• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไม่เป็นไร

นายบุญอายุ 50 ปี เคยตรวจพบว่าเป็นความดันสูงมา 4-5 ปี หาหมอบ้าง ไม่หาบ้าง ตามภาษาของคนไข้แบบไทยๆ

วันหนึ่งนายบุญได้ไปตรวจเช็กร่างกายยังสถาบันมีชื่อแห่งหนึ่ง ที่รับตรวจทางมะเร็งตามคำชักชวนของเพื่อนฝูง

“หมอตรวจทุกอย่างแล้ว ไม่มีโรคมะเร็งปอด ตับ ไต หัวใจ กระเพาะลำไส้เป็นปกติดี ไม่เป็นไร...”
คุณหมออธิบายให้ฟัง

นายบุญฟังแล้วดีใจยิ่งนัก สัปดาห์ต่อมา เพื่อนฝูงจัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิด นายบุญก็ร่วมดื่มเหล้าอย่างเพลิดเพลิน เมื่อดื่มจนเข้าที่ดี ทันใดนั้นเขาก็รู้สึกปวดหัว สักครู่ก็เป็นลมหมดสติฟุบคาโต๊ะ เพื่อนฝูงจัดแจงพาส่งโรงพยาบาล

วันรุ่งขึ้นนายบุญก็สิ้นบุญ หมอบอกว่าเป็นเพราะความดันขึ้นสูงมาก จนเส้นเลือดฝอยในสมองแตก

นายบุญตายเพราะความประมาท พอตรวจเช็กร่างกายแล้ว หมอบอกว่า “ไม่เป็นไร” ก็ลืมไปว่าตัวเองยังมีโรคความดันเลือดสูงเป็นโรคประจำตัว ซึ่งควรหลีกเลี่ยงจากการดื่มเหล้า

คำว่า “ไม่เป็นไร” เป็นภาษาหมอที่มักจะใช้บอกคนไข้ว่า “ไม่มีอะไรที่ร้ายแรงหรือน่าวิตก”

ในกรณีดังกล่าว หมอได้เช็กเรื่องมะเร็งต่างๆแล้วไม่พบว่ามีอวัยวะส่วนใดของนายบุญที่ส่อว่าจะเป็นมะเร็ง จึงได้บอกกับเขาว่า “ไม่เป็นไร”

ทั้งนี้มิได้หมายความว่นายบุญปลอดภัยจากโรคภัยทั้งปวง เพียงแต่หมอเห็นว่าโรคความดันเลือดสูงนั้น นายบุญได้เป็นอยู่ประจำแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ จึงไม่ได้ย้ำเตือนถึงการปฏิบัติตัวในเรื่องนี้

คำว่า “ไม่เป็นไร” เป็นภาษาหมอที่ต้องการปลอบขวัญให้กำลังใจคนไข้ มิให้เกิดความวิตกกังวลจนเกินเหตุ ข้อนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดี คนไข้ย่อมรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะได้ยินคำพูดในเชิงขู่ให้กลัว

แต่ต้องเข้าใจว่ามันเพียงหมายถึง “ไม่มีอะไรที่ร้ายแรง” เท่านั้น ไม่ใช่หมายความว่า “ไม่เป็นอะไรเลย”

หาไม่ ก็จะทำให้เกิดความประมาทจนละเลยการปฏิบัติตัวที่จะรักษาสุขภาพให้แข็งแรงปลอดภัย

ถ้าหากคุณไปหาหมอ แล้วหมอบอกว่า“ไม่เป็นไร” ก็จงอย่าลืมถามว่า

“แล้วต้องระวังในเรื่องอะไรบ้างไหม”
หรือ “แล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง”


 

ข้อมูลสื่อ

101-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช