• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิธีประคบ-นวดหน้า-บริหารใบหน้าเมื่อเป็นโรคปากเบี้ยว

วิธีประคบ-นวดหน้า-บริหารใบหน้าเมื่อเป็นโรคปากเบี้ยว

เมื่อเป็นโรคปากเบี้ยว คุณสามารถช่วยเหลือตนเองอย่างง่ายๆ ด้วยการประคบน้ำอุ่น นวดหน้าและบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า
1. การประคบน้ำอุ่น
อุปกรณ์ที่ใช้
-ผ้าขนหนูผืนเล็ก 2-3 ผืน
-ผ้าพลาสติกหรือถุงพลาสติกที่สะอาด ขนาดใหญ่กว่าหน้าเล็กน้อย
-กะละมังขนาดไม่ใหญ่นัก 1 ใบ
-น้ำอุ่นจัดๆ (ไม่ใช่น้ำเดือด)

วิธีประคบ เอาน้ำอุ่นจัด ๆ ใส่อ่าง แช่ผ้าขนหนู 2-3 ผืนลงไปสักครู่ แล้วเอาขึ้นมา 1 ผืน บิดพอไม่ให้มีน้ำไหลหยดออกมาจากผ้าเวลาประคบ พับให้ได้ตามความยาวของรูปซีกหน้า แล้วประคบดานที่เป็น ขณะประคบให้ปิดเปลือกตาข้างนั้นให้สนิท แล้วเอาผ้าพลาสติกหรือถุงพลาสติกปิดทับข้างบนผ้าขนหนูเพื่อไม่ให้ความร้อนหมดไปเร็วนัก เมื่อความร้อนค่อยลดลงให้เปลี่ยนเอาผ้าขนหนูผืนใหม่ที่แช่อยู่ในน้ำอุ่นจัด ขึ้นมาประคบแทนด้วยวิธีการเหมือนเดิม ทำซ้ำๆ กันเช่นนี้ รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 20-30 นาที แล้วซับหน้าให้แห้ง

2. การนวดหน้า
เมื่อประคบหน้าเสร็จ เริ่มนวดหน้าด้วยตนเอง โดยยืนอยู่หน้ากระจกส่องหน้า

วิธีนวด
-วางสันมือและบางส่วนของฝ่ามือที่แก้มทั้งสองข้างให้แนบสนิท แล้วเคลื่อนมือเป็นวงกลม เริ่มจากเคลื่อนเข้าหาจมูกขึ้นข้างบนไปทางลูกตา และออกข้างนอกไปทางหูแล้วลงข้างล่าง ทำซ้ำ ๆ กันประมาณ 40-50 รอบ ระหว่างที่เคลื่อนมือผิวแก้มจะติดไปกับมือด้วย ต้องให้รู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวอยู่ใต้ผิวหนัง ถ้ามือเราไปถูขัดสีกับผิวหนังมาก ๆ จะเหมือนกับเวลาถูขี้ไคล แล้วรู้สึกร้อนแสบบนผิวหนัง ไม่ได้ประโยชน์ในการรักษาหน้าเท่าที่ควร แรงกดเวลานวดจะต้องไม่น้อยเกินไปและไม่มากจนทำให้เจ็บและหน้าช้ำ แต่จะต้องพอดี หลังจากนวดเสร็จหน้าจะแดงขึ้น ถ้าหน้าไม่แดงก็ไม่ได้ผล แสดงว่าเราไม่สามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้
ต่อไปเลื่อนมือมาวางที่ขมับทั้งสองข้าง แล้วนวดแบบเดียวกัน การหมุนเริ่มจากทิศทางเข้าหาตาขึ้นหน้าผาก ออกด้านนอก ลงมาข้างล่าง และวนเช่นเดิม ทำ 40-50 รอบ

-แล้วย้ายมาทำที่หน้าผาก ในทิศทางเข้าหากันตรงกลาง ขึ้นไปข้างบนเชิงผมออกข้างนอก ลงข้างล่างไปทางตา และวนเช่นเดิม ทำ 40-50 รอบเช่นกัน

ข้อควรทำ
ถ้าหากว่ากล้ามเนื้อข้างที่เสียพอมีแรงบ้าง ขณะนวดที่แก้มและหน้าผาก เมื่อหมุนมือขึ้นไปให้ทำท่ายิ้ม และเลิกหน้าผากตามไปด้วย จะเป็นการช่วยเสริมให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
 

3. การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า
หลังจากการนวดหน้า ควรบริหารกล้ามเนื้อหน้ากระจก ระหว่างทำ ให้มองกระจกไปด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าทำถูกต้อง การบริหารทำทีละมัด มัดละ 5 ครั้ง โดยเกร็งกล้ามเนื้อเต็มที่แล้วปล่อยให้พักถือว่าเป็น 1 ครั้ง เมื่อทำครบทุกมัดแล้วเริ่มต้นทำใหม่อีก ควรทำให้บ่อย ๆ เพราะปกติแล้วคนเราแสดงสีหน้าอยู่เกือบตลอดเวลา
ในการบริหารทุกท่า ถ้ากล้ามเนื้อซีกที่เสียยังทำงานไม่ได้ ให้ใช้มือช่วยพยุงทำในทิศทางเดียวกับการหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยดูเปรียบเทียบกับข้างที่ปกติ

ท่าบริหารคือ
(1) เลิกหน้าผาก

(2) ขมวดคิ้ว

(3) หลับตาให้แน่นแล้วลืมตา

(4) ย่นจมูก

(5) หัวเราะเห็นฟันแล้วหุบ

(6) ยิ้มเหยียดมุมปากไม่เห็นฟันแล้วปล่อย

(7) ทำปากจู๋บีบเข้าหากันให้แน่น

(8) ผิวปาก

(9) อมลมไว้ในกระพุ้งแก้มทั้ง 2 ข้าง โดยไม่ให้ลมรั่วออกทางมุมปากข้างที่เสีย และให้ปลายแหลมตรงกลางของริมฝีปากอยู่ในแนวกึ่งกลางหน้า อย่าให้เบี้ยวไปข้างเดียว

(10) หุบปาก ดูดน้ำลายอย่างแรงเพื่อให้ด้านในของแก้มกดทับฟัน แล้วปล่อย (ไม่ใช่เอามือไปกดแก้มให้ติดกับฟัน)

(11) หัดพูดคำว่า อุ อะ โอะ โอ บ่อย ๆ

 

ข้อมูลสื่อ

18-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523
อื่น ๆ
สุมนา โสภณพันธ์