• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจดังได้กล่าวไว้ในฉบับที่แล้ว ฉะนั้นการดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก และท้าทายผู้ที่เป็นคนคอยดูแลผู้สูงอายุว่า ทำอย่างไรผู้สูงอายุจึงจะมีความพอใจร่วมมือ สร้างเสริมความมีสุขภาพกายและใจที่ดีได้

การดูแลผู้สูงอายุ
เพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย

1. การรักษาความสะอาด
เป็นสิ่งสำคัญมากในผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุมีความต้านทานของโรคน้อยกว่าคนหนุ่มสาว การรักษาความสะอาดจึงเป็นสิ่งจำเป็น

- ผิวหนัง ผู้สูงอายุจะมีผิวหนังบางและไวต่อการกดทับมาก ต่อมเหงื่อเหี่ยวแฟบผลิตเหงื่อได้น้อย ทำให้ผิวแห้งกระด้าง บางครั้งก็เป็นสาเหตุให้เกิดตุ่มคันได้ การอาบน้ำที่ถูกต้องจะช่วยให้ผิวหนังสะอาดชุ่มชื้นและกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตใต้ผิวหนังได้ดี แต่สำหรับวัยมีอายุนี้การอาบน้ำบ่อยครั้งจะไม่ช่วยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะถ้าอากาศเย็น จะทำให้ผิวแห้ง และเกิดตุ่มคัน เนื่องจากการอาบน้ำได้

ฉะนั้นถ้าผู้สูงอายุรู้สึกหนาว อาจหลีกเลี่ยงการอาบน้ำเป็นการเช็ดตัวแทนก็ได้ สบู่ที่ใช้ควรมีไขมันมาก หรือมีฤทธิ์เป็นด่าง จะช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังได้ บางครั้งควรใช้ครีมทาผิวด้วย ไม่ควรใช้น้ำหอมที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ผิวแห้งสากมากขึ้นสำหรับสตรีจะต้องรักษาความสะอาดของอวัยวะสืบพันธุ์ด้วย เพราะในวัยสูงอายุจะมีมูกหรือของเหลวขับออกมาจากช่องคลอดเช่นกัน ทำให้เกิดอาการคันได้ ควรชำระให้สะอาดและซับให้แห้งเสมอ

- การสระผม ไม่ควรสระผมบ่อย เพราะเป็นวัยที่หนังศีรษะแห้ง และเปลี่ยนสี ควรสระสัปดาห์ละ 1 ครั้ง การหวีและนวดหนังศีรษะด้วยครีมหรือน้ำมันมะกอกจะทำให้ผมไม่แห้งกรอบ แชมพูควรเลือกชนิดที่ไม่มีแอลกอฮอล์เจือปน

- การรักษาความสะอาดของมือ, เท้าและเล็บ เล็บควรตัดให้สั้น เพื่อให้ง่ายต่อการรักษาความสะอาด ถ้ามือแห้งสากอาจใช้ครีมหรือวาสลินทาบาง ๆ ที่มือ ซอกนิ้วมือและเล็บนวดมาก ๆ และแช่ด้วยน้ำอุ่น จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดส่วนปลายมือดีขึ้น ผ่อนคลายความเครียดของมือ

- เท้าเป็นอวัยวะส่วนแรกที่จะแสดงถึงความผิดปกติของการไหลเวียนของเลือดในส่วนปลาย การนวดนิ้วเท้า ฝ่าเท้าและส้นเท้าจะกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น น้ำมันที่เหมาะสมคือน้ำมันละหุ่ง เล็บจะนุ่มไม่แข็งเปราะ หลังนวดควรแช่น้ำอุ่นจัด แล้วกระดิกนิ้วเท้าไปมา จะทำให้การไหลเวียนดี ผิวหนังไม่แห้งแตก เสร็จแล้วซับให้แห้งเสมอ การปล่อยให้เท้าเปียกชื้นจะเกิดโรคเชื้อราได้ และเลือกรองเท้าที่พอเหมาะแก่เท้าและสวมสบาย

- การรักษาสุขภาพปากและฟัน การแปรงฟันที่ถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญ ควรใช้แปรงนุ่ม ๆ ควรอมน้ำอุ่นหรือน้ำเกลืออุ่น ๆ บ้วนปากจะช่วยรักษาเหงือกและความสะอาดในช่องปาก ลดการติดเชื้อในช่องปากและทางเดินหายใจได้ ในรายที่ใส่ฟันปลอมจะมีปัญหามาก การรักษาสุขภาพปากและฟันจำเป็นมากขึ้น หลังกินอาหารทุกครั้งจะต้องถอดล้างให้สะอาดมิฉะนั้นน้ำย่อยในน้ำลายที่ออกมาจะทำให้ฟันปลอมแตกสลาย และระคายเคืองต่อเยื่ออ่อนในปากเกิดการอักเสบได้ ควรถอดฟันปลอมออกในเวลากลางคืนเพื่อให้เนื้อเยื่อของปากได้พัก ภายหลังถอดฟันควรกลั้วปากด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเกลืออุ่น และใช้นิ้วมือนวดเหงือกเบาๆด้วย ควรพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

2. การดูแลสุขภาพตา ผู้สูงอายุมักสายตาไม่ดี ต้องใช้แว่นสายตาช่วย แสงสว่างภายในบ้านควรพอเหมาะไม่มืดสลัวหรือสว่างจ้าเกินไป โดยเฉพาะแสงจ้าจะทำให้การทำงานของตาเมื่อยล้าได้ง่ายขึ้น ถ้ามีความผิดปกติของตา ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง

3. เสื้อผ้า
ควรมีขนาดสวมใส่สบายและง่าย เป็นผ้านิ่มๆ ซักและทำความสะอาดง่าย ไม่มีตะเข็บมากเพราะเวลานอนจะทำให้เกิดรอยกดทับได้ เสื้อผ้าต้องเหมาะสมกับลักษณะอากาศ

4. การนอนหลับและการพักผ่อน
ควรได้พักผ่อนเต็มที่ ในที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีเสียงดังรบกวน สำหรับคนที่นอนหลับยากอาจให้เครื่องดื่มอุ่น ๆ เพื่อบำรุงร่างกาย งดน้ำชา กาแฟ ถ้านอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรใช้ยานอนหลับเอง โดยไม่มีคำสั่งแพทย์ ที่นอนก็ควรสะอาด ถ้าเป็นผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังเรื่องแผลกดทับด้วย แผลกดทับเกิดได้ง่ายในบริเวณก้นกบ กระดูกสะบักและส้นเท้า จะต้องหมั่นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยบ่อย ๆ เพราะถ้าเกิดแล้วมักจะเรื้อรัง รักษาหายยาก ไม่ควรเร่งเร้าให้ผู้สูงอายุทำกิจวัตรประจำวันของตนเองด้วยความรีบร้อน เพราะจะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดโดยเฉพาะหัวใจอย่างมาก ส่งเสริมให้มีกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเล่น การอ่านหนังสือ

                                                                          
                 
                                             

                                           

5. การรักษาท่าทางและการออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นการใช้พลังกล้ามเนื้อให้เกิดความแข็งแรง ลดความตึงเครียด การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นตามธรรมชาติ การขาดสิ่งกระตุ้นจะนำไปสู่ความเฉื่อยชา การเสียหน้าที่และกล้ามเนื้อลีบได้ การบริหารที่จำเป็นคือการออกกำลังกายหายใจ โดยสูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ในที่มีอากาศถ่ายเทดีและสดชื่น และออกกำลังกายแขนขาอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเหวี่ยงแขน

ฉบับหน้าจะมาพูดถึงอาหาร การดูแลการขับถ่าย การป้องกันอุบัติเหตุ การไปพบแพทย์ และการดูแลผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต

 

ข้อมูลสื่อ

102-024
นิตยสารหมอชาวบ้าน 102
ตุลาคม 2530
อื่น ๆ
จันทนา รณฤทธิวิชัย