• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

งูสวัดเป็นรอบเอวแล้วตาย???

งูสวัดเป็นรอบเอวแล้วตาย???

ครั้งที่แล้วได้พูดถึงความเชื่อชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องของ “หัดหลบใน” ครั้งนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของ “งูสวัด” ดีไหมครับ

มีอยู่บ่อยครั้งเมื่อหมอตรวจพบว่าเป็น “งูสวัด” คนไข้และญาติคนไข้จะถามหมออย่างหน้าตาตื่นว่า

“คุณหมอครับ งูสวัดถ้าเป็นรอบเอวแล้วมักจะตายจริงไหมครับ?”

หมอก็มักจะตอบว่า “ไม่จริงหรอก งูสวัดจะขึ้นข้างเดียว จะไม่ลามไปอีกข้าง...”

ที่ว่าขึ้นข้างเดียวหมายถึง ลักษณะอาการของโรคนี้ที่พุขึ้นเป็นตุ่มใสเล็กๆ เรียงกันเป็นแถวยาวบนผิวกาย บริเวณที่ขึ้นกันบ่อย ก็คือ แนวบั้นเอวหรือแนวชายโครง (จากสะดือถึงกลางหลัง) บางคนอาจขึ้นที่ใบหน้า แขนหรือขาก็ได้ แต่จะมีลักษณะการขึ้นคล้ายกันคือจะขึ้นเพียงซีกหนึ่งซีกใดของร่างกายเท่านั้น เช่น ซีกขวาหรือไม่ก็ซีกซ้าย

ทั้งนี้เป็นเพราะตุ่มของโรคนี้จะพุขึ้นตามแนวเส้นประสาทในบริเวณนั้น เส้นประสาทของร่างกายจะมีอยู่เป็นคู่ซ้าย-ขวา โดยปลายประสาททั้ง 2 เส้นจะสิ้นสุดในซีกของมันจะไม่ต่อกันเป็นรอบวงกลม และด้วยเหตุที่มันขึ้นตามแนวเส้นประสาทนี่เอง คนไข้จึงมักมีอาการปวดแสบปวดร้อนคล้ายถูกไฟไหม้ก่อนที่จะมีตุ่มพุขึ้น

บางคนแม้ว่าตุ่มจะยุบหายสนิท (กินเวลา 1-3 สัปดาห์) แต่ก็ยังอาจมีอาการปวดเสียวในบริเวณนั้นต่อไปนานเป็นปีๆ ก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากปลายประสาทในบริเวณนั้นเกิดการอักเสบแทรกซ้อนตามมานั่นเอง โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งฝรั่งเรียกว่า “Herpes zoster” (เฮอร์ปีส์ ซอสเตอร์)

เชื้อไวรัสตัวนี้เป็นตัวเดียวกัยที่ทำให้เกิดอีสุกอีใส หรือจะพูดว่าทั้งงูสวัดและอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกันก็ได้ เพียงแต่แสดงอาการต่างกัน กล่าวคือ คนที่ยังไม่เคยรับเชื้อนี้เข้าร่างกาย (เช่นเด็กๆ) เมื่ออยู่ใกล้คนที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัดก็จะกลายเป็นอีสุกอีใส (ตุ่มพุทั่วตัว) แต่ถ้าคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาแล้ว เมื่อรับเชื้อนี้ซ้ำใหม่อีก (พบมากในเด็กโตหรือผู้ใหญ่) ก็จะกลายเป็นงูสวัด (ตุ่มพุเฉพาะที่) แทน ทั้ง 2 โรคนี้ จัดว่ามีมาแต่โบราณกาลเช่นเดียวกับหัด คางทูม จึงมีชื่อเรียกแบบไทยแท้ ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า “งูสวัด”

สันนิษฐานว่า เนื่องมาจากลักษณะอาการของโรคนี้ที่พุขึ้นเป็นแนวยาว คล้ายตัวงูที่พาดตวัดบนผิวกาย จึงเรียกว่า “งูตวัด” ตามความนิยมของคนไทยโบราณที่ชอบเรียกชื่อโรคตามลักษณะอาการที่มองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น อีสุกอีใส (มีตุ่มสุกตุ่มใสพุตามตัว) คางทูม (คางบวม) เป็นต้น

คำว่า “งูตวัด” จึงเพี้ยนมาเป็น “งูสวัด” (อย่าเผลอเขียนเป็น “งูสวัสดิ์” ซึ่งความหมายจะเพี้ยนไปอย่างมาก) ส่วนความเชื่อเรื่องงูสวัดเป็นรอบเอวแล้วตายนั้น คงมีมาแต่โบราณกาล เชื่อเพราะดูตามชื่อโรค (คือ ถูกตวัดรอบตัว) หรือเพราะเคยมีประสบการณ์ ก็ยากที่จะคาดเดาได้

แพทย์สมัยใหม่ฟังแล้วหากไม่ทันคิด ก็คงจะนึกหัวเราะว่าไม่จริง เพราะงูสวัดจะขึ้นเพียงซีกเดียว ไม่ลุกข้ามไปอีกซีกหนึ่ง แต่นั่นก็เป็นความจริงสำหรับคนส่วนมากที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ

สำหรับคนบางคนถ้าหากมีภูมิต้านทานโรคบกพร่องหรืออ่อนแอ เช่น ใช้ยารักษามะเร็ง เป็นโรคมะเร็ง เป็นโรคเอดส์ เป็นต้น เมื่อได้รับเชื้องูสวัด ก็อาจกลายเป็นโรคงูสวัดชนิดร้ายแรง คือ กระจายทั่วตัว ถึงขั้นเป็นอันตรายร้ายแรงได้

ความเชื่อที่ว่า เป็นรอบเอวแล้วตาย ก็เข้าได้กับกรณีดังกล่าว ตายเพราะร่างกายอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทานโรค การรู้จักรักษาร่างกายให้แข็งแรง เสริมภูมิต้านทานโรคให้สมบูรณ์อยู่เสมอ จึงมีความสำคัญในการป้องกันโรคและระงับความรุนแรงของโรค

ข้อมูลสื่อ

132-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช