• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อานุภาพแห่งการเจริญสติ ช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนที่ 4)

อานุภาพแห่งการเจริญสติ ช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนที่ 4)

การเจริญสติช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วยคร้งนี้เป็นรายที่ 4 แล้ว 3 รายที่ผ่านมานั้น แม้ผู้เขียนจะไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีสติ จิตใจมีความสงบมากขึ้นก่อนจบชีวิตลง ในฉบับนี้ท่านผู้อ่านลองมาติดตามผู้ป่วยด้วยโรคอัมพาตรายนี้ดูว่า การเจริญสติสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจสงบลงได้มากน้อยเพียงใด

การสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยธรรมโอสถ (รายที่ 4)

ผู้ป่วยอีกรายที่ดิฉันจะเล่าให้ฟังนี้เป็นหญิงโสด อายุไม่เกิน 40 ปี ป่วยเป็นอัมพาตนอนบนเตียงมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ภาพที่ดิฉันได้พบ หน้าตาดูแจ่มใส คล้ายทำใจได้เพราะป่วยมานาน แต่ลึกๆลงไปใจยังหม่นหมองและว้าเหว่ ขาทั้ง 2 ข้างลีบบาง หยิกไม่รู้สึกเลย มือแขนซ้ายวางแนบลำตัวขยับไม่ได้ มือแขนข้างขวาเคลื่อนไหวขยับยกขึ้นลงได้ แต่ไม่มีแรงเพียงพอที่จะหยิบจับของที่มีน้ำหนักได้ แต่ที่ฝ่ามือข้างขวาเมื่อทดลองให้จับแก้วใส่น้ำร้อน ไม่รู้สึกถึงความแข็งแรงของแก้วและความอุ่นของน้ำ หูได้ยินเสียงชัดเจน ตาก็มองเห็นดี และพูดจาคล่องแคล่ว

ดิฉันฝึกให้เธอเคลื่อนมือขวามาวางที่หน้าท้อง แล้วเคลื่อนกลับไปที่เดิม กลับไปกลับมา พร้อมกับเอาใจตามรู้การเคลื่อนนั้นๆ ทำเช่นนี้หลายครั้ง จนใจสงบ ต่อไปฝึกการกำหนดรู้สึกที่ตา หู และจมูก เห็นอะไรก็กำหนด “เห็นหนอ” ได้ยินเสียก็กำหนด “ยินหนอ” ได้กลิ่นอะไรก็กำหนด “กลิ่นหนอ” ให้ดูดน้ำหวานก็ให้กำหนด “รสหนอ” “กลืนหนอ” จากนั้นลองให้ตะแคงตัว เจ้าตัวบอกทำไม่ได้ ไม่มีแรง ก็ให้กำลังใจบอกให้คิดและพูดดังๆ ว่า ต้องทำได้... ต้องทำได้ ในที่สุดก็สามารถตะแคงตัวได้ ทำให้เธอเริ่มเชื่อมั่นตนเองมากขึ้น

ผู้ป่วยบอกว่าอยากให้สอนสมาธิ ก็บอกว่านี่แหละ ถ้ามีสติกำหนดรู้อย่างที่ให้ฝึกมานี้ทุกๆ ขณะ ก็จะกลายเป็นสมาธินั่นเอง ดิฉันก็อำลากลับ หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ดิฉันกลับมาเยี่ยมอีก ได้นำเทปเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าใช้ห้องพักในโรงพยาบาลเป็นห้องกรรมฐาน” เปิดให้ฟัง เธอตั้งใจฟังมาก แล้วถามคำถามมากมายเกี่ยวกับการกำหนดสติแล้วทำให้พ้นทุกข์อย่างไร ดิฉันก็ตอบคำถามจนเธอสิ้นสงสัย แล้วเราก็ฝึกการเจริญสติกันต่อไป

เธอเล่าว่า ในขณะที่ฝึกยกแขนขวาเคลื่อนมาวางที่หน้าท้อง และเคลื่อนออกไปนั้น นอกจากเอาใจตามรู้อย่างเงียบๆ แล้ว เธอยังใช้วิธีการนับ 1-10 ประกอบกับค่อยๆ ขยับการเคลื่อนมือเข้าออกอย่างช้าๆ สภาวะเช่นนี้ทำให้ใจจดจ่อต่อการเคลื่อนไหวของมือและแขนอย่างแนบแน่นขึ้น เป็นผลให้มีใจสงบเร็วขึ้น ดิฉันชื่นชมมากที่เธอเข้าใจปรับวิธีการนี้ด้วยตนเอง นั่นก็หมายถึงว่า เธอมีสติกำหนดละเอียดยิ่งขึ้น ผลที่เห็นทันตา ก็คือ มือและแขนข้างขวาเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น มีกำลังดีขึ้น

เพื่อที่จะหางานให้เธอทำต่อไป จึงช่วยใช้มือขวาช้อนมือซ้ายที่เคลื่อนไหวไม่ได้ แล้วโยกไปโยกมา พร้อมกับเอาใจตามรู้โดยตลอด แรกๆ ต้องช่วยเธอมากฝึกทำกันอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อเธอเริ่มช่วยตนเองได้ดี ก็ปล่อยทำต่อไป สังเกตดูว่าเธอจะทำด้วยใจจดจ่ออยู่นานพอควร ในที่สุดมือและแขนข้างซ้ายเริ่มเคลื่อนไหวได้บ้าง เธอดีใจมาก ดิฉันก็บอกว่า ถ้าเธอเอาใจตามรู้การเคลื่อนไหวของกาย และกำหนดสภาวธรรมที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 6 ได้อยู่ตลอดเวลา เธอจะสามารถมีชีวิตอยู่บนเตียงได้อย่างมีอุเบกขา และเมื่อใจเธออยู่กับปัจจุบัน ใจก็จะสงบ เยือกเย็น แจ่มใส ร่างกายก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ

ตลอดเวลาที่ดิฉันฝึกเธอในเรื่องการเจริญสตินั้นคุณแม่นั่งเฝ้าอยู่ดูแลเธอตลอดเวลา เธอพูดกับดิฉันว่า เธอสงสารคุณแม่มาก คุณแม่ปวดหลังบ่อย ไม่ทราบว่าจะช่วยคุณแม่อย่างไร ดิฉันก็ชวนคุณแม่ทำสมาธิ คุณแม่ปฏิเสธเสียงหลงว่า ทำไม่เป็น... ทำไม่เป็น ดิฉันได้ฝึกวิธีง่ายๆ ทำให้ดูและให้คุณแม่ทำตาม โดยการใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมือขวา คลึงปลายนิ้วก้อยของมือซ้ายแล้วนับ 1 และจากนั้นเลื่อนไปคลึงปลายนิ้วนางจนถึงปลายนิ้วโป้ง และนับต่อกันจาก 1-5 แล้วเปลี่ยนมือกัน โดยใช้ปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมือซ้ายคลึงปลายนิ้วมือของมือขวา และนับต่อเนื่องกันจาก 6-10 แล้วกลับมาคลึงปลายนิ้วเหมือนเดิม นับใหม่ 1-10 ทำอยู่เช่นนี้ประมาณ 5 นาที ในที่สุดใจจะสงบเป็นสมาธิ

ขณะเดียวกันดิฉันให้คุณแม่เธอรับรู้อีกว่า ถ้าคลึงปลายนิ้วมือทุกๆ วันๆ ละหลายๆ ครั้ง จะช่วยไม่ให้เป็นโรคหัวใจอีกด้วย ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันพูดและฝึกร่วมไปกับคุณแม่ ผู้ป่วยสนใจฟังตลอดเวลา และจะคอยเตือนคุณแม่ให้คลึงนิ้วมือบ่อยๆ ด้วยความรู้สึกอยากให้คุณแม่มีความสงบสุข ดิฉันได้แนะนำให้เขาแผ่เมตตาให้ซึ่งกันและกัน โดยบอกว่าเมื่อใดก็ตามที่เราทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน ด้วยการมีสติกำหนดรู้ ในช่วงเวลาเหล่านั้นจิตของคนเราจะบริสุทธิ์ และมีพลังที่จะถ่ายทอดความเมตตาถึงกันได้ ดิฉันรู้สึกว่า ผู้ป่วยมีกำลังใจ มีความเชื่อมั่นในตนเองมากยิ่งขึ้น เพราะเธอรู้ว่าตนนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งก็คือคุณแม่ของเธอนั่นเอง หลังจากนั้นดิฉันได้อำลากลับ ด้วยความตั้งใจจะกลับมาเยี่ยมเธออีก

หลายสัปดาห์ต่อมา ดิฉันได้ไปเยี่ยมเธออีก เธอบอกว่าได้พยายามกำหนดรู้สภาวธรรมที่เข้ามาปรากฏทางทวารทั้งหมด และอิริยาบถต่าง ตามที่เธอได้ฝึกไปจากดิฉันซึ่งทำให้เธอสงบสบายขึ้นมาก แต่ก็ทำได้ไม่ตลอด โดยทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ให้กำลังใจว่าค่อยๆ ทำไป ลืมก็ให้รู้ว่าลืม แล้วกลับมากำหนดใหม่ ทำไปเรื่อยๆ อีกหน่อยก็จะสามารถมีสติกำหนดรู้ดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ดี ดิฉันดีใจมากที่เธอได้พยายามพากเพียรทำ และรับรู้ว่า ขณะนี้ใจของเธอสงบสบายขึ้นมาก และสามารถพูดคุยถึงความตายเป็นเรื่องธรรมดาโดยไม่กลัวกับมันแล้ว ก่อนกลับได้สัญญาว่าจะกลับมาเยี่ยมอีกพร้อมทั้งจะนำเทปเรื่อง “มรณานุสติ” บรรยายโดยอาจารย์สุเทพ โพธิสัทธามาให้ฟัง

ข้อมูลสื่อ

131-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 131
มีนาคม 2533
ธรรมโอสถ
จำเนียร ช่วงโชติ