• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นมแม่...หายไปไหน

นมแม่...หายไปไหน

ความรักระหว่างแม่กับลูกนั้นเป็นตำนานความรักอันยิ่งใหญ่มาเนิ่นนาน ลูกเปรียบปานแก้วตาดวงใจของแม่ ซึ่งจะได้รับการทะนุถนอมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กเล็ก

เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่ง 3-4 ขวบเป็นวัยที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงที่อายุสมองกำลังงอกงามและเกิดรากฐานทางจิตใจ ซึ่งประกอบด้วยปัญญาและอารมณ์ เด็กจะฉลาดหรือโง่ เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ผู้อื่น เป็นคนที่มีความสุขหรือมีความทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมในช่วงนี้

จากรายงานการแพทย์พบว่า เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่จะเป็นโรคน้อยกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมสัตว์ และจะมีการพัฒนาทางสมองและทางอารมณ์ได้ดีกว่า เพราะการที่ได้รับสัมผัสจากแม่ การที่เห็นแม่ การที่แม่คุยด้วยจะกระตุ้นให้เซลล์สมองแตกกิ่งก้านสาขา ทำให้ฉลาด เรียนรู้อะไรง่าย และมีเหตุผล

ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของแม่และลูก ระหว่างแม่กับลูกที่สัมผัสกันทันทีหลังคลอด แม่กับลูกที่พบกันหลังคลอดแล้ว 12 ชั่วโมง และแม่กับลูกที่พบกัน 36 ชั่วโมงต่อมา พบว่า พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความรักใคร่ เช่น การมองสบตา การเฝ้ามองดูลูก กอดจูบลูก พูดคุยและยิ้มกับลูก จะพบมากในกลุ่มแรก กลุ่มที่สองพบปานกลาง ส่วนกลุ่มที่สามพบว่า พฤติกรรมของความผูกพันมีน้อยกว่ากลุ่มอื่น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายฝ่ายจะยอมรับว่านมแม่ดีที่สุด เหมาะที่สุดสำหรับทารก แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลับลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มคนในเมือง ภาพแม่เปิดอกให้ลูกดูดนมด้วยความรู้สึกอันอบอุ่นเมื่อวันวาน จึงแทบจะหาไม่ได้ในวันนี้ วันที่มองไปทางไหนก็มีแต่ภาพเด็กน้อยกับขวดนมขึ้นมาแทน

ทำไมเด็กไทยจึงไม่ได้กินนมแม่

มีคำตอบหลากหลายรอคอยอยู่ ไม่ว่าจะมาจากปัญหาทางร่างกายของแม่เอง การที่แม่ต้องไปทำงานตลอดจนค่านิยมของการเลี้ยงลูกที่เปลี่ยนไป

ร่างกายแม่ที่ไม่พร้อมที่จะให้นม

แม่บางคนอาจมีสภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการให้นมลูก เช่น มีความผิดปกติที่หัวนม หัวนมบอด หัวนมแตก อักเสบ แม่บางคนต้องผ่าตัด หรือเป็นโรคที่ติดต่อทางสายเลือด และปัญหาที่สำคัญ คือ น้ำนมไม่พอ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ ขอเพียงแต่ให้แม่มีความตั้งใจจริงที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองเท่านั้นเป็นพอ

แม่ต้องไปทำงานนอกบ้าน

ในปัจจุบันหลังจากคลอดลูกแล้ว แม่จะมีเวลาอยู่กับลูกเพียงไม่กี่วัน เพราะต้องรีบกลับไปทำงานหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกแรงหนึ่ง ประกอบกับสภาพและระบบการทำงานของแม่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การลาคลอดได้น้อยวัน และไม่มีระบบสนับสนุนให้แม่นำลูกมาเลี้ยงในที่ทำงานเพื่อที่จะสามารถให้ลูกกินนมแม่ได้

ระบบสาธารณสุขที่ขาดความจริงจัง

ในปัจจุบันแม่มาคลอดที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แม่และเด็กมีความปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของหลายๆ หน่วยงาน รวมทั้งของกระทรวงสาธารณสุขเองพบว่า การที่แม่มาคลอดที่โรงพยาบาลเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง

ทั้งนี้เพราะสถานบริการสาธารณสุขหลายๆ แห่งจะไม่ให้ลูกมาอยู่กับแม่และดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด ในบางแห่งกว่าแม่จะจะได้เจอลูกก็ใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งมีผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะทำให้การหลั่งของน้ำนมช้าลง และไม่เพียงพอจนกระทั่งนมไม่ไหล

นอกจากนี้บริษัทนมได้ใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการขาย โดยแฝงเข้ามาในรูปของการบริจาคนมผงผ่านทางสถานพยาบาล พร้อมกับของกำนัลเล็กๆ น้อยๆ เช่น นาฬิกาแขวน โปสเตอร์รูปสวย ปากกา เป็นต้น และเป็นที่แน่นอนว่าสิ่งของเหล่านี้ย่อมขาดไม่ได้ที่จะมีตรา หรือยี่ห้อนมนั้นๆ ประทับอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ลืมฉุกคิดไปว่า การกระทำเหล่านี้มีอิทธิพลต่อแม่ที่มาคลอดโรงพยาบาลสูง เพราะแม่ส่วนใหญ่เชื่อและศรัทธาในตัวบุคลากรสาธารณสุข โดยคิดว่านมผสมที่ทางโรงพยาบาลให้นั้นมีคุณภาพเหมาะสมกับทารก

ค่านิยมที่เปลี่ยนไป

ค่านิยมในสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไปเน้นความสำคัญของความสวยงามของร่างกายได้มีอิทธิพลต่อแม่ ทำให้แม่กลัวเสียทรวดทรง หรือคิดว่าการเปิดอกให้ลูกกินนมในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่าอับอาย กลัวถูกตราหน้าว่าเชย โบราณคร่ำครึ ขณะที่การเลี้ยงลูกด้วยนมขวดกลับเป็นเรื่องที่ทันสมัยและเป็นเรื่องของผู้เจริญแล้ว

สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ไม่ยากที่จะแก้ไข เพียงแต่ต้องอาศัยความตั้งใจจริงของแม่ การสนับสนุนจากสามีและครอบครัว ตลอดจนนโยบายของรัฐฯ ที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง และแก้ปัญหาอย่างถูกจุด เด็กไทยของเราจะได้กินนมแม่กันอย่างแน่นอน

แม่ที่ทำงานนอกบ้านจะเลี้ยงลูกด้วยด้วยนมตนเองอย่างไร

การที่แม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้แม่จำนวนมากตัดสินใจไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เหมือนกัน แต่มีระยะเวลาสั้นลงเพื่อเตรียมตัวกลับไปทำงานตามปกติ ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ทางตันเสียทีเดียว แม่สามารถให้นมลูกได้โดยปฏิบัติดังนี้

ระยะที่แม่ลาพักหลังคลอด แม่ควรให้ลูกดูดนมตนเองอย่างเต็มที่ ระยะที่แม่ต้องกลับไปทำงานแม่ควรให้ลูกดูดนมต่อไปในช่วงที่อยู่บ้าน โดยเฉพาะช่วงตอนกลางคืนควรให้ลูกดูดให้เต็มที่เพื่อเก็บไว้เป็นเสบียง สำหรับช่วงเวลาที่แม่ออกไปทำงานนอกบ้าน แม่สามารถใช้น้ำนมเลี้ยงลูกได้โดยการใช้เครื่องปั๊มเอาน้ำนมแม่ใส่ขวดไว้ในตู้เย็นชั้นธรรมดา แต่แม่จะต้องรักษาความสะอาดมือและเต้านมเป็นอย่างดี ขวดนมและเครื่องปั๊มนมต้องล้างและต้มให้สะอาด

ขณะอยู่ที่ทำงาน หากแม่มีปัญหาเต้านมคัด หรือมีน้ำนมไหลออกมาในช่วงที่เคยให้นมลูก ควรบีบหรือปั๊มน้ำนมทิ้ง นอกจากนั้นแม่ควรใช้เสื้อชั้นในที่กระชับทรงพอดี และรองบริเวณหัวนมด้วยสำลีหรือผ้าซับน้ำนมที่อาจไหลออกมา

ส่วนปัญหาที่รอการแก้ไขอีกประการหนึ่ง ก็คือ สภาพและระบบการทำงานของแม่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาของการลาคลอดที่สั้นเกินไป หรือหน่วยงานนั้นไม่มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

แม่ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจะเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองอย่างไร

แม่ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับเต้านม เช่น น้ำนมไม่พอ หัวนมบอด หรือหัวนมบุ๋ม เต้านมคัด หัวนมแตก หัวนมอุดตัน ก็สามารถให้นมลูกได้เช่นกัน

  • น้ำนมไม่พอ

แม่ที่ประสบปัญหาน้ำนมไม่พอส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงระยะแรกคลอด ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้เตรียมเต้านมก่อนคลอด ให้ลูกดูดนมน้อยเกินไป หรือระยะเวลาที่แม่ให้นมลูกห่างไป การให้ลูกดูดนมบ่อยๆ จะกระตุ้นให้น้ำนมแม่มาเร็วและมีปริมาณมาก หลังคลอดควรให้ลูกดูดนมเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือ หลังจากการพักผ่อนทั้งแม่และลูกอย่างช้าไม่ควรเกิน 6 ชั่วโมง และให้ลูกดูดนมทุกครั้งที่ลูกต้องการ

การให้น้ำหวานกลูโคสหรือให้นมผสมเพิ่มจะทำให้ลูกไม่หิว และจะดูดนมค่อย ดูดไม่นาน ทารกที่มีปัญหาในการดูดมักจะเกิดจากปากผิดปกติ ความเจ็บป่วย จึงทำให้ทารกดูดนมไม่แรง ส่งผลให้การกระตุ้นการหลั่งน้ำนมออกมาน้อย ดังนั้นแม่ควรให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียว หากแม่มีน้ำนมไม่พอในระยะต่อมา มักจะเป็นเพราะแม่สุขภาพไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแม่ได้รับอาหารไม่เพียงพอ สำหรับแม่ที่ขี้วิตกกังวลใจก็มีผลให้น้ำนมมาน้อยเช่นกัน

  • หัวนมบอดหรือหัวนมบุ๋ม

แม่ที่หัวนมบอดเกิดจากลักษณะทางโครงสร้างของหัวนมที่เป็นมาตั้งแต่เด็ก ส่วนสาเหตุอื่น เช่น ความผิดปกติของเต้านม ได้แก่ การพองตัวของท่อน้ำนม หรือเกิดจากความผิดปกติในท่อน้ำนม สามารถแก้ไขได้โดยการดึงหัวนม และให้ลูกดูดนมบ่อยๆ

  • เต้านมคัด

เต้านมคัดเกิดจากมีการสร้างน้ำนมมาก การหลั่งน้ำนมไม่ดี หรืออาจเป็นเพราะวิธีให้ลูกดูดนมไม่ถูกต้อง อาจแก้ไขได้โดยให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ และอุ้มลูกให้ปากลูกอมถึงบริเวณลานนม บีบน้ำนมออกบางส่วน หรือนวดคลึงเต้านมเบาๆ รวมทั้งการใช้น้ำร้อนหรือน้ำแข็งประคบเต้านม

  • หัวนมแตกหรือเป็นแผล

การที่หัวนมแตกมักเกิดจากการที่แม่ให้นมลูกผิดวิธี เต้านมคัด ล้างหรือเช็ดเต้านม หัวนมด้วยสบู่หรือน้ำอุ่นมากเกินไป แก้ไขได้โดยการจัดท่าให้ลูกดูดนมอย่างถูกต้อง กระตุ้นให้แม่หลั่งน้ำนมก่อนให้ลูกดูดโดยนวดหรือคลึงเต้านม แม่ควรให้ลูกดูดนมข้างที่ไม่แตกหรือแตกน้อยก่อน ถ้าหัวนมแตกมากควรงดการให้ลูกดูดนมชั่วคราว แล้วบีบนมใส่ขวดให้ลูกแทน ทาหัวนมที่แตกด้วยน้ำมะกอกหรือโลชั่น

  • หัวนมอุดตัน

หัวนมอุดตันมักเกิดจากการที่ลูกดูดนมไม่หมด เกิดการคั่งของน้ำนมในหัวนม หรือเกิดจากมีการกดทับบริเวณเต้านม เช่น การสวม ยกทรงผิดขนาด หรือมีก้อนเนื้อกดที่เต้านมคุณสามารถแก้ไขได้โดยนวดและคลึงเต้านมเบาๆ ก่อนให้ลูกดูดนม พร้อมกับเพิ่มความถี่ในการให้นมลูกบ่อยขึ้น ควรให้ทุก 1-2 ชั่วโมง โดยให้ลูกเริ่มดูดนมจากเต้าที่ดูดค้างไว้คราวที่แล้วก่อน จึงให้ดูดอีกข้างหนึ่ง และแม่ควรสวมยกทรงที่ได้ขนาดพอเหมาะกับเต้านม

  • เต้านมอักเสบ

เต้านมอักเสบเกิดจากมีการถลอกหรือมีแผลที่ผิวหนังบริเวณหัวนม และมีการติดเชื้อทำให้เกิดการอักเสบขึ้น มีวิธีแก้ไขโดยประคบด้วยน้ำร้อน พร้อมทั้งนวดเต้านมเบาๆ เพื่อให้น้ำนมออกเสียบ้าง แม่ควรหาโอกาสนอนพักหลังให้นมลูกทุกมื้อ หรือใช้ยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะช่วย ถ้าการอักเสบไม่รุนแรงแม่สามารถให้นมลูกได้

คุณแม่คนขยัน...ก็สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เด็กๆ ที่มีคุณแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านทั้งหลายแหล่ ส่วนใหญ่แล้วต้องอยู่กับขวดนมเมื่อแม่ออกไปทำงาน แต่ก็มีเด็กอีกหลายคนที่ได้กินนมแม่ แม้ว่าแม่จะออกไปทำงานแล้วก็ตาม เรามาดูกันซิว่า แม่ของลูกที่โชคดีเหล่านี้ทำอย่างไรกันบ้าง
 

  • คุณภาวนา อร่ามฤทธิ์ คุณแม่นักทำงานหนังสือประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร “รักลูก” กับอีกมุมมองใหม่ในการเลี้ยงดูหนูน้อย พอฝัน อร่ามฤทธิ์

“ที่ทำงานนี้ดีกว่าที่อื่นตรงที่ว่าให้แม่ลาคลอดได้นาน 2 เดือน และสามารถนำลูกมาเลี้ยงที่ทำงานได้ จนกว่าจะหย่านม มีการนำลูกมาเลี้ยงแบบไม่เป็นทางการหลายปีแล้ว แต่ประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจนปีนี้เป็นปีที่ 2 เริ่มตั้งแต่กรรมการบริหารเป็นคนนำมาคนแรก ตอนแรกว่าจะไม่เอามา หัวหน้าบอกว่าทำไมไม่เอามา กระตุ้นให้เอามาเลี้ยง ถ้าหัวหน้างานไม่กระตุ้นเราก็เกรงใจ งานการผ่อนได้ก็ช่วยผ่อน ช่วยชี้แจงลูกน้องให้เข้าใจถึงนโยบายนี้

ตัวพี่เองก็อยากใกล้ชิดลูก เอาไว้ไกลหูไกลตาก็ห่วง อยากให้ลูกกินนมแม่ เพราะเห็นประโยชน์ของนมแม่ แล้วตัวเองก็ทำหนังสืออย่างนี้ด้วย เขียนหนังสือรณรงค์ให้ใครต่อใครเห็นความสำคัญของนมแม่ จุดสำคัญคือ สามีเป็นแรงผลักดันให้เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง นมขวดพี่จะชงตอนนมไม่มา สามีก็บอกว่าอย่าใช้เลย นมแม่ดีกว่า เช้ามาส่ง เย็นมารับกลับ เอาเปลมาตั้งที่ทำงาน มีพี่เลี้ยงตามมาช่วยดูแลด้วย ว่างๆ ก็ช่วยงานอื่นไปด้วยในตัว

พนักงานทุกคนก็ช่วยกันดู ไม่รู้สึกว่าเสียงเด็กน่ารำคาญ ร้องบ้าง อะไรบ้าง ก็ไม่ว่าอะไร ช่วยกันเลี้ยง เห็นเด็กน่ารักก็เป็นการคลายเครียดไปในตัว ใครสูบบุหรี่ก็งดไป ใครเสียงดังก็จะมีคนปราม การเอาลูกมาเลี้ยงที่ทำงานเห็นได้ชัดเลยว่า เด็กจะไม่ตื่นคน มีคนมาคุยเล่นด้วยตลอด มีพัฒนาการได้เร็ว แม่ก็เกิดความผูกพันกับลูก

เหตุที่เด็กไทยไม่ได้กินนมแม่นั้นพี่คิดว่า แม่เตรียมตัวไม่ดี ไม่ได้บำรุง แม่ไม่ได้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม่ขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเทคนิคที่ว่าทำอย่างไรให้นมมาเยอะ บางคนหลายวันกว่านมจะมา ก็เลยพาลคิดว่าจะไม่มีนมให้ลูกกิน ที่สำคัญคนใกล้เคียงไม่ส่งเสริมให้กำลังใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ทำอย่างไรให้เด็กไทยได้กินนมแม่นั้นพี่คิดว่า ในช่วงหยุดพัก 1-2 เดือน แม่ควรให้ลูกกินนมอย่างเต็มที่ และเมื่อไปทำงานแล้ว ปั๊มใส่ขวดไว้ให้ลูกดูดก็ยังได้ หากเจ้านายเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีนโยบายให้นำลูกมาเลี้ยงที่ทำงานได้ ให้ลาหยุดได้นานขึ้นเป็น 2-3 เดือน เด็กไทยคงได้กินนมแม่มากขึ้น”
 

  • คุณอุไรลักษณ์ วาจียะสัตย์ คุณแม่นักประชาสัมพันธ์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นคุณแม่ของเด็กหญิง ปุณฑริก วาจียะสัตย์

“ที่นี่มีโครงการให้แม่นำลูกมาเลี้ยงที่ทำงานได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 โดยให้อยู่ที่แผนกสวัสดิการกุมารฯ หลังจากลาพักคลอดได้ 1 เดือน ก็นำลูกมาเลี้ยงที่โรงพยาบาล ช่วงแรกมาแท็กซี่ หลังจากนั้น 4-5 เดือน ถ้ารถเมล์แน่นก็มารถสามล้อ เพราะบ้านอยู่ใกล้ ถ้ารถเมล์ว่างก็ใส่กระเช้าอุ้มมา คนบนรถเมล์ส่วนมากเห็นเอาเด็กใส่กระเช้าอุ้มมาก็ลุกให้นั่ง กระเช้านี้มีขายตามศูนย์การค้าทั่วไป

การให้เอาลูกมาเลี้ยงที่ทำงานนี้ เป็นการรณรงค์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของศิริราชฯ วันหนึ่งให้นมลูกประมาณ 3 ครั้ง ตอนเช้าไปส่งก็ให้นม พอ 11 โมงครึ่งก็ให้นมอีกครั้ง บ่าย 2 โมงครึ่งถึง 3 โมงก็ให้นมอีกที ถ้าเด็กร้องมากทนไม่ไหวเจ้าหน้าที่ก็จะโทร.ไปตามมาให้นม ที่นี่มีหมอ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิด วันหนึ่งเสียค่าเลี้ยงดู 10 บาท ถ้าวันไหนไม่เอามาเลี้ยงก็ไม่เสียเงิน

เวลาเข้าไปให้นม แม่ต้องใส่เสื้อคลุมของทางโรงพยาบาล ห้องสวัสดิการทารกจะมีทุกอย่างให้ตั้งแต่เสื้อผ้าเด็ก ที่นอน และรับซักผ้าให้ด้วย แต่ถ้าเอาเสื้อผ้าเด็กมาเองก็ต้องเอากลับไปซักเองที่บ้าน และให้เลี้ยงจนถึงอายุ 1 ขวบ

เด็กที่เอามาเลี้ยงที่ทำงานจะได้รับความอบอุ่น อยู่ที่นี่มีเด็กวัยเดียวกัน การพัฒนาการของเด็กจะไปได้เร็ว เป็นการประหยัดไม่ต้องเสียค่านมผงและค่าคนเลี้ยงเด็ก ห้องเลี้ยงเด็กที่นี่ มีเด็กประมาณ 20 คน เป็นลูกของเจ้าหน้าที่ พยาบาล และหมอ

ในปัจจุบันนี้พี่คิดว่า มีสถานที่ทำงานหลายแห่งเห็นคุณค่าของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีโครงการที่จะให้แม่เอาลูกมาเลี้ยงที่ทำงาน เช่น ที่ธนาคารเอเชีย โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็มี”

เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ในการให้เด็กได้กินนมแม่

1. ให้ลูกดูดนมทันทีในชั่วแรกหลังคลอด

การให้นมลูกครั้งแรกควรควรให้บนเตียงคลอด (หากคุณแม่คลอดในโรงพยาบาล) หรือภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยให้แม่และเด็กห่มผ้าให้อบอุ่น แล้วปล่อยให้ลูกกินนมอยู่บนอกแม่ ช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญเพราะ

- เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับเด็กในการเรียนรู้ถึงวิธีดูดนม เด็กจะตื่นตัวมาก และผลจากการดูดของเด็กจะเป็นตัวกระตุ้นที่ดี

- การดูดนมของเด็กจะไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนออกซิโทซินให้ช่วยขับรถออกมา และช่วยไม่ให้แม่ตกเลือด

- เด็กจะได้กินหัวน้ำนมสีเหลือง (โคลอสตรัม) ที่มีคุณค่า

- ในชั่วโมงแรกหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับสายใยแห่งความผูกพัน การให้เด็กดูดนมทันทีหลังคลอดจะมีผลต่อจิตใจของแม่ แม่จะรักและคอยเอาใจใส่ลูก และอยากจะให้นมลูกต่อๆ ไป ถ้ามีการชักช้าแม้เพียง 2-3 ชั่วโมง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มที่จะล้มเหลว

2. ให้ลูกกินนมแม่ทุกครั้งที่ลูกต้องการ

เมื่อลูกร้องหิวนม ให้แม่อุ้มให้ลูกกินนมตามที่เขาต้องการ การให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ จะช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนโพแล็กทิน ซึ่งจะช่วยให้น้ำนมแม่มาเร็วและช่วยป้องกันปัญหานมคัด

เด็กบางคนร้องจะกินนมอยู่เรื่อยๆ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากเด็กดูดนมไม่ถนัดจึงได้กินนมไม่พอ หรือแม่ให้เด็กดูดนมโดยใช้เวลาสั้นๆ การที่เด็กดูดนมไม่ถนัดจะทำให้หัวนมเบี้ยวได้ ดังนั้น แม่ควรอุ้มเด็กให้ดูดนมได้ถนัด และปล่อยให้เด็กดูดนมตามความต้องการ ส่วนเด็กบางคนอาจจะเงียบและไม่ร้องเลยเลยเมื่อหิว ในกรณีนี้แม่ควรให้เด็กกินนมบ่อยกว่าที่เด็กร้องอยากจะกิน

3. แม่ควรให้ลูกดูดนมจากทั้ง 2 ข้าง

เด็กส่วนใหญ่ต้องให้ดูดนมจากเต้านมทั้ง 2 ข้างทุกครั้งที่ให้นม แม่หลายคนจะมีข้างที่ชอบให้ลูกดูด อย่างไรก็ตาม ถ้าให้ลูกดูดจากข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่ง ข้างที่ปล่อยไว้อาจไม่ผลิตน้ำนม

4. ไม่ต้องให้เด็กกินอะไรจนกว่าน้ำนมแม่จะมา

แม่หลายคน หรือในโรงพยาบาลหลายๆ แห่งจะให้เด็กกินนมผงสำหรับทารก น้ำตาลกลูโคส หรืออาหารอื่นก่อนที่น้ำนมแม่จะมา เพราะกลัวว่าเด็กจะหิวหรือขาดน้ำ

รายงานทางการแพทย์ปัจจุบันยืนยันว่า การให้เด็กกินอาหาร น้ำหรือนมอย่างอื่น ก่อนที่น้ำนมแม่จะมานั้น เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น และไม่เป็นผลดีกับเด็ก เด็กในช่วงนี้ต้องการเพียงหัวน้ำนมสีเหลืองเท่านั้น และปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าถึงแม้แม่จะมีปัญหาเต้านมบวมหรือคัด แต่ก็สามารถบีบหัวน้ำนมสีเหลืองให้ลูกกินได้อย่างปลอดภัย

การให้เด็กกินนมหรืออาหารอื่นก่อนน้ำนมแม่จะมานั้น จะทำให้เด็กจำหัวนมสับสน เพราะเคยได้กินนมขวด และเด็กจะไม่อยากกินนมเพราะอาหารที่กินเข้าไปทำให้ไม่รู้สึกหิว และหากอาหารมีการปนเปื้อนก็จะทำให้เด็กท้องร่วงได้

ตารางเปรียบเทียบคุณค่าของนมแม่และนมวัว

ข้อมูลสื่อ

130-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 130
กุมภาพันธ์ 2533
อื่น ๆ