• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฮอร์โมน คืออะไร ?

ฮอร์โมน คืออะไร ? 

 



                รูปแสดงถึงต่อมใต้สมองทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ
                                                      ในร่างกายของคนเรา
1. ฮอร์โมนควบคุมเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย
2. ฮอร์โมนควบคุมต่อมหมวกไต
3. ฮอร์โมนควบคุมต่อมธัยรอยด์
4. ฮอร์โมนควบคุมการทำงานของรังไข่และอัณฑะ
5. ฮอร์โมนควบคุมการทำงานของมดลูกและเต้านม
6. ฮอร์โมนควบคุมการขับปัสสาวะ
                                               
ส่วนต่าง ๆ ในร่างกายของคนเรา นอกจากการส่งข่าวติดต่อถึงกันทางระบบประสาทแล้ว ยังสามารถส่งข่าวถึงกันทางระบบฮอร์โมน หรือระบบต่อมไร้ท่ออีกด้วย
เรื่อง “ระบบประสาท” ได้เขียนไว้ใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 ส่วนฉบับนี้ เรามาพูดถึงเรื่อง “ฮอร์โมน” กันดีกว่า

 

ฮอร์โมนคืออะไร
ฮอร์โมน คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายเรา สร้างขึ้นภายในต่อมเอ็นโดรไครน์ (Endocrine) ซึ่งเป็นต่อมที่ไม่มีท่อนำส่งออกภายนอก จึงเรียกว่า ต่อมไร้ท่อ ฮอร์โมนที่ต่อมไร้ท่อสร้างขึ้นนี้ จะซึมผ่านเข้าไปในเส้นเลือด และอาศัยระบบเส้นเลือดส่งต่อไป ยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ

                            

 

ต่อมไร้ท่อที่สร้างฮอร์โมนมีอะไรบ้าง ?
ต่อมไร้ท่อในร่างกายของคนเรามีดังนี้
1. ต่อมใต้สมอง (Pituitary) เป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของร่างกาย มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของต่อมธัยรอยด์, ต่อมหมวกไต และระบบสืบพันธุ์, ควบคุมการตกไข่ และการสร้างเซลล์อสุจิ (สเปอร์ม) นอกจากนี้ยังสร้างฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย ควบคุมระดับน้ำในร่างกาย และ การบีบตัวของมดลูกในเพศหญิงขณะคลอดด้วย

2. ต่อมหมวกไต (Adrenal) อยู่ที่ขั้วบนของไต มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศ และการเผาไหม้ของร่างกาย เพื่อให้เกิดพลังงาน และความกล้าเมื่อตกใจสุดขีด ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมองด้วย ,

3. ต่อมธัยรอยด์ (Thyroid) สร้างฮอร์โมน มีหน้าที่ควบคุมการเผาไหม้ของอาหารและรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกาย
รูปแสดงตำแหน่งของต่อมไร้ท่อ
1. ต่อมใต้สมอง
2. ต่อมหมวกไต
3. ต่อมธัยรอยด์
4. ต่อมพาราธัยรอยด์
5. ตับอ่อน
6. รังไข่
7. อัณฑะ

4. ต่อมพาราธัยรอยด์ (Parathyroid) อยู่ใต้ต่อมธัยรอยด์ มีหน้าที่ควบคุมระดับหินปูนหรือแคลเซียม (Calcium) และฟอสฟอรัสของร่างกาย

5. ต่อมภายในตับอ่อน (Islet of Langerhan) สร้างฮอร์โมนที่เรียกว่า อินซูลิน (Insulin) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลของร่างกาย ถ้าขาดฮอร์โมนชนิดนี้ จะทำให้เป็นโรคเบาหวาน

6. รังไข่(Ovaries) ในเพศหญิง และ อัณฑะ (Test is) ในเพศชาย มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมองอีกทอดหนึ่ง ถ้าขาดความพอดี ก็กลายเป็นโรค

ฮอร์โมนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายของคนเรา และจะต้องมีปริมาณพอดีกับความต้องการของร่างกาย จึงจะทำให้ร่างกายมีความเป็นปกติ ถ้าปริมาณของฮอร์โมนในร่างกายมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อย ๆ เช่น พวกคอพอก จากต่อมธัยรอยด์สร้างฮอร์โมนมากไปหรือน้อยไป คนเตี้ยแคระ คนยักษ์ หรือคนที่เป็นโรคเบาจืด จากต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ, พวกที่เป็นเบาหวานจากต่อมในตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินน้อยไป เป็นต้น

 

ข้อมูลสื่อ

22-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 22
กุมภาพันธ์ 2524
ดร.นที คัคนานตดิลก