• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลือดบวก (เทียม) เชื้อบวก (ปลอม)

“อยากจะขอร้องให้สังคมเห็นใจผู้ป่วยโรคเอดส์ให้มาก โดยเฉพาะนางแบบรายนี้ก็ยังไม่ได้มีการตรวจยืนยันซ้ำว่า ได้รับเชื้อเอดส์จริงหรือไม่ เพราะการตรวจในขั้นต้นอาจเป็นเชื้อบวกปลอมก็ได้

                                      

นี่คือคำวิงวอนของคุณเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อสังคมไทยที่กำลังมีความหวาดผวาต่อโรคเอดส์อย่างขนานใหญ่ในเวลานี้ (ไทยรัฐ, 8 ตุลาคม 2530)

   

ในที่นี้จะของดพูดถึงเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับผู้รับเคราะห์จากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้กลายเป็นข่าวเกรียวกราวติดต่อกัน 2 ราย (และกำลังจะตามมาอีกหลายราย เพราะดูแล้วการควบคุมโรคนี้คงจะกระทำมิใช่ง่ายๆ และก็คงจะหาทางระวังการแพร่กระจายข่าวมิให้สังคมทั้งตื่นกลัวและอยากรู้อยากเห็นได้ยากยิ่ง)

ลองกลับไปอ่านคำวิงวอนซ้ำอีกครั้งดูซิครับ
มีคำๆหนึ่งน่าสะดุดตา คือ “เชื้อบวกปลอม”

ถึงท่านรัฐมนตรีจะไม่ได้เป็นแพทย์ เมื่ออยู่ในกระทรวงนี้แล้ว ก็ต้องพูดจาภาษาหมอ เช่นแพทย์ทั้งหลายอย่างอัตโนมัติ

คุณผู้อ่านอาจนึกสงสัยว่า เจ้าเชื้อเอดส์นี้มันมีจริง มีปลอมเหมือนกับแบงก์หรือสินค้าด้วยหรือนี่
ความจริงเป็นอย่างนี้ครับ

ในการที่จะพิสูจน์ว่าจะเป็นโรคเอดส์หรือไม่นั้น แพทย์จะอาศัยหลักฐานจากการตรวจเลือดว่า มีการติดเชื้อเอดส์หรือไม่ โดยกรรมวิธีต่างๆ (คือมีวิธีตรวจมากกว่า 1 วิธี) ซึ่งให้ความแม่นยำแน่นอนแตกต่างกันไป

ถ้าผลการตรวจบ่งบอกว่า มีการติดเชื้อก็เรียกว่า การตรวจหรือการทดสอบนั้นๆเป็นผลบวก (positive) ถ้าบ่งบอกว่า ไม่มีการติดเชื้อก็เรียกว่า ผลลบ (negative)

สำหรับผลการตรวจเลือดที่เป็นบวก (บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อ) แพทย์เรานิยมพูดแบบชาวบ้านๆว่า เลือดบวก

คำว่า “เลือดบวก” นี้ พวกหนุ่มๆ (รวมทั้งไม่หนุ่ม) นักเที่ยวทั้งหลายกลัวกันนักเพราะเป็นที่รู้กันว่า คุณได้แส่เอาโรคบุรุษ (โรคสตรี) เข้ามาแล้ว

โรคบุรุษ ในที่นี้หมายถึงกามโรคชนิดที่เรียกว่า ซิฟิลิส (Syphilis) ที่ทำให้เกิดแผลริมแข็ง แล้วต่อมามีอาการออกดอก ในที่สุดอาจทำให้มีความผิดปกติของหัวใจและสมอง จนพิการหรืออายุสั้น สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจเลือด โรคนี้สมัยก่อนพบได้มาก ปัจจุบันถูกเพนิซิลลินปราบจนร่อยหลอลงแล้ว

ดังนั้น คำว่า เลือดบวก แต่เดิมทีจึงหมายถึงโรคซิฟิลิส (แม้กามโรคชนิดอื่นๆก็ไม่ทำให้เป็นเลือดบวก)
ในปัจจุบันมีโรคอยู่หลายๆชนิด ที่วินิจฉัยด้วยการตรวจเลือด เช่น ไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย) ตับอักเสบจากไวรัส (โรคไวรัสลงตับ) ซึ่งก็จะให้ผลบวก หรือผลลบ ทำนองเดียวกัน

การตรวจเลือด นอกจากการตรวจหาร่องรอยของการติดเชื้อแล้ว ก็ยังมีการตรวจในลักษณะอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid anthritis) , โรคเอสแอลอี (SLE) ซึ่งก็เรียกเป็นผลบวกหรือผลลบเช่นกัน

ดังนั้น คำว่า เลือดบวก ในยุคปัจจุบันจึงกินความได้กว้างขวาง คงมิได้เจาะจงแต่ซิฟิลิส หรือเอดส์เท่านั้น

นอกจากนี้คำว่า “บวก” (positive) และ “ลบ” (negative) นั้น ยังใช้กับการตรวจทุกชนิด ไม่ว่าเอกซเรย์ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ หรืออื่นๆ ถ้าผลการตรวจบ่งบอกว่าเป็นโรค ก็เรียกว่าบวก ถ้าบ่งบอกว่าไม่เป็นโรค ก็เรียกว่าลบ

เอาแค่ บวก ลบ ก็ว่ากันมายาวเหยียดเสียแล้ว

ส่วนที่ว่า บวกปลอม บวกเทียม เห็นทีจะต้องยกไว้ต่อฉบับหน้าแล้วล่ะครับ!

 

ข้อมูลสื่อ

103-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 103
พฤศจิกายน 2530
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช