• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปอด

ปอด





ปอดเป็นอวัยวะของระบบหายใจ อยู่ภายในทรวงอกทั้ง 2 ข้าง ปอดข้างขวามีขนาดใหญ่กว่าทางซ้ายเล็กน้อย ข้างขวาแบ่งออกเป็น 3 พู (lobes) ส่วนล่างซ้ายมี 2 พู

 

⇒ รูปร่างลักษณะของปอด
ปอด มีรูปร่างลักษณะโดยทั่ว ๆ ไปคล้ายกับต้นไม้หรือพุ่มไม้ เอาลำต้นขึ้นและเอาพุ่มหรือยอดลง มีเยื่อหุ้มปอดบาง ๆ คล้ายเอาถุงพลาสติกมาหุ้มหรือคลุมไว้อีกทอดหนึ่ง หลอดลมใหญ่(trachea) ที่เป็นทางผ่านของอากาศเข้าสู่ปอดเทียบได้กับลำต้นของต้นไม้จากหลอดลมใหญ่นี้ จะแยกเป็น 2 กิ่ง ขวาซ้าย เรียกว่า หลอดลม (bronchus) ไปสู่ปอดแต่ละข้าง กิ่งหรือหลอดลม แต่ละข้างนี้ จะผ่านเยื่อหุ้มปอดไปสู่ปอดและแตกแขนงเล็ก ๆ เรียกว่า หลอดลมฝอย (bronchioles) จนกระทั่งถึง ถุงลมเล็ก ๆ มากมาย มีลักษณะคล้ายลูกโป่งหรือเป็นพวงคล้ายองุ่น เรียกถุงลมเหล่านี้ว่า “แอลวีโอไล” (alveoli) รอบ ๆ ถุงลมนี้มีลักษณะเป็นแผ่นเยื่อบาง ๆ และมีเส้นเลือดฝอยมาสัมผัสมากมาย สำหรับแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เลือดที่มีก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์มาก (มีก๊าซอ๊อกซิเจนน้อย) เรียกว่า เลือดเสีย คือ เลือดที่ยังไม่ได้ไปฟอกที่ปอด จะถูกหัวใจสูบฉีดไปสู่ปอดเพื่อมีการถ่ายเทก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออกและรับก๊าซอ๊อกซิเจนเข้า กลายเป็นเลือดที่ฟอกแล้วเรียกว่า เลือดดี ก็จะไหลกลับเข้าสู่หัวใจ เพื่อสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายต่อไป

 

⇒ หน้าที่ปอด
ปอด มีหน้าที่ในการหายใจ เพื่อนำก๊าซออกซิเจนเข้ามา และถ่ายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกไป
คนเราปกติมีการแลกเปลี่ยนก๊าซประมาณวันละ 20 ลูกบาศก์ฟุต หายใจเข้าออกประมาณ 17 ครั้งต่อนาที และสามารถหายใจได้ถี่ถึง 70-80 ครั้งต่อนาที ในกรณีที่กล้ามเนื้อทำงานหนัก เช่น การออกกำลังกายหรือในกรณีที่เป็นปอดบวม

 

⇒โรคที่เกี่ยวกับปอด มีหลายอย่าง เช่น

วัณโรคปอด (Tuberculosis) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ที.บี. (T.B.)

ปอดบวม (Pneumonia) อาการบวมอย่างรวดเร็วของปอด เนื่องจากสภาพของปอดซึ่งตามปกติมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ยืดหยุ่นได้ จะเปลี่ยนสภาพเป็นก้อนแข็ง เกิดจากสาเหตุหลายประการ โดยมากเกิดจากเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมาก

นอกจากนี้อาจจะมีการอักเสบที่หลอดลมเรียกว่า หลอดลมอักเสบ(bronchitis) การแพ้ฝุ่นหรือโรคภูมิแพ้ (Hay fever) ทำให้เกิดการเป็นหวัดคัดจมูก เนื่องจากในฝุ่นละอองมีละอองเกสรดอกไม้บางชนิด ฝุ่นนุ่น ขนสัตว์ ไรแดง และอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้ร่างกายเกิดการแพ้ทุกครั้งที่เข้าใกล้สิ่งเหล่านี้ และจะทำให้เกิดการจามติดต่อกันหลายครั้ง แล้วมีอาการน้ำมูกไหลหรือคัดจมูก

อาการไอหรือจามหรือการคัดจมูก แสดงถึงว่า มีสิ่งแปลกปลอมที่ไม่พึงประสงค์ผ่านเข้าสู่ปอด ร่างกายก็จะขจัดสิ่งเหล่านี้ออกด้วยการไอหรือจาม การคัดจมูกเป็นการป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมผ่านเข้าสู่ปอด อันเป็นการป้องกันตามธรรมชาติอยู่แล้ว

ถ้ามีการไอ หรือจามหลายวันแล้วยังไม่หาย ควรรีบไปหาหมอ เนื่องจากอาจจะมีเชื้อพวกไวรัส (จุลินทรีย์ขนาดเล็ก) ที่ไม่อาจจะขับออกได้ ปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ จะทำให้เยื่อหุ้มปอด หรือถุงน้ำช้ำและฉีกขาดเป็นอันตรายได้
สำหรับคนที่สูบบุหรี่ใหม่ ๆ เพิ่งหัดสูบ จะรู้สึกระคายเคืองทำให้ไอและสำลักควันเพื่อขับสิ่งที่ติดมากับควันบุหรี่ ที่เรียกว่า นิโคติน สังเกตได้ที่มือและฟัน จะมีคราบของนิโคตินติดเป็นสีเหลือง ขัดก็ไม่ค่อยออก เมื่อสูบบุหรี่บ่อยเข้าจนเกิดความเคยชิน จะไม่รู้สึกสำลักหรือไอ ถึงแม้ท่านจะไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งที่ปอดได้ แต่การสูบบุหรี่ก็จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซน้อยลง เนื่องจากในควันบุหรี่มีแต่ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เต็มไปหมด ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง การหายใจจะแรงมาก บางคนหายใจคล้ายคนเป็นหืด เพราะก๊าซออกซิเจนไม่เพียงพอ มีวิธีทดลองง่าย ๆ เกี่ยวกับก๊าซ ออกซิเจนไม่เพียงพอ คือ ในตอนกลางคืนจุดกองไฟเผาขยะหรือไล่ยุงก็ตาม ท่านที่นั่งอยู่รอบ ๆ กองไฟเวลามีควันผ่านมาท่านจะรู้สึกหายใจไม่พอ จนต้องลุกหนีดังนั้น คนเราจึงต้องการอากาศบริสุทธิ์มาก ยิ่งคนที่ทำงานตามโรงงานที่มีควันมาก ๆ หรือคนกรุงเทพฯที่อยู่ในย่านที่มีอากาศเสียจากควันท่อไอเสียรถยนตร์มากมายแล้ว ถึงแม้ท่านจะเป็นคนไม่สูบบุหรี่เลย ก็เท่ากับท่านได้สูบบุหรี่ทุกวัน วันละ 1 ซอง แล้วท่านยังจะเสียเงินเพื่อซื้อบุหรี่สูบอีกไหม อีกหน่อยท่านอาจจะต้องเสียเงินซื้ออากาศบริสุทธิ์ไว้ใช้ในบ้านแน่นอน หรืออย่างน้อยก็เสียเงินไปพักผ่อนตากอากาศตามชายทะเลที่มีอากาศบริสุทธิ์บ่อย ๆ เป็นแน่

 

ข้อมูลสื่อ

17-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 17
กันยายน 2523
ดร.นที คัคนานตดิลก