• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพทย์จีน วินิจฉัยโรคอย่างไร

แพทย์จีน วินิจฉัยโรคอย่างไร


มักมีผู้สงสัยว่าแพทย์จีนรักษาโรคกันอย่างไร
เพราะไม่ได้กล่าวถึงเรื่องเชื้อโรคหรือการติดเชื้อและการเรียกชื่อโรคก็แตกต่างไปจากแพทย์ตะวันตก เช่นอาการป่วยที่จีนเรียก “ร้อนใน” ซึ่งมักจะให้ยาเย็นรสขม (หรือยาขม) รักษา แพทย์ตะวันตกอาจวิเคราะห์ว่าเกิดจากการติดเชื้อและให้ยาปฏิชีวนะ ทัศนะการเรียกชื่อและการใช้ยาที่แตกต่างกันนี้ เกิดขึ้นเพราะการเกิดและการพัฒนาของการแพทย์ทั้งสองแขนงมีเงื่อนไขแตกต่างกัน แพทย์จีนเกิดและพัฒนาในเงื่อนไขเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ขณะที่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติยังไม่เจริญ ในสมัยนั้นไม่มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มาช่วยในการวินิจฉัยโรคจีนได้ใช้การสังเกตความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงระหว่างเปลือกกับแก่นของสิ่งต่าง ๆ เช่น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นบนลิ้น ใบหน้า การเต้นของชีพจร ฯลฯ กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น ในอวัยวะภายในร่างกาย ส่วนการแพทย์ตะวันตกจะพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยตรวจสอบและวินิจฉัยโรค เช่น กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นเครื่องมืออันสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถส่องดูตัวเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และสามารถบอกได้ว่าเป็นโรคติดเชื้อชนิดใด ควรใช้ยาอะไร

ในเงื่อนไขเหล่านั้นแพทย์จีนจึงได้นำเอาปรัชญาความคิดเกี่ยวกับ “ยิน-หยาง” ซึ่งใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในจักรวาลมาใช้ในการแพทย์ ปรัชญาความคิดนี้เสนอว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลประกอบด้วยด้านสองด้านที่ตรงกันข้าม ขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งเดียวกัน” ความคิดนี้คล้ายกับความคิดในพุทธศาสนา ที่ว่าทุกสิ่งในโลก ล้วนประกอบด้วยสิ่งที่คู่กัน เช่น เกิดกับตาย มืดกับสว่าง ร้อนกับเย็น ความคิดปรัชญานี้ได้ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์จีนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นตัวอวัยวะ หน้าที่ของอวัยวะ เหตุแห่งโรค การรักษา ตลอดจนยาที่ใช้ โดยจีนสรุปกฎเกณฑ์ว่าการที่มนุษย์เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น ก็เพราะความสมดุลของยิน- หยางในร่างกายถูกทำลาย วิธีการรักษาโรคก็ปรับยิน-หยางในร่างกายให้กลับสู่สภาพสมดุล เมื่อยิน- หยาง สมดุล ร่างกายก็จะปกติ ตัวอย่างของอาการป่วย เช่น ตัวร้อน หน้าแดง หงุดหงิดกระวนกระวาย กระหายน้ำ ท้องผูก ปัสสาวะเหลืองข้น จัดอยู่ในอาการหยาง(หรือร้อน) การรักษาควรใช้ยายิน(ยาเย็น) เพื่อทำให้หยางลดลงแต่ถ้าแขนชาเย็น มีอาการกลัวหนาว ไม่มีไข้ ไม่กระหายน้ำ อุจจาระหยาบเหลว ปัสสาวะมากและใสแสดงว่าอาการยินหรือเย็น การรักษาควรใช้ยาหยาง (ยาร้อน) เป็นต้น

แนวความคิดทางการแพทย์จีนนั้นถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติล้วนมีความสัมพันธ์และเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างดินฟ้าอากาศกับแม่น้ำ กล่าวคือ เมื่อดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงก็จะมีผลกระทบต่อน้ำในแม่น้ำ เช่นลมจะทำให้น้ำในแม่น้ำเป็นระลอกหรือเป็นคลื่นอากาศหนาวจะทำให้น้ำแข็งตัวเป็นน้ำแข็ง ฯลฯ จีนได้สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ ในธรรมชาติและสรุปปรากฏ-การณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับร่างกายมนุษย์ เช่นในธรรมชาติแม่น้ำเป็นเส้นชีวิตที่หล่อเลี้ยงสิ่งต่าง ๆ ส่วนในร่างกายมนุษย์นั้นเส้นเลือดเป็นเส้นทางที่นำเอาอาหารและสิ่งที่มีประโยชน์ไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในทำนองเดียวกับธรรมชาติ เมื่อการทำงานของอวัยวะหนึ่งอวัยวะใดภายในร่างกายผิดปกติ ก็จะมีผลกระทบต่อการเต้นของชีพจร ทำให้ชีพจรผิดปกติได้ 

                              

                        รูปที่ 1 แสดงตำแหน่งของ ซุน กวน เฉ่อ และการจับชีพจร              

การแมะ (จับชีพจร) เป็นวิธีการวินิจฉัยโรคอย่างหนึ่งที่สำคัญและขาดเสียมิได้ของแพทย์จีน เทคนิคการแมะจะใช้นิ้วมือทั้งสาม (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) แตะลงบนชีพจรตรงบริเวณเส้นเลือดแดงใกล้ข้อมือ (ดูรูปที่ 1) หลังจากจับแมะแล้ว แพทย์จีนก็จะบอกอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยได้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแปลกใจ บางคนคิดว่าการจับแมะของจีนคงไม่แตกต่างไปจากการจับชีพจรของแพทย์ตะวันตก แต่ความจริงแล้ว วิธีการแมะของจีนนั้นมีเนื้อหาที่แตกต่างไปจากแพทย์ตะวันตกมาก

การแมะจะต้องสังเกต
1. ความถี่ของการเต้น (ช้าหรือเร็ว)
2. ระดับของการแมะ (ตื้นหรือลึก เช่นคนไข้บางคนกดเบาๆ แต่บางคนต้องกดแรงๆ จึงจะรู้สึกว่าเต้น)
3. ลักษณะการเต้น (เต้นมีแรงหรือไม่มีแรง ลื่นหรือฝืด)
4. ตำแหน่งของนิ้วที่แตะจะบอกให้ทราบถึงอวัยวะที่เกี่ยวข้อง (ดูรูปที่ 1)

ลักษณะของชีพจรและตำแหน่งที่กล่าวมาทั้งสี่ข้อยังแบ่งเป็น ยิน- หยาง ได้ดังนี้ คือ
ลึก ช้า ไม่มีแรง ตำแหน่งนอก(ชุ่น) เป็นหยิน
ตื้น เร็ว มีแรง ตำแหน่งในสุด (เฉ่อ) เป็นหยาง
นอกจากนี้แพทย์จีนยังมีวิธีการตรวจโรคที่เป็นจุดเด่นและแตกต่างไปจากแพทย์ตะวันตก คือ “การดูลิ้น” โดยแพทย์จีนจะดูความสัมพันธ์ระหว่างลิ้นกับอวัยวะภายใน เมื่ออวัยวะภายในผิดปกติก็จะสะท้อนออกมาให้เห็นบนลิ้นได้ สาระที่สำคัญในการดูลิ้นมีดังนี้
               
                        รูปที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างลิ้นกับอวัยวะภายใน

1. ตำแหน่ง แพทย์จีนจะแบ่งลิ้นออกเป็น 4 ส่วนคือ โคน กลาง ปลาย และขอบลิ้น แต่ละตำแหน่งจะสัมพันธ์กับอวัยวะที่ต่างกัน (ดูรูปที่ 2 ) คือ
โคนลิ้น สัมพันธ์กับ ไต
กลางลิ้น สัมพันธ์กับ กระเพาะอาหาร ,ม้าม
ปลายลิ้น สัมพันธ์กับ ปอด, หัวใจ
ขอบลิ้น สัมพันธ์กับ ตับ, ถุงน้ำดี

2. สีบนฝ้า เช่น สีขาว สีเหลือง สีดำ สีแต่ละสีบนฝ้าจะบอกอาการของโรคที่แตกต่างกัน ถ้าร้อนมักมีฝ้าสีเหลือง ถ้าร้อนมากจะมีสีดำ เป็นต้น

3. ความหนาของชั้นฝ้า ถ้าชั้นฝ้าบางโรคจะเบา ถ้าชั้นฝ้าหนา โรคจะหนักหรือเรื้อรัง

4. ขนาดของลิ้น (อ้วนหรือผอม, หนาหรือบาง) และความชุ่มชื้นของลิ้น เช่น ลิ้นแดง ผอม และแห้ง แสดงว่าร้อนมาก (คือ มีการสูญเสียของเหลวภายในร่างกายมาก)
ไม่ว่าจะเป็นการแมะหรือดูลิ้นจะต้องดูทั้ง 4 ลักษณะร่วมกัน จะดูเพียงด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ทำให้การวินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อนไป

นอกจากนี้แพทย์จีนยังมีวิธี การวินิจฉัยโรคอีกหลายวิธีที่แตกต่างไปจากแพทย์ตะวันตก เช่น การดูสีหน้า ตำแหน่งของใบหน้า ตำแหน่งบนหู ตำแหน่งตรงจุดปักเข็ม ฯลฯ เทคนิคเหล่านี้จีนยังนำมาใช้ในปัจจุบัน พร้อมทั้งผสมผสานกับแพทย์แผนตะวันตกอย่างได้ผล


สำหรับผู้ที่สนใจ “หลักการแพทย์ของจีน” อาจศึกษาได้จากหนังสือ แนะนำ “ทฤษฎีแพทย์จีน” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยเชิงเอกสารของ “โครงการพัฒนาเทคนิคการทำยาสมุนไพร” มีวางขายทั่วไปหรือสั่งซื้อได้ที่ :
สุรินทร์ สุรธนานันท์
570/5 ถ.เจริญนคร บุคคโล ธนบุรี  กท.6 โทร.4683154
หรือ
นวลจันทร์ จักรวาลรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราคาเล่มละ 75 บาท ค่าส่งฟรี สั่งจ่าย ป.ณ.ราชเทวี

 

ข้อมูลสื่อ

22-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 22
กุมภาพันธ์ 2524
วิทิต วัณนาวิบูล