• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การวัดความดันโลหิต (ตอนที่ 1)

“ความดันโลหิต” หรือ “ความดันเลือด” หมายถึงแรงดันที่อยู่ในระบบหลอดเลือด จากการที่หัวใจสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ในระยะเวลา 1 นาที

“การวัดความดันโลหิต”
เป็นการวัดการทำงานของหัวใจ และแรงดันในหลอดเลือด โดยเครื่องมือวัดความดันโลหิต ค่าที่วัดได้จะมี 2 ค่า คือ ค่าความดันสูงสุด เป็นค่าที่เกิดขึ้นขณะหัวใจบีบตัวสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจห้องซ้ายมายังหลอดเลือดแดงใหญ่ รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ค่าความดันโลหิตตัวบน” ในผู้ใหญ่ปกติประมาณ 100-120 มิลลิเมตรปรอท ค่าความดันต่ำสุด เป็นค่าที่เกิดขึ้นขณะหัวใจคลายตัว เลือดที่ใช้แล้วจากร่างกายกลับเข้าสู่หัวใจทางห้องขวา เรียกค่านี้ว่า“ค่าความดันโลหิตตัวล่าง” ในผู้ใหญ่ปกติประมาณ 60-80 มิลลิเมตรปรอท เวลาเรียกหรือเขียน จะบอกทั้ง 2 ค่า โดยบอกค่าตัวบนก่อน เช่น 140/90ตามด้วยหน่วย “มิลลิเมตรปรอท”

อย่างไรก็ตาม ค่าของความดันตัวบน และตัวล่างอาจเปลี่ยนแปลงได้ตาม เพศ อายุ เชื้อชาติ ภาวการณ์เจ็บป่วย ภาวะเครียด น้ำหนัก รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตประจำอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าของความดันโลหิตได้ เช่น เวลาหลับหรือพักผ่อนความดันโลหิตจะต่ำกว่าเวลาโกรธ ตกใจ ตื่นเต้น

องค์การอนามัยโลก ถือว่าค่าความดันปกติ คือ 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือต่ำกว่า

“ความดันโลหิตสูง”
มักพบบ่อย ที่สำคัญพบโดยไม่ทราบสาเหตุ ว่าเกิดจากอะไร แต่มักจะมีความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวเคยมีความดันโลหิตสูงมาก่อน พบในคนอ้วน พบในคนที่ชอบกินอาหารเค็ม ในคนสูบบุหรี่ คนดื่มสุรา และคนที่มีความกดดัน ความวิตกกังวล และความเครียด

“ความดันโลหิตต่ำ”
พบในรายตกเลือด เป็นลม ช็อก

 

ข้อมูลสื่อ

103-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 103
พฤศจิกายน 2530
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์