• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไก่โต้งเสียงดัง

ไก่โต้งเสียงดัง

วันนี้พี่เอื้อพบศึกหนัก ต้องต่อสู้กับเจ้าตัวยุ่งตัวน้อยแต่ร้ายกาจเหลือหลาย เจ้ายุ่งอายุหนึ่งปีครึ่งเป็นลูกคนเล็กของพ่อแม่เจ้าของร้านอาหารใหญ่บนเกาะแห่งหนึ่ง พ่อแม่มัวแต่ยุ่งอยู่กับกิจการร้านอาหารตั้งแต่สายจนดึก ขณะเดียวกันก็ห่วงลูกมาก จึงเอาน้องยุ่งมาไว้ใกล้ๆ เสมอ โดยมีพนักงานในร้านช่วยกันเลี้ยง

ทุกคนเอาอกเอาใจน้องยุ่งมาก ตั้งแต่เล็กมาน้องยุ่งอยากได้อะไรก็จะได้สมใจและทันใจทุกครั้งไป น้องยุ่งตื่นมายังไม่ทันร้องก็มีคนเข้าคิวกันมาอุ้ม เวลาหิวไม่เคยต้องคอย มีนมชงเสร็จรออยู่แล้ว เมื่อโตขึ้นน้องยุ่งจึงไม่เคยรู้จักคำว่าคอย ถ้าไม่ได้ดังใจหรือไม่ทันใจ เขาจะกรีดร้องก้องสมุทรสมชื่อ และทุบตีพี่เลี้ยงแรงๆ พี่เลี้ยงไม่กล้าห้ามหรือดุน้องยุ่ง อายุแค่เพียงขวบครึ่งเขาก็เป็นเจ้าเกาะไปเสียแล้ว

เด็กอย่างน้องยุ่งได้รับการปรนเปรอด้วยน้ำผึ้งเจือยาพิษ ดูเพียงผิวเผินอาจจะว่าน้องยุ่งโชคดีที่ได้ทุกอย่างตามปรารถนา แต่แท้ที่จริง เขากำลังถูกยาพิษที่แฝงมากับน้ำผึ้งทำลายทีละเล็กละน้อยอย่างช้าๆ เป็นความผิดของน้องยุ่งหรือเปล่าถ้าโตขึ้นเขาจะเป็นคนที่เห็นแก่ตัว และเจ้าอารมณ์

พี่เอื้อค่อยๆบรรจงแทรกความจริงของชีวิต ไประหว่างการเลี้ยงดูอย่างนุ่มนวลและอ่อนโยน น้องยุ่งค่อยๆรับรู้กฎเกณฑ์ของสังคมน้อยๆ รอบตัว เขาเลิกกรีดร้องเวลาไม่ได้ดังใจ เริ่มเล่นกับเพื่อนๆ และยอมรับความจริงว่าเขาโตพอที่จะเล่นเองได้ ไม่ต้องมีคนคอยอุ้มชูตลอดเวลา

แต่เมื่อน้องยุ่งกลับถึงบ้านตอนเย็น เขาจะกลายเป็นคนเดิม พี่เลี้ยงจะต้องอุ้มตลอดเวลา แม้แต่เวลานอน หลายครั้งที่เขาหลับบนตักพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงจะค่อยๆ วางเขาบนเตียง ถ้าเขารู้ตัวเขาจะร้องทันทีและถีบเตะเป็นพัลวัน ทั้งย่าและพี่เลี้ยงทนน้องยุ่งไม่ไหว จึงส่งน้องยุ่งกลับไปเป็นชาวเกาะอย่างเดิม

เด็กตัวน้อยนิดอายุเพียงขวบครึ่ง ทำตัวเหมือนดั่งมีหลายภาค สามารถแยกแยะได้ว่า ณ ที่แห่งใดเขาจะทำตัวอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับภาวะแวดล้อม อนาคตเขาจะเป็นคนอย่างไรขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงดูเขา ขอวอนผู้ป้อนอาหารใจให้แก่เด็ก โปรดจงใช้ปัญญาเลือกหาอาหารที่ดีมีคุณค่าให้แก่เด็กด้วยเถิด
ศึกน้องยุ่งผ่านไปแล้ว เป็นการยากสำหรับพี่เอื้อที่จะลืมเรื่องนี้

ที่ระเบียงบ้าน พี่เอื้อให้เด็กๆเล่นน้ำ เด็กทุกคนชอบเล่นน้ำมาก แต่ละคนจะหอบหม้อข้าวหม้อแกงของเขาไปยังอ่างน้ำที่พี่ๆจัดเตรียมไว้ให้ แล้วก็เริ่มตักน้ำในอ่างใส่ภาชนะน้อยๆ ของเขา ถ่ายเทไปมาตามต้องการ บางครั้งหม้อรั่วเติมเท่าไรก็ไม่เต็มสักที เด็กยกขึ้นมาดูจึงรู้ว่ารั่ว ก็แปลกไปอีกแบบที่เติมน้ำข้างบนแล้วน้ำไหลออกทางข้างล่าง

บางวันพี่เอื้อจะแถมเกมเป่าฟองสบู่ให้ เด็กแต่ละคนจะเป่าน้ำสบู่ด้วยหลอดกาแฟเพียงครู่เดียว ฟองสบู่ใสพร้อมเหลือบสีรุ้งต่างขนาดลอยล่องไปมาเบื้องหน้าเด็ก แล้วแตกหายวับไปกับตา

หลังอาหารว่าง เด็กๆ ชวนพี่เอื้อเล่นโยคะเหมือนเคย

“วันนี้เรามาเป็นไก่โต้งกันนะคะ ลูกไก่ตัวเล็กๆ ร้องยังไงคะ”

“เจี๊ยบ เจี๊ยบ”

“แล้วไก่ตัวโตล่ะคะ”

“เอ้ก อี้ เอ้ก เอ้ก” เด็กๆ ร้องตอบ

เอ้า! ไก่ยืนตรงค่ะ (ภาพที่ 1)

“ต่อไปไก่กางปีกค่ะ” พี่เอื้อกางแขนขึ้นช้าๆ จนอยู่ระดับไหล่ พร้อมกับเขย่งปลายเท้าด้วย (ภาพที่ 2)

ไก่ตัวโตทำได้ ไก่ตัวเล็กเขย่งทรงตัวไม่ได้ เอียงไปมาเหมือนไก่ขี้เมา

“ยืนนิ่งๆ ไก่ขันเสียงดังๆ อย่างนี้ค่ะ เอ้ก อี้ เอ้ก เอ้ก” (ภาพที่ 3) เด็กๆทำตาม เด็กเล็กร้องได้แค่เอ้ก เอ้ก

“เสร็จแล้วเอาแขนลงพร้อมทั้งลดเท้าอยู่ในท่าพัก” (ภาพที่ 4)

หลับตาชั่วขณะ (ภาพที่ 5) หลังจากนั้นทำซ้ำอีก 5 รอบ เลยทำให้ทั้งพี่เลี้ยงและเด็กเหนื่อยพอดี

สำหรับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่สามารถควบคุมการหายใจได้ จะหายใจเข้าช้าๆ ขณะที่เขย่งปลายเท้าและกางแขน หยุดและกลั้นใจนิ่ง นับ 1-5 ในใจ แล้วค่อยๆ หายใจออกช้าๆ พร้อมกับเอาแขนลงและลดปลายเท้าที่เขย่งลง

โยคะท่าไก่โต้ง ช่วยฝึกการทรงตัวในเด็ก และเป็นการบริหารกล้ามเนื้อน่อง แขน และไหล่ไปพร้อมๆ กัน

 

ข้อมูลสื่อ

131-024
นิตยสารหมอชาวบ้าน 131
มีนาคม 2533
โยคะ
วุฒิโกมล