• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้และดูแลรักษาฟันปลอม

การใช้และดูแลรักษาฟันปลอม

อาหารเย็นวันนี้ขาดคุณพ่อไปคนหนึ่ง เพราะคุณพ่อติดประชุมและจะเลยไปงานเลี้ยงกับเพื่อนๆ ต่อเลย ทั้งคุณยาย คุณแม่ และนัทธ์ จึงลงมือกินอาหารเย็นกันตามปกติ

“น้ำพริกอ่องนี่อร่อยดี คุณแม่เอาอีกหน่อยนะคะ” คุณแม่ถามขึ้นเมื่อเห็นคุณยายรวบช้อนส้อมทำท่าจะอิ่ม

“ไม่ล่ะจ้ะ เดี๋ยวแม่จะไปบ้วนปากสักหน่อย” คุณยายเดินไปที่อ่างล้างหน้าใกล้ๆ โต๊ะกินข้าวพลางถอดฟันปลอมออกมาล้าง

“คุณแม่ครับ ทำไมคุณยายต้องใส่ฟันปลอมด้วยล่ะครับ คุณยายยังไม่แก่มากซักหน่อย” นัทธ์สงสัย

“สมัยคุณยายเด็กๆ น่ะ คุณยายไม่มีโอกาสไปหาหมอฟันให้ตรวจสุขภาพฟันและช่องปากเหมือนพวกลูกๆ หรอก ฟันของคุณยายจึงไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ทำให้ต้องถอนฟันออกไปหมดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น”

“ฟันปลอมที่คุณยายใส่อยู่ใช้ได้ดีมั้ยครับ” นัทธ์ซักต่อ

“ยายรู้สึกหลวมนิดหน่อย เวลาพูดก็รู้สึกว่าจะหลุดๆ แต่ก็ยังใช้ได้”

“คุณหมอตรวจดูแล้วท่านว่ายังไงบ้างล่ะครับ”

“ท่านบอกว่าฟันปลอมของยายหลวมมาก ไม่น่าจะใช้เคี้ยวได้เลย แต่ที่ยายยังใช้ได้อยู่ก็เพราะความเคยชิน และการปรับตัวของกล้ามเนื้อแก้ม ริมฝีปาก และลิ้น ซึ่งคอยช่วยประคองฟันปลอมให้ใช้เคี้ยวได้” คุณยายอธิบายให้นัทธ์ซึ่งนั่งฟังตาแป๋ว

“การใช้ฟันปลอมหลวมๆ นี่มีผลเสียมั้ยครับ”

คุณยายหยุดคิดนิดหนึ่งก่อนตอบว่า “ฮื่อ คุณหมอว่ามีผลเสียมากมายเชียวล่ะ เท่าที่ยายจำได้ก็คือ ถ้าเกิดการละลายตัวอย่างรวดเร็วของกระดูกที่รองรับฟันปลอม จะทำให้ฟันปลอมไม่ติดอยู่กับที่ และใช้เคี้ยวอาหารได้ไม่ดีเท่าที่ควร”

“คุณยายครับ แล้วเราจะทราบได้ยังไงล่ะครับว่าฟันปลอมของเราเริ่มหลวมมากแล้ว และควรเปลี่ยนชุดใหม่ ในเมื่อตัวเราเองก็รู้สึกว่ายังใช้งานได้ดีอยู่” นัทธ์ตั้งกระทู้ถามต่อไป

“...คือ จริงๆ แล้วน่ะ คุณหมอท่านก็แนะนำว่า ผู้ใช้ฟันปลอมทุกคนต้องกลับไปรับการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันปลอมอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 6 เดือนอยู่แล้วจ้ะ” คุณยายตอบพลางชำเลืองมาทางคุณแม่ซึ่งก็ใส่ฟันปลอมเหมือนกัน

“ไปทุกๆ 6 เดือนเชียวหรือครับ” นัทธ์ทำตาโต

“จ้ะ คุณหมออธิบายว่า โดยธรรมชาติแล้วสภาพในช่องปากมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อใช้ฟันปลอมไประยะหนึ่งฟันปลอมจะเริ่มหลวม ยิ่งถ้าฟันปลอมที่ทำมาไม่ดีแล้วจะก่อให้เกิดการละลายตัวของกระดูกที่รองรับฟันปลอมอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะ แล้วคุณหมอยังชี้ให้ยายดูที่ซี่ฟันปลอมที่สึกมากเพราะใช้งานมานาน ดังนั้นเวลาเคี้ยวจึงต้องยื่นคางออกมาไงล่ะ ยายเองก็เพิ่งมาสังเกตหลังจากคุณหมอบอกนี่ล่ะ” คุณยายพูดพลางทำคางยื่นให้หลานดู

“การยื่นคางออกมาเคี้ยวไม่ดียังไงครับ” เด็กน้อยทำหน้างุนงง

“คุณหมอว่ามีผลเสียต่อกล้ามเนื้อ ข้อต่อขากรรไกร และที่เห็นชัดเจน ก็คือ เกิดการละลายตัวของกระดูกที่รองรับฟันปลอมนั่นเอง”

“คนที่ใส่ฟันปลอมมีปัญหาเยอะจังนะครับคุณยาย”

“นี่ยังไม่หมดนะ ยังมีพวกคราบหินน้ำลาย คราบสีต่างๆ ที่เกาะจับบนซี่และที่ปีกของฟันปลอมทำให้ฟันปลอมของยายสกปรกมาก ยายเองยังเคยสงสัยว่าสกปรกขนาดนี้ใส่มาได้ยังไงกัน”

“แต่เอ๊ะ! ผมก็เห็นฟันปลอมของคุณยายสะอาดดีนี่ครับ”

“นั่นเป็นเพราะคุณหมอได้จัดการทำความสะอาดให้เรียบร้อยแล้วนะสิ ท่านใช้เครื่องมือที่ทำมาสำหรับการขัดล้างฟันปลอมโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ทำให้ฟันปลอมเสียหาย ท่านห้ามใช้พวกของมีคม เช่น มีด ขูดทำความสะอาด เพราะอาจทำให้ฟันปลอมเสียได้ และยังกระซิบมาว่าคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการด้านนี้มานานแล้วนะจ๊ะ”

“เออนี่...พรุ่งนี้คุณหมอนัดคุณยายไปใส่ฟันปลอมทั้งปากชุดใหม่นะ ลูกอยากจะไปด้วยกันไหมละจ๊ะ” คุณแม่พูดขัดจังหวะขึ้น

“ดีสิครับคุณแม่ ผมจะได้ฟังคุณหมอแนะนำด้วย เผื่อคุณยายลืม ผมจะได้บอกคุณยายได้ถูกดีไหมครับคุณยาย”

“ดีจ้ะ หมู่นี้ยายก็หลงๆ ลืมๆ เก่งขึ้นเสียด้วยนะ”

วันรุ่งขึ้นทั้งสามคนจึงพากันไปที่คลินิกของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คุณหมอใส่ฟันปลอมทั้งปากชุดใหม่ให้คุณยาย และได้ให้คุณยายดูกระจกบานใหญ่ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลรักษาฟันปลอมทั้งปาก

“คุณยายลองดูกระจกซิคะ ชอบไหมคะ เอ้อ... แต่ว่าคุณยายเข้าไปใกล้กระจกมากไปแล้วค่ะ เวลาดูต้องห่างจากกระจกอย่างน้อย 1 ฟุต หากเข้าไปชิดกระจก และเพ่งดูฟันใกล้เกินไปจะทำให้ดูไม่สวย และผิดธรรมชาติ” คุณหมอแนะนำ

“คุณยายครับ คืนนี้คุณยายจะให้เลี้ยงฉลองที่ไหนดีล่ะครับ” นัทธ์หันไปถามเมื่อเห็นคุณยายใส่ฟันปลอมเรียบร้อยแล้ว

“อย่าเพิ่งเลยนะคะ ฟันปลอมชุดนี้หมอใส่ให้คุณยายไปทดลองใช้ก่อนเท่านั้นเองค่ะ”

“ถ้ายังงั้นคุณยายยังใช้ฟันปลอมเคี้ยวอาหารไม่ได้หรือครับ”

“ใช้ได้ค่ะ แต่ต้องใช้เคี้ยวอาหารที่อ่อนมากๆ เช่น ข้าวต้ม ผัก เนื้อสัตว์ที่ต้มจนเปื่อยมากๆ”

“ทำไมล่ะครับ” นัทธ์ยังไม่หายสงสัย

“เพราะฟันปลอมชุดใหม่นี้ยังไม่พอดีกับช่องปากและการทำงานของกล้ามเนื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกหลายครั้ง ถ้าขืนหนูพาคุณยายไปเลี้ยงฉลองพรุ่งนี้หมอรับรองว่า คุณยายใส่ฟันปลอมไม่ได้แน่ๆ เลยเชียว คงจะเจ็บระบมไปทั้งปาก และถ้ามีแผลใหญ่ๆ เกิดขึ้นก็ใส่ฟันปลอมต่อไม่ได้ ต้องรอจนกว่าแผลหายแล้วจึงจะทดลองใส่ได้ใหม่ค่ะ

อีกอย่างนึง การใช้ฟันปลอมเคี้ยวอาหารอ่อนๆ เป็นการช่วยหาส่วนของฟันปลอมที่ยังไม่พอเหมาะ ซึ่งจะไปทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บ หรือรอยเจ็บที่สามารถบอกได้โดยไม่เกิดแผลขึ้น และหมอก็จะได้แก้ไขได้ถูกต้อง”

“คุณหมอให้ไปทดลองใช้กี่วันคะ” คุณแม่ถามขึ้นบ้าง

“ในครั้งแรกนี้ให้ทดลองใช้ประมาณ 24 ชั่วโมงก่อนนะคะ คืนนี้หลังจากกินอาหารเย็นให้ล้างฟันปลอมและเหงือก และใส่ฟันปลอมนอนด้วยตลอดคืน พรุ่งนี้กลับมาหาหมอใหม่นะคะ”

“ถ้าใส่นานกว่านี้จะเป็นอะไรหรือเปล่าครับ” นัทธ์รุกต่อ

“ถ้านานกว่านี้ ส่วนของฟันปลอมที่ยังไม่เหมาะสมกับช่องปากและกล้ามเนื้อ อาจทำให้เกิดแผลขึ้นได้ แทนที่จะเป็นเพียงความรู้สึกเจ็บ และถ้าใช้เวลาใส่น้อยกว่านี้ก็ยังไม่มีอาการอะไรเกิดขึ้น หมอก็แก้ไขไม่ได้”

“คุณหมอคะ ยายจะต้องกินอาหารอ่อน และต้มเปื่อยๆ ไปนานเท่าไรคะ” คุณยายถามขึ้นบ้าง

“คงประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อรู้สึกคุ้นเคยกับฟันปลอมชุดใหม่แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากอาหารอ่อนมากๆมาเป็นอาหารอ่อนธรรมดา และต่อมาก็เป็นอาหารที่กินตามปกติ แต่ข้อสำคัญ คือ ควรกินอาหารคำเล็กๆ เคี้ยวด้วยฟันกรามทั้งสองข้างทั้งขวาและซ้าย และห้ามยื่นฟันหน้ามาเคี้ยวหรือเคี้ยวข้างเดียว เพราะฟันปลอมจะกระดกหลุดได้ และในระหว่างนี้หมอจะนัดคุณยายมาเป็นระยะๆ เพื่อแก้ไขฟันปลอมให้คุณยายสามารถใช้เคี้ยวได้โดยไม่รู้สึกเจ็บเลยล่ะค่ะ”

“แหม ผมหลงคิดว่าได้ฟันปลอมแล้วก็ไปฉลองได้เลยเสียอีก อีกนานไหมครับคุณหมอกว่าจะใช้ฟันปลอมได้โดยไม่เจ็บน่ะครับ”

“ก็คงอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์มั้งคะ ระยะเวลานี่บอกแน่นอนไม่ได้ ถ้าคุณยายฝึกใช้ฟันปลอมชุดใหม่ตามที่หมอแนะนำ บางทีอาจไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็ได้”

“คุณหมอครับ เมื่อตะกี้คุณหมอแนะนำให้คุณยายใส่ฟันปลอมตอนนอนในคืนนี้ใช่ไหมครับ”

“ใช่ค่ะ”

“แล้วคืนต่อๆไปล่ะครับ”

“ในคืนต่อๆ ไปไม่ให้ใส่ในเวลานอนค่ะ เพราะว่าเนื้อเยื่อในช่องปากควรได้รับการพักผ่อนเช่นเดียวกับร่างกายส่วนอื่นๆ หากใส่ฟันปลอมนอนด้วยก็เท่ากับมีแรงกดบนสันเหงือกตลอดเวลา เนื้อเยื่อในช่องปากก็ไม่ได้รับการพักผ่อน และเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็คงเป็นเวลากลางคืนจริงมั้ยคะ”

“ครับ แต่ผมว่าคนที่ใส่ฟันปลอมนี่ดีนะครับคุณหมอ ไม่ต้องเสียเวลาแปรงฟัน”

“ใครบอกละคะหนู ใส่ฟันปลอมนี่ต้องเสียเวลามากขึ้น เพราะต้องล้างปากและล้างฟันปลอมด้วยหลังจากกินอาหารเสร็จทุกครั้งนะคะ”

“เอาฟันปลอมมาล้างน้ำเฉยๆและบ้วนปากสักครั้งสองครั้งก็พอแล้วนี่ครับ”

“ไม่ได้หรอกค่ะ ยังไม่สะอาด สำหรับการล้างฟันปลอมนั้นต้องใช้แปรงสีฟันธรรมดาหรือแปรงที่ทำมาเฉพาะร่วมกับยาสีฟัน หรือแปรงเปล่าๆ กับน้ำถูทั้งด้านในและด้านนอกของฟันปลอมให้ทั่ว เวลาถูให้ถูเบาๆ แล้วล้างน้ำให้สะอาด”

“ทำไมต้องถูเบาๆ ล่ะครับ”

“ถ้าถูแรงๆ ซี่ฟันปลอมจะสึกเป็นร่อง ทำให้ไม่สวย นอกจากนั้นควรทำความสะอาดในปากด้วยแปรงสีฟันชนิดอ่อนร่วมกับยาสีฟันหรือแปรงเปล่าๆ ก็ได้ ค่อยๆแปรงไปบนสันเหงือก ร่องรอบปาก และเพดานปากให้ทั่ว แล้วใช้นิ้วนวดวนไปรอบๆ ให้ทั่วบนสันเหงือก เพื่อกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณสันเหงือกได้อย่างดีและทั่วถึง”

“คุณหมอคะ เมื่อตะกี้คุณหมอบอกว่าเวลาแปรงล้างฟันปลอมหรือแปรงในช่องปากนั้นจะใช้หรือไม่ใช้ยาสีฟันก็ได้ใช่ไหมคะ” คุณยายถามซ้ำเพื่อความแน่ใจ

“ใช่ค่ะ เพราะการที่จะใช้หรือไม่ใช้ยาสีฟันนั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่การที่เราใช้ยาสีฟันก็เพื่อเสริมให้เกิดความรู้สึกที่ดี มีกลิ่นสะอาดขึ้นไงล่ะคะ” คุณหมอหัวเราะไปพลาง

“ยายเคยเห็นเพื่อนใช้ผงซักฟอกล้างฟันปลอม และบอกว่าทำให้ฟันปลอมสะอาดดี คุณหมอคิดว่ายังไงคะ”

“อันที่จริงไม่ควรใช้ผงซักฟอกล้างฟันปลอม เพราะถ้าเราล้างผงซักฟอกออกไม่หมดจริงๆ ก็จะทำให้ส่วนที่หลงเหลืออยู่กัดเนื้อเยื่อในช่องปากได้ค่ะ และยังมีข้อควรระวังในเวลาล้างฟันปลอมอีกอย่างค่ะ คือ เวลาล้างควรมีภาชนะรองรับใกล้ๆ หรือไม่ก็ล้างในอ่างน้ำ เพื่อป้องกันการลื่นหล่นลงบนพื้น ทำให้ฟันปลอมแตกหัก หรือบิดเบี้ยวไปได้ มีคนไข้นำฟันปลอมมาให้หมอช่วยซ่อมเพราะทำหล่นอยู่บ่อยๆค่ะ”

“แล้วเวลาที่ไม่ใช้ฟันปลอม ควรเก็บรักษาอย่างไรคะ” คุณแม่ชักสงสัย

“หลังจากล้างฟันปลอมสะอาดแล้วควรแช่น้ำไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด เพื่อให้ฟันปลอมอยู่ในสภาพที่เหมือนกับในปาก ใช้น้ำแทนน้ำลายไงล่ะคะ เพราะหากทิ้งฟันปลอมไว้โดยไม่แช่น้ำ ความร้อนของอากาศในบ้านเราอาจทำให้ฟันปลอมบิดเบี้ยวเสียรูปได้”

“ภาชนะที่ใส่ต้องมีฝาปิดด้วยหรือครับ”

“ค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเล็กๆ หยิบไปเล่น และทำแตกหักได้ ถ้าเป็นไปได้หมออยากแนะนำให้ซื้อกล่องที่ใช้สำหรับใส่ฟันปลอมโดยเฉพาะ หรือใส่แก้วน้ำใสๆ ที่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ก็จะปลอดภัยจากการเข้าใจผิดและขาดการสังเกตของผู้อื่น”

“เพื่อนยายเคยเอาฟันปลอมแช่ไว้ในขันน้ำ คนในบ้านเอาขันไปใช้ และเทฟันปลอมทิ้งไป”

“ค่ะ บางท่านห่อกระดาษชำระใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงแล้วลืม นั่งทับฟันปลอมแตกหักก็มี อุบัติเหตุเหล่านี้หมอรับฟังมาบ่อยมาก ฉะนั้นหากมีภาชนะที่ใส่ฟันปลอมโดยเฉพาะก็จะปลอดภัยกว่าจริงมั้ยคะ”

“วันนี้พวกเรารบกวนคุณหมอมามากแล้ว เห็นจะต้องลากลับก่อนนะคะ ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ” คุณแม่กล่าวแทนทุกคน

“สวัสดีค่ะ สวัสดีครับ” คุณยายและนัทธ์กล่าวลาคุณหมอพร้อมคุณแม่ด้วยเช่นกัน

“ไม่เป็นไรค่ะ สวัสดีค่ะ” คุณหมอกล่าวอำลาตอบ

ข้อมูลสื่อ

132-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533
ทพญ.จันทร์เพ็ญ เบญจกุล