• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเฝ้าระวัง : หู ตา ของการควบคุมโรค

การเฝ้าระวัง : หู ตา ของการควบคุมโรค

ในครั้งก่อนๆ ผมได้เขียนถึงความหมายของการเฝ้าระวังโรคเอาไว้ แต่ยังไม่ได้มีโอกาสเขียนถึงขอบข่ายงาน และประโยชน์ของการนำไปใช้ว่ามีประโยชน์อย่างไรให้ทราบ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ ก็ขอถือโอกาสนี้นำมาเสนอเสียเลย อีกทั้งต้องการบอกว่า การเฝ้าระวังโรคนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนอาจให้ความร่วมมือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายด้วยก็ได้

การเฝ้าระวังโรคหมายถึงอะไร

การเฝ้าระวังโรคนี้ ในความหมายดั้งเดิมจำกัดอยู่เพื่อการติดตามสถานการณ์ของโรคติดเชื้อ เพื่อให้ทราบการระบาดของโรคโดยเร็วที่สุดเท่าที่นั้น แต่จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ทำให้บทบาทของการเฝ้าระวังโรคต้องเปลี่ยนไปด้วย

จากการทบทวนความรับผิดชอบของงานระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ที่รับผิดชอบโดยกองระบาดวิทยา ได้ขยายขอบเขตความรับผิดชอบของการเฝ้าระวังโรคให้ครอบคลุมปัญหาทางสาธารณสุขให้กว้างขวางยิ่งขึ้น แทนที่จะเฝ้าระวังโรคติดเชื้อเพียงอย่างเดียวเช่นแต่ก่อน ก็ให้มีความครอบคลุมไปถึงโรคไม่ติดเชื้ออย่างอื่น เช่น โรคจากการประกอบอาชีพ โรคหัวใจและหลอดเลือด หรืออุบัติเหตุและสาธารณภัยอื่นๆ เป็นต้น รวมทั้งให้ครอบคลุมต่อไปถึงการเฝ้าระวังปัญหาอันจะเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น การเฝ้าระวังพิษสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม พิษสารปรอทจากโรงงานแยกแก๊สหรือมลภาวะในอากาศและน้ำ เป็นต้น

ผลของปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ก็เนื่องมาจากการที่ประเทศไทยมีการพัฒนาตนเอง จากการพึ่งพาเพียงผลผลิตทางการเกษตรในอดีตมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ จึงทำให้เกิดโรคต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วเพิ่มมากขึ้น การปรับตัวที่เกิดขึ้นนี้เป็นการปรับทิศทางที่สำคัญมากที่จะเกิดขึ้นให้เราเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในทศวรรษหน้านี้อย่างแน่นอน

ที่เกริ่นนำมาถือเป็นการให้ข้อมูลกับท่านผู้อ่านเพื่อให้สามารถมองเห็นภาพกว้างๆ ของปัญหาสาธารณสุขที่นักวิชาการระบาดวิทยาได้มองไปล่วงหน้า ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากต่อการวางแผน การควบคุม และป้องกันปัญหาสาธารณสุขของประเทศ

ย้อนกลับมาที่การเฝ้าระวังโรคในเรื่องขอบข่ายงานของระบบ เป็นสิ่งที่เราถือได้ว่าเป็นเครือข่ายที่ใหญ่มากที่สุดระบบหนึ่งของข้อมูลข่าวสารของประเทศไทย กล่าวคือ เรามีกองระบาดวิทยาเป็นหน่วยงานระดับชาติ ทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลที่รับมาจากส่วนปลายทั้งประเทศ

ในส่วนกลาง เรามีศูนย์ระบาดวิทยา ซึ่งมีทั้งหมด 4 ศูนย์ทั่วประเทศ คือ ภาคกลางอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ภาคเหนืออยู่ที่จังหวัดลำปาง ภาคอีสานอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และภาคใต้อยู่ที่จังหวัดสงขลา ศูนย์ฯ เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับจังหวัดต่างๆ ในภาคที่ตัวเองรับผิดชอบ

ส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งในระบบ ก็คือ เรามีพนักงานระบาดวิทยาประจำจังหวัดอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย จังหวัดละ 2-3 คน แล้วแต่ขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรยกเว้นกรุงเทพมหานคร ที่มีหน่วยงานเฉพาะ คือ กองควบคุมโรคติดต่อของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครนั่นเอง

พนักงานระบาดวิทยาประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลจากส่วนต่างๆ ในระดับจังหวัด ซึ่งจะประจำอยู่ในฝ่ายแผนงานและประเมินผลของสาธารณสุขจังหวัด

คราวนี้มาถึงส่วนที่สำคัญที่สุดของระบบนี้ คือ ผู้รายงานโรค ซึ่งในปัจจุบันเครือข่ายนี้ครอบคลุมไปถึงโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ และสถานีอนามัยตำบล ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวที่ไม่ผิดเลยว่า ระบบเฝ้าระวังโรคถือเป็นระบบข้อมูลข่าวสารที่ใหญ่ที่สุดระบบหนึ่งของบ้านเรา

ในปัจจุบันนี้มีโรคที่อยู่ภายใต้การเฝ้าระวังถึง 35 โรค ซึ่งรวมไปถึงโรคติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งโรคเอดส์ โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนตับอักเสบ กามโรค และอุจจาระร่วง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโรคไร้เชื้อ เช่น โรคจากพิษสารโลหะหนัก โรคจากการประกอบอาชีพ แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วจะไม่ทำอะไร เพราะเรามีระบบที่รองรับที่เรียกว่า “การสอบสวนโรค” กล่าวคือ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว เช่น ข่าวลือในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ว่า มีผู้ป่วยจากพิษสารปรอทที่ปล่อยออกจากโรงแยกแก๊ส เจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาก็จะออกไปทำการสอบสวนโรค โดยค้นหาผู้ป่วยและพยายามหาการวินิจฉัยเฉพาะเพื่อยืนยันปัญหา และหาทางดำเนินการควบคุมแก้ไข เป็นต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การร่วมมือกันในข่ายงานเฝ้าระวังโรคนี้ ท่านอาจให้ความช่วยเหลือได้ โดยการแจ้งปัญหาสาธารณสุขเข้าไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของท่านเองเพื่อช่วยเพิ่มความครอบคลุมของหูตาระบบนี้ให้กว้างขวางขึ้น การช่วยกันคนละไม้ละมือตามบทบาทที่ตนเองมีอยู่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ท่านอาจจะมีคำถามว่า แล้วการจัดตั้งระบบเฝ้าระวังขนาดใหญ่โตอย่างนี้เราเอามาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ผมให้คำตอบได้เลยว่า

ประการแรก การเฝ้าระวังโรคทำให้เราทราบสถานการณ์ของโรคว่ามีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร มีปัญหาอะไรใหม่หรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จะส่งผลไปถึงความสามารถในการพยากรณ์การเกิดโรคได้ ท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังหรืออาจหรืออ่านพบข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขออกว่า ช่วงนี้ให้เตรียมระวังป้องกันโรคนั้นโรคนี้ และนี่คือการพยากรณ์การเกิดโรคนั่นเอง

ประการที่สอง เป็นการประเมินการให้บริการสาธารณสุขว่าได้ผลเป็นอย่างไร จำเป็นต้องเพิ่มทรัพยากรอะไรบ้าง เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

ประการที่สาม จากความจำกัดด้านทรัพยากรทางสาธารณสุข คือ เงินและบุคลากรมีน้อยกว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจะช่วยชี้ถึงความเร่งด่วนของปัญหาต่างๆ ว่าเราควรให้ความสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทั้งเงิน บุคลากร และอุปกรณ์ต่างๆ อย่างไร จึงจะเหมาะสม

ประการสุดท้าย การเฝ้าระวังโรคอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้เราทราบความผิดปกติอันบ่งถึงการระบาดของโรคที่เกิดขึ้น ทำให้มีการสอบสวนโรคและดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคอย่างทันท่วงที

ข้อมูลสื่อ

130-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 130
กุมภาพันธ์ 2533
อื่น ๆ
นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์