• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มลพิษในอากาศของกรุงเทพฯ มาเที่ยวได้แต่อย่าหายใจ

มลพิษในอากาศของกรุงเทพฯ มาเที่ยวได้แต่อย่าหายใจ

ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พระองค์ได้รับสั่งถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งได้ทรงแสดงออกซึ่งความเป็นห่วงของพระองค์ท่านต่อสุขภาพของปวงชนชาวไทยว่า มนุษย์ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดีจึงจะมีชีวิตเป็นปกติ แต่ขณะนี้มนุษย์ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่านั่นเป็นการทำลายตนเองเช่นกัน

หัวข้อเรื่องที่ผมใช้ในครั้งนี้ดัดแปลงมาจากคำพูดของนักอนุรักษ์ธรรมชาติท่านหนึ่ง เขาพูดไว้น่าฟังมากดังนี้ “ถ้าคุณมาเที่ยวที่อเมริกา คุณจะพบว่าประเทศนี้สวยงามมาก แต่มีสิ่งที่ควรจะต้องจำใส่ไว้ขณะที่อยู่ที่นี่ คือ หนึ่งอย่าดื่มน้ำ และสองอย่าหายใจเอาอากาศที่นี่เข้าไปเด็ดขาด”

ครั้งนี้ขอหยิบยกเรื่องของอากาศมาพูดก่อน “ถ้าคุณมาเที่ยวกรุงเทพมหานคร คุณจะพบว่าที่นี่เป็นเมืองฟ้าอมร แต่สิ่งแรกที่คุณควรจะต้องตระหนัก คือ อย่าหายใจเอาอากาศของกรุงเทพฯ เข้าไป” หลายท่านอาจจะหาว่าผมพูดให้ตกใจเกินเหตุ ผมเพียงแต่สะท้อนความจริงที่เป็นอยู่ให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเท่านั้น

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้ข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศตามจุดต่างๆ ของกรุงเทพมหานครไว้ และพบว่าอากาศที่เราหายใจเข้าไปทุกวันนี้อยู่ในระดับที่อันตรายต่อสุขภาพมากโดยเฉพาะในบริเวณที่มีการจราจรคับคั่ง เช่น เยาวราช ประตูน้ำ เป็นต้น เนื่องจากมีปริมาณฝุ่นละอองและควันดำในระดับที่สูงมากเกินขีดที่ร่างกายจะทนได้ นอกจากนี้ยังมีแก๊สเสียต่างๆ อีกมากที่เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ เช่น แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น

เมื่อเราหายใจเอาฝุ่น ควันดำ และแก๊สต่างๆ เหล่านี้เข้าไป จะเกิดอันตรายที่สำคัญ ได้แก่

1. ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในหลอดลมและปอดง่าย
ระบบทางเดินหายใจของคนเราจะมีเยื่อบุผนังหลอดลม ซึ่งเยื่อบุนี้คอยดักจับเชื้อโรคที่เราหายใจเข้าไป ฉะนั้น ถ้าเราสูดเอาฝุ่น ควันดำ และแก๊สเสียต่างๆ เข้าไปในปริมาณมากๆ สิ่งแปลกปลอมดังกล่าวจะระคายเคืองและทำลายเยื่อบุเหล่านี้ ทำให้หน้าที่ของมันเสียไป ผลก็คือ จะมีการป่วยด้วยโรคหวัด โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ โรคภูมิแพ้ต่างๆ และโรคอื่นๆ ได้ง่ายกว่าปกติ

2. เป็นโรคหลอดลมตีบแคบและถุงลมปอดโป่งพอง
การระคายเคืองหรือการติดเชื้อในเยื่อบุของหลอดลมนานๆ ก็จะทำให้หลอดลมเกิดการตีบแคบ การหายใจก็ลำบากเหมือนกับที่พบในคนที่เป็นโรคหืด ในขณะเดียวกัน ถุงลมที่เคยยืดขยายและหดได้ ก็จะเสียสภาพไปกลายเป็นถุงลมโป่ง การฟอกเลือดจะเสียไปด้วย ทำให้เป็นคนเหนื่อยหอบง่าย ไม่สดชื่นแจ่มใส

3. อาจทำให้เป็นมะเร็งได้
เนื่องจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ปล่อยควันเสีย ซึ่งมีสารที่เรียกชื่อว่า เบนโซไพรีน ออกมาด้วย สารตัวนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำให้สัตว์ทดลองเป็นมะเร็งปอดได้ และนักวิทยาศาสตร์เองก็สังเกตว่าคนในเมืองมีอัตราการเป็นมะเร็งในปอดสูงกว่าคนชนบท ยิ่งเมืองที่มีมลพิษมากยิ่งมีคนเป็นมะเร็งปอดมาก โดยที่คนเหล่านี้ไม่ได้สูบบุหรี่ อันเป็นสาเหตุก่อมะเร็งที่สำคัญ จึงมีเหตุผลชวนให้สงสัยได้ว่ามลพิษในอากาศทำให้เป็นมะเร็งปอดได้

4. ทำให้ตายได้
ในคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคหืด หรือเป็นโรคปอดบางอย่างอยู่แล้ว ยิ่งมาเจออากาศที่มีฝุ่นควันดำมากๆ อาการจะยิ่งกำเริบและอาจตายได้ เพราะระบบหายใจหรือการไหลเวียนเลือดล้มเหลว หลายท่านที่เป็นผู้สนใจในกีฬาวิ่งมาราธอนอาจจำได้ว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่นครลอสแองเจลิสเมื่อ 5 ปีก่อน เกือบจะต้องตัดกีฬาวิ่งมาราธอนไปเพราะเมืองนี้ขึ้นชื่อว่ามีมลพิษในอากาศมาก คณะกรรมการได้ถกเถียงถึงอันตรายต่อสุขภาพของนักกีฬาอย่างเคร่งเครียด เพราะมีหลายชาติไม่แน่ใจว่านักกีฬาของตนจะทนมลพิษดังกล่าวได้ ขนาดนักกีฬาที่ฝึกมามากๆ จนเราเรียกว่า “ปอดเหล็ก” ยังอาจได้รับอันตรายถึงตายได้ ในกรุงลอนดอนเมื่อปี พ.ศ.2495 หรือประมาณ 38 ปีก่อน มีเด็กและคนแก่เกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวม โรคหัวใจเป็นอันมาก ในเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียวที่หมอกลงจัด มีคนตายลงด้วยโรคเหล่านี้ประมาณ 4,000 คน

จากการสอบสวนสาเหตุพบว่า เมื่อหมอกลงจัดจะทำให้อากาศที่เต็มไปด้วยควันและแก๊สเสียต่างๆถ่ายเทไม่สะดวก ทั้งเด็ก คนแก่ และผู้ที่ร่างกายไม่สมบูรณ์อยู่แล้วจะทนต่อภาวะนี้ไม่ได้ ทำให้ต้องตายด้วยโรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวม โรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ

ประเทศอังกฤษนั้นเป็นประเทศแรกที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการใช้เครื่องจักร โดยนำเอาถ่านหินมาทำเป็นเชื้อเพลิง การเผาไหม้ของเครื่องจักรกลต่างๆ ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ ประชาชนเองก็เดือดร้อนจากอากาศเสียนี้ ได้มีการบันทึกไว้ว่า มีประชาชนยื่นถวายฎีกาถวายพระเจ้าชาล์สที่สอง เมื่อ 330 ปีก่อนแล้ว ให้ทรงแก้ไขเรื่องมลพิษในอากาศอันเกิดจากความเห็นแก่ตัวของเจ้าของกิจการต่างๆ แต่ไม่ปรากฏว่าได้ผล จนเกิดเหตุการณ์ที่น่าสยดสยองดังกล่าวขึ้น อังกฤษจึงประกาศมาตรการทางกฎหมายและแก้ไขเรื่องมลพิษในอากาศอย่างจริงจัง อาจารย์ท่านหนึ่งได้ยืนยันว่า เดี๋ยวนี้สภาพดีขึ้นมาก

ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตัวการที่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศของกรุงเทพมหานครที่สำคัญ คือ รถยนต์ โดยเฉพาะรถเมล์ทั้งใหญ่และเล็ก รถบรรทุก และรถเก่าทั้งสี่ล้อ สามล้อ และสองล้อที่ไม่ควรนำออกมาวิ่งแล้วออกไปตามถนนก็จะเห็นรถเหล่านี้แข่งกันปล่อยควันดำและควันขาวออกมา

รัฐบาลจะต้องเอาจริงเอาจังกับรถเหล่านี้ โดยเฉพาะรถเมล์ของรัฐวิสาหกิจเอง เพื่อให้ประชาชนที่ต้องออกไปอยู่ตามท้องถนนหรือตั้งบ้านเรือนอยู่บนสองฟากถนนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะชีวิตของเขาเหล่านั้นเสี่ยงอันตรายเหลือเกิน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงของเราทรงเป็นห่วงพสกนิกรจนถึงกับมีพระกระแสรับสั่งเรื่องนี้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ก็ได้แต่หวังว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายจะได้ออกมาดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ คนไทยจะได้ไม่ต้องล้มป่วยและตายด้วยโรคระบบทางเดินหายใจอย่างในประเทศอังกฤษกันเสียก่อน กันไว้ดีกว่าแก้นะครับ!

ข้อมูลสื่อ

131-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 131
มีนาคม 2533
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์