• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้าวฟ่าง สมุทรโคดมและขี้เหล็กเทศ

ข้าวฟ่าง สมุทรโคดมและขี้เหล็กเทศ

 

 “สมุนไพรที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีบนับทึกไว้ ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลานำมาใช้ต้องดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย”

                     

 

 

ข้าวฟ่าง สมุทรโคดม

⇒ ชื่ออื่น
ข้าวป้างนก, ข้าวป้างหางช้าง (ภาคเหนือ), จังหันมะพุด, สมุทรโคดม(ภาคกลาง), มกโคดม, มุทโคดม(ภาคใต้); เกาเลี้ยง, ฮวงซู่ (จีน) ; Negro Guinea Grass, Millet Grass ,Sorghum.

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Sorghum Vulgare Pers วงศ์ Gramineae

⇒ ลักษณะ
เป็นพืชจำพวกหญ้าสูง 3-4 เมตร ลำต้นกลม มีข้อเห็นได้ชัดเจน บริเวณข้อมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาล ใบออกสลับกัน ตัวใบแคบเป็นเส้นยาวประมาณ 50 ซม. กว้างประมาณ 4 ซม. ท้องใบไม่มีขนมีผงสีขาวนวล เส้นกลางใบแข็ง ปลายใบแหลมคม ขอบใบและหลังใบมีขนสั้น ๆ ดอกออกเป็นช่อที่ยอด ยาวประมาณ 30 ซม. ผลแก่มีเนื้อแข็ง ผิวนอกเป็นมัน ลักษณะกลมขนาดเมล็ดพริกไทย โผล่ออกมาจากเปลือก เมล็ดสำน้ำตาลออกเทามีแป้งมาก ข้าวฟ่างพบปลูกเป็นพืชไร่ เก็บเมล็ดขายเป็นอาหารสัตว์
ส่วนที่ใช้
เมล็ดและราก ใช้เป็นยา
เมล็ด เก็บเมื่อต้นแก่ ฟาดเก็บเมล็ดตากแห้งเก็บไว้ใช้
ราก ใช้สด หรือตากแห้งเก็บไว้ใช้

⇒ สรรพคุณ
เมล็ด รสชุ่ม ฝาด สุขุม ไม่เป็นพิษ บำรุงร่างกาย ให้พลังงาน แก้อหิวาตกโรค บิด ขับปัสสาวะ ฝาดสมานลำไส้และกระเพาะอาหาร
ราก รสชุ่ม สุขุม ใช้ระงับอาการหอบ ขบปัสสาวะ ห้ามเลือด แก้ไอหอบ ปวดกระเพาะอาหาร สงบประสาท ตกเลือดหลังคลอด และใช้ช่วยเร่งคลอด

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
เมล็ด แห้ง 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน
ราก แห้ง 15-30 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มน้ำกิน

⇒ ข้อห้ามใช้
สตรีมีครรภ์ห้ามกิน

⇒ ตำรับยา
1. แก้เด็กระบบย่อยอาหารไม่ดี ใช้เมล็ดแห้ง 30 กรัม คั่วจนเหลือง ลูกพุทรา (Zizyphus jujube Mill. var inermis (Bqe.) Rehd.) เอาเมล็ดออกคั่วจนเกรียมรวมบดเป็นผง เด็กอายุ 2 ขวบ กินครั้งละ 6 กรัม อายุ 3-5 ขวบ กินครั้งละ 10 กรัม วันละ 2 ครั้ง

2. แก้เจ็บกระเพาะอาหาร (ปวดเจ็บบริเวณหน้าอก) ใช้รากสดต้มน้ำกินตอนอุ่น ๆ

3. สตรีคลอดลูกยาก ใช้รากตากแห้งในที่ร่มเผาเป็นเถ้าแล้วบดเป็นผง กินครั้งละ 6 กรัม ร่วมกับเหล้า

4. สตรีตกเลือก ตกเลือกหลังคลอด ใช้รากสด 7 ต้น ผสมน้ำตาลทรายแดง 15 กรัม ต้มน้ำกิน

5. แก้ไอ หอบ ใช้รากแห้ง 15 กรัม ตุ๋นน้ำตาลกรวดกิน

6. แก้โรคประสาท ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ใช้รากแห้ง 30 กรัม เหง้าว่านน้ำเล็ก (Acorus gremineus soland) หญ้าปล้องจีน (Juncus effuses L.) อย่างละ 15 กรัม ใบไผ่ขมจีน (Pleioblastus amarus Keng Keng f.) 5 ใบต้มน้ำกิน

⇒ ผลรายงานทางคลินิกของจีน
แก้เด็กระบบย่อยอาหารไม่ดี ใช้เมล็ด คัดเอาสิ่งเจือปนอื่นทิ้ง คั่วจนเหลืองมีกลิ่นหอม ผึ่งให้เย็น บดกินครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 3-4 ครั้ง จากคนไข้ 104 ราย หลังจากกินยา 6 ครั้ง ได้ผล 100 ราย ไม่ได้ผล 4 ราย

⇒ หมายเหตุ
เมล็ด ใช้เป็นอาหารสัตว์ เมล็ดที่มีเชื้อราพวก Rhizopus nigricans จะมีสารอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) ซึ่งเป็นพิษ กินเข้าไปทำให้เกิดอาการพิษ คือ ปัสสาวะมาก ร่างกายเสียน้ำมาก กระหายน้ำ อ่อยเพลีย เป็นตะคริว
ต้นอ่อน ยอดอ่อน และต้นสด มีซัยยาโนเจเนติค กลัยโคไซด์ (cyanogenetic glycosides) สัตว์กินพืชนี้ สดอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ซัยยาโนเจเนติค กลัยโคไซด์ จะมีมากสุดในต้นอ่อนอายุ 3 อาทิตย์ พออาทิตย์ที่ 7 ปริมาณก็จะลดลงเรื่อย ๆ จนถึงระยะมีดอก สารนี้จะเหลือปริมาณน้อยมาก ข้าวฟ่างชนิดพันธุ์เบา อายุ 60 วัน ชนิดพันธุ์หนักอายุ 80 วัน จึงปลอดภัยที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้
อาการของสัตว์ที่กินต้นข้าวฟ่างสด มีอาการน้ำลายเป็นฟอง หายใจถี่ เดินโซเซหัวตก สำรอกอาหาร และถึงตายในที่สุด ถ้าสัตว์เริ่มมีอาการพิษ ให้แก้พิษเช่นเดียวกับการแก้พิษจากพวกไซยาไนด์ โดยฉีดโซเดียมไนไตร์ทและโซเดียมไธโอซัลเฟต เข้าหลอดเลือดดำก่อนที่จะเกิดอาการหนัก
นอกจากนี้ เมล็ดอาจนำมาหมักเหล้า ได้เหล้าที่มีกลิ่นหอม หรือใช้หุงเป็นอาหาร ทำขนม เมล็ดคั่วให้พองกิน หรือนำเมล็ดที่คั่วให้พองนี้ ไปย้อมสีทำเป็นดอกไม้เทียมได้

***********************************************************************************************

                      
                      


ขี้เหล็กเทศ

⇒ ชื่ออื่น
ขี้เหล็กเผือก, ผักเห็ด, ลับมืนน้อย, หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กผี, ชุมเห็ดเล็ก, พรมดาน(ภาคกลาง), ผักจี๊ด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); ม่อกังน้ำ, กิมเต่าจี้ (จีน); Coffea Senna

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Cassia Occidentalis L. วงศ์ Caesalpiniaceae

⇒ ลักษณะ
เป็นพืชปีเดียวตาย ต้นสูง 1-2 เมตร โคนต้นมีเนื้อไม้แข็ง แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบประกอบออกสลับกัน ก้านใบร่วมยาว 3-5 ซม. โคนใบมีตุ่มนูนขึ้นมา 1 ตุ่ม ใบย่อย 3-5 คู่ คู่ปลายใบมีขนาดใหญ่ คู่ถัดมามีขนาดเล็กลง ใบย่อยลักษณะรี ปลายแหลม ยาว 3-6 ซม. ฐานใบเบี้ยวข้างหนึ่ง ขอบใบเรียบมีขนอ่อนนุ่ม ก้านใบย่อยสั้น ด้านหลังใบมีขนอ่อนนุ่มสั้น ๆ ขยี้ใบดมกลิ่นเหม็นเขียว หูใบเป็นเส้นแหลมหลุดร่วงง่าย ดอกออกเป็นช่อจากง่ามใบ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ลักษณะกลีบรีปลายแหลม มีกลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ ปลายกลีบดอกมนกลม เกสรตัวผู้มี 10 อัน 3 อันที่อยู่ด้านบนจะเสื่อมไปอีก 7 อันที่อยู่รอบ ๆ จะเจริญเติบโตเต็มที่ รังไข่เป็นเส้นโค้ง มีขนสีขาวปกคลุม ก้านเกสรตัวเมียสั้นอยู่ปลายรังไข่ ฝักเป็นเส้นตรงทรงกระบอก แบนและมีขอบชัดเจนทั้ง 2 ด้าน ยาว 6-10 ซม. กว้าง 3-4 มม. มีรอยตามขวางนูนขึ้น เปลือกฝักบาง ผลแก่สำน้ำตาล ฝักหนึ่งมีเมล็ดประมาณ 40 เม็ด เมล็ดกลมรีแบน ปลายด้านหนึ่งค่อนข้างแหลม ผิวนอกเรียบแข็ง ขี้เหล็กเทศพบขึ้นเองตามที่รกร้าง ที่แห้งแล้ง ตามไหล่เขาและริมน้ำลำคลอง

⇒ ส่วนที่ใช้
ทั้งต้น ใบ ฝัก และเมล็ดใช้เป็นยา
ทั้งต้นหรือใบ ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้
ฝักหรือเมล็ด เก็บเมื่อฝักแก่จัดเป็นสีน้ำตาล ตากแห้ง เด็ดก้านฝักออก หั่นเป็นท่อนเล็ก ๆ หรือแกะเปลือกเอาแต่เมล็ด ตากแห้งเก็บไว้ใช้

⇒ สรรพคุณ
ทั้งต้นหรือใบ รสขม เย็นจัด ใช้ขับของเสียออกจากไต แก้บวม ถอนพิษ แก้ไอ หอบ หนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ท้องผูก ปวดหัว ตาแดง แผลบวมอักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย งูกัด
ฝักหรือเมล็ด รสชุ่ม ขม เย็น มีพิษ ทำให้ตาสว่าง ทำให้การขับถ่ายดี แก้ระบบการย่อยไม่ดี ปวดกระเพาะอาหาร ปวดท้อง บิด ท้องผูก ตาบวมแดง วิงเวียน ปวดหัว และถอนพิษ

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
ทั้งต้นหรือใบ แห้ง 6-10 กรัม(ใบสดเพิ่ม 1 เท่าตัว) ต้มน้ำหรือคั้นเอาน้ำกิน ใช้ภายนอกตำพอก
ฝักหรือเมล็ด แห้ง 6-10 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกเป็นผงทา

⇒ ตำรับยา
1. ฝีบวมอักเสบ ใช้ใบตากแห้งบดเป็นผง ผสมน้ำส้มสายชูพอก หรืออาจผสมเหล้าพอกเพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น

2. งูกัด ใช้ใบสด 1 กำมือ (ประมาณ 30-60 กรัม) ต้มคั้นน้ำกินและกากพอก

3. แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ใบสดตำพอก

4. โรคหนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้ทั้งต้นสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน

5. ตาแดงบวม เห็นพร่ามัว ใช้เมล็ดแห้ง 15-30 กรัม ผสมน้ำตาลกรวด 30 กรัม ชงน้ำกิน

6. แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เมล็ดที่คั่วให้เกรียมมีกลิ่นหอมบดเป็นผง กินครั้งละ 6-10 กรัม วันละ 2 ครั้ง

7. ลดความดันเลือดสูง ใช้เมล็ดคั่วให้เกรียมมีกลิ่นหอม บดเป็นผง กินครั้งละ 3 กรัม ผสมน้ำตาลกรวดพอประมาณ ชงน้ำกินเป็นประจำ

8. แก้โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องผูกเป็นประจำ ระบบย่อยอาหารไม่ดี ใช้เมล็ดที่คั่วจนเหลือง 15-30 กรัม บดเป็นผง กินติดต่อกันประมาณ 10 วัน

⇒ ผลรายงานทางคลินิกของจีน
1. แก้อาการอักเสบภายนอก ใช้ใบตำพอกบริเวณที่เป็นและทั้งต้นสด 30-60 กรัม หรือเมล็ด 15-30 กรัมต้มน้ำกิน จากการรักษาคนไข้เต้านมอักเสบ และคนไข้เป้ฯแผลอักเสบที่จมูกอย่างละ 2 ราย ผึ้งต่อยอักเสบและถุงอัณฑะอักเสบอย่างละ 1 ราย ได้ผลหายทุกราย

2. แก้ปวดหัวเรื้อรัง ใช้ใบสด 30 กรัม เนื้อหมู 250 กรัม ต้มน้ำกินวันละ 1 ตำรับ จากการรักษาคนไข้มีอาการปวดหัวเรื้อรัง 18 ราย ได้ผลหาย 15 ราย ปวดหัวข้างเดียวจำนวน 10 ราย ได้ผลหาย 9 ราย จากการติดตามสอบถามคนไข้ที่หายจากโรคแล้วครึ่งปี ยังไม่ปรากฏอาการเดิมอีก

⇒ ผลทางเภสัชวิทยา
1. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อ สารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเธอร์ เบนซิน แอลกอฮอล์ จากใบ ราก และเมล็ด มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus aureus,Bacillus subtilis B. proteus และ Vibrio cholerae ฤทธิ์ฆ่าเชื้อนี้เกิดจากน้ำมันระเหยของพืชนี้ สารสกัดด้วยน้ำของพืชนี้ก็มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

2 .น้ำต้มจากใบและต้น และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของพืชนี้ มีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้เล็ก และมดลูกของหนูใหญ่ และลดความดันเลือดสุนัขทดลอง นอกจากนี้น้ำต้มจากใบและต้น ยังมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจของกระต่ายเล็กน้อย
สารสกัดจากต้นขี้เหล็กเทศด้วยแอลกอฮอล์ผสมอีเธอร์ขนาด 100 มก. มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้อัตราปริมาณน้ำปัสสาวะของสุนัขทดลองที่ทำให้สลบและให้น้ำสม่ำเสมอนั้น มีปัสสาวะเพิ่มขึ้น 300% เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ทดลองกลุ่มที่ไม่ให้สารสกัดนี้

⇒ การเป็นพิษ
เมล็ดมีท็อกซาลบูมิน (Toxalbumin) เป็นสารพิษทำให้ถ่ายอย่างแรง นำไปคั่ว พิษจะหายไป
หนูเล็ก หนูใหญ่ และม้า กินเมล็ดหรือฉีด สารสกัดจากเมล็ดจะมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง
สารสกัดด้วยเบนซินจากเมล็ด ฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะเป็นพิษต่อตับและไต
ทั้งต้นที่มีฝักแห้งหนัก 14 กก. ให้แกะกินติดต่อกันมากกว่า 17 วัน มีผลระคายเคืองต่อระบบการย่อยอาหาร
พิษจากการกินเมล็ดหรือรากขี้เหล็กเทศ มีอาการท้องเสีย อาเจียน แก้โดยล้างกระเพาะ โดยให้กินไข่ขาวร่วมกับกรดแทนนิค (tannic acid) และถ่าน ถ้าอาการหนัก อาจให้น้ำเกลือและกลูโคส หรืออาจให้ยาอื่นแก้ตามอาการคนไข้

⇒ หมายเหตุ
ใบ ราก และเมล็ดเป็นยาถ่าย
เมล็ด คั่วให้หอมเกรียม นำมาชงน้ำกิน เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้บวมน้ำ ปวดข้อ แก้โรคเกี่ยวกับหัวใจ ใช้ภายนอกบดเป็นผง ทำเป็นยาขี้ผึ้งทาแก้กลากเกลื้อน ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ช่วยดูดหนองฝี และแก้โรคผิวหนังต่าง ๆ
ใบและฝัก ต้มกิน ขับพยาธิ แก้กลากเกลื้อน
เปลือกต้น ชงน้ำกินแก้เบาหวาน
ราก ใช้ขับพยาธิ ยาชงจากรากเป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ และโรคเกี่ยวกับตับ
ยาชงจากรากและเปลือก ใช้แก้ไข้มาลาเรีย ปัสสาวะเป็นเลือด หนองใน และบิดที่เกิดจากเชื้อมาลาเรีย
ทั้งต้น ทำปุ๋ยพืชสด ให้ปริมาณโปแตสเซียมมากกว่าต้นชุมเห็ดไทย

 

ข้อมูลสื่อ

24-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 24
เมษายน 2524
อื่น ๆ
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ