• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เถาสิงโตและอ้อย

เถาสิงโตและอ้อย

 

  สมุนไพรที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีนบันทึกไว้ ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลานำมาใช้ต้องดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย

       

เถาสิงโต

⇒ ชื่ออื่น
เถาเงาะ (ชัยนาท), หญ้าถลกบาตร์ (อุตรดิตถ์-พิษณุโลก), ผักแคบฝรั่ง (พายัพ), ตำลึงฝรั่ง (ศรีราชา), หญ้ารกช้าง (พังงา), กระโปรงทอง (ใต้), ละพุบาบี (มลายู นรา-ปัตตานี)

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Passiflora foefida L. วงศ์ Passifloraceae

⇒ลักษณะต้น
เป็นไม้เถาเลื้อย ขยี้ดมมีกลิ่นเหม็นเขียว มีขนอ่อนนุ่มสีขาวทั้งต้น ขึ้นเลื้อยพันต้นไม้อื่น ใบออกสลับกัน ลักษณะทรงกลมยาว 5-13 ซ.ม. กว้าง 4-12 ซ.ม. ฐานใบโค้งเข้าคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลม แยกเป็น 3 แฉก มีเส้นใบเห็นชัด 3 เส้น ขอบใบมีรอยหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย มีขนสั้น ๆ ก้านใบยาวประมาณ 6 ซ.ม. มีขน ดอกเป็นดอกเดี่ยว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ซ.ม. มีกลีบเลี้ยง ลักษณะเป็นร่างแห 3 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ ยาว 1.5 ซ.ม. และมีกลีบดอกเป็นเส้นเล็ก ๆ หลายเส้น เรียงเป็นรัศมีสีขาว มีสีม่วงสลับ ผลทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 ซ.ม. ผลแก่สีเหลืองเนื้อในหุ้มเมล็ดลักษณะลื่น ๆ รสหวาน แห้งแล้วแตกเป็น 3 กลีบ พบขึ้นทั่วไปตามป่าละเมาะและทุ่งหญ้าทั่วไป

⇒ ควรเก็บมาใช้
ใช้ได้ทั้งต้นสด หรือตากแห้งเก็บไว้ใช้

⇒ สรรพคุณ
ทั้งต้น รสชุ่มเย็น ขมเล็กน้อย ใช้ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ บวมไม่รู้สาเหตุ ผลบำรุงปอด แก้ปวด และบาดแผล

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
ทั้งต้นแห้ง 5-15 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกตำพอก

⇒ หมายเหตุ
ทั้งต้นสดมีสารไซยาโนเจเน ติคกลัยโคไซด์ Cyanogenetic glycosides) ซึ่งเปลี่ยนเป็นสารพิษไซยาไนด์ ได้ สัตว์เลี้ยงกิน อาจเป็นอันตรายได้ ใบสดใช้พอกแก้หิด ใบและรากชงน้ำร้อนกินเป็นยาขับประจำเดือนและแก้โรคประสาท ต้มน้ำกิน ใช้แก้โรคเกี่ยวกับน้ำดี โรคหืด ใบใช้ตำพอกหัว แก้ปวดและมึนหัว
ดอก แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก ใช้ขับเสมหะ แก้ไอ
ผล ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน
ทั้งต้น ใช้เป็นพืชคลุมดินและเป็นปุ๋ยสด

***********************************************************************************************
 

                           

อ้อย

⇒ ชื่ออื่น

อำโป (เขมร) ; กำเจี่ย, ซุงเจี่ย (จีน-แต้จิ๋ว) ; Sugar Cane

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
1. Saccharum sinensis Roxb วงศ์ Gramineae
2. Saccharum Ofbicinalis L.

⇒ ลักษณะต้น
เป็นพืชจำพวกหญ้า ลำต้นแข็งแรง มีข้อปล้องเห็นได้ชัดเจน สูง 2-4 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซ.ม. ไม่แตกกิ่งก้าน ผิวนอกสีเขียวออกเหลือง หรือสีแดงเข้มออกม่วง มีขี้ผึ้งเป็นฝ้าขาว ๆ เคลือบอยู่ ใบแคบยาว 0.5-1 เมตร กว้าง 2.5-5 ซ.ม. ผิวใบมีขนสั้น ๆ ทั้ง 2 ด้าน ลูบรู้สึกสากมือ เส้นกลางใบใหญ่ สีขาวมีขน ดอกออกที่ยอดเป็นช่อขนาดใหญ่ยาว 40-80 ซ.ม. แก่แล้วมีสีขาว ก้านช่อดอกไม่มีขน แตกแขนงเป็นช่อดอกย่อย ออกดอกในฤดูหนาว เป็นพืชชอบอากาศอบอุ่นและร้อนชื้น พบปลูกตามบ้านเรือนไว้ใช้เป็นยา และมีการปลูกเป็นไร่ ตัดส่งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล

⇒ การเก็บมาใช้
ใช้น้ำอ้อย ลำต้น ข้อ เปลือกต้นและชานอ้อยเป็นยา
ลำต้น เมื่ออ้อยโตเต็มที่แล้ว ตัดเอาส่วนที่เหนือดิน ตัดใบทิ้ง นำมาใช้หรือเก็บไว้ในที่มืดชื้น ไม่มีลมโกรกมากนัก เพื่อป้องกันน้ำระเหย เก็บไว้ใช้

⇒ สรรพคุณ
น้ำอ้อย ลำต้น และข้อ รสหวานชุ่ม เย็น แก้ร้อนใน บำรุงกระเพาะ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้อาการร้อนรุ่มกลุ้มใจ คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก และอาการเมาค้าง (Hang Over)
เปลือกต้น แก้เด็กเป็นตานขโมย ขาดอาหาร แผลกดทับต่าง ๆ (แผลที่เกิดจากการนั่งหรือนอนท่าเดียวนาน ๆ บริเวณที่ถูกกดทับ เป็นแผลเน่าเปื่อย)
ชานอ้อย แก้หนังหัวเป็นแผลเรื้อรัง แผลฝีบวมอักเสบต่าง ๆ

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
ลำต้นสด 60-120 กรัม เคี้ยวเอาน้ำ คั้นเอาน้ำ หรือต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกตำพอก
เปลือกต้น ใช้ภายนอก เผาเป็นเถ้า บดเป็นผง โรยหรือผสมทา
ชานอ้อย ใช้ภายนอกเผาเป็นเถ้าบดเป็นผงโรย หรือผสมทา

⇒ ข้อควรระวัง
กินมาก ๆ บ่อย ๆ จะทำให้มีเสมหะมาก

⇒ ตำรับยา
1. แก้อาการไข้ คอแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะขัด ใช้ต้นอ้อยปอกเปลือก เคี้ยวกินน้ำ ถ้าปากเจ็บ ก็คั้นเอาน้ำกิน

2. แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนทั้งวัน ใช้น้ำอ้อย 7 ถ้วยชา (ประมาณ 100 มิลลิลิตร) น้ำขิงสด 1 ถ้วยชา (15มิลลิลิตร) ผสมกัน แบ่งกิน 3 ครั้ง ให้หมดใน 1 วัน หรือใช้น้ำอ้อยอุ่นให้ร้อน กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง

3. แก้อาการไอ คอแห้ง น้ำลายเหนียว ใช้น้ำอ้อย 2 แก้ว ข้าวฟ่างหางหมา (setaria italica (L.) Beauv. เป็นข้าวฟ่างเมล็ดเล็ก ผิวสีเหลืองเป็นมัน มักนำมาผสมเป็นอาหารนก) 1 ฝ่ามือ ต้มเป็นข้าวต้มเละ ๆ กินวันละ 2 ครั้ง

4. แก้อาการเมาค้าง (เป็นอาการหลังจากดื่มสุรามากไป ตื่นมาตอนเช้ายังมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน)
ให้ดื่มน้ำอ้อยสักแก้วหนึ่ง จะรู้สึกสดชื่นขึ้น

5. แก้ปากเป็นแผล เนื่องจากขาดธาตุอาหาร ใช้เปลือกอ้อย เผาเป็นเถ้าบดเป็นผงทา

6. แก้แผลบวมเป็นตุ่มที่เพิ่งเริ่มเป็น ใช้เปลือกอ้อยสีแดงเผาเป็นเถ้า ผสมน้ำมันหอม ทาบริเวณที่
เป็น

7. แก้แผลกดทับ ใช้เปลือกอ้อย เผาเป็นเถ้า ผสมน้ำมันหอม ทาบริเวณที่เป็น

8. แก้แผลเรื้อรังใต้ผิวหนัง (Subcutaneous ulcer) ที่บริเวณหลัง ใช้ชานอ้อยแห้งเผาเป็นเถ้าบดเป็น
ผง โรยแผลแล้วเอาครีมทาปิดแผลไว้

9. แก้ฝีอักเสบ (Malignant boil) ใช้ชานอ้อยแห้ง ใส่น้ำมันหอม เผาเป็นเถ้าเอาเข็มฆ่าเชื้อแล้วเจาะ
ให้หนองออก เอาเถ้าชานอ้อยโรยแผล และใช้เถ้า ชานอ้อยผสมน้ำมันพืชหรือไขมัน ทาด้วย จะได้ผลดีขึ้น

⇒ น้ำเหลืองน้ำตาล (Molasses)
เป็นส่วนน้ำที่เหลือจากการตกผลึก เอาน้ำตาลทรายไปแล้ว มีวิตามินบีสูง ใช้เป็นยาระบาย ถ้าใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์มาก ๆ อาจทำให้สัตว์เป็นอันตรายไค้ มีอาการพิษดังนี้ ปวดท้อง ท้องเสีย และมีอาการระคายเคืองที่ไต มีผื่นขึ้นตามตัว กีบเท้าอักเสบ เท้าหน้าบริเวณใกล้เข่าอักเสบ เหงื่อออกมาก และเป็นอัมพาต อาจถึงตายได้ โดยเฉพาะม้า จะเกิดอาการพิษได้ง่ายกว่าสัตว์อื่น เช่น ให้ม้ากินน้ำเหลือง น้ำตาลวันละ 1.25 กิโลกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 3 อาทิตย์ จะปรากฏอาการพิษ และม้าบางส่วนก็ตายไป แม้แต่น้ำตาลทรายที่ยังไม่บริสุทธิ์ (เช่นน้ำตาลทรายแดง) ให้ม้ากินก็เกิดอาการพิษได้ เช่น ผสมน้ำตาลทรายแดงลงไปในข้าวโอ๊ตสัก 20-50% ให้ม้ากินจะมีอาการพิษ ผิวหนังเป็นตุ่มพอง อ่อนเพลีย ลากรถเหนื่อยง่าย กระเพาะปัสสาวะเป็นอัมพาต การเต้นของหัวใจอ่อนลงและอาจถึงตายได้
ถ่านจากการเผาชานอ้อย ใช้เป็นตัวช่วยกรองได้ดี
ช่อดอกอ่อนที่ยังไม่บาน ใช้กินดิบ นึ่ง หรือย่าง กินเป็นผักจิ้มได้

ในไทย ใช้อ้อยแดงเป็นยา เป็นอ้อยชนิดที่มีเปลือกสีแดงเกือบดำ เปลือกต้นมีรสขม น้ำอ้อยไม่หวานแหลมนัก มีปลูกกันตามบ้านเอาไว้ใช้เป็นยา น้ำคั้นจากต้นสดหรือต้นสดย่างไฟก่อน (เพื่อให้มีกลิ่นหอมขึ้น) มีรสหวานออกขม ใช้จิบเป็นยาขับเสมหะ แก้หืด ไอ ลำต้นควั่นตากแห้ง ผสมยาอื่น ต้มกินแก้ปัสสาวะขัด นิ่ว ช้ำรั่ว (ปัสสาวะน้อย แต่บ่อย ๆ กะปริบกะปรอย) ข้ออ้อยมีรสขมกว่าเปลือก ผสมยาอื่นต้มกิน แก้ตัวร้อน ตับพิษตานซางของเด็ก

⇒ หมายเหตุ
น้ำอ้อยเคี่ยวและตกผลึก จะได้น้ำตาลทราย (Sucrose) ใช้ทำขนมผสมอาหาร ทำน้ำเชื่อมกลบรสยา ช่วยเก็บถนอมอาหาร ใช้เป็นยาหล่อลื่น ยาระบายขับปัสสาวะ

ในฟิลิปปินส์ ใช้น้ำตาลทรายบดเป็นผงโรยแผลเนื้อกลายที่มีเนื้อนูนเป็นตุ่มขึ้นมา บางทีใช้เป็นยาสวนล้างทางเดินปัสสาวะ แก้โรคหนองในและตกขาว (ใช้น้ำตาลทราย 1 ส่วน ละลายในน้ำ 3 ส่วน)

 

ข้อมูลสื่อ

16-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 16
สิงหาคม 2523
อื่น ๆ
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ