• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภูมิแพ้

ภูมิแพ้

หลายท่านคงรู้จักคุ้นเคยกับโรคนี้ดี และหลายท่านก็กำลังมีอาการของโรคนี้อยู่ และกำลังดูแลรักษา บ้างก็รักษาด้วยตนเองโดยการซื้อยาแผนโบราณ ยาสมุนไพร หรือยาตามร้านขายยามากินเอง บ้างก็กำลังรักษากับแพทย์ บางรายก็อาจเป็นมากถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่เนืองๆ อย่างไรก็ตาม คงมีไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักคำว่า “โรคภูมิแพ้” เลย

มีคำถามมากมายที่หมอโรคภูมิแพ้มักถูกถามอยู่เสมอ คุณลองติดตามและพิจารณาคำถามต่อไปนี้สิครับ คงมีส่วนทำให้คุณเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติสำหรับตัวเองหรือญาติมิตรได้ถูกต้องต่อไป

โรคภูมิแพ้คืออะไร

โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นบางชนิดเป็นพิเศษ ซึ่งอาจมีอาการไม่สบายทางระบบทางเดินหายใจ เช่น จมูก หลอดลม หรือทางตา ทางผิวหนัง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกัน ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจมีอาการถึงขั้นหายใจลำบาก หอบหืดรุนแรง หรือช็อก และอาจถึงแก่ชีวิตได้

โรคภูมิแพ้เกิดจากอะไร

เชื่อว่าอย่างน้อย กว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั่วไปเป็นโรคภูมิแพ้ กล่าวคือ 100 คนเป็น 10 คน คุณผู้อ่านที่กำลังเป็นโรคนี้อยู่คงอดน้อยใจและอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงต้องเป็นเรา ทำไมคนอื่นอีกมากมายไม่เป็น (อย่าน้อยใจเลยครับ มีชาวไทยที่เป็นโรคนี้เหมือนคุณคงไม่น้อยกว่าล้านคน)

ก่อนอื่นต้องขอให้ทำความเข้าใจกับภาวะปกติของร่างกายในการตอบสนองต่อสารแปลกปลอมจากภายนอก ไม่ว่าจะทางสูดดมหรือทางลมหายใจ ทางปาก ทางสัมผัส หรือโดยการฉีดเข้าไปก็ตาม ร่างกายคนเราจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันมาตอบสนองเสมอ เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่มีไว้ป้องกันตัวเองอย่างหนึ่ง ร่างกายจะได้ขจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นให้หมดไป

แต่ในกรณีของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ เมื่อร่างกายได้รับสารแปลกปลอมจากภายนอก แทนที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน กลับไปสร้างภูมิแพ้ขึ้นแทน กล่าวคือ จะสร้างโปรตีนอีกชนิดหนึ่งขึ้นมา (ทางแพทย์เรียกว่า อิมมูนโนโกบูลิน-อี) ซึ่งมีคุณสมบัติชอบจับกับเซลล์พิเศษ 2 ชนิด คือ มาสต์เซลล์ และเม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล

คุณผู้อ่านไม่ต้องไปสนใจศัพท์แพทย์มากนักนะครับ เอาเป็นว่า พอคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ได้รับสารก่อภูมิแพ้นั้นอีก ก็จะเกิดปฏิกิริยาทำให้เซลล์พิเศษที่ว่านี้หลั่งสารต่างๆออกมามากมาย ซึ่งสารเหล่านี้จะมีผลต่อเส้นเลือดฝอยต่างๆ ทำให้มีการขยายตัวของเส้นเลือด หรือเกิดการรั่วไหลของน้ำเหลืองออกไปนอกหลอดเลือดดำ

ถ้าเป็นที่ผิวหนังก็เกิดเป็นลมพิษ ถ้าเป็นที่จมูกก็ทำให้คัดจมูก จมูกบวม หากเป็นมากก็ทำให้ความดันเลือดต่ำหรือช็อก นอกจากนี้ สารบางตัวยังสามารถทำให้หลอดลมหดเกร็งเป็นหอบหืด หรือทำให้คันจมูก คันผิวหนังได้ด้วย

โรคภูมิแพ้เป็นกรรมพันธุ์หรือเปล่า

มีหลักฐานหลายอย่างที่ทำให้เชื่อว่า โรคนี้ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เพราะถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ร้อยละ 50 ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้เพียงคนเดียว ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้ได้ร้อยละ 25 แต่ถ้าพ่อแม่ไม่มีใครเป็นเลย ลูกมีโอกาสเป็นร้อยละ 12.5 พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นภูมิแพ้สูงกว่าเด็กอื่นถึง 2-4 เท่า

โรคภูมิแพ้มีอาการอย่างไร

เราสามารถแบ่งอาการของโรคภูมิแพ้ตามระบบหรืออวัยวะที่แสดงอาการได้ 6 อย่าง

1. อาการแพ้ทางจมูก
จะมีอาการจามเป็นชุด น้ำมูกใสๆไหล คันจมูกและคอ คัดจมูก คุณมักจะคุ้นกับคำว่า “โรคแพ้อากาศ” แต่จริงๆ แล้วแพ้สิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศมากกว่า ทางการแพทย์นิยมเรียกว่า “โรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้”

2. อาการแพ้ทางตา
จะมีอาการคันตา ตาแดง น้ำตาไหล เรียกว่า “เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้”

3. อาการแพ้ทางหลอดลม
จะมีอาการของหลอดลมตีบ คือ หายใจหอบ หายใจลำบาก แน่น และเป็นหืด เวลาหายใจออกจะมีเสียงวี้ดๆ ไอเป็นชุดๆ และมีเสมหะเหนียว บางรายมีอาการของหลอดเสียงบวมตีบ มีเสียงแหบ หายใจลำบาก

4. อาการแพ้ทางผิวหนัง
มีผื่นแดงคัน อาจมีตุ่มน้ำใสๆ เล็กๆ หรือผื่นแฉะๆ ร่วมด้วย ในเด็กมักเป็นตามข้อพับ ถ้าเกามากๆ จะเป็นผื่นหนาหรือถลอก บางคนก็เรียกว่า “โรคน้ำเหลืองเสีย”

อาการทางผิวหนังอีกอย่างหนึ่ง คือ ลมพิษ มีลักษณะเป็นตุ่มหรือผื่นนูน มีผื่นแดงรอบๆ คันมาก บางแห่งอาจบวมนูนมาก แต่ควรทราบไว้นะครับว่า ลมพิษส่วนใหญ่ไม่ใช่ภูมิแพ้ และถ้าเป็นลมพิษเรื้อรังมักหาสาเหตุไม่เจอ

5. อาการแพ้ทางทางเดินอาหาร
ในรายที่แพ้อาหารบางชนิดเมื่อกินอาหารเข้าไปแล้ว อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดินได้

6. อาการช็อกจากภูมิแพ้
อาการภูมิแพ้ชนิดนี้ถือว่าน่ากลัวและรุนแรงที่สุด มักเกิดจากการแพ้สารหรือยาที่ฉีดมากกว่า แต่อาจแพ้สารหรือยาที่กินเข้าไป หรือยาที่นำมาทาผิวหนังก็ได้ ซึ่งพบน้อยกว่า การรักษาทำได้ไม่ยาก ถ้าพบแพทย์ทันท่วงที แต่ถ้าเป็นรุนแรงมาก หรือรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือเปล่า

ให้สำรวจดูว่าคุณมีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่

- เป็นหวัดเรื้อรัง เป็นบ่อยและนานกว่าจะหาย

- จามเป็นชุด คันจมูก น้ำมูกไหล

- คันตา ตาแดงบ่อยๆ

- มีผื่นคันเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ถ้าเป็นนานอาจกลายเป็นผื่นหนาสีคล้ำ

- กินอาหารบางชนิดแล้วเกิดอาการไม่สบายต่างๆ เช่น ลิ้น-ปากบวมและคัน ปวดท้อง อาเจียน มีผื่นลมพิษ หอบหืด มักเกิดภายในครึ่งชั่วโมงหลังจากกินอาหาร

- กินยา ทายา หรือฉีดยาบางชนิดแล้วเกิดลมพิษหรือช็อก

ถ้ามีอาการดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า คุณคงจะมีโรคภูมิแพ้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีพ่อแม่ญาติพี่น้องสายตรงมีอาการเหล่านี้ด้วย หรือเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ด้วย โอกาสที่คุณจะได้รับการวินิจฉัยพบว่าเป็นภูมิแพ้ยิ่งมีมากขึ้น

คุณผู้อ่านที่มีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้จะมีวิธีตรวจสอบว่าคุณเป็นจริงหรือไม่

การตรวจโรคภูมิแพ้ทำอย่างไร

เมื่อคุณไปปรึกษาแพทย์ สิ่งที่แพทย์ตรวจเพื่อจะได้ทราบว่าคุณเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่นั้น มีขั้นตอนดังนี้

1. ซักประวัติ เกี่ยวกับอาการต่างๆ อย่างละเอียด รวมทั้งประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวด้วย

2. ตรวจร่างกาย ที่สำคัญคือ ส่วนที่คุณมีอาการ เช่น จมูก ตา ปอด ผิวหนัง เพื่อหาร่องรอยของโรคและโรคแทรกซ้อนที่อาจมี ได้แก่ ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก เป็นต้น

3. มีการทดสอบทางผิวหนัง เป็นวิธีการที่แพทย์จะใช้พิสูจน์ว่า คุณเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ ถ้าเป็น คุณแพ้อะไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อจะได้หาทางหลีกเลี่ยงหรือขจัดออกไป

วิธีการทดสอบทางผิวหนังที่วงการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ทั่วโลกยอมรับว่าปลอดภัยและเชื่อถือสอดคล้องกับอาการแพ้ของคนไข้จริงๆ นั้น คือ วิธีการทดสอบทางผิวหนังโดยวิธีหยดน้ำยาสกัดสารต่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนัง แล้วใช้ปลายเข็มสะกิด หลังจากนั้นรอดู 15 นาที ถ้าคุณมีภูมิแพ้ต่อสารทดสอบตัวไหนก็จะเกิดปฏิกิริยาเป็นตุ่มคันคล้ายยุงกัดเกิดขึ้น แสดงว่า แพ้สารชนิดนั้น

การทดสอบโดยวิธีฉีดเข้าไปในชั้นผิวหนังนั้น ให้ผลตอบสนองที่ไวเกินไป อีกทั้งจะให้ผลบวกลวงสูง พูดง่ายๆ ก็คือ สมมติว่าผลตรวจออกมาว่าแพ้สาร 10 ชนิด แต่จริงๆ แล้วคุณอาจจะแพ้เพียง 6 ชนิด อีก 4 ชนิดเมื่อสูดเข้าไป หรือสัมผัสทางอื่นก็ไม่เกิดอาการแพ้แต่อย่างใด การทดสอบแบบฉีดนี้จึงมักใช้ในกรณีที่การทดสอบแบบสะกิดให้ผลลบ และการซักประวัติยังพบว่าน่าสงสัยจะแพ้สารตัวนั้นเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืม คือ คุณต้องหยุดยาแก้แพ้ทุกชนิดอย่างน้อยเป็นเวลา 2 วันก่อนไปหาแพทย์ เพื่อทำทดสอบภูมิแพ้ มิฉะนั้นจะแปลผลไม่ได้

4. การตรวจพิเศษทางเลือด ในทางปฏิบัติจะไม่ค่อยทำกันเพราะราคาแพงและยุ่งยากกว่า ยกเว้นกรณีที่คุณมีผื่นทางผิวหนังมากมายอยู่เต็มจนไม่มีบริเวณให้ทดสอบภูมิแพ้โดยวิธีสะกิดได้ หรือกรณีที่คุณแพ้รุนแรงมาก การตรวจภูมิแพ้ทางเลือดจะปลอดภัยกว่าการทดสอบทางผิวหนังแบบสะกิด

ส่วนใหญ่คนไทยมักแพ้อะไรบ้าง

สารก่อภูมิแพ้ที่แพทย์เลือกมาใช้ในการทดสอบ มักจะเลือกมาจากสิ่งที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุณมีโอกาสสัมผัสอยู่เป็นประจำ ส่วนมากสารก่อภูมิแพ้ที่เลือกมาทดสอบต่อ 1 ครั้งควรมีประมาณ 20 ชนิด ไม่ควรเกิน 30 ชนิด เพราะยิ่งทดสอบมาก โอกาสเกิดผลคลาดเคลื่อนจะยิ่งมากตามไปด้วย

พบว่าคนไทยที่เป็นโรคภูมิแพ้มักจะแพ้ฝุ่น (ฝุ่นบ้าน ฝุ่นที่นอน) ตัวไรฝุ่น (เป็นไรตัวเล็กๆ มักอาศัยในฝุ่นที่นอน) มากที่สุด รองลงมา คือ ซากแมลงสาบ เชื้อรา หรืออื่นๆ ได้แก่ เกสรหญ้า สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ขนสัตว์ปีก เป็นต้น

แล้วอากาศเปลี่ยน ควัน กลิ่นฉุน ไม่ถือว่าแพ้หรือ

หลายท่านมักจะบอกแพทย์ว่า ตนแพ้อากาศ แพ้ควัน แพ้กลิ่นฉุนๆ แต่จริงๆ แล้วเมื่ออากาศเปลี่ยนจากร้อนเป็นเย็นหรือเย็นเป็นร้อน อุณหภูมิหรือความกดอากาศที่เปลี่ยนเหล่านี้เป็นตัวเสริมให้อาการภูมิแพ้ยิ่งแย่ลง ส่วนควันไฟ ควันบุหรี่ กลิ่นฉุนต่างๆ เป็นสารระคายที่กระตุ้นให้อาการภูมิแพ้เป็นมากหรือแย่ลงเช่นกันการหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้อาการโรคภูมิแพ้ทุเลาได้ส่วนหนึ่ง

รู้ว่าเป็นภูมิแพ้แล้วจะรักษาอย่างไร

หลักการรักษาโรคภูมิแพ้มี 3 อย่าง คือ

1. พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่คุณแพ้

2. ใช้ยารักษาอาการแพ้ที่เป็นหรือยาป้องกันภูมิแพ้

3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้

ผู้เป็นโรคภูมิแพ้มักดีขึ้นจากการรักษาด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ร่วมกับการกินยาแก้แพ้ ยาแก้คัดจมูก ยาขยายหลอดลม (ยาแก้หืด) และอาจให้ยาป้องกันภูมิแพ้ร่วมด้วย

ในกรณีที่อาการเป็นมากและรักษาตาม 2 วิธีดังกล่าวแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนภูมิแพ้ให้ต่อไป

การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ทำอย่างไรและช่วยได้แค่ไหน

การหลีกเลี่ยงหรือขจัดสิ่งที่แพ้มีประโยชน์มาก แต่ผู้เป็นโรคภูมิแพ้มักจะมองข้ามและละเลย หวังพึงแต่การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว บางรายจึงยังมีอาการแพ้มากอยู่เรื่อย มีหลักฐานทางการแพทย์หลายแหล่งยืนยันว่า ถ้าคุณขจัดหรือสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้ อาการแพ้จะดีขึ้นมากจนบางรายอาจไม่ต้องกินยาเลย หรือลดขนาดยาลงได้

สิ่งที่แพ้บางชนิดสามารถขจัดหรือหลีกเลี่ยงได้ง่าย เช่น สัตว์เลี้ยง สุนัข แมว สัตว์ปีก (นอกเสียจากว่าคุณเป็นสัตวแพทย์หรือมีอาชีพที่ต้องคลุกคลีกับสัตว์เหล่านี้) นุ่น (เปลี่ยนเป็นใช้ฟองน้ำหรือใยสังเคราะห์แทน) นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ทำให้แพ้ซึ่งอาจจะหลีกเลี่ยงได้ยากกว่า ได้แก่ ฝุ่น ไรฝุ่น เชื้อรา เกสร เป็นต้น

ข้อแนะนำในการขจัดหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้

1. จัดห้องนอนและบ้านให้ง่ายต่อการขจัดฝุ่นหรือมีฝุ่นน้อยที่สุด วิธีการหลักๆ ก็คือ อย่าให้บ้านรก มีเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็น เฟอร์นิเจอร์ควรเป็นไม้ พลาสติก หรือหุ้มเบาะหนัง ไม่ควรบุนวม หุ้มผ้า เพื่อจะได้ลดฝุ่นและทำความสะอาดง่าย พื้นควรเป็นพื้นธรรมดาหรือไม้ขัดเงา ไม่ควรปูพรม

2. การทำความสะอาดพื้น ควรใช้ผ้าชุบน้ำถูหรือเช็ด หรือใช้เครื่องดูดฝุ่น ไม่ควรใช้ไม้ปัดกวาด แต่อาจให้ผู้อื่นปัดกวาดขณะที่คุณไม่อยู่ก็ได้

3. ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงเข้าในบ้าน

4. คนที่แพ้ไรฝุ่น ควรหุ้มที่นอนด้วยหนังหรือพลาสติก (ก่อนนอนคลุมด้วยผ้าปูที่นอนอีกชั้นหนึ่ง) จะได้ใช้น้ำอุ่นเช็ดทุกครึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนได้ ควรใช้หมอนชนิดใยสังเคราะห์และซักน้ำร้อนทุกหนึ่งเดือนเป็นอย่างน้อย การตากแดดไม่ได้ฆ่าไรฝุ่นแต่อย่างใด

5. ไม่ควรปลูกต้นไม้ดอกไม้ในห้องนอน เพราะเป็นแหล่งชื้นแฉะอย่างหนึ่ง ควรขจัดเพื่อลดปริมาณเชื้อรา หน้ากากเครื่องแอร์ที่ชื้นแฉะหรือผนังที่ชื้น ควรใช้น้ำยาไลซอลเพื่อขจัดเชื้อรา

6. การหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่างๆ ก็มีความสำคัญ คือ ควันบุหรี่ ควันไฟ และกลิ่นฉุนทั้งหลาย

การฉีดวัคซีนภูมิแพ้มีประโยชน์และช่วยได้แค่ไหน

ถ้าคุณพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้อย่างเต็มที่แล้ว รวมทั้งกินยารักษาอาการที่แพ้ต่างๆ แล้วอาการยังเป็นอยู่มาก หรือต้องใช้ยาหลายตัว แพทย์อาจพิจารณาแนะนำให้คุณฉีดวัคซีนภูมิแพ้ จุดประสงค์ของการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ก็คือ ต้องการปรับเปลี่ยนสภาพการตอบสนองของร่างกายจากภูมิแพ้ให้กลายเป็นมีภูมิต้านทานแพ้แทน

วิธีการฉีดวัคซีนภูมิแพ้มีว่าหลังจากทดสอบทางผิวหนังจนทราบแล้วว่าคุณแพ้อะไรบ้าง แพทย์ก็จะนำสารสกัดที่คุณแพ้มาฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนัง โดยเริ่มจากขนาดต่ำๆ และค่อยๆ เพิ่มขนาดและปริมาณมากขึ้น โดยช่วงแรกฉีดทุกหนึ่งสัปดาห์จนถึงขนาดเหมาะสม ต่อไปจะฉีดห่างออกไปเรื่อยๆ จากทุกหนึ่งสัปดาห์ในที่สุดเป็นทุกเดือนถึงเดือนครึ่ง

เมื่ออาการแพ้ดีขึ้นมากและลดขนาดยากินต่างๆ ได้ แสดงว่าได้ผล ซึ่งมักต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนกว่าจะเห็นผล ต่อไปจะฉีดทุก 1-2 เดือนจนครบ 3-4 ปี (เฉลี่ยแล้วฉีดปีละ 6-12 ครั้งเท่านั้น) ท่านใดที่อาการแพ้หายไป และหยุดยาต่างๆ ได้ เมื่อครบกำหนด 3-4 ปี แพทย์จะพิจารณาหยุดฉีดยาในที่สุด

ประสิทธิภาพของวัคซีนภูมิแพ้นั้น จะได้ผลดีมากในโรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือที่คุณคุ้นเคยในชื่อ “โรคแพ้อากาศ” (ได้ผลร้อยละ 80-90) และได้ผลรองลงมาในโรคหอบหืดจากภูมิแพ้ (ได้ผลร้อยละ 70) แต่โปรดเข้าใจด้วยว่า โอกาสที่จะหายขาดมีได้น้อยมาก สิ่งที่เป็นผลชัดเจน คือ คุณจะสบายขึ้น เป็นน้อยลง หรือห่างไปมาก ลดยากินลงได้หรืออาจไม่ต้องกินยาเลย แต่เนื่องจากการรักษาด้วยวัคซีนใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูง แพทย์มักทำในรายที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล

สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำ คือ คุณต้องตระหนักถึงความสำคัญของการหลีกเลี่ยงหรือขจัดสิ่งที่แพ้เหล่านี้ด้วย เพราะถ้าคุณเจอและรับสิ่งที่แพ้อยู่ทุกวันเข้าไปมากกว่าปริมาณวัคซีน (สารสกัด) ที่แพทย์ฉีด การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ก็เปล่าประโยชน์

ยารักษาอาการของโรคภูมิแพ้ต่างๆ มีอะไรบ้าง

ขณะนี้มียารักษาอาการของโรคภูมิแพ้หลายสิบชนิด แต่พอจะแบ่งประเภทได้ 4 ประเภท

1. ยาแก้แพ้ (แอนติฮิสตะมีน) ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี คือ คลอร์เฟนิรามีน (ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลือง จริงๆ แล้วมีหลายสีแล้วแต่บริษัทผลิต) ปัจจุบันมียาแก้แพ้ผลิตออกมากว่า 30 ชนิด ราคาตั้งแต่เม็ดละไม่กี่สตางค์จนถึง 7-8 บาท เชื่อว่าประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่กินแล้วง่วง คอแห้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมียารุ่นใหม่ๆ ที่กินแล้วไม่ง่วงและมีฤทธิ์แก้แพ้ได้นาน โดยกินเพียงวันละ 1-2 ครั้งก็พอ แต่ข้อเสียคือ ราคายังแพงอยู่ ยานี้ใช้รักษาอาการคันจมูก จาม ลดน้ำมูก และรักษาลมพิษผื่นคัน

2. ยาแก้คัดจมูก มักเป็นยาทำให้เส้นเลือดฝอยหดตัว และทำให้น้ำมูกลดลง คนไข้จึงรู้สึกสบายขึ้น มีทั้งยากินและยาพ่น แต่ยาพ่นมีปัญหา คือ เมื่อใช้แล้วในระยะแรกจะได้ผลดี แต่ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้ดื้อยาและเป็นมากขึ้นได้ จึงควรใช้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น

3. ยาขยายหลอดลม (ยาแก้หืด) สำหรับคนที่แพ้จนมีอาการเป็นหืด มีทั้งยากิน ยาฉีด และยาพ่นโดยทั่วไปยังนิยมใช้ยากิน

ส่วนยาพ่น ในต่างประเทศเป็นที่ยอมรับกันมาก ส่วนในเมืองไทยกำลังเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ข้อดีคือ มีผลข้างเคียงน้อย ไม่ดูดซึมเข้ากระแสเลือดและออกฤทธิ์รวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือ ก่อนใช้ต้องมีการสาธิตวิธีใช้อย่างถูกต้อง มิฉะนั้นจะไม่ได้ผล ส่วนยาฉีดจะใช้กรณีที่หอบมากและกินยา พ่นยาแล้วไม่ได้ผล

4. ยาป้องกันภูมิแพ้ มีทั้งยากินและยาพ่น ยากินป้องกันภูมิแพ้ได้ผลในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนยาพ่นบางชนิดมีประโยชน์ในผู้ใหญ่ด้วย

กินยาแก้แพ้หรือยาแก้หืดนานๆ จะมีโทษหรือไม่

ยาแก้แพ้ทั่วไป กินแล้วมักมีอาการง่วง คอแห้งในช่วงแรก ต่อไปจะชินกับยาหรืออาการดังกล่าวจะหายไปเองทั้งๆ ที่กินยาอยู่ การกินยาแก้แพ้ทุกวันหรือเกือบทุกวันไม่มีพิษภัยอะไรถ้ากินถูกต้องตามแพทย์สั่ง

ส่วนยาแก้หืดนั้นมีหลายชนิด บางรายกินแล้วอาจมีอาการใจสั่น มือสั่น ถ้าคุณกินตามแพทย์สั่ง ปรับยาตามความเหมาะสมแล้วจะไม่มีโทษใดๆ แต่หากคุณกินมากเกินขนาดอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ สิ่งที่อยากย้ำให้ระวังมากๆ คือ อย่าซื้อยาชุดหรือยาแผนโบราณทั้งจีนและไทยมากินเอง เพราะปัจจุบันมักมีสารสตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน เดกซาเมทาโซน) ผสมอยู่ หลายท่านกินยาเหล่านี้แล้วเกิดหน้าบวม อ้วนผิดสังเกต ถ้ายังไม่ใส่ใจกินไปเรื่อยจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นกระดูกบาง กระดูกผุ ต้อกระจก โรคเบาหวาน และโรคอื่นๆ ได้ เดี๋ยวจะสายเกินแก้นะครับ

ในช่วงหลังมีผู้พบว่า การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอและพอเหมาะจะทำให้อาการหอบหืดดีขึ้น แต่ถ้าออกกำลังกายมากเกินไป จะทำให้อาการหอบหืดเป็นมากขึ้น ดังนั้นการออกกำลังกายจึงต้องพอเหมาะ คือ ถ้ารู้สึกเหนื่อยควรหยุดพัก จึงจะไม่ทำให้อาการกำเริบมากขึ้น

อย่าลืมนะครับ โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ไม่ยากและถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจะทำให้พ้นจากภาวะเรื้อรังและโรคแทรกซ้อนได้ ถ้าสงสัยว่าเป็น ควรปรึกษาแพทย์และรับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมจะเป็นการดีที่สุด

ข้อมูลสื่อ

132-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533
อื่น ๆ
นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม