• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การวิ่ง

ระยะนี้มีข่าวการวิ่งเพื่องานต่างๆมากมาย รวมทั้งการวิ่งมาราธอนและการวิ่งแข่งขันต่างๆจนกลายเป็นแฟชั่นฮิตอันหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว

ความจริงการวิ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การวิ่งเพื่อสุขภาพ และการวิ่งเพื่อการแข่งขัน เส้นแบ่งของ 2 ส่วนนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ และทั้งสองส่วนนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ก็ขอเชิญอ่านเรื่อง “ใครคือนักวิ่งเพื่อสุขภาพ” ของคุณหมอกฤษฎา บานชื่นได้เลยครับ

คนที่หันมาวิ่งจนติดเป็นนิสัยมีแรงจูงใจต่างๆกันไป คุณหมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม และนักวิ่งอีกหลายคน ต้องการวิ่งเพื่อเอาชนะโรคหัวใจที่เริ่มเป็นระยะแรก บางคนวิ่งเพื่อรักษาโรคแพ้อากาศ (โรคภูมิแพ้ทางจมูก) บางคนวิ่งเพื่อรักษาโรคกระเพาะ เพื่อคลายเครียด หรือลดความอ้วน ส่วนคุณพินิจ กิจเวช ได้หันมาวิ่งรักษาโรคหืดของตัวเอง ทั้งๆที่หมอสั่งห้ามออกกำลังมาก เขาทำได้อย่างไร ก็ลองเปิดไปดูเรื่อง “วิ่งพิชิตหืด” ในฉบับนี้ได้เช่นกัน

คุณหมอประเวศ วะสี
บรรณาธิการของเราได้จบเรื่อง “สวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก” ตั้งแต่ฉบับที่แล้ว ซึ่งข้อเขียนชุดนี้จะได้พิมพ์รวมเล่มออกวางตลาดประมาณกลางเดือนนี้ ท่านที่สนใจจะซื้อเก็บไว้เองหรือมอบเป็นของขวัญปีใหม่แด่ญาติมิตรก็อย่าได้พลาดหนังสือเล่มนี้เสียละครับ และขอเชิญแฟนๆติดตามข้อเขียนชิ้นใหม่ “บนเส้นทางชีวิต” ของคุณหมอได้ตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป เป็นการเล่าถึงเกร็ดชีวิตของท่านพร้อมกับสอดแทรกเรื่องราวสนุกๆ ความรู้และข้อคิดต่างๆ

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน โครงการฟื้นฟูการนวดไทย ได้จัดประชุมสัมมนาฟื้นฟูการนวดไทย ครั้งที่ 2 ที่ ห้องประชุมใหญ่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีผู้ร่วมสัมมนาจากภาคต่างๆประมาณ 300 คน โครงการนี้จัดประชุมสัมมนาครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2528 2 ปีมานี้ได้มีการระดมหมอนวดจากสำนักต่างๆมาช่วยกันรวบรวมความรู้ เกี่ยวกับการนวดไทย จัดทำเป็นหนังสือ เอกสาร วิดีโอเทป ทำการเผยแพร่และอบรมความรู้การนวดไทยแก่หมอนวดไทยและประชาชนที่สนใจ ตลอดจนได้มีการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิผลของการนวดไทย โดยแพทย์และนักกายภาพบำบัดแผนปัจจุบัน

ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าสัมมนาหลายท่าน ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการนวดตัวเองและนวดกันเอง สามารถใช้บำบัดอาการปวดศีรษะ ปวดหลัง และปวดเมื่อยต่างๆ แทนยาแก้ปวดได้ เป็นการประหยัดและลดอันตรายจากยาแก้ปวด นอกจากนี้ยังได้เสริมสร้างความรัก ความอบอุ่นภายในครอบครัวและญาติมิตรเป็นอย่างดี

การนำเอาวิธีการนวดอย่างง่ายๆ(ตรงกับหลักการที่ว่า “จำง่าย เรียนง่าย ปลอดภัย ได้ผล คนนิยม”) มาเผยแพร่ให้ประชาชนสามารถนวดตัวเอง และนวดกันเองนี้ คือตัวอย่างของการนำเอาวัฒนธรรมไทยมาใช้ในการสาธารณสุขมูลฐาน

แต่อย่างไรก็ตาม การนวดไทยยังมีคุณค่าในการบำบัดรักษาโรคต่างๆที่อยู่เหนือระดับสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งฝ่ายหมอนวดไทยและบุคลากรฝ่ายแพทย์แผนปัจจุบัน ตลอดจนฝ่ายรัฐและเอกชนในการฟื้นฟูและพัฒนาให้เป็นศาสตร์ที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยต่อไป!

 

ข้อมูลสื่อ

104-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ