คุยกันเรื่องฟันผุ
ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ มีจดหมายถามเกี่ยวกับเรื่องของฟันเข้ามามากมาย คอลัมน์ “สุขภาพช่องปาก” ครั้งนี้ จึงได้ถือโอกาสรวบรวมคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับฟันผุ ทั้งที่เกิดขึ้นในเด็กและผู้ใหญ่มาลงเพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง ซึ่งคำถามต่างๆ ที่ส่งมานี้ทั้งคุณหมอประทีป พันธุมวนิช (รายแรก) และคุณหมอเพ็ญพรรณ เลาหพันธ์ (รายที่ 2) ได้ช่วยตอบปัญหาให้ผู้อ่านหายสงสัยกันในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียวค่ะ
รายแรกที่ถามมา คือ คุณน้อย จากอยุธยา ถามว่า
ถาม อายุ 19 ปี เพศหญิง อาชีพทำนา ฟันกรามซี่ในสุดทั้งข้างล่างและข้างบนผุเป็นหลุมใหญ่มาก ฟันบนยังไม่ทันเป็นหลุม เป็นแต่ข้างล่าง เวลาเคี้ยวอาหารปวดมากเคี้ยวไม่ได้เลย ไปหาหมอที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ หมอตรวจดูบอกว่า ไม่ต้องถอนและอุดให้ ฟันผุประมาณ 10 ซี่ หมอได้นัดไปอุดฟันสัปดาห์ละ 1 ซี่ มีอยู่ 2 ซี่เป็นฟันบนอยู่ข้างๆ หมอบอกว่า อุดไม่ได้แล้วจะต้องถอนทิ้ง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ถอน ฟัน 2 ซี่นี้ผุติดกัน ซี่แรกผุเหลือแต่ตอ อีกซี่ตัวฟันเริ่มเป็นสีดำแล้ว ไม่เคยรักษาที่ไหนมาก่อนเลย ฟันที่ผุถ้าไม่ถอนทิ้งจะมีอันตรายภายหลังหรือเปล่า
ตอบ ฟันที่ผุมากๆ จนถึงโพรงประสาทฟัน ตัวฟันแตกหักไปจนใช้การไม่ได้และมีอาการปวดเป็นประจำ ถ้าไม่ถอนออกจะเป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ทำให้ปากมีกลิ่นเหม็น และอาจมีการอักเสบ บวม เป็นหนอง แล้วพิษแพร่กระจายไปตามเส้นเลือดสู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายได้
ถาม ถ้าถอนแล้วไม่ใส่ฟันปลอมจะได้ไหม ถ้าใส่ซี่ละประมาณเท่าใด
ตอบ ถอนฟันแล้วควรใส่ฟันปลอมเพื่อให้การบดเคี้ยวอาหารมีประสิทธิภาพเกือบเหมือนก่อนถอนฟัน ทั้งยังช่วยด้านความสวยงามอีกด้วย ค่าใช้จ่ายในการทำฟันปลอมนั้น แล้วแต่ชนิดของฟันปลอมที่เลือกใส่และกรรมวิธีการทำ
ถาม เหงือกบวมบริเวณที่ตรงกับฟันหน้าข้างล่างและบน เป็นมาหลายปีแล้ว ฟันล่างข้างหน้าเหงือกไม่ติดกับตัวฟัน จะเป็นโรคปริทันต์หรือเปล่า
ตอบ ลักษณะอาการที่เล่ามา น่าจะเป็นอาการของโรคปริทันต์ ควรให้ทันตแพทย์ตรวจและรักษาแต่เนิ่นๆ
ถาม ฟันที่อุดมีความทนทานประมาณเท่าใด เวลาที่แปรงฟันไปถูกฟันซี่ที่อุดจะทำให้ฟันสึกไหม และมีโอกาสหลุดหรือเปล่า หลุดแล้วไปอุดใหม่ได้หรือเปล่า
ตอบ ฟันที่อุดแล้วสามารถใช้งานได้ตามปกติ ในกรณีที่เนื้อฟันถูกทำลายไปมาก อาจมีการแตกหักของวัสดุอุดหรือเนื้อฟัน เมื่อใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง ทันตแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกใช้วัสดุอุดให้เหมาะสมในการอุดฟันแต่ละซี่ นอกจากนั้นแล้ว การใช้งานฟันซี่นั้นมีส่วนสำคัญเช่นกัน ไม่ควรใช้เคี้ยวอาหารแข็ง หรือใช้กัดสิ่งของอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร การแปรงฟันโดยปกติอาจทำให้วัสดุอุดฟันสึกได้ ถ้าวัสดุอุดฟันหลุดออกมา ควรรีบไปให้ทันตแพทย์อุดฟันซี่นั้นให้ใหม่ อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะฟันซี่นั้นจะผุลุกลามไปได้อีก
ถาม มีคนเคยบอกว่าอมหัวน้ำมันยางแก้รำมะนาด เหงือกบวม ได้จริงหรือเปล่า (ไม่ได้กลืน) น้ำมันยางจะมีอันตรายหรือเปล่า
ตอบ หัวน้ำมันยางไม่อาจแก้โรคปริทันต์ได้ และอาจมีอันตรายต่อเนื้อเยื่อเหงือกซึ่งอ่อนนุ่ม
รายต่อไปคือ คุณประชัย จากกรุงเทพฯนี่เอง ได้ถามปัญหาของหลานชายวัย 3 ขวบมา เริ่มคำถามแรกว่า
ถาม หลานของผมเป็นผู้หญิงอายุ 3 ปี 10 เดือน ตอนอายุ 5 เดือน ฟันน้ำนมเริ่มขึ้น พออายุปีกว่า ฟันแกก็เริ่มผุหักออกไป โดยเฉพาะฟันบนผุหักไปเหลือ 2 ซี่ เหลือแต่ตอฟันติดเหงือก ผมสงสารแกมาก ผมติดตามหมอชาวบ้านก็พอรู้ว่าเป็นเพราะแม่แกกินยาปฏิชีวนะมาก ลูกเกิดมาเลยมีฟันผุหักอย่างที่เห็น (แม่อายุ 36 จึงมีลูก) ตอของฟันที่เหลือจะปล่อยไว้เฉยๆ หรือต้องให้หมอฟันดูดออก และหากดูดต้องให้มีอายุกี่ปี
ตอบ การที่ฟันน้ำนมของเด็ก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟันหน้าบน) ขึ้นมาในช่องปากได้ไม่นานแล้วเกิดการผุมาก จนกระทั่งหักไปนั้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากการปล่อยให้เด็กดูดนมแล้วหลับไปพร้อมกับมีนมค้างอยู่ในปาก
เมื่อมีฟันผุหักไปเหลือแต่รากค้างไว้ในเหงือก ควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์เพื่อให้ถอนรากฟันที่ผุนั้นออก ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบ บวมของเหงือกหรือใบหน้า ทำให้เด็กกินอาหารไม่ได้ นอกจากนั้นเชื้อโรคที่สะสมอยู่อาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายได้อีกด้วย
ถาม ฟันแท้มีโอกาสที่จะขึ้นมาแทนไหม
ตอบ ถ้าฟันน้ำนมที่หลุดไปก่อนกำหนดนั้นเป็นเพียงฟันหน้า 1-2 ซี่มักจะไม่ค่อยมีผลต่อการเจริญเติบโตของขากรรไกรหรือต่อการขึ้นของฟันแท้ แต่ถ้าฟันน้ำนมที่หลุดไปก่อนกำหนดมีจำนวนมาก เช่น ฟันหน้าบน 6 ซี่ (ฟันเขี้ยว 2 ซี่ ฟันตัด 4 ซี่) หรือเป็นฟันกราม จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของขากรรไกร และการขึ้นของฟันแท้มาก ในกรณีเช่นนี้ทันตแพทย์จะพิจารณาใส่เครื่องมือบางชนิดให้กับเด็ก เพื่อกันที่ไว้ให้ฟันแท้ขึ้นมาได้
ถาม ช่วยกระตุ้นชาวบ้านให้มากหน่อย จะได้ไม่เหมือนหลานของผม
ตอบ การดูแลความสะอาดในช่องปากให้แก่เด็กนั้นมีความสำคัญมาก ไม่ควรปล่อยให้เด็กหลับไปพร้อมกับมีนมค้างอยู่ในช่องปาก ควรหัดให้เด็กดื่มนมจากแก้ว และเลิกกินนมตอนดึกเมื่ออายุ 6-7 เดือน หรือเมื่อฟันน้ำนมเริ่มขึ้นสู่ช่องปาก และควรเลิกดูดนมจากขวดเมื่ออายุ 1 ขวบ
- อ่าน 18,926 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้