• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอนที่ 9 โลกกับสันติมรรค

ในโลกยุคปรมาณูที่มีการยิงดาวเทียมไปโคจรรอบโลก

ในยุคคอมพิวเตอร์ ในยุคที่นายกรัฐมนตรีกำลังอิ่มเอมกับ “ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” ที่พ่อค้าและนายธนาคารรายงาน

ชาวสันติอโศกไปตั้งชุมชน ปฐมอโศก เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่จังหวัดนครปฐม เน้นที่การเป็นอยู่ง่าย ๆ เสพสุขทางวัตถุน้อยที่สุด ขยัน ช่วยเหลือเจือจุนกัน

วิธีการหรือวิถีชีวิตเล็ก ๆ ของชาวอโศกจะมีความสำคัญต่อโลกในยุคปรมาณูกระไรเชียวหรือ เป็นสิ่งที่น่านำมาพิจารณา

ความรู้ในโลกขณะนี้เพิ่มขึ้นมากและโดยรวดเร็ว จนมีคนเรียกยุคนี้ว่าเป็น สมัยปฏิวัติที่ 3 ของโลก ที่เรียกว่า การปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร (Information Revolution)

กล่าวคือเมื่อมนุษย์ค้นพบเทคโนโลยีทางเกษตรกรรมโดยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและสังคมมนุษย์ จากการเร่ร่อนล่าสัตว์มาเป็นตั้งบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม เรียกการอภิวัฒน์ครั้งนั้นว่า เป็นการปฏิวัติเกษตรกรรม

ต่อมาเมื่อพบเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรกลทำให้สามารถผลิตสินค้าได้มาก ก็ก่อให้เกิดการอภิวัฒน์ต่อชีวิตและสังคมมนุษย์จนเรียกว่าเป็นการปฏิวัติครั้งที่ 2 หรือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ้าจะถามว่าเมื่อมนุษย์มีความรู้มากขึ้นเช่นนี้มนุษย์มีความสุขขึ้นหรือไม่ คงจะได้คำตอบที่ต่างกัน เช่น

บางคนบอกว่ามนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพราะผลิตอาหารได้เหลือเฟือ มีความสะดวกสบายต่างๆ

บางคนบอกว่าโลกยุ่งและขัดแย้งกันมากขึ้น แย่งกันแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์จนกระทั่งเกิดสงครามน้อยใหญ่ เป็นสงครามโลกก็สองครั้ง จนกระทั่งมีการทิ้งระเบิดปรมาณู แต่ละครั้งมีคนตายเป็นแสนๆ และขณะนี้ก็ตึงเครียดขัดแย้งกันสะสมหัวรบนิวเคลียร์กว่า 20,000 หัว มากพอที่จะฆ่าคนหมดทั้งโลกได้หลายเที่ยวและทำลายสิ่งแวดล้อมของโลกจนมนุษย์อาศัยอยู่ต่อไปอีกไม่ได้ จนกระทั่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เองก็กล่าวว่า ต้องการความคิดใหม่ (New Thinking) ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้

อันหมายความว่า ถ้าคิดกันอยู่ในรูปเดิมมนุษยชาติประสบความหายนะขึ้นเรื่อยๆ

หันมามองประเทศไทยซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว แล้วถามว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็คงจะมองต่างกันสุดแต่ว่าเป็นรัฐบาล ทหาร ข้าราชการ พ่อค้า นายธนาคาร ชาวบ้านและองค์กรเอกชน
พ่อค้านายธนาคารกำลังชื่นชมยินดีเพราะ “ความเติบโตทางเศรษฐกิจ”

แต่ประชาชน องค์กรเอกชนและนักวิชาการ บอกว่า ประชาชนแย่เต็มที่ กว่าร้อยละ 85 ของชาวไร่ชาวนาประสบความล้มละลายทางเศรษฐกิจ ทำงานหนักขึ้นแต่ขาดทุนทุกปีและเป็นหนี้มากขึ้นอย่างไม่มีทางหลุด จนเกษตรกรเหล่านี้อยู่ในชนบทไม่ได้ หลั่งไหลเข้าเมือง เกิดสลัม เกิดปัญหาคนจนในเมือง เกิดอาชญากรรม เกิดโสเภณีกรรม เกิดการทำลายป่า ชีวิตครอบครัวและชีวิตชุมชนที่ควรช่วยเหลือพึ่งพิงกัน แตกสลาย ชีวิตของคนส่วนใหญ่ไร้ที่พึ่งพิงและเป็นภาระแก่รัฐที่จะต้องจัดสวัสดิการสังคม (social security) ซึ่งไม่มีทางจัดได้ ปัญหาคนชรา ปัญหาเด็ก ปัญหาคนป่วย จะเกิดมากขึ้นอย่างที่รัฐบาลไม่มีคำตอบ

เดิมชุมชนพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้และมีวัฒนธรรมชุมชนที่ช่วยเหลือพึ่งพิงซึ่งกันและกัน ชีวิตชุมชนเช่นนี้เป็นระบบสวัสดิการสังคมที่ช่วยเหลือซึ่งกัน ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางสังคม ซึ่งรวมถึงเรื่องคนชรา เด็ก ผู้ป่วย โดยไม่ต้องมีการเรียกร้องเอากับรัฐบาล

การพัฒนาสมัยใหม่ได้ทำลายชีวิตชุมชนให้แตกสลายไปทั่วประเทศ เพื่อแลกกับการปรากฏของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ที่คนกลุ่มหนึ่งและนายกรัฐมนตรีพึงพอใจ

เมื่อเร็ว ๆ นี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐตีพิมพ์รูปชาวชนบทซึ่งกำลังหลั่งไหลเข้ากรุงเทพฯ และนอนกันยั้วเยี้ยที่สถานีรถไฟ และถามว่า “นี่น่ะหรือผลของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ!”

การที่ชีวิตชุมชนจะพัฒนาไปอย่างได้สมดุลนั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบ(ขันธ์) 5 ประการ คือ
1. จิตใจ
2. เทคโนโลยีที่เหมาะสม
3.ธรรมชาติแวดล้อม
4. เศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้
5. วัฒนธรรมชุมชน


ปัจจัยหรือขันธ์ทั้ง 5 นี้เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน* จิตใจเป็นตัวกำหนดเทคโนโลยีกับเศรษฐกิจอย่างสำคัญ จิตใจที่ไม่โลภ กับจิตใจที่โลภมากจะไปกำหนดเทคโนโลยีของการผลิตที่ต่างกัน

จิตใจที่ไม่โลภจะทำเพื่อกินเองใช้เอง ประหยัด พยายามอุดรายจ่าย ทำให้ทำหลายอย่าง (เทคโนโลยี) เช่น ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ปลูกผลไม้ ทำให้มีกินมีใช้ ไม่อดอยาก และธรรมชาติแวดล้อมได้สมดุล มีต้นไม้ขึ้นมาก มีการสร้างปุ๋ยธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาฆ่าแมลง

                                

ธรรมชาติแวดล้อมคือป่าไม้เป็นสิ่งที่ทำให้วัฏจักรของชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ ไม่มนุษย์มีความโลภน้อยทำกินทำใช้เอง และธรรมชาติได้สมดุลไม่ต้องไปเสียค่าปุ๋ยค่ายาฆ่าแมลงและอื่นๆ เศรษฐกิจก็ได้สมดุลไม่ขาดทุนเป็นหนี้เป็นสิน ทำให้ชีวิตไม่เครียด มีเวลาที่จะคุยกัน ที่จะฟังธรรมจากพระ ผู้เฒ่าผู้แก่ มีเวลาที่จะเอื้ออาทรต่อเด็ก คนชรา และคนป่วย จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมชุมชน

จึงเห็นว่าเบญจขันธ์ของชุมชนที่เกาะกุมกันอยู่ หรือครองธาตุอยู่ได้เป็นเหตุปัจจัยให้มีความเยือกเย็นสงบสุข

การพัฒนาสมัยใหม่ทำลายเบญจขันธ์ของชุมชนให้แตกสลายใช่หรือไม่
การพัฒนาสมัยใหม่ที่เน้นที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต้องกระตุ้นให้ให้คนเกิดกิเลส

ต้องกระตุ้นให้อยากได้โน่นได้นี่ จะได้ผลิตและขายสินค้าได้มาก ถ้าประชาชนมัวแต่ไม่โลภใฝ่สันโดษไม่อยากโน่นอยากนี่ เศรษฐกิจมันก็ไม่เจริญเติบโต เพราะฉะนั้นต้องทำทุกอย่างที่จะกระตุ้นให้มันอยากให้ได้ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ การประกวดประขันทางเนื้อหนังมังสาโป๊เปลือย เอาทุกท่ากระตุ้นให้มันอยาก

ถ้ามันอยากจึงจะได้กำไร
ถ้ามันไม่อยาก มัวใฝ่ธรรมะอยู่ จะหากำไรได้อย่างไร

นี้คือรากฐานของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน อันได้แก่ การกระตุ้นกิเลส และต้องถือว่ารัฐบาลสนับสนุนเศรษฐกิจแบบกิเลสนิยม

เมื่อประชาชนถูกกระตุ้นให้เกิดอยากโน่นอยากนี่ ก็อยากจะมีสตางค์มากๆ อยากจะทำอะไรที่มันได้สตางค์มากๆ (ลองดูรูปที่แสดงขันธ์ 5ของชุมชน) ก็เปลี่ยนแบบแผนการผลิต (เทคโนโลยี) จากทำกินเองใช้เองไปเป็นการทำเพื่อขาย เมื่อจะทำเพื่อขายก็เปลี่ยนเป็นทำอย่างเดียว เช่น ปลูกข้าวอย่างเดียว ปลูกมันสำปะหลังอย่างเดียว ปลูกอ้อยอย่างเดียว

เมื่อทำอย่างเดียวธรรมชาติก็เสียสมดุล สร้างปุ๋ยเองไม่ได้ ต้องซื้อปุ๋ย และเมื่อทำอย่างเดียวแมลงก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ต้องซื้อยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ฆ่าอย่างอื่นด้วย เช่น ไส้เดือนและจุลินทรีย์ที่ช่วยสร้างปุ๋ย และทำให้ดินซุย รวมทั้งฆ่าปลาด้วย การเสียดุลของธรรมชาติทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

จิตใจที่มีความโลภจึงก่อให้เกิดการเสียดุลทางเศรษฐกิจ ทั้งทางการเสพสุขทางวัตถุ ทั้งทางการลงทุน ในการผลิตแต่ละรอบเกษตรกรจึงขาดทุน เช่น ลงทุน 4,000 บาท สำหรับข้าวแต่ละเกวียน ขายได้เกวียนละ 2,500 บาท ฉะนั้น ยิ่งเร่งการผลิตยิ่งเหนื่อยและเป็นหนี้มากขึ้น

เกษตรกรจึงเหนื่อย เป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น ทำให้ต้องขายนา บุกทำลายป่า ขายตัว เกิดความเครียดและอาชญากรรมมากขึ้น ชีวิตที่หมดไปกับความเหนื่อยและความเครียด ทำให้ไม่มีเวลาและจิตในที่จะมาสนใจกับเพื่อนบ้าน พระ คนเฒ่าคนแก่ เด็ก คนป่วย อีกต่อไป วัฒนธรรมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลของชุมชนอันทรงคุณค่าก็ถูกทำลายลงด้วยประการฉะนี้ ชาวชนบทถูกส่งเสริมให้ผลิตเพื่อขายให้มาก ๆ

เมื่อมาก ๆ ราคาจะได้ถูก พ่อค้าจะได้ขายต่อสู้กับต่างประเทศได้ง่ายขึ้น และเมื่ออยู่ในชนบทไม่ได้ก็จะได้ทะลักไปเป็นกรรมกรในเมืองมากขึ้น (กรรมกร = เกษตรกรที่ล้มละลาย)

เมื่อกรรมกรมีมากเกินกว่างานค่าจ้างแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมจึงมีราคาถูก
เมื่อแรงงานราคาถูกจึงจะส่งเสริมการลงทุนทางอุตสาหกรรมเพื่อจะได้มีราคาสินค้าอุตสาหกรรมราคาถูกไปแข่งกับตลาดโลกได้

การส่งออกให้ได้มากจึงเชื่อมโยงกับความล้มละลายทางเศรษฐกิจในชนบท การทำลายป่าไม้ ความเสื่อมสลายของวัฒนธรรมชุมชนของไทย
ด้วยประการฉะนี้ ทำให้ประเทศไทยลุกเป็นไฟด้วยกิเลสตัณหา ความร่านอยาก การไม่สมควรอยาก
การคอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง
ความไม่ปราณีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน
ความไม่มีเวลาที่จะเอาใจใส่ถนอมรักเด็ก คนแก่ และคนป่วย
การแพร่ระบาดของการลักขโมย ปล้น จี้ ฆ่า ข่มขืน

การที่เด็ก ๆ ลูกหลานของเราต้องไปเป็นโสเภณีสังเวยความร่านอยากของคนทั้งในและนอกประเทศ
นี้แลคือผลของการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจแบบกิเลสนิยม
ที่บรรยายมาทั้งหมดเพื่อนำเรื่องหลักธรรมและวิถีชีวิตของชาวอโศกมาพิจารณา

ชาวอโศกถือเรื่องการลดกิเลสให้กินน้อยใช้น้อย ขยัน ทำงานให้มาก เหลือแบ่งปันช่วยเหลือเจือจุนผู้อื่น ชาวอโศกกำลังเสนอเรื่อง บุญนิยม

ในขณะที่เศรษฐกิจแบบกิเลสนิยมที่พูดถึงรายได้อันเป็นเงินและดอกเบี้ยอันเป็นเงิน

ชาวอโศกกำลังพูดถึงดอกบุญ ถ้าถือว่าบุญเป็นรายได้ก็เป็นรายได้ที่ทำให้ผู้ได้เป็นสุขอิ่มเอิบ และผู้อื่นก็เป็นสุขด้วย บุญเป็นรายได้ที่ไม่มีผู้เสีย มีแต่ได้ด้วยกัน
ในขณะที่รายได้ที่เป็นวัตถุและเงินเมื่อมีผู้ได้ก็มีผู้เสีย
ชาวอโศกบอกว่า โลกทุกวันนี้มีแต่ทุนนิยมกับสังคมนิยม

ทุนนิยมเน้นที่เสรีภาพของการแสวงหาทรัพย์สินและการสะสมทุน และเสรีภาพในการเสพสุขทางวัตถุ
สงัคมนิยมเห็นว่าทุนนิยมให้ประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ จำกัดเสรีภาพของการแสวงห่ทรัพย์สิน และเน้นที่ความเสมอภาคทางวัตถุ

ชาวอโศกเห็นว่าทั้งทุนนิยมและสังคมนิยมยังเป็นวัตถุนิยมทั้งคู่ และได้เสนอแนวคิดและการทดลองวิถีชีวิตแบบบุญนิยม

ชาวอโศกเห็นว่าระบบเศรษฐกิจวัตถุนิยมตอบปัญหาหลักไม่ได้ 3 ประการ** เกี่ยวกับ

1. คำจำกัดความ ประเภท และขนาดของความสุขซึ่งมีความไม่แน่นอน

2. ให้คำตอบแก่อนาคตไม่ได้ว่าอีก 10 ปี 20 ปี 100 ปี จะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นกับความไม่แน่นอนหลายอย่าง

3. ไม่มีคำตอบในเรื่องจำนวนของคนที่ได้รับประโยชน์ ถ้าให้ประโยชน์แก่คนจำนวนน้อย คนส่วนใหญ่ก็เสียประโยชน์ ถ้าให้ประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ คนส่วนน้อยก็เสียประโยชน์

ชาวอโศกเห็นว่าโลกมองเรื่องความสุขผิดพลาดคือไปจับที่ตัวความสุข และมองว่าการสนองตอบความต้องการคือ ความสุข ซึ่งประสบปัญหาต่างๆดังกล่าวข้างต้น

ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงมองเรื่องความสุขความทุกข์เป็นเรื่องเดียวกัน เช่นเดียวกับความร้อนและความเย็น ไม่ใช่สองเรื่องที่แยกจากกัน เมื่อไม่มีความร้อนก็เย็น

พระพุทธเจ้าจับตรงความทุกข์ไม่ใช่ความสุข ถ้าไม่มีทุกข์ก็สุข ท่านพูดแต่ความทุกข์ไม่พูดถึงความสุข เพราะหมดทุกข์ก็คือสุข ในอริยสัจ 4 จึงประกอบด้วย

ทุกข์
หรือปัญหา
ทุกข์มีตัณหาเป็นสมุทัย นี้คือทุกขสมุทัย
เมื่อตัณหาดับทุกข์ก็ดับ นี้คือนิโรธ
และมีวิธีปฏิบัติคืออริยมรรค เพื่อให้ทุกข์ดับไป

เมื่อลดตัณหาได้ก็ลดความทุกข์ได้ และเกิดความสุขเอง แน่นอนตายตัว ลดได้น้อยก็สุขน้อย ลดได้มากก็สุขมาก ลดชั่วคราวก็สุขชั่วคราว ลดถาวรก็สุขถาวร ไม่มีปัญหาการตีความเรื่องความสุข และใช้ได้ตลอดไป ขณะนี้เป็นความจริง อีก 10 ปี 100 ปี ก็เป็นความจริง และความสุขเช่นนี้ไม่กระทบกระเทือนคนอื่นในทางลบ ตรงข้ามความสุขแบบลดตัณหา กลับช่วยให้คนอื่นประสบความสุขง่ายขึ้น จึงไม่เกิดปัญหาในเรื่องจำนวนคนที่จะได้รับความสุข

หลักการและวิถีชีวิตของชาวอโศกเป็นการทวนกระแสโลกปัจจุบัน แต่มิได้เป็นการทวนกระแสพระพุทธเจ้า
ลองพิจารณาตรวจสอบเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ เพื่อกำหนดลักษณะสังคมสงฆ์ในอุดมคติ

บัดนี้ลักษณะชุมชนสงฆ์ในอุดมคติตามพุทธบัญญัติได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จนกระทั่งเมื่อมีผู้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า กลายเป็นของแปลกประหลาดไป!

เรายังมองวินัยกันเป็นเรื่องแคบ แท้ที่จริงวินัยเป็นเครื่องกำหนดลักษณะของชุมชนหรือของสังคม
สังคมสงฆ์ในอุดมคติเกิดจากวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เมื่อวินัยเป็นเครื่องกำหนดลักษณะของสังคม วินัยจึงเป็นวิถีชีวิต เป็นเรื่องบ้านเมือง เป็นเรื่องการเมือง

ถ้ารัฐบาลตามก้นฝรั่งเรื่อยไป ทำได้อย่างมากก็เป็นลูกน้องฝรั่ง และเข้าไปสู่ความขัดแย้งในโลก ในฐานะเป็นลูกน้องเขาด้วย และทำให้ชีวิตคนไทยไร้ศักดิ์ศรีและประเทศไทยไร้ศานติ

รัฐบาลน่าจะสนับสนุนกลุ่มคนที่คิดแตกต่างไปจากกระแสที่มีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องชี้นำ เพราะพระพุทธองค์ย่อมคิดเรื่องมนุษย์ได้ไกลกว่าอดาม สมิธ และ คาร์ล มาร์กซ

คนไทยกำลังพัฒนาความคิดเกี่ยวกับ พุทธเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอาจจะเป็นประทีปแก่โลกให้เห็นสันติมรรคได้

แต่ถึงรัฐบาลจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน ก็คงจะมีคนไทย เช่น กลุ่มสันติอโศก และกลุ่มอื่น ๆ ที่คิดและแสวงหาสันติมรรค เพื่อสันติสุขในตนเองและศานติภาพในโลก
มันเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา)

* ดูหนังสือ ‘พุทธเกษตรกรรม’ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
** คำอภิปรายของสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง ในการสัมมนาเรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 27 สิงหาคม 2530


 

ข้อมูลสื่อ

102-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 102
ตุลาคม 2530
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี