• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โครงการวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ระหว่างวันที่ 16-22 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เข้าร่วมในโครงการวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิแพทย์ชนบท องค์การอนามัยโลก มูลนิธิหมอชาวบ้าน ชมรมแพทย์ชนบท แพทยสภา แพทยสมาคม คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน(คปอส.)และองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ต่างๆ

นักวิ่ง (สมัครเล่น) ในโครงการนี้ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในวงการแพทย์และสาธารณสุขจากทั่วประเทศประมาณ 25o คน แบ่งออกเป็น 4 สาย คือ เหนือ อีสาน ใต้ และตะวันออก ออกวิ่งพร้อมกันจากเชียงใหม่ หนองคาย และอุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และตราด

ทุกสายได้วิ่งผ่านหัวเมืองต่างๆ พร้อมกับการโฆษณาถึงพิษภัยของบุหรี่ และรวบรวมรายชื่อประชามติของผู้ที่เห็นด้วยกับการไม่สูบบุหรี่

ผู้เขียนได้ร่วมในขบวนนักวิ่งสายตะวันออก เริ่มออกวิ่งจากตราดในวันที่ 16 ตุลาคม ผ่านจันทบุรี แกลง ระยอง พัทยา ชลบุรี สมุทรปราการ และถึงกรุงเทพฯ พร้อมกับนักวิ่งสายอื่นในวันที่ 22 ตุลาคม

ตลอดเส้นทางที่วิ่งผ่าน ได้มีชาวบ้าน นักเรียน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ร่วมวิ่งสมทบเป็นระยะๆ

ทางขบวนนักวิ่งได้มีรถวิ่งตาม ออกกระจายเสียงโฆษณาให้ประชาชนได้ทราบถึงพิษภัยของบุหรี่ และได้แจกแผ่นปลิว และสติกเกอร์ แก่ผู้คนในย่านต่างๆ

เมื่อเข้าไปในตัวเมืองใหญ่ๆก็มีขบวนต้อนรับพร้อมป้ายคำขวัญที่แสดงถึงโทษของบุหรี่ พาขบวนนักวิ่งเดินแห่ในรอบเมือง พร้อมกับจัดพิธีต้อนรับและมอบรายชื่อประชามติโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด

ตอนเย็นวันสุดท้ายของการวิ่งทุกสายได้มาประจบกันที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวต้อนรับนักวิ่งทุกคน ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ประธานคณะกรรมการดำเนินงานในโครงการนี้ ได้ทำพิธีมอบรายชื่อประชามติ รวมทั้งสิ้น 5,882,434 รายชื่อแด่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีพลเอกประจวบ สุนทรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการนี้เป็นประธานในพิธี

ตลอดช่วง 7 วันนั้น สื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ก็ได้เผยแพร่ข่าวของโครงการนี้ออกสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง

การรณรงค์ในครั้งนี้จึงนับว่าได้รับความสำเร็จในขั้นต้น ที่สามารถปลุกเร้าให้ประชาชนทั่วประเทศได้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพิษภัยของบุหรี่

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชามติเกือบ 6 ล้านชื่อ คงจะเป็นพลังที่กระตุ้นให้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ได้หามาตรการอันเหมาะสมในการลดการแพร่พิษควันบุหรี่

แม้ว่าโครงการวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นโครงการเฉพาะกิจจะได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่โครงการใหญ่ที่มีชื่อว่า “โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” จะยังดำเนินต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องรณรงค์กันระยะยาว

ถ้าหากท่านที่เห็นด้วยกับการไม่สูบบุหรี่มีความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะประการใดโปรดเขียนถึงเราได้เลยครับ
 

ข้อมูลสื่อ

103-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 103
พฤศจิกายน 2530
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ