว้ อาจต้องเปลี่ยนผ้าปิดแผล เพื่อความสะอาดทุกวัน โดยเช็ดน้ำเกลือที่แผลและเช็ดผิวหนังด้วยแอลกอฮอล์ 70%

แผลสัตว์กัด ต้องระวัง 2 อย่าง คือ
1. บาดทะยัก มีวิธีป้องกันได้ โดยให้หมอฉีดยากันบาดทะยักให้

2. พิษสุนัขบ้า สุนัขที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันสุนัขบ้าถ้าบ้า สุนัขจะตายภายใน 10 วัน (ตายเอง) ถ้าส่งสุนัขไปตรวจได้ควรทำ ถ้าตรวจไม่ได้ ควรไปหาหมอเพื่อให้ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้
นอกจากสุนัขแล้ว แมว กระรอก และสัตว์แทะอื่นๆ รวมทั้งค้างคาว อาจเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าได้ ถ้าถูกกัด ควรปรึกษาหมอ เพื่อรับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

แผลคนกัด อาจมีอันตรายรุนแรง เพราะการอักเสบจะมีมากและลุกลามเร็ว ควรทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่จนทั่ว แล้วเปิดแผลเอาไว้ ไม่ควรเย็บปิด ต้องกินยาปฏิชีวนะ (เช่น เตตร้าซัยคลีน หรือแอมพิซิลิน) ในขนาดที่เพียงพอเสมอ

 

ข้อมูลสื่อ

24-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 24
เมษายน 2524
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์