• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุยกับผู้อ่าน

สวัสดีครับ ในที่สุด “หมอชาวบ้าน” ก็ได้ฤกษ์ออกมาพบกับท่านผู้อ่านแล้วครับ และคณะผู้จัดทำมีเรื่องที่จะตุยกับท่านผู้อ่านหลายเรื่องทีเดียวครับ

อันดับแรกทำไม “หมอชาวบ้าน” จึงถือกำเนิดขึ้น บัดนี้เป็นที่ตระหนักกันดีทั่วไปแล้วว่า เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ประชาชนควรจะได้รับการรักษาพยาบาลขั้นต้น โดยการรักษาตัวเอง รักษากันเอง หรือช่วยกันรักษาโดยชุมชน ไมว่าจะโดยตรง โดยพระ โดยแพทย์ประจำตำบล หรือเจ้าหน้าที่อื่นใด โดยใช้หยูกยาและวิธีการทั้งแบบปัจจุบันและแบบพื้นบ้าน เท่าที่จะพึงมีได้

องค์การอนามัยโลก ถึงกับจัดการประชุมนานาชาติ เพื่อส่งเสริมดารสาธารณสุขเบื้องต้นดังกล่าวขึ้นเมื่อปีกลาย และกระทรวงสาธารณสุขของไทย ก็ถือเรื่องการสาธารณสุขเบื้องต้นนี้เป็นนโยบายสำคัญอย่างยิ่ง

“หมอชาวบ้าน” ถือกำเนิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการสาธารณสุขเบื้องต้น โดยเป็นสื่อนำวิทยาการทั้งแผนปัจจุบันและแผนพื้นบ้านไปสู่ประชาชนทุกบ้าน (ถ้าเป็นไปได้) ไปสู่พระ ครู ผ.ส.ส. ต.ส.ม. ม.อ.บ. หมอตำแย หมอบ้าน แพทย์ประจำตำบล บุคลากรทางสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในชุมชน ร้านขายยา หรือผู้ใดก็ตามที่มีส่วนช่วยกระจายการักษาพยาบาลไปสู่ชาวบ้านได้มากที่สุด

“หมอชาวบ้าน” ได้รับการสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่ ทั้งฝ่ายบรรพชิต และฆราวาส ดังรายนามที่ปรึกษาที่แจ้งอยู่แล้วนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ และนายแพทย์ เสมพริ้งพวงแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนความพยายามของคณะเราที่จะกระจายบริการสาธารณสุขปสู่ประชาชนเสมอมาอย่างเต็มที่

นักเขียนของ “หมอชาวบ้าน” นอกจากจะประกอบด้วย แพทย์ เภสัช ทัตแพทย์ และบุคลากรอื่น ทางฝ่ายการแพทย์แผนปัจจุบันจำนวนมาก เรายังรู้สึกเป็นเกียรติและมีความภูมิใจที่อาจารย์บุญชู ธรรมทัศนานนท์ อุปนายกและเลขาธิการสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณในประเทศ ได้ร่วมงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่กับเราด้วย เพื่อประสานวิทยาการแผนปัจจุบันและแผนพื้นบ้านเข้าด้วยกัน

เราขอเชิญชวนนักวิชาการทั้งหลายไม่ว่าแผนใด ถ้าท่านมีของดีอะไรที่จะมีประโยชน์ต่อประชาชน ขอได้โปรดส่งเรื่องมาร่วมกับเราได้ ขอให้เน้นหนักไปในทางปฏิบัติที่ชาวบ้าน จะนำไปปฏิบัติได้ ท่านที่มีปัญหาในทางวิชาการ หรือในทางอื่นใด หรือมีประสบการณ์ที่ควรเผยแพร่ ขอเชิญท่านเขียนไปคุยกับ “หมอชาวบ้าน” อย่างเป็นกันเอง

เราได้จัดคอลัมน์ “เชื่อหรือไม่” ขึ้นเพื่อรวบรวมประสบการณ์พื้นบ้านเอาไว้ด้วย ท่านผู้ใดทราบถึงวิธีการรักษาพื้นบ้านที่ได้ผลชะงัดอย่างใดกรุณาส่งมาเผยแพร่ด้วยจะเป็นประโยชน์มาก กองบรรณาธิการจะกลั่นกรองสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยออก แต่ที่แน่ๆ คือ ประสบการณ์พื้นบ้านนี้จะต้องมี ของดีอยู่ด้วย ซึ่งสมควรจะได้รวบรวมและเผยแพร่

“หมอชาวบ้าน” จัดทำขึ้นเป็นการกุศล มิใช่เพื่อค้ากำไร บรรณาธิการก็ดี ผู้จัดทำก็ดี ไม่มีเงินเดือน และนักเขียนทั้งหลายก็ช่วยเขียนโดยมิได้ค่าเรื่อง หากเอกชนหรือองค์การใดๆ ต้องการบริจาคสมทบ จะช่วยให้เราสามารถกระจาย “หมอชาวบ้าน” ไปสู่ชาวบน้าได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

หากสื่อมวลชนใดๆ ต้องการนำเรื่องใน “หมอชาวบ้าน” ออกไปเผยแพร่สู่ประชาชนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้นไปอีก เราบอกอนุญาตไว้ล่วงหน้า และขออนุโมทนาด้วย หากทุกฝ่ายช่วยกันกระจายการรักษาพยาบาลอย่างถูกๆ ไปสู่ประชาชนได้มากเท่าใด การสาธารณสุขของประเทศเราก็จะดีขึ้นเท่านั้น

ข้อมูลสื่อ

1-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 1
พฤษภาคม 2522
ศ.นพ.ประเวศ วะสี