• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสองเดือนถึงสามเดือน

เด็กสองเดือนถึงสามเดือน


                     

 


สภาพแวดล้อม


88. ป้องกันอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุที่เกิดบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 2-3 เดือน คือ ตกเตียง เพราะคุณแม่เห็นว่าลูกยังพลิกตัวเองไม่ได้ คลานก็ยังไม่ได้ จึงไม่เอาที่กั้นเตียงขึ้น แต่บางครั้งเด็กมีแรงถีบมาก จนถึงกับทำให้ลื่นตกเตียงได้ แต่เตียงเด็กไม่สูงเท่าไรนัก ตกลงมาก็ไม่ถึงกับบาดเจ็บสาหัส โดยทั่วไปเด็กมักจะตกลงมาเอาหัวฟาดพื้นแล้วร้องลั่น เพราะเจ็บ คุณแม่เห็นลูกตกเตียงมักจะตกใจกลัวว่าเด็กตัวเล็กขนาดนี้ถ้าหัวฟาดพื้นจะทำให้เกิดอาการผิดปกติในสมอง แต่ยังไม่เคยปรากฏว่าเด็กตกเตียงแล้วเกิดเลือดคั่งในสมอง ถ้าคุณแม่เป็นห่วงพาไปตรวจที่โรงพยาบาล หมออาจเอ๊กซเรย์ศีรษะให้ แล้วบอกผลว่าไม่เป็นอะไร
เด็กตกเตียงไม่เป็นไร แต่ถ้าเด็กหัวฟาดในรถยนต์ เพราะอุบัติเหตุรถชนกันหรือหยุดกะทันหันอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น เวลาพาเด็กขึ้นรถยนต์จะต้องระวังส่วนศีรษะให้มาก คุณแม่ควรกอดหัวเด็กเอาไว้
เวลาแม่นอนให้นมแล้วเผลอหลับไป เต้านมอาจทับปิดจมูกและปากลูกจนหายใจไม่ออก เด็กอายุ 2-3 เดือน ยังไม่สามารถใช้มือผลักแม่ออกไปได้ ดังนั้น เวลาให้นมต้องนั่งให้

ถ้าลมพัดถุงพลาสติค หรือ ผ้าพลาสติคมาคลุมหน้า เด็กอายุเท่านี้ยังไม่สามารถเอาออกเองได้ ทำให้หายใจไม่ออกถึงแก่ชีวิต ต้องระวังอย่าวางของเหล่านี้ไว้ใกล้ที่เด็กอ่อนนอน สำหรับเด็กที่ชอบอาเจียนบ่อย ๆ เวลานอนไม่ควรผูกผ้ากันเปื้อนที่ด้านหลังเป็นพลาสติคไว้ เพราะถ้าผ้าเปียกน้ำลายแล้วเกิดปัดขึ้นมาปิดจมูกปาก พลาสติกจะทำให้เด็กหายใจไม่ออก คุณแม่บางคนเมื่อเห็นลูกอาเจียนบ่อย ๆ จึงปูผ้าพลาสติกไว้ใต้หมอน เพื่อจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนผ้าปูที่นอนบ่อยๆ แต่ทำอย่างนี้ไม่ปลอดภัย เพราะถ้าเด็กนอนคว่ำ พลาสติกจะปิดจมูกและปากทำให้เด็กหายใจไม่ออกถึงตายได้ เคยมีคุณแม่ที่ต้องเสียลูกน้อยอายุ 2 เดือนไปเพราะให้นอนคว่ำแบบฝรั่งแล้วบังเอิญผ้าปูที่นอนเปียกปิดจมูก และปากจนลูกหายใจไม่ออก
ระวังอย่าให้หนูและแมวเข้าห้องเด็กได้ เพราะจะเข้ามาเลียนมที่หน้าและรอบปากเด็กแล้วกัดเด็กเข้าด้วย รอบๆ เตียงเด็กไม่ควรวางของรกรุงรัง เพราะจะทำให้หนูไต่ตามของขึ้นเตียงเด็ก

 

 

 

 


89. พี่
สำหรับเด็กอ่อนที่มีพี่ คุณแม่ควรระวังไม่ให้พี่ทำอันตรายน้องเพราะความอิจฉา โดยเฉพาะพี่ซึ่งเคยเป็นลูกคนเดียว เคยได้รับความรักความเอาใจใส่จากพ่อแม่อย่างเต็มที่ เมื่อกลายเป็นพี่จะรู้สึกเหมือนถูกแย่งความรักไป ความรู้สึกอิจฉาน้องของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้แต่เด็กในวัยเดียวกันก็รู้สึกต่างกัน เด็กบางคนดีใจมากที่มีน้อง ชอบช่วยเลี้ยงน้อง เด็กบางคนพอเห็นแม่อุ้มน้องปุ๊บจะร้องอาละวาดให้วางน้องลงแล้วให้อุ้มตัวเขาแทน
เมื่อเวลาผ่านไป 2 เดือน ลูกคนพี่จะเริ่มรู้ว่าน้องที่มาใหม่ ไม่ใช่เพียงแขกที่มาเยือนชั่วคราว แต่จะอยู่ด้วยตลอดไป ถ้าพี่เป็นเด็กขี้อิจฉา มักจะทำอันตรายน้องในช่วงอายุ 2-3 เดือนนี้ คุณแม่จะรู้ดีว่าลูกคนพี่รู้สึกอิจฉาน้องหรือไม่ ถ้าพี่อิจฉาน้อง จะต้องคอยระวังเวลาที่พี่อยู่กับน้องและไม่ใช่เพียงแต่ระวังอย่างเดียว คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงให้ลูกคนพี่เห็นด้วยว่ายังรักเขาไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าพี่ยังเล็กอยู่ก็อุ้มบ้าง ก่อนนอนต้องเอาใจใส่คุยด้วยหรือเล่านิทานให้ฟังบ้าง เพราะถ้าปล่อยปละละเลยเขา พี่จะแก้แค้นเอากับน้องเพื่อเรียกร้องความรักจากพ่อแม่กลับคืน

ไม่เพียงแต่อันตรายจากพี่ที่อิจฉาน้องเท่านั้น พี่ที่รักน้องก็อาจทำให้เกิดอันตรายแก่น้องได้โดยที่เจ้าตัวทำไปเพราะความรัก เช่น เห็นน้องร้องไห้ก็เข้าไปหยิบขวดนมในครัวซึ่งมีนมเหลือจากเมื่อคืนวานมา ให้น้องกินบ้าง นึกว่าน้องหนาวเอาผ้าห่มมาคลุมโปงให้ตลอดหัวจรดเท้าบ้าง คุณแม่ไม่ควรปล่อยให้พี่ตัวเล็ก ๆ 2-3 ขวบ อยู่กับเด็กอ่อนในห้องตามลำพัง
เมื่อลูกคนพี่ไปโรงเรียน มักติดโรคต่าง ๆ กลับมาด้วย เด็กอ่อนอายุ 2-3 เดือนยังมีความต้านทานโรคจากแม่อยู่ จึงไม่ติดโรคบางอย่างเช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน จะไม่เป็นแต่สำหรับ ไอกรน อีสุกอีใส เด็กอายุ 2-3 เดือนก็ติดโรคได้ และเด็กเล็ก ๆ เป็นไอกรนอาการจะหนักก่อนคลอดน้องควรพาคนพี่ไปฉีดวัคซีนป้องกันไอกรนให้เรียบร้อยเสียก่อน ส่วนอีสุกอีใสนั้น ส่วนใหญ่เด็กอายุ 2 เดือนมักไม่เป็น แต่พออายุ 3 เดือนจะติดโรคได้ แต่ถึงเป็นอาการก็ไม่หนัก
 

ถ้าลูกคนโตเป็นไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) น้องจะไม่เป็นด้วย แต่เชื้อ สเตร็ปโตคอคคัส (Strepto-cocus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้คอเป็นหนองและไข้อีดำอีแดงนั้น อาจเป็นอันตรายต่อเด็กอ่อนได้ ควรพาไปปรึกษาแพทย์ หมออาจปฏิชีวนะกินป้องกันไว้
ถ้าพี่เกิดอาการท้องร่วงหรือเป็นไทฟอยด์ ต้องเข้าโรงพยาบาล คุณแม่ควรระวังเรื่องความสะอาดให้มาก เวลาชงนมต้องฆ่าเชื้อโรคอย่างเข้มงวด
เมื่อลูกคนโตไปตรวจร่างกายเพื่อเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้วพบว่าเป็นวัณโรค คุณแม่ไม่ต้องตกใจ เพราะอาจกล่าวได้ว่า วัณโรคปอดในเด็กเล็กจะไม่มีโพรงในปอด และไม่ติดเด็กอ่อน

 

 



 

90. ตัดผม
ในช่วงอายุ 2-3 เดือนนี้ ผมเด็กจะยาวขึ้น เราจึงมักตัดผมให้ในระยะนี้ การตัดผมเด็กอ่อนควรใช้กรรไกร ไม่ควรใช้มีดโกน เพราะมีดโกนจะทำให้เกิดบาดแผลบนผิวหนังที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
สมัยก่อนเรามักโกนผมเด็กอ่อน เรียกว่าโกนผมไฟ โดยเชื่อว่า เมื่อโกนผมจะบางก็ยังดีกว่าไม่มีผมเลย และยังไม่มีอะไรยืนยันว่า การโกนผมจะทำให้ผมดกขึ้น

 

 



 

91. พาลูกออกนอกบ้าน
เมื่อเด็กอายุเกิน 2 เดือนตาจะมองเห็นชัดเจนมากขึ้น เด็กจะชอบออกนอกบ้านเที่ยวดูโน่น ดูนี่ การพาลูกออกนอกบ้าน นอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกสนุกแล้ว อากาศภายนอกยังช่วยให้ผิวหนังและหลอดลมแข็งแรงขึ้นเราจะพาเด็กเที่ยวได้นานเท่าใดนั้น อยู่ที่ว่าเด็กคอแข็งหรือยัง ถ้าเด็กคอแข็งแล้ว อุ้มออกไปเดินเล่น 20-30 นาที เด็กก็จะยังไม่รู้สึกเหนื่อยนัก เด็กอายุเท่านี้ยังไม่ควรให้นั่งรถเข็น เพราะยังไม่ได้และอันตราย

ไม่ควรพาเด็กไปซื้อของตามห้างที่มีคนมากหรือพาเข้าโรงหนัง เพราะเป็นแหล่งชุมนุมเชื้อโรคถ้าแดดร้อนจัด ขนาดต้องใส่หมวกให้เด็ก ไม่ควรอุ้มไปไหนไกลนัก เพราะไอร้อนจากตัวแม่ จะทำให้เด็กตัวร้อนเกินไป

 

 





92. ฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคระบาดในเด็กเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับเมืองไทย เพราะยังมีการระบาดของโรคต่าง ๆ อยู่มาก การฉีดวัคซีนนอกจากจะช่วยป้องกันเด็ก ไม่ให้เป็นโรคแล้ว ยังช่วยระงับไม่ให้โรคเหล่านั้นระบาดขึ้นมาอีกด้วย

แต่การฉีดวัคซีนก็มิใช่มีแต่ผลดีด้านเดียว ในแต่ละปี จะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ต้องรับเคราะห์กรรมเนื่องจากการฉีดวัคซีน ตามปกติวัคซีนต่างๆ ที่เราให้เด็ก มีวัคซีนป้องกันวัณโรค หรือ “บีซีจี” (BCG) วัคซีนป้องกันคอตีบ – ไอกรน – บาดทะยัก หรือ “ดีพีที” (DPT) วัคซีนป้องกันโปลิโอ ไทฟอยด์ หัด หัดเยอรมัน คางทูม ฯลฯ สำหรับวัคซีนไทฟอยด์นั้น ไม่จำเป็นไม่ควรฉีด เพราะฉีดแล้วไข้สูง และยังให้ผลไม่แน่นอน ถ้าเด็กกินนมแม่ หรือนมวัวที่ฆ่าเชื้ออย่างเคร่งครัด จะไม่เป็นไทฟอยด์

 

ตารางการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

อายุ

วัคซีน

0-1 เดือน

วัณโรค (บีซีจี)

2-6 เดือน

คอตีบ -ไอกรน-บาดทะยัก (ดีพีที) และกินวัคซีนโปลิโอ 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 8 สัปดาห์

12 เดือน

หัด หัดเยอรมัน คางทูม

1  ปี

กระตุ้น คอตีบ ไอกรน- บาดทะยัก และกินป้องกันโปลิโอครั้งที่ 4

4- 6 ปี

กระตุ้น คอตีบ ไอกรน- บาดทะยัก และกินป้องกันโปลิโอครั้งที่ 5

                                                                                                                           ( อ่านต่อฉบับหน้า )

 

 

 




 

ข้อมูลสื่อ

18-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 18
ตุลาคม 2523