• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะขามและผักคราด หัวแหวน

มะขาม

 “สมุนไพรที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีนบันทึกไว้ ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลานำมาใช้ต้องดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย”


          
ชื่ออื่น
ม่องโคล้ง (กระเหรี่ยง กาญจนบุรี), อำเปียล (เขมร สุรินทร์), ตะลูบ (ชาวบน โคราช), ขาม(ใต้) ; ซึงกัก, ทงฮ้วยเฮียง (จีน) ; Tamarind

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Tamarindus indica L. วงศ์ Caesalpiniaceae

ลักษณะต้น
เป็นไม้ยืนต้น สูง 6-20 เมตร เปลือกต้นสีเทา ดำ มีริ้วรอยมาก แตกกิ่งก้านสาขามาก ไม่มีหนาม ใบเป็นใบประกอบ ปลายเป็นใบคู่ ใบยาว 8-11 ซ.ม. มีใบย่อย 14-40 ใบ ใบย่อยลักษณะใบยาวปลายมนกลม ยาว 1-2,4 ซ.ม. กว้าง 4.5-9 ม.ม. ปลายใบมน หรือบางทีก็เว้าเข้าเล็กน้อย ฐานใบทั้ง 2 ข้างเว้าเข้าไม่เท่ากัน ตัวใบเรียบไม่มีขน ดอกออกที่ปลายก้านหรือจากซอกใบ เป็นช่อบานจากโคนไปปลาย ดอกมีกลีบหุ้มดอกอ่อน 1 กลีบ สีแดง ขอบมีขนสั้นสีขาว เมื่อดอกบานจะหลุดร่วงไปกลีบเลี้ยงไปกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ สีเหลืองปลายกลีบแหลมมีสีแดงเรื่อ ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน สีเหลืองมีลายเส้นกลีบดอกสีแดงเข้ม ริมกลีบดอกมีรอยย่น ๆ กลีบดอก 2 กลีบล่างจะฝ่อ เล็กหายไป มีเกสรตัวผู้ 3 อัน ก้านเกสรติดกันจากส่วนกลางลงมา รังไข่มี 1 อัน เป็นฝักยาว ส่วนปลาย เป็นก้านเกสรตัวเมีย มีเมล็ดมาก ฝักทรงกระบอก แบนเล็กน้อย ยาว 3-14 ซ.ม. กว้าง 2 ซ.ม. เปลือกนอกสีเทา ภายในมีเมล็ด 3-10 เมล็ด เมล็ดมีผิวนอก สีน้ำตาลแดงเรียบเป็นมัน ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ฝักแก่ในราวเดือนธันวาคม มักพบปลูกไว้ใช้เป็นอาหารตามบ้านเรือน ปลูกเอาร่มตามริมถนน ตามสถานที่ต่าง ๆ และท้องไร่ท้องนา

การเก็บมาใช้

เนื้อหุ้มเมล็ด เก็บเมื่อฝักแก่เต็มที่แล้ว แกะเปลือกนอกและเมล็ดออก ปั้นเป็นก้อนเก็บไว้ใช้

สรรพคุณ
เนื้อหุ้มเมล็ด รสเปรียว ชุ่ม เย็น ใช้แก้ร้อน ขับเสมหะ แก้อาการเบื่ออาหารในฤดูร้อน อาการคลื่นไส้ อาเจียนในหญิงมีครรภ์ และแก้เด็กเป็นตานขโมย
วิธีและปริมาณที่ใช้
เนื้อหุ้มเมล็ด 15-30 กรัม อุ่นให้ร้อน กิน หรือผสมน้ำตาลทรายเคี่ยวให้ข้น กินก็ได้

ตำรับยา
1. แก้ร้อน จากอากาศร้อน เบื่ออาหาร แพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก เด็กเป็นตานขโมย ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด 15-30 กรัม ผสมน้ำ คั้นแล้วอุ่นให้กิน

2. แก้พิษสุรา ขับเสมหะ ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด 3 กรัม ผสมน้ำตาลทรายกิน

3. แก้ไข้ ใช้เนื้อหุ้มเมล็ดแช่น้ำ ผสมน้ำตาลให้มีรสหวาน ใช้ดื่มแก้กระหายช่วยลดความร้อน

4. ใช้เป็นยาระบาย กินเนื้อหุ้มเมล็ด แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ

5. ใช้ใบต้มน้ำอาบ หลังคลอดและหลังฟื้นใช้ ทำให้สดชื่น

6. แก้ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย ใช้เปลือกต้นผสมเกลือ เผาในหม้อดินจนเป็นเถ้าขาว กินครั้งละ 60-120 ม.ก. และยังใช้เถ้านี้ผสมน้ำอมบ้วนปากกลั้วคอ แก้คอเจ็บและปากเจ็บได้อีกด้วย หรืออาจใช้เนื้อหุ้มเมล็ดกินครั้งละ 15 กรัม ช่วยย่อยอาหาร

7. แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ใช้เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลแดงเป็นมัน 600 ม.ก. เทียนขาว(Cumin) อย่างละเท่า ๆ กัน ผสมน้ำตาล ต้มกินวันละ 2-3 ครั้ง

8. แก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับน้ำดี ใช้เนื้อหุ้มเมล็ด กินครั้งละ 10-60 กรัม

หมายเหตุ
ดอก ใบและฝักอ่อน ปรุงเป็นอาหารกินแก้ร้อนในฤดูร้อน แก้อาการเบื่ออาหารและอาหารไม่ย่อยในฤดูร้อน
น้ำคั้นจากใบ ใช้แก้อาหารไม่ย่อยและปัสสาวะลำบาก น้ำต้มจากใบให้เด็กกินขับพยาธิ และมีประโยชน์ในคนเป็นโรคดีซ่าน
ใบสด ใช้พอกบริเวณเข่าหรือข้อพับทั้งหลายที่บวมอักเสบหรือที่เคล็ดขัดยอก, ฝี, ตาเจ็บ และแผลหิด ใบแห้งบดเป็นผง ใช้โรยบนแผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง และใช้ผสมน้ำเป็นยากลั้วคอ ใบมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้
เปลือกต้น ฝาดสมานเป็นยาบำรุงและแก้ไข้
เนื้อหุ้มเมล็ดมีฤทธิ์ระบายอ่อน ๆ อาจเนื่องมาจากกรดตาร์ตาริค แต่ถ้าเอาไปต้มจนสุก ฤทธิ์ระบายอ่อน ๆ นี้จะหายไป นอกจากนี้ยังใช้แก้เลือดออกตามไรฟัน ช่วยย่อย ขับลม ฝาดสมาน แก้ไข้ ทำให้สดชื่น และเป็นยาฆ่าเชื้อ และให้กินในรายที่ท้องผูกเป็นประจำ แก้พิษสุรา อาหารไม่ย่อย อาเจียน เป็นไข้และท้องเสีย






 

 

 

 




 

             ( ซ้าย ) ฝักมะขาม                                                               ( ขวา ) ดอกมะขาม

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เครื่องดื่มชนิดหนึ่งชื่อ “เชอร์เบต” (sherbet) ซึ่งผสมโดยต้มเนื้อหุ้มเมล็ดมะขาม 30 กรัม ในนม 1 ลิตร เติมลูกเกด 2-3 ลูก กานพลู กระวานและการบูรเล็กน้อย ใช้ดื่มแก้ไข้และอาการอักเสบต่าง ๆ เป็นต้นว่า เป็นไข้ อาหารไม่ย่อย อาการผิดปกติเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ท้องเสีย และใช้แก้ลมแดดได้ดี น้ำชงจากเนื้อหุ้มเมล็ด เตรียมโดยแช่น้ำหุ้มเมล็ดในน้ำ แล้วรินออกมากิน แก้อาการเบื่ออาหาร (ประสิทธิภาพของยาชง จะเพิ่มขึ้นอีก โดยการเติมพริกไทยดำ น้ำตาล กานพลู กระวานและการบูร ช่วยเพิ่มรส) และในระยะฟื้นไข้ ก็ให้กินเนื้อหุ้มเมล็ดกับนม เนื้อหุ้มเมล็ดอุ่นให้ร้อนใช้พอกแก้บวมอักเสบ เนื้อหุ้มเมล็ดผสมเกลือให้เป็นครีมใช้ถูนวดในโรครูห์มาติสซั่ม น้ำมะขามใช้อมบ้วนปากกลั้วคอแก้เจ็บคอ กระเพาะอาหารอักเสบ

เปลือกเมล็ด มีกรดฝาดอยู่มาก ในอัฟริกาใช้แก้บิด และต้มเอาน้ำชะล้างแผล ฝี
เมล็ด ที่ต้มสุกแล้ว ตำพอกฝีได้ดี เมล็ดเพาะให้งอกอย่างถั่วงอก ใช้แกงส้มกินได้และเนื้อในเมล็ด ป่น ต้มใช้ลงแป้ง เพื่อให้ผ้าแข็ง
เนื้อไม้ ใช้ทำเขียงได้ดี

***********************************************************************************************
ผักคราด หัวแหวน

 


⇒ ชื่ออื่น
ผักคราด (ไทย), ผักเผ็ด (พายัพ), ดอกตุ้มหู (กรุงเทพฯ), เทียงบุ่งเช่า, โฮ่วซั้วเช่า, อึ่งฮวยเกี้ย(จีน) ; Brazil cress,Para cress

⇒ชื่อวิทยาศาสตร์
Spilanthes acmella (L.) Murr. วงศ์ Compositae

⇒ ลักษณะต้น

เป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ สูง 40-80 ซ.ม. เลื้อยลามไป ส่วนที่ติดดินก็จะงอกรากไปเรื่อย ลำต้นมีสีม่วงแดง มีขนสั้น ๆ ใบออกตรงข้ามกัน ใบลักษณะป้อม ๆ ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง ยาว 4-7 ซ.ม.มีเส้นใบจากโคนใบเห็นได้ชัด 3 เส้น ขอบใบมีรอยหยักคล้ายฟัน ดอกออกเป็นกลุ่มรวมกันแน่นเป็นตุ้ม เมื่อเริ่มออกช่อ ดอกเป็นกลุ่มกลมแบน พอดอกแก่ขึ้น ตรงส่วนกลางดอกจะนูนแหลมขึ้นคล้ายหัวแหวนนพเก้า มีก้านช่อดอกเป็นก้านเล็ก ๆ ยาว 5-6 ซ.ม. มีดอกย่อยลักษณะคล้ายลิ้นอยู่วงนอกสุด 1 ชั้น มีกลีบดอกสีเหลืองอ่อน 2 กลีบติดกัน ดอกย่อยชั้นในเป็นดอกที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน มีกลับดอกติดกัน ส่วนปลายมีสีเหลือง แยกออกเป็น 5 กลีบเล็ก ๆ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน มีอับเรณูยาว ๆ สีน้ำตาลเข้ม มีก้านเกสรตัวเมีย 1 ก้าน ปลายแยกออกเป็น 2 แฉก ผลเป็นแผ่นบาง ๆ แห้ง ๆ มีเปลือกเป็นแผ่นบาง ๆ หุ้มอยู่ เมื่อแก่เปลือกหลุดแยกออกเป็น 2 ซีกได้ง่าย มีเมล็ดเป็นสีเทาดำ มีขนอ่อนสีขาวอยู่ที่ขอบ 2 ด้าน ออกดอกในฤดูร้อน มักพบปลูกตามสวนยาจีน หรือขึ้นเองตามที่ชื้นแฉะ และยังมีชนิดดอกสีเหลืองเข้ม - (Spilanthes acmellavar oleracea Jacq.) ปลายช่อดอกไม่แหลมเท่าชนิดแรก ทั้งสองชนิดนี้มีขายที่ร้านขายยาจีนสด

การเก็บมาใช้
ทั้งต้น เก็บได้ตลอดปี ตากแห้งเก็บไว้ใช้ หรือใช้สด ๆ ก็ได้

สรรพคุณ
ทั้งต้น รสเผ็ด ซ่าปากทำให้ลิ้นและเยื่อเมือก ชา ใช้แก้ไอระงับหอบ ไอหวัด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หอบหืดหรือไอกรน แก้ปวดบวม ฟกช้ำ แก้เหงือก และฟันปวด แก้ไขข้ออักเสบ แผลบวมมีพิษ งูกัด สุนัขกัด ตะมอย บิด ท้องเสีย

วิธีและปริมาณที่ใช้
ทั้งต้นแห้ง 3.2-10 กรัม ต้มน้ำกินหรือบดเป็นผง 7-1 กรัม กินกับน้ำหรือผสมเหล้ากิน ใช้ภายนอกตำ-พอกหรือเอาน้ำคั้นทาถู

ผลรายงานทางคลินิกของจีน

1.แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ต้นแห้งบดเป็นผง ทำเป็นยาน้ำเชื่อม (ในน้ำเชื่อม 10 ม.ล. มีเนื้อยานี้ 3.2 กรัม) กินครั้งละ 30 ม.ล. วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร10 วัน เป็น 1 รอบของการรักษาจากการรักษาคนไข้ 85 ราย) รักษา 2 รอบของการรักษา 8 ราย รักษารอบเดียว 77 ราย) พวกที่เริ่มเป็นรักษาหาย 30 ราย ได้ผลดีขึ้นอย่างเด่นชัด 22 ราย คนไข้หอบ 8 ราย รักษาหาย 1 ราย ได้ผลดีขึ้นอย่างเด่นชัด 7 ราย

2. ใช้เป็นยาชา เอาต้นนี้มาทำเป็นยาฉีดให้มีความเข้มข้น 50% ในการผ่าตัดหน้าท้อง ฉีดยานี้ลงไปทีละชั้น หลังจากนั้น 3-8 นาทีก็ทำการผ่าตัดได้ ระหว่างผ่าตัดอาจฉีดยาลงไปได้อีก เพื่อควบคุมอาการปวด ในการผ่าตัดที่ท้องหรือกระเพาะใช้ขนาด 100-150 ม.ล. ผ่าตัดเล็กใช้ 60-80 ม.ล. การใช้ทำให้ชาภายนอกหรือผ่าตัดในการคลอด หรือส่วนสำคัญต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระเพาะ ท่อมทอนซิล จำนวน 346 ราย ทำให้ขาได้ผลดี 326 ราย ได้ผลพอใช้ได้ 17 ราย ล้มเหลว 3 ราย ในการตรวจก่อนและหลังการผ่าตัดเกี่ยวกับไตและเลือด ยังไม่พบอาการผิดปกติอะไร พวกที่แพ้ง่ายจะมีความดันเลือดลดลงเล็กน้อย และแผลหลังการผ่าตัด มักเป็นแผลเป็น





หมายเหตุ
เมื่อเอาก้านช่อดอกหรือลำต้นมาเคี้ยว จะทำให้รู้สึกชามากกว่าเคี้ยวแต่ใบอย่างเดียว ดังนั้นการจะนำมาใช้ในทางทำให้ชา เช่น แก้ปวดฟันหรือทางแก้ปวดบวม คันต่าง ๆ ก็น่าจะใช้ลำต้นหรือก้านช่อดอกซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่าใช้ใบ
การใช้แก้ปวดฟัน ให้เอาก้านสดมาเคี้ยวตรงบริเวณฟันซี่ที่ปวด เพื่อให้น้ำจากก้านซึมเข้าไปตรงที่ปวด จะทำให้ชาสามารถระงับอาการปวดฟันได้ดี
ถ้าฟันที่ปวดเป็นรู ใช้ขยี้ให้เละ อุดเข้าไปในรูนั้น สักครู่จะทำให้ชาและหายปวด (เคี้ยวแล้วประมาณ 1 นาที จะรู้สึกชาและจะชาอยู่ประมาณ 20 นาที ถ้ายังไม่หาย ก็เคี้ยวอีก 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย พบว่าหายปวดไปได้นานและบางคนว่าจะไม่ปวดอีกเลย)
เคี้ยวพืชนี้แล้วจะมีน้ำลายออกมาก ใช้เป็นสารกระตุ้นให้หลั่งน้ำลายได้ดี
ยอดอ่อนใช้แกงกินหรือกินเป็นผักสดได้ ช่วยกระตุ้นให้น้ำลายออกมาก ช่วยให้การย่อยในปากและกระเพาะดีขึ้น และกินแก้เลือดออกตามไรฟัน ใช้ตำพอกแผลและแผลเนื้อตายได้
ใช้ต้นนี้ร่วมกับใบหนาดใหญ่ และใบมะขามต้มอาบหลังฟื้นไข้ และในโรคปวดตามข้อ หญิงมีครรภ์และหลังคลอด

รากใช้เป็นยาถ่าย ใช้รากแห้ง 4-8 กรัม ต้มในน้ำ 1 ถ้วยกิน
รากใช้ต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก แก้อาการอักเสบในช่องปากและเจ็บคอ นอกจากนี้อาจใช้ก้านขยี้ทาแผลในปากเด็ก ซึ่งเกิดเนื่องจากร้อนใน


 

ข้อมูลสื่อ

15-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 15
กรกฎาคม 2523
อื่น ๆ
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ