• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บเพราะเหล้า

เจ็บเพราะเหล้า


ประมาณ 3 ทุ่มของคืนวันหนึ่ง รถหวอแล่นมาจอดหน้าตึกอุบัติเหตุ ตำรวจสองคนช่วยกันหามชายคนหนึ่งออกมาจากท้ายรถสายตรวจ ซึ่งเป็นรถกะบะเล็ก ร่างกายมอมแมม และมีเลือดออก เปื้อนตามเสื้อผ้าหลายแห่ง ผู้ป่วยถูกนำเข้าห้องฉุกเฉิน พอหมอเปิดประตูเข้าไป พยาบาลซึ่งกำลังทำความสะอาดและเอาเสื้อผ้าออก จัดแจงรายงานให้ทราบทันที “เหม็นกลิ่นเหล้าคลุ้งเลยค่ะ” เมื่อจัดการตรวจรักษาเสร็จเรียบร้อย จึงได้ทราบภายหลังจากตำรวจที่นำส่งว่า พบอยู่ข้างทาง สันนิษฐานว่าถูกรถชน แล้วคนชนหนี
เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เกือบจะเป็นปกติ ถ้าวันไหนไม่เกิดก็เห็นจะผิดธรรมเนียม คนไทยดื่มเหล้า ๗๘ ล้านลิตรต่อปี จากสถิติของทางราชการ ที่ยังไม่รวมเบียร์และส.ร.ถ. (สุราเถื่อน) อื่น ๆ ซึ่งคงจะมากกว่านี้อีกมาก จะเป็นเครื่องดื่มอะไรก็ตาม ที่เข้าแอลกอฮอล์ล้วนทำให้คนเมาได้ทั้งนั้น เมื่อเมาประสาทจะทำงานช้าลง และความคิดคำนวณ, ประมาณการจะผิดจากความเป็นจริงไปหมด
เคยเชื่อกันว่า เหล้าจะกระตุ้นให้ประสาทไวขึ้น ทำอะไรคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง แม้แต่สุนทรภู่หรือนักเขียนบางคน ยังเคยมีผู้กล่าวไว้ว่า ถ้าไม่ดื่มเหล้า เขียนหนังสือไม่ออก
 

ที่จริงกลับกัน กล่าวคือ สุราหรือแอลกอฮอล์จะกดประสาท โดยเฉพาะสมองไป ที่ทำให้ดูคึกคัก, พูดคล่อง, ไม่อาย ก็เพราะประสาทของคนมีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ “ทำ” อีกส่วนหนึ่งคอย “เหนี่ยวรั้ง” เมื่อส่วนที่เหนี่ยวรั้งถูกกด ส่วนที่ทำก็ทำได้สบาย เพราะไม่มีใครมาฉุด จึง “พูดคล่อง” และ “อาย” น้อยลง แต่ประสาทส่วน “ทำ” ไม่ใช่ว่าไม่ถูกกด ถูกกดเหมือนกัน แต่ส่วนที่ทำมีพลังสูงกว่าส่วนเหนี่ยวรั้ง จึงยังทำได้อยู่ ดูเหมือนจะทำได้มากกว่าเดิมแต่มักจะทำผิดพลาด ถ้าปริมาณของแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ประสาทจะถูกกดหมดทุกส่วนโดยสิ้นเชิง ตอนนั้นก็โซเซ หรือตุปัตตุเป๋ แล้วสุดท้ายก็ล้มลงแน่นิ่ง คือประสาทส่วนของความรู้สึกตัวถูกกดอย่างสิ้นเชิง ผู้ป่วยจะหมดสติ แต่ยังไม่ตาย ถ้ามากกว่านั้นขึ้นไปอีกเงียบฉี่เลย คือแม้ศูนย์ประสาทที่ควบคุมการหายใจ ก็ทำงานไม่ไหว พวกนี้จะหายใจช้า หยุดหายใจและตาย

อันตรายจากเหล้าเริ่มตั้งแต่กินเพียงเล็กน้อยแล้ว เพราะหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ทำให้หัวใจทำงานหนักโดยไม่จำเป็น ถ้าต้องการออกแรง ออกกำลัง ก็หมดแรงเร็วกว่าปกติ ถ้ากินมากขึ้นไป จะกดประสาทเหนี่ยวรั้งหรือยับยั้ง จะทำให้พูดคล่องหรือพูดมาก พูดมากก็ผิดมาก ความไม่อายเสียหายอย่างไร คงไม่ต้องนำมาพรรณนาในที่นี้ พวกเรา ๆ ท่าน ๆ ก็รู้กันดีอยู่แล้ว
อุบัติเหตุเกิดบ่อยที่สุด เมื่อประสาทส่วนของความรู้สึกตัวถูกกด เพราะจะทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาช้าลง เช่น เอามือจับไฟก็นานกว่าจะรู้สึกร้อน จนนิ้วไหม้ไปแล้ว ดังนี้เป็นต้น การเดินข้ามถนน กว่าจะเห็นหรือรู้ว่ารถกำลังวิ่งผ่านมา รถก็มาถึงตัวเสียแล้ว ประสาทสั่งให้หลบก็หลบไม่ทัน บางคนมองไม่เห็นว่ามีรถเสียด้วยซ้ำ “ตอนผมข้ามถนนก็เห็นรถว่างดี” เป็นคำพูดที่ได้ยินเสมอ เมื่อผู้ป่วยสร่างเมาแล้ว และยังโชคดีที่พูดได้

เมื่อคนเมานี้มีอันตรายซ้ำซ้อนไปจากรถชนอีกขั้นหนึ่ง คือ คนชนก็มักหนี เพราะรู้ว่าเมา ก็คงจะมองทะเบียนรถไม่เห็น หรือว่าเห็นก็จำไม่ได้ คนพวกนี้จะจำไม่ได้แม้กระทั่งว่า โดนอะไร ผู้ประสบเหตุมักไม่ค่อยอยากช่วยพามาส่งโรงพยาบาล เพราะเมื่อมาถึงโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยฟื้นขึ้นกลางทาง ก็มักเหมาเอาว่าคนที่พามาเป็นคนชน แม้กระทั่งตำรวจ ก็มักจะเชื่อไว้ก่อนว่าอาจเป็นคนชน จนกว่าจะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น


อุบัติเหตุเกิดจากฤทธิ์ของสุราต่อประสาทมากที่สุด ดังได้กล่าวแล้ว และมีนัยสำคัญอยู่ 2 ประการคือ
1. ขาดความยั้งคิดหรือขาดสติ
2. ขาดความแม่นยำ

ขาดสติทำให้คนที่อารมณ์ยฺนกลายเป็นคนอารมณ์ร้อน คนที่ร้อนอยู่แล้ว ก็ลุกเป็นไฟไปเลย และการ
พูด ถ้าไม่มีสติคุมก็มักจะพูดเรื่อยเฉื่อย ถ้าเล็กน้อยก็เป็นแค่ก้าวร้าว ถ้ามากก็กลายเป็นผรุสวาท ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่ชวนให้เกิดการวิวาททั้งนั้น

การขาดสตินั้นไม่เพียงแต่ช่วยให้ตนเองถูกทำร้าย แต่จะทำร้ายผู้อื่นได้ด้วย จากสถิติของการบาดเจ็บ
ด้วยการทำร้ายร่างกายร้อยละ 44 เกิดเกี่ยวเนื่องมาจากการกินเหล้า ร้อยละ 16 เกิดในวงเหล้านั่นเอง
การขาดความแม่นยำ ให้ผลต่อผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลต่าง ๆ รวมทั้งการขับรถยนต์ด้วย ทำ
ให้นิ้วขาด มือขาด เนื่องจากการสอดมือลึกเกินไป หลายคนก้าวพลาดและตกจากที่สูง ลื่นล้มเนื่องจากการทรงตัวไม่ดี ดังนี้เป็นต้น



ในประเทศที่มีการใช้ถนนมาก จะเข้มงวดกับเรื่องสุรา ห้ามแม้กระทั่งมีขวดสุราที่เปิดแล้วไว้ในที่ ๆ มือคนขับจะเอื้อมถึง ถ้าสงสัยว่าขับรถไม่ดี เช่น ขับปัดไป ปัดมา (ในบ้านเราเยอะ) จะต้องถูกส่งไปตรวจหาปริมาณของแอลกอฮอล์ในเลือด ถ้าสูงถึงร้อยละ 0.15 คือ เท่ากับกินเบียร์ไทยประมาณ 2 ขวดใหญ่ จะถือว่าเมา ต้องถูกปรับหรือถูกลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งก็กำหนดโทษไว้สูงมากเสียด้วย
ฤทธิ์ของสุราในขนาดหนึ่ง จะบดบังอาการซึ่งบางทีสำคัญมาก ขนาดตัดสินความเป็นความตายของผู้ป่วยได้ ฤทธิ์ของสุราที่ผู้ป่วยดื่ม บางคราวมีมากจนบัดบังความสามารถในการตรวจคนไข้ของหมอก็มี ตัวอย่างเรื่องจริงที่ผู้เขียนประสบเมื่อหลายปีมาแล้ว มีผู้ป่วยถูกรถชนและตำรวจพามา แกทั้งด่า, ทั้งอาละวาด มาตั้งแต่อยู่ในรถตำรวจ เมื่อเข้ามาในห้องฉุกเฉิน ก็ยังอาละวาดต่อ แพทย์บอกให้นอนลงดี ๆ เพื่อจะตรวจก็ไม่ยอมลุกขึ้นมาเดินโงนเงนจะล้มมิล้มแหล่ กลิ่นเหล้าคลุ้งไปหมด ปากก็สาธยายบรรพบุรุษของรถคันที่ชนแล้วก็เลยมาถึงหมอและพยาบาลด้วย เพราะพยายามจับยึดแกให้นอนบนเตียง ท้ายที่สุดเห็นว่าจะเอาไว้ไม่ไหวแน่ ก็ปล่อยให้ญาติรับกลับไป โดยไม่ได้ตรวจให้ละเอียด เพราะเห็นว่าคงไม่เป็นอะไรมาก ยังเดินได้ยืนได้ การที่โงนเงนคงเป็นเพราะฤทธิ์สุรา ผู้ป่วยคนนี้กลับมาอีกครั้งก็เพียบแปล้ เพราะกระดูกเชิงกรานหักเลือดออกมาก จนช็อค ถ้าแกไม่เมาและอาละวาด หมอคงจะวินิจฉัยกระดูกเชิงกราน หักได้โดยง่าย และรักษาให้ตั้งแต่ต้นมือ ไม่ปล่อยให้ช็อคไปจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งก็ทำนองนี้เหมือนกัน กินเหล้าเมาแล้วถูกงูเห่ากัด เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ก็กลิ่นเหล้าคลุ้งมาแล้ว พูดเหมือนคนลิ้นไก่สั้น เนื้อตัวมอมแมม เหล้าช่วยให้พิษงูแล่นเร็วขึ้น และอาการจะมากกว่าคนที่ไม่กินเหล้า ถ้าคนที่ไม่เคยเห็นอาการของคนถูกงูเห่ากัด จะคิดว่าอาการต่าง ๆ นี้เกิดจากเมาเหล้า เพราะมีอาการพูดไม่ชัด หนังตาตก ซึม ข้อร้ายก็คือ คนเมาเหล้าพูดอะไรไม่ค่อยมีใครเชื่อ นี่ก็เหมือนกัน หมอไม่เชื่อว่าถูกงูเห่ากัด คิดว่าอาจถูกตะปูเกี่ยว หรือหนามตำ จึงไม่ได้ให้การรักษาตามวิธีที่ใช้กับคนถูกงูกัด รายนี้ร้ายกว่ารายแรก คือ ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา
ฤทธิ์ต่อระบบหัวใจ คนดื่มเหล้าเข้าไป แม้แต่อยู่เฉย ๆ หัวใจก็เต้นแรงและเร็วกว่าปกติ ถ้าออกกำลัง หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นไปอีก แสดงว่าหัวใจทำงานมากเกินความจำเป็น ของอะไรก็ตามถ้าให้ทำงานเกินความจำเป็นหรือเกินกำลังก็จะเสียง่าย หัวใจก็ไม่ได้รับการยกเว้น คนที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ หัวใจจะทนต่อการทำงานหนักได้น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่มเหล้า ความดันเลือดจะสูงขึ้น เมื่อหัวใจเต้นแรงขึ้น พบว่า คนดื่มเหล้าเป็นโรคหลอดเลือดแข็งมากกว่าคนไม่ดื่มเหล้า ดังนั้น หลอดเลือดจะเปราะและแตกง่าย เมื่อความดันสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยก็แตกแล้ว ดังนั้นจึงพบได้เสมอว่า คนดื่มเหล้ามีหลอดเลือดในสมองแตกและเสียชีวิต
หัวใจที่ทำงานหนักและหมดแรงเร็ว ถ้าคน ๆ นั้น ต้องเดินทางไกล, วิ่ง หรือว่ายน้ำ เช่น เวลาเรือล่ม, น้ำท่วม คนที่ดื่มเหล้าจะหมดแรงก่อนคนอื่น ซึ่งอาจเกิดภาวะหัวใจทำงานไม่ไหว และจมน้ำตาย
หัวใจที่ทำงานมาก จะใช้ออกซิเจนมาก ดังนั้น ถ้าคนดื่มเหล้าเป็นโรคของปอดอยู่ก่อน เช่น หืด หรือหลอดลมอักเสบ จะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปอีก ถ้าอยู่ในที่สูง เช่นยอดเขาซึ่งอากาศบาง คนดื่มสุราจะหมดแรงเร็ว จะมีอาการหอบและหายใจไม่ทัน

ผลที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังดื่มเหล้าทันที ถ้าดื่มติดต่อกันนาน ๆ จะมีผลร้ายต่อตับ อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็น โรคตับแข็งได้ง่าย ภาวะตับแข็งนี้เกิดแล้วรักษายาก ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่รักษาได้ดี อย่างมากเพียงแค่ประคับประคองไปท่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่า มะเร็งของตับเกิดร่วมกับตับแข็งได้บ่อย เป็นไปได้ว่า ตับแข็งเป็นสาเหตุร่วมของมะเร็งของตับ คนที่กินเหล้านาน ๆ ประสาทจะเสื่อม มีอาการเลอะเลือน, ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ เหมือนคนสติไม่ดี มือไม้สั่น และขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี หรือขาดสติสัมปชัญญะ ไม่เหมือนคนธรรมดา รู้กันโดยทั่วไปว่า คนที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ถือเป็นคนที่ไร้ความสามารถอย่างหนึ่ง ไม่สามารถทำนิติกรรมอะไรได้ และจะทำการงานอะไรก็ไม่มีใครเชื่อ ถ้าทำราชการอยู่ก็ต้องออกจากราชการ เป็นต้น
เหล้ามีโทษทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดูไปแล้วจะไม่มีคุณสำหรับการบริโภคเลย เป็นความเคยชินของคน ที่กล่าวว่าการเข้าสังคมต้องกินเหล้า เหล้าเกือบจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวงการทุกชั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้มีเรื่องที่น่ายินดี ที่รัฐบาลสวีเดนประกาศไม่เลี้ยงเหล้าในงานของสถานทูต เรื่องนี้ถือเป็นความกล้าหาญที่น่ายกย่องมาก เพราะเหล้ากับการเลี้ยงค็อกเทลเป็นของคู่กัน ซึ่งทางการทูตถือว่าขาดไม่ได้ แต่ก็มีประเทศหนึ่งได้ปฏิบัติไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่าพูดกันโดยมีสติสมบูรณ์ ย่อมดีกว่าพูดกันโดยสติเสื่อมด้วยฤทธิ์เหล้า


จึงขอจบลงด้วยศีลข้อที่ว่า “การดื่มสุราทำให้ตั้งตนอยู่ในความประมาท” และอุบัติเหตุทั้งหลายแหล่ ถ้าสืบให้ดีจะเกิดความประมาทแทบทั้งนั้น

 

ข้อมูลสื่อ

15-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 15
กรกฎาคม 2523
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์