• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟันหลอจากการดูดนมขวด

ในเด็กก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะเมื่ออายุ 2-4 ขวบ โดยปกติฟันน้ำนมจะขึ้นครบ 20 ซี่แล้ว และเป็นวัยที่กำลังน่ารัก น่าเอ็นดู โดยทั่วไปสุขภาพในช่องปากก็ควรจะดีด้วย ฟันน้ำนมซี่เล็กๆจะเรียงเป็นระเบียบในปากน้อย

อย่าให้ลูกมีปมด้อย จนเรียก “เจ้าหลอ”

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เด็กเหล่านี้จำนวนหนึ่ง จะมีฟันหลอ โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจนในฟันหน้าบนเป็นผลจากฟันผุที่ลุกลามอย่างรวดเร็วและรุนแรงด้วย

ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียบุคลิกแล้ว ส่วนมากจะมีอาการเจ็บปวดเป็นประจำ บางรายที่เรื้อรังเป็นเวลานานๆอาจมีการบวม เป็นตุ่มหนองที่ขอบเหงือก เห็นได้ชัดด้วย และในที่สุดทันตแพทย์ก็ต้องถอนฟันที่ผุมากจนเหลือแต่ตอฟันนี้ออก ทำให้เป็น “เจ้าหลอ” จริงๆ เพราะกว่าฟันถาวรจะขึ้นมาแทนที่ในบริเวณนี้ ก็ต้องรอจนอายุ 6-7 ขวบ

ฟันผุในเด็กเล็กนี้ จะมีลักษณะพิเศษ โดยจะเป็นกับฟันเฉพาะซี่ สังเกตได้จากฟันหน้าบนเป็นรุนแรงมาก และต่อมาจะมีฟันผุในฟันกรามน้ำนม ทั้งฟันบนและฟันล่าง ซ้ายและขวา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไม่ยอมกินอาหาร เพราะเมื่อเคี้ยวอาหารแล้ว เศษอาหารจะติดฟัน ทำให้เจ็บฟันกรามที่ผุอยู่นั้น ฟันผุชนิดนี้จะเป็นกับฟันหลายๆซี่พร้อมกัน

นอกจากนี้ ถ้าสังเกตดูให้ดี จะพบว่าฟันซี่นั้นๆจะผุโดยรอบทุกด้านจนตัวฟันแทบจะหายไป ซึ่งต่างกับฟันผุปกติที่มักเป็นบริเวณด้านบดเคี้ยวและด้านประชิดเท่านั้น

สาเหตุสำคัญของฟันผุรุนแรงในเด็กเล็กนี้ เนื่องมาจากการดูดนมขวดเป็นเวลานานๆ แม้เมื่ออายุมากขึ้นแล้ว ก็ยังคงดูดนมขวดอยู่ต่อไป โดยเฉพาะการดูดนมก่อนนอนแล้วหลับคาขวดนม คราบน้ำนมจะเคลือบฟันที่มีอยู่ในปากไว้ตลอดเวลา เพราะในขณะหลับน้ำลายจะหลั่งน้อยกว่าเวลาตื่น การชะล้างคราบนมบนฟันก็ไม่ดีพอ เชื้อโรคในปากก็จะใช้คราบนมนั้นเป็นอาหารในการเจริญเติบโตและปล่อยกรดออกมาทำลายฟันในที่สุด

นมหวาน สร้างนิสัยไม่ดีแก่เด็ก?

นอกจากนี้ พ่อแม่โดยทั่วไป มักให้นมหวานแก่เด็ก โดยเข้าใจว่า เป็นการกระตุ้นให้เด็กยอมกินนมด้วยดี แท้ที่จริงแล้วพ่อแม่เหล่านี้กำลังสร้างอุปนิสัยให้เด็กชอบความหวานโดยอาศัยประสบการณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง

และแน่นอนที่สุด ความหวานในนมโดยเฉพาะในนมขวดที่เด็กดูดอยู่นั้น ย่อมมีผลเสียต่อฟันมากกว่านมธรรมดาหลายเท่าตัว

เป็นการเร่งให้เกิดฟันผุในเด็กเล็กให้มากและรุนแรงขึ้นโดยตรง
เนื่องจากในระยะของเด็กวัยก่อนเรียนนี้ ต่างกับในระยะวัยทารก ที่พ่อแม่จะดูแลชนิดของนมที่ให้แก่เด็กเป็นพิเศษ จึงมักพบว่า พ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาอาจให้นมสำเร็จรูปที่ดื่มกินได้ทันที เช่น นม ยู เอช ที ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความหวานและรสต่างๆ เช่น ช็อกโกแลต สตรอเบอรี

ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว การปรุงแต่งรสชาติเหล่านี้ เท่ากับการลดปริมาณของนมให้น้อยลง ดังนั้นในปริมาตรที่เท่ากัน เด็กจะได้รับเนื้อแท้ของนมน้อยกว่าการดื่มกินนมจืดปกติ

แต่ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น ก็คือ การใช้นมชงจากนมข้นหวานกระป๋อง ซึ่งแม้จะมีการเตือนว่าไม่เหมาะกับเด็กก็ตาม แต่มีพ่อแม่จำนวนหนึ่งยังนิยมให้ลูกกินอยู่ เพราะราคาถูกและชงได้ง่าย

แท้จริงแล้ว นมข้นหวานนี้มีน้ำตาลกว่าครึ่งหนึ่ง คุณค่าทางอาหารจากการดื่มกินนมหวานนี้จึงเท่ากับการกินน้ำตาลมากกว่านมตามที่ต้องการ

เด็กเล็กไม่อยากกินอาหารเพราะอะไร
การที่ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป จะมีผลให้ความอยากอาหารน้อยลง ประกอบกับการที่นมหวานจากนมขวดทำให้ฟันผุ เด็กจึงไม่ค่อยยอมกินอาหารอื่น และยิ่งพ่อแม่ตามใจและสงสารว่ากินอาหารอื่นไม่ได้ แล้วกลับให้ดูดนมขวดมากขึ้นและบ่อยขึ้นก็จะเป็นวงจรร้ายที่จะมีคราบนมเกาะบนฟันนานมากขึ้น มีผลให้ฟันผุมากยิ่งขึ้น

และการที่เด็กไม่ยอมกินอาหารตามปกติ อาจมีผลให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตตามวัย ทำให้รูปร่างเล็กหรืออาจผอมกว่าเด็กปกติ

ในทางตรงกันข้าม เด็กบางคนที่ได้รับนมและน้ำตาลในนมมากๆ รูปร่างอาจค่อนไปทางอ้วนเตี้ยได้ เพราะได้รับอาหารประเภทแป้งมากเกินไป แต่ร่างกายก็ยังมีโอกาสขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ แม้จะอ้วนก็ตาม

ทำไมฟันหน้าล่างไม่ผุ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ฟันผุจากการดูดนมขวดในเด็กเล็กนี้ มักไม่พบในบริเวณฟันหน้าล่าง ซึ่งเป็นไปตามลักษณะทางกายวิภาคของช่องปาก โดยในขณะที่เด็กดูดนมขวดอยู่ หัวนมจะวางบนลิ้น และเมื่อลิ้นทำหน้าที่ในการดูด จะไปบังบริเวณฟันหน้าล่างพอดี นอกจากนี้นมที่ดูดแล้วจะไหลลงคอไปเลย คราบนมจึงไม่เกาะที่ฟันหน้าล่าง เป็นการป้องกันฟันเหล่านี้ไม่ให้ผุ

ในทางตรงกันข้าม ฟันหน้าบนจะสัมผัสกับนมในขณะดูดตลอดเวลา คราบนมจึงเกาะติดได้ง่าย โอกาสการเกิดฟันผุจึงมากกว่าบริเวณอื่น และเป็นสาเหตุสำคัญของ “ฟันหลอ” ในเด็กเล็ก

ฉบับหน้าจะมาว่ากันด้วยเรื่องทำอย่างไรไม่ให้เด็กฟันหลอ

ข้อมูลสื่อ

101-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530
ทพ.ประทีป พันธุมวนิช