• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยากินก่อนอาหาร ยากินหลังอาหาร

มีเรื่องเล่ากันว่า ยายเมี้ยนซึ่งเกิดมายังไม่เคยไปหาหมอ วันหนึ่งเกิดมีอาการปวดเอว ปวดหลังจนทนไม่ไหว จึงให้หลานชายพานั่งรถจากหมู่บ้านไปหาหมอที่โรงพยาบาลอำเภอ หมอตรวจแล้วก็สั่งยาให้ยายเมี้ยนกลับไปกินที่บ้าน

พอตกบ่ายคุณยายก็ถือขันน้ำใบหนึ่งพร้อมซองยาเดินไปยังด้านหลังของวิหารวัดที่อยู่ใกล้ ๆ แล้วก็หยิบยาขึ้นกินตามจำนวนเม็ดที่หมอสั่ง ตกเย็นคุณยายก็ทำอย่างเดียวกันอีก

หลานชายนึกแปลกใจ จึงถามยายว่า ทำไมต้องไปกินยาที่นั่น
คุณยายบอกว่า “ก็คุณหมอเขากำชับว่า ยาที่กินนี้อาจกัดกระเพาะ บอกให้ยายต้องกินยาหลังวิหารทุกครั้ง”

“โธ่! คุณยาย หมอเขาบอกให้กินยาหลังอาหารต่างหากเล่า!”
หลานอุทาน

เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่เล่ากันสนุกๆ จะมีเค้าความจริงหรือไม่ก็ไม่อาจรับรองได้ แต่เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องจริง

แม่คนหนึ่งพาลูกน้อยไปหาหมอ หมอให้ยาลดไข้มาขวดหนึ่งบอกให้เด็กกินเวลาตัวร้อน และยาฆ่าเชื้ออีกขวดหนึ่งบอกให้เด็กกินก่อนอาหาร หมอบอกว่าเด็กมีคออักเสบ ต้องกินยาฆ่าเชื้อจึงจะหาย

สองวันต่อมา แม่พาลูกน้อยกลับมาพบหมอคนเดิม บอกว่าไม่เห็นดีขึ้นเลย หมอถามว่าได้ให้ยาตามที่หมอสั่งหรือไม่

“ก็ให้ยาตามที่คุณหมอสั่ง แต่มีบางมื้อลืมให้เด็กกินยาก่อนกินข้าว หลังกินข้าวแล้วค่อยนึกขึ้นมาได้ก็เลยไม่กล้าให้กิน และบางครั้งเด็กเบื่ออาหารไม่ยอมกินข้าว ก็เลยไม่ได้ให้กินยา”
คุณแม่ตอบ

“ก็ไม่ได้ยาครบตามขนาดที่ควรจะได้คือวันละ 4 เวลา เช่นนี้โรคจะหายได้อย่างไร”
คุณหมอชักฉุนที่เจอคุณแม่ที่เถรตรงหรือซื่อบริสุทธิ์ ลูกไม่กินข้าวก็เลยไม่ให้กินยา (ก่อนอาหาร)

เรื่องยาก่อนอาหาร-ยาหลังอาหารมักเป็นเรื่องที่ชาวบ้านรู้สึกสงสัยกันอยู่ไม่น้อย ความจริงยาที่กินกันส่วนใหญ่เขาให้กินหลังอาหารกันเกือบทั้งนั้น มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่หมอจะกำชับให้กินก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เช่น

ยาในกลุ่มเพนิซิลลิน (เพนวี, แอมพิซิลลิน) เพราะยานี้จะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อกินตอนท้องว่าง (ก่อนกินข้าว) ซึ่งก็มิได้หมายความว่า กินหลังอาหารไม่ได้

ยานี้อาจถูกดูดซึมได้น้อยกว่ากินก่อนอาหารบ้างเล็กน้อย หาได้ทำให้เกิดโทษอะไรร้ายแรงไม่

ข้อสำคัญยาพวกนี้จะมีฤทธิ์อยู่นานประมาณ 6 ชั่วโมง จึงต้องกินทุก ๆ 6 ชั่วโมง เพื่อให้มีฤทธิ์ต่อเนื่องทั้งวัน โดยให้กินวันละ 4 เวลา ตามมื้ออาหารเพื่อความสะดวกนั่นเอง

นอกจากยาในกลุ่มเพนิซิลลินแล้ว ก็เป็นยาที่ใช้กินหลังอาหารเกือบทั้งหมดเพราะสะดวกแก่ผู้บริโภค
มียาบางชนิดที่อาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ได้แก่ แอสไพริน และยาแก้ปวดข้อทั้งหลายแหล่จำเป็นต้องให้กินเวลาท้องอิ่ม ๆ ไม่ควรกินเวลาท้องว่าง (ก่อนอาหาร) ก็ต้องพยายามกินหลังกินข้าวทันที
ถ้าหากไม่ได้กินข้าว แต่ต้องกินยาเหล่านี้ ก็ให้กินนมก่อนสักแก้วครึ่งแก้วลงไปเคลือบผิวกระเพาะอาหารเสียก่อน แล้วจึงค่อยกินยาตามไปทีหลัง

หลักการกินยาไม่ได้สำคัญอยู่ที่ก่อนกินอาหาร (ยกเว้นยาที่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารเท่านั้น ที่ต้องระวังอย่ากินเวลาท้องว่าง ๆ) ยาที่บอกให้กินก่อนอาหาร ถ้าลืมกินก็ให้กินตอนหลังอาหารทดแทนได้ทันที ข้อสำคัญจำเป็นต้องกินให้ได้ครบจำนวนมื้อตามที่หมอบอก เพราะจะได้ฤทธิ์ยาที่ต่อเนื่องทั้งวัน

หากคนไข้เข้าใจถึงเหตุผลของการกินยาก่อนอาหาร หลังอาหารก็คงจะไม่มีคำแก้ตัวว่า

“ก็คุณหมอบอกให้กินยาหลังกินข้าว วันทั้งวันผมเบื่ออาหารไม่ได้กินข้าวซักมื้อหนึ่ง ก็เลยไม่ได้กินยาซักเม็ดหนึ่ง”

 

ข้อมูลสื่อ

102-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 102
ตุลาคม 2530
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช