• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อานุภาพแห่งการเจริญสติช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนจบ)

อานุภาพแห่งการเจริญสติช่วยสงเคราะห์ผู้ป่วย (ตอนจบ)

ใน 4 ครั้งก่อนได้ยกตัวอย่างของผู้ป่วย 4 รายที่ได้ใช้การเจริญสติช่วยเหลือ ในครั้งนี้จะกล่าวถึงการบริการปรึกษา

การใช้ธรรมปฏิบัติผสมผสานกับเทคนิคการให้บริการปรึกษา : ช่วยผู้มาขอรับความช่วยเหลือ

ผู้ป่วยรายสุดท้ายที่ดิฉันจะกล่าวถึงนั้น เป็นชายอายุ 20 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง หน้าตาดี ร่างกายแข็งแรง แต่มีปัญหาทางใจ ภาพที่พบในขณะมารับบริการปรึกษาจากดิฉัน ใบหน้าเขาหม่นหมอง กังวลใจลึกๆ เครียดบางขณะ นัยน์ตาร่วงโรย เก็บกด สภาพใจเหมือนถูกบีบคั้นไร้ความสุข หลังจากสร้างสัมพันธภาพกันแล้ว คำพูดต่างๆ ได้พรั่งพรูออกมาเหมือนน้ำไหลผ่านเครื่องกั้นทำนบ

สรุปปัญหาที่เกิดขึ้น คือ อาการนอนไม่หลับ จิตใจว้าวุ่น ครุ่นคิด ฟุ้งซ่าน อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง เวลาสอบใจไม่เป็นสมาธิ บางเวลาเครียดมาก เนื่องจากมีเสียงเกรี้ยวกราดด่าว่าของแม่ก้องอยู่ในหัวเขาตลอดเวลาว่า “โง่ เซ่อ ไม่เอาไหน ไม่มีวันเจริญหรอกชาตินี้ มีลูกก็ขายหน้าชาวบ้าน” เสียงก้องเหล่านี้เขาได้ยินตลอดตั้งแต่สมัยยังเรียนชั้นประถมศึกษาจนถึงปัจจุบันเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

สาเหตุของปัญหา ก็คือ ในครอบครัวเขามีพี่น้องหลายคน แม่มีอำนาจมาก มีอารมณ์ฉุนเฉียว เสียงดัง เป็นผู้นำ และรับผิดชอบครอบครัว ลูกๆ ทุกคนทำอะไรไม่ถูกใจ แม่จะเกรี้ยวกราดมาก ด่าว่าลูก และรวมทั้งพ่อด้วย โดยไม่คำนึงว่าลูกจะรู้สึกเจ็บปวดเพียงใด พ่อเหมือนผู้อาศัย เงียบเฉย ไม่มีปากมีเสียง มีท่าทางกลัวและรำคาญแม่ แม่ใช้เสียงข่มพ่อ ไม่ให้เกียรติพ่อ ต่อหน้าลูกหรือใครๆ แม่นึกอยากด่าพ่อ แม่ก็ทำ

เขาไม่รักและผูกพันแม่เลย มีความเกลียดและกลัว เขาไม่อยากอยู่ใกล้แม่ สำหรับพ่อ เขารู้สึกเวทนาและสมเพช พ่อช่างไม่เอาไหนเสียเลย แต่เขาก็สงสารพ่อ อยากช่วยพ่อ แต่ก็ช่วยอะไรพ่อไม่ได้ เพราะแม้แต่ตัวเขาเองก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้

เมื่อเล็กๆ เขาเรียนช้ามาก ถ้าทำอะไรไม่ทันใจแม่ แม่จะส่งเสียงด่าว่าเขาโง่เหมือนควาย และยังคงด่าว่าเขาแม้เมื่อเขาโตแล้วก็ตาม เขาอยากจะบอกแม่ให้หยุดทำร้ายเขาด้วยวาจา น้ำเสียง และท่าทางเกรี้ยวกราด คำพูดและภาพเหล่านั้นเขาช่างจดจำไปหมด เขาวิงวอนพ่อให้ช่วยเขา แต่พ่อก็ช่วยเขาไม่ได้ เขาอยากอยู่ให้ไกลจากแม่ แต่เสียงแม่มีอิทธิพลเหลือเกิน มันเข้าไปก้องในหัวเขาตั้งแต่เด็กเรื่อยมาก แม้เมื่อเขาจากบ้านมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เสียงของแม่ยังติดตามมารังควานและรบกวนเขาอยู่ตลอดเวลา และสร้างความทุกข์ทรมานแสนสาหัสให้แก่เขา

การช่วยเหลือ ดิฉันใช้เทคนิคของการให้บริการปรึกษาที่ฝึกฝนมา ด้วยการให้เขาระบายความรู้สึกที่เก็บอัดไว้ ค่อยๆ ออกมาให้หมดสิ้น และให้เขาเรียนรู้วิธีการที่จะจัดการกับปัญหาหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น เขารู้สึกสบายใจ มีความหวัง และเห็นแนวทางของการคลี่คลายปัญหาและความทุกข์เหล่านั้น เขาหายไปเกือบ 2 สัปดาห์ แล้วกลับมาอีกด้วยใบหน้าหม่นหมอง ครุ่นคิด เครียด ลักษณะคล้ายกับที่เขามาพบดิฉันในครั้งแรก ดิฉันช่วยเขาด้วยการใช้เทคนิคของการให้บริการปรึกษาเขาอีก ก่อนจากไปเขาเหมือน “หยั่งรู้” ในปัญหาของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาของตนได้ เขาจากไปด้วยความสบายใจ

หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว เขาก็กลับมาอีก ด้วยความทุกข์อันเนื่องมาจากสาเหตุของปัญหาเช่นเดิม ในตอนนี้ดิฉันเริ่มคิดได้ว่า วิธีการที่ได้ใช้ถึง 2 ครั้งไม่ได้ซักฟอกจิตใจของเขาเลย เขาจะกระจ่างแจ้งในขณะที่เราช่วยเขา แต่หลังจากนั้นแล้ว สภาพจิตก็จะกลับเป็นเช่นเดิมอีก เมื่อเขากลับมาเผชิญกับสิ่งแวดล้อมเก่าๆ ทุกข์ที่เขามีอยู่ เดี๋ยวก็คลาย เดี๋ยวก็เครียด เพราะใจเขาไม่ได้รับรู้อยู่กับปัจจุบัน แต่ฟุ้งซ่านอยู่กับอดีต อยู่กับอนาคต สิ่งที่เห็นชัด คือ พิษร้ายจากลมปากและการกระทำของแม่ ได้ซึมซับเก็บอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้เป็นลูก และค่อยๆ พ่นออกมาเป็นความรู้สึกนึกคิด โดยทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เป็นเสมือนสนิมเหล็กที่คอยกัดกร่อนเนื้อเหล็กให้ย่อยยับลงในที่สุด

มีหนทางเดียวที่จะช่วยเขาได้ ก็คือ ให้เขาฝึกการเจริญสติ ให้จิตของเขาอยู่กับปัจจุบันให้ได้ ภาพและคำพูดต่างๆ ในอดีต ซึ่งเปรียบเสมือนพิษร้ายจะได้ค่อยๆ ถูกลบล้างออกไปจนหมดสิ้น ผลก็คือ ปัญหาหรือทุกข์ทางใจของเขาจะถูกขจัดออกไปโดยสิ้นเชิง

การพบกันในครั้งที่ 3 ดิฉันได้อธิบายถึงวิธีการที่จะช่วยเขาแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด ด้วยการที่เขาจะต้องร่วมมือ มีความพากเพียร ฝึกฝนตนเองเรื่องการเจริญสติ โดยมีดิฉันเป็นผู้ฝึกให้ เขารับคำทันที เพราะเขามีทุกข์มาก เราเริ่มฝึกการเจริญสติกันวันละ 1 ชั่วโมงทุกๆ วัน ด้วยการให้เขามีสติกำหนดรู้สภาวธรรมต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ในระยะแรกก็ฝึกกำหนดรู้กันทีละทวารจนคล่องแคล่ว ต่อมาจึงฝึกกำหนดรู้หลายๆ ทวารพร้อมกัน และรวมทั้งฝึกกำหนดรู้การเคลื่อนไหวของกายและอิริยาบถต่างๆ เขาอดทนและพากเพียรดีมาก เราพบกันอยู่นาน จนในที่สุดเมื่อจิตเขารับรู้สภาพธรรมในปัจจุบันได้ ความมายา ฟุ้งซ่าน ว้าวุ่น ไร้สาระในอดีตและอนาคตก็สลายลง ทุกข์ต่างๆ ที่เขาเคยมี เคยได้รับ ก็บรรเทาเบาบาง และคลายลงในที่สุด

ข้อเสนอแนะ

ในการสงเคราะห์ผู้ป่วย หรือผู้มาขอรับบริการ ด้วยการใช้ธรรมปฏิบัติ เพื่อยังประโยชน์ให้บังเกิดมีขึ้นกับผู้ป่วยควรจะมีลักษณะ ดังนี้

1. ผู้ให้การสงเคราะห์ต้องศึกษาและปฏิบัติวิธีการเจริญสติ จนบังเกิดผลของการเห็นแจ้งรู้แจ้งด้วยตนเองพอสมควรเสียก่อน ข้อนี้สำคัญที่สุด

2. ผู้ให้การสงเคราะห์จำเป็นต้องเข้าใจถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยว่า เขาทั้งหลายนั้นมีทุกข์ทางกายและใจหลายร้อยพันเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ของคนปกติ เพราะไหนจะเรื่องทุกข์ของตนเอง หากยังรวมเอาเรื่องทุกข์ของความรับผิดชอบในครอบครัว การทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ หาเงินค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆ เข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องทับถมทวีคูณ อันเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ใหญ่ยิ่ง

3. ผู้ให้การสงเคราะห์จำเป็นต้องมีความเข้าใจผู้ป่วยอย่างลึกซึ้ง ก็คือ การเอาใจของเราเข้าไปรับรู้ถึงความทุกข์ของเขา จนดูประหนึ่งว่าเรานั้นทุกข์เช่นเขา ก็จะช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจ และเข้าถึงใจของเขาได้เป็นอย่างดี และเมื่อนั้นอากัปกิริยา สีหน้า ท่าทาง และคำพูดที่เราสื่อสารไปยังเขาก็จะช่วยให้เขารับรู้ถึงการที่เราให้การยอมรับและเข้าใจเขาอย่างแท้จริง

4. ผู้ให้การสงเคราะห์จำเป็นต้องรู้จักสังเกตอากัปกิริยา สีหน้า ท่าทาง แววตา และความรู้สึกต่างๆที่ผู้ป่วยแสดงออกมา ซึ่งจะช่วยบอกเราว่าเขาอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมหรือยังที่จะรับเอาสิ่งที่เราจะให้แก่เขา ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การสนทนา หรือการนำวิธีการเจริญสติเข้าไปใช้ ถ้าเขายังไม่พร้อมเราก็ต้องถอยออกมาตั้งหลัก และเมื่อเขาพร้อม เราก็เดินหน้าเข้าไปใหม่

5. ผู้ให้การสงเคราะห์จำเป็นต้องใช้เวลามากพอสมควรในการฝึกการเจริญสติ จนกระทั่งผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาได้รับประโยชน์จริงๆ จากการฝึกนั้นๆ กล่าวคือ เมื่อเขาทำแล้ว เขาจะรู้สึกว่าใจสงบสบายเป็นขณะ เพราะการได้อยู่กับปัจจุบัน เมื่อผลปรากฏแก่เขาแล้ว เขาจึงจะยอมเชื่อถือ และหลังจากนั้นเราจึงค่อยอธิบายถึงเหตุและผลของการที่ให้เขาได้ฝึกปฏิบัติ

การเยี่ยมผู้ป่วยอยู่เสมอๆ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยทบทวนและย้ำการปฏิบัติของผู้ป่วยให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ถ้าผู้ป่วยคนใดสร้างเหตุของการฝึกปฏิบัติไว้ก่อนแล้ว เมื่อได้รับเทคนิคของการทำให้รู้ตัวทุกขณะหรือเป็นปัจจุบัน การปฏิบัติของเขาจะเข้าถึงจิตใจเร็วขึ้น ซึ่งจะยังผลให้เขาอยู่กับความเจ็บป่วยได้อย่างสบาย เพราะใจเขาไม่เจ็บป่วยนั่นเองสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน ผู้ให้การสงเคราะห์ต้องอดทนและทำใจให้รับรู้ได้ว่า ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยรู้ตัวเองว่าทำแล้วใจสบาย แต่เขาก็ลืมง่ายมาก

6. หลักสำคัญของการสงเคราะห์ผู้ป่วยนั้น พอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

ขั้นแรก ต้องสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วย ด้วยการยอมรับเขา และให้เขารู้สึกถึงการยอมรับนั้น ซึ่งก็แสดงออกได้ทั้งภาษา ท่าทาง (เช่น สบตาเขา สัมผัสเขา มองเขาด้วยความรู้สึกเห็นใจในเคราะห์กรรมที่เขาได้รับ มีเมตตาอยากช่วยเหลือจริงๆ เป็นต้น) ภาษาคำพูด (เช่น น้ำเสียงอ่อนโยน พูดคุย สนทนา ซักถามก็ต้องเป็นไปด้วยความเหมาะสม) และต้องให้กำลังใจ ปลุกความรู้สึกของการต่อสู้เพื่อเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ

ขั้นที่สอง ป้อนคำถามให้ผู้ป่วยระบายความรู้สึกของความทุกข์ต่างๆ ที่สะสมหรือสุมอยู่ในใจเขาออกให้หมด จากนั้นก็ร่วมกับผู้ป่วยพิจารณาทุกข์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงสามีหรือภรรยา ลูก บ้าน และอื่นๆ ในแต่ละเรื่องๆ จนหมดสิ้น เพื่อให้เขาหันกลับมาพิจารณาเฉพาะทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาในขณะนี้เท่านั้น

ขั้นที่สาม นำผู้ป่วยให้นึกถึงคุณงามความดี และบุญกุศลที่เขาได้กระทำเอาไว้ ด้วยการป้อนคำถามให้เขาพูดออกมาให้มากที่สุด ขั้นนี้สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้จิตใจผู้ป่วยสบาย มีจิตใจที่ดี อันเนื่องมาจากการได้รำลึกนึกถึงความดีงามและกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่เขาได้สร้างสมมา

ขั้นที่สี่ เป็นขั้นสุดท้าย โดยนำเขาฝึกปฏิบัติการเจริญสติตามวิธีที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะทำให้ผู้ป่วยรับรู้ด้วยตนเองว่าเป็นการกระทำง่ายๆ และบังเกิดผลเป็นความสงบขึ้นในจิตใจเขาได้ มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เคยสนใจเรื่องธรรมะมาก่อน ถ้าเรานำเทปธรรมะหรือหนังสือธรรมะ หรือพูดและบรรยายเรื่องธรรมะแก่เขา เขาจะเกิดการต่อต้านในใจ เกิดความรำคาญและไม่ยอมรับ ดังนั้น เราจึงต้องให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้ด้วยตนเอง สัมผัสผลที่ได้จากการกระทำของตนเอง เขาจึงจะยอมรับสิ่งนั้นได้ง่าย

ข้อมูลสื่อ

132-025
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533
ธรรมโอสถ
จำเนียร ช่วงโชติ