• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดหลัง อาการทรมานที่รักษาและรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยาแก้ปวด

ปวดหลัง อาการทรมานที่รักษาและรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยาแก้ปวด 

ปวดหลัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนเกือบทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ กรรมกร คนขับรถ ขับเรือ นักธุรกิจ นักศึกษา ผู้ที่นั่งทำงานกับโต๊ะ หรือแม้แต่เราๆ ท่านๆ ก็อาจปวดหลังได้ เพราะนอนที่นอนนิ่มเกินไป หรือนั่งเก้าอี้ไม่ถูกท่า ทำให้ยาแก้ปวดแก้เมื่อยชนิดต่างๆ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ชาวไร่ ชาวนา และกรรมกรที่ต้องใช้หลังอยู่บ่อยๆ จะนิยมใช้ยาแก้ปวดมาบรรเทาอาการปวดหลังจนติดเป็นนิสัย ผลที่ตามมาก็คือ อาการปวดหลังไม่เพียงแต่ไม่ทุเลาลงแม้แต่น้อย แถมกลับมีโรคแทรกซ้อนขึ้นอีก เช่น โรคกระเพาะ กระเพาะทะลุ อาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากพิษของยาแก้เมื่อยที่ระคายเคืองต่อกระเพาะ ทำให้ต้องเสียเงินเสียเวลาและเสียสุขภาพโดยใช่เหตุ คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าอาการปวดหลังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แท้จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่สามารถรักษาป้องกันได้ ถ้าหากค้นพบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร

มารู้จักกับหลังของท่านกันเถิด

หลัง นั้นมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ กระดูกสันหลังซึ่งประกอบด้วยกระดูกหลายๆ ชิ้นมาต่อกัน โดยมีกระดูกอ่อนคั่นระหว่างกระดูกแข็ง วางเรียงกันเป็นแท่งยาวตั้งแต่หัวจรดก้น กระดูกหลังมีทั้งหมด 26 ชิ้นในผู้ใหญ่ แบ่งออกเป็นกระดูกคอ ๗ ชิ้น กระดูกช่วงอก 12 ชิ้น กระดูกบั้นเอว 5 ชิ้น กระดูกกระเบนเหน็บและกระดูกก้นกบอย่างละหนึ่งชิ้น กระดูกอ่อนที่รองกระดูกอยู่เรียกว่า หมอนรองกระดูก ซึ่งจะพบคั่นอยู่ทุกข้อต่อของกระดูกแข็ง ยกเว้นที่กระดูกกระเบนเหน็บและกระดูกก้นกบ กระดูกหลังแต่ละชิ้นจะมีรูปร่างระเกะระกะ มีปุ่มยื่นออกมาไม่เป็นระเบียบ (ดังรูปที่ 1) ส่วนหน้าเป็นรูปไตหรือกลม เนื้อกระดูกทึบและแน่น ทำหน้าที่รองรับน้ำหนัก ส่วนหลังมีรูกลวงอยู่ภายใน ถ้าต่อกันหลายๆ ชิ้น จะกลายเป็นท่อยาวตลอดตั้งแต่หัวลงมาถึงบั้นเอว เป็นที่อยู่ของไขสันหลัง (เป็นเนื้อสมองที่ต่อลงมาจากสมอง) ไขสันหลังจะมีเซลล์ประสาทและมีเส้นประสาทยื่นออกจากไขสันหลังลอดผ่านข้อต่อกระดูกหลังมายังภายนอกและทอดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อรับความรู้สึก และนำคำสั่งจากสมองไปให้ร่างกายเคลื่อนไหวและทำงานได้ ส่วนหลังของกระดูกหลังจะมีส่วนที่ยื่นออกด้านข้างและทางด้านหลัง ส่วนยื่นด้านหลังค่อนข้างแหลม และสามารถคลำได้ที่ร่องกลางหลัง รอบๆ กระดูกหลังห่อหุ้มด้วยกล้ามเนื้อและพังผืด เรามักเปรียบกระดูกสันหลังเป็นเสากระโดงหรือเสาธง กล้ามเนื้อและพังผืดก็คือ เชือกที่โยงอยู่รอบเสา ทำให้เสาอยู่ได้ กระดูกสันหลังในทารกแรกเกิดจะมีลักษณะโค้งไปข้างหน้า (รูปที่ 2) เมื่อเริ่มคลานกระดูกคอจะโค้งมาข้างหลังและเมื่อยืนตัวตรงได้ กระดูกบั้นเอว ก็จะโค้งมาข้างหลังอีก จะเห็นได้ว่ากระดูกสันหลังของเราไม่ตรงเหมือนเสาธง ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะรับน้ำหนักมากทั้งน้ำหนักของตัวเราเอง หรือน้ำหนักจากภายนอก เวลาที่เราพูดถึงปวดหลัง เรามักหมายถึงการปวดที่บริเวณบั้นเอวและอาจหมายถึงช่วงอกหรือกระดูกกระเบนเหน็บด้วย ส่วนถ้าปวดที่บริเวณคอ เราจะเรียกว่า ปวดคอ ซึ่งจะไม่พูดในที่นี้

ปวดหลังเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้ปวดหลังมีมากมายหลายสิบอย่างแต่เราจะแบ่งตามอาการปวดออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. สาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดหลังแบบกะทันหัน อาจเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกแตก ข้อต่อระหว่างกระดูกหลังเคลื่อน กระดูกหลังหัก หรือเกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อและพังผืดที่หุ้มกระดูกสันหลัง

2. สาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดหลังแบบเรื้อรัง มีมากแต่เกือบ 80% เกิดจากท่านั่ง ท่ายืน ท่านอนหรือท่าทำงานที่ไม่ถูกต้องและจากการเสื่อมของกระดูก ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ความผิดปกติของกระดูกหลังเมื่อแรกเกิดเป็นวัณโรคกระดูก มีเนื้องอกของกระดูก โรคขาดอาหารในเด็กหรือผู้ชรา โรคไต บางครั้งก็เกิดจากการอักเสบของข้อต่อระหว่างกระดูกสะโพกและกระเบนเหน็บ การรักษาอาการปวดหลังให้ได้ผลนั้นควรจะรู้ประวัติของการปวดหลัง ดังต่อไปนี้ก่อน

1. ต้องรู้ว่าปวดหลังมาเป็นระยะเวลานานสักเท่าไร ปวดทันทีหรือค่อยๆ ปวดมากขึ้น เพื่อให้แน่ชัดว่าเป็นแบบกะทันหันหรือเรื้อรัง

2. ปวดตอนตื่นนอน กลางวัน กลางคืน หรือ ปวดตลอดเวลา ถ้าปวดตอนตื่นนอนมักเกิดจากที่นอนนิ่มไป ต้องเปลี่ยนมานอนที่นอนแข็ง ถ้าปวดกลางวันเกิดจากท่าการทำงาน ถ้ากลางคืนหรือตอนเย็นเกิดจากกล้ามเนื้อเมื่อยล้า ถ้าปวดตลอดเวลาอาจมีการผิดปกติหรือบาดเจ็บที่หลัง

3. ปวดในระยะไหนของปี การเปลี่ยนแปลงของฤดูและดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะความชื้นและความเย็นมักทำให้อาการปวดหลังรุนแรงมากขึ้น ปวดมากในรายที่ข้อต่ออักเสบหรือกระดูกเสื่อม

4. เคยมีญาติในครอบครัวปวดหลังไหม การผิดปกติจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้ปวดหลังได้ เช่น โรคข้อต่ออักเสบที่มีชื่อว่า เอสแอลอี การเกิดช่องโหว่ในกระดาษหลังเนื่องจากไม่เชื่อมต่อกัน

5. ปวดในท่าไหน ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน หรือท่าทำงาน เพื่อแก้ไขท่าที่ทำให้ปวดให้ถูกต้อง

6. มีอาการอื่นๆ ร่วมกับปวดหลังด้วยหรือไม่ เช่น มีไข้ตัวร้อน ปวดหัว เวียนหัว ตาลาย อาเจียน ปัสสาวะขุ่นแดง แขนขาเป็นอัมพาต ฯลฯ ซึ่งมักจะไม่ใช่อาการปวดหลังธรรมดา แต่จะมีสาเหตุจากบริเวณอื่นหรือสาเหตุจากโรคที่ร้ายแรง เช่น แพ้ยา ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ วัณโรคปอด นิ่วในไต ไตอักเสบ โรคของไขสันหลัง (ไขสันหลังอักเสบ เนื้องอกของไขสันหลัง) ฯลฯ หากสงสัย ควรหาหมอเสียแต่เนิ่นๆ แหละเป็นดี

ถ้าหากไม่มีอาการผิดปกติดังกล่าว ก็ให้ดูแลรักษาเองเสียระยะหนึ่งก่อน

การตรวจหาสาเหตุ

การตรวจก็เพื่อมุ่งหาตำแหน่งของกระดูกหลัง ที่เป็นต้นตอของความเจ็บปวดและค้นหา ว่ามีเส้นประสาทถูกกดทับหรือไม่ สภาพกล้ามเนื้อที่หลังเป็นอย่างไร การตรวจจึงจำเป็นที่จะต้องเห็นหลังโดยไม่มีสิ่งปิดบัง ให้ผู้ป่วยยกเสื้อขึ้น และนอนคว่ำ แล้วตรวจดูว่ากล้ามเนื้อมีอาการแข็งเกร็งหรือไม่ ผิวหนังบริเวณนั้นมีอาการฟกช้ำดำเขียวหรือไม่ รูปร่างของหลังมีลักษณะหลังโกงหรือคดงอบ้างหรือไม่ เคาะหรือกดลงตามแนวกระดูกหลังว่าชิ้นไหนที่ทำให้ปวดมาก แล้วให้กดลงบนกล้ามเนื้อที่อยู่ 2 ข้างของกระดูก ถ้าพบว่าเจ็บปวดมากก็แสดงว่ากล้ามเนื้อมีการฉีกขาด และถ้าหากพบว่ามีอาการปวดร้าว ก็น่าสงสัยว่าเส้นประสาทถูกกดทับ ซึ่งมักจะเกิดจากหมอนรองกระดูกแตกในคนหนุ่มสาว หรือหมอนรองกระดูกแคบลงในวัยกลางคนและคนสูงอายุ


สำหรับอาการเส้นประสาทถูกกดทับนั้น เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดหลังร่วมกับปวดชาลงมาตามขาข้างหนึ่งข้างใด (รูปที่ 3,4) และอาจจะพบอาการเท้าอ่อนแรงร่วมด้วยก็ได้ เราสามารถตรวจโดยให้ผู้ป่วยนอนหงาย แล้วยกขาผู้ป่วยขึ้นในท่าเข่าเหยียดตรงที่ละข้าง ปกติจะสามารถยกขาได้ฉากกับพื้นราบ (รูปที่ 5) แต่ในคนที่เส้นประสาทถูกกดทับ จะไม่สามารถยกขาข้างที่มีความผิดปกติขึ้นให้ตั้งฉากกับพื้นราบ เพราะจะรู้สึกปวดตึงมาก และถ้าใช้มือกระดกปลายเท้าขึ้นทำให้เส้นประสาทตึง คนไข้ก็จะรู้สึกปวดร้าวไปทั้งขา จากการตรวจทำให้เราพอจะรู้ว่า สาเหตุปวดหลัง เกิดมาจากอะไรและที่ตำแน่งไหน ถึงแม้จะไม่สามารถเจาะจงลงไปเลยว่า สาเหตุที่แท้จริงคือ อะไร เนื่องจากการตรวจที่สมบูรณ์และให้ดีนั้น จำเป็นจะต้องใช้การเอ็กซเรย์และวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย แต่โดยวิธีดังกล่าวก็สามารถทำให้เราช่วยเหลือผู้ป่วยได้

บันได 3 ขั้นในการรักษาอาการปวดหลัง

ขั้นแรก คือ พยายามลดอาการปวด ไม่ควรกินยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบ (ยกเว้นในรายที่ทนไม่ได้จริงๆ) ถ้ากล้ามเนื้อแข็งเกร็งมาก ให้นอนคว่ำและใช้ความร้อนประคบ โดยใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรืออาจจะใช้น้ำร้อนใส่ขวด หรืออาจใช้สมุนไพร เช่น เอาไพล หรือใบพลับพลึงไปเผาแล้วนำมาประคบ การลดอาการปวดโดยนวดบริเวณที่ปวดเบาๆ จะดีกว่าขึ้นไปเหยียบหรือทุบอย่างแรง ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อยิ่งแข็งเกร็งมากขึ้นและกระดูกอาจหักได้ วิธีการนวดควรลูบไปทางด้านหัวแล้วคลึงลงมาเบาๆ เฉพาะส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อ ควรนอนพักนิ่งๆ บนพื้นกระดาน ในท่านอนหงายโดยมีผ้าหนุนบั้นเอวให้แอ่นขึ้น เริ่มบริหารได้โดยชันเข่าทั้งสองให้หัวเข่าแนบชิดกันตลอดเวลา แล้วโยกเข่าทั้งสองไปมาให้แตะพื้นทีละข้าง หัวไหล่อยู่กับที่ (รูปที่ 6) ถ้าไม่สามารถลงนอนได้ เช่น ขณะที่เกี่ยวข้าวอยู่ ควรจะชูมือทั้งสองเหนือศีรษะ แล้วเอนตัวไปข้างหลังมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจเอามือโหนกิ่งไม้ หรือถ้าอยู่ที่บ้านก็ใช้มือเหนี่ยวคานบ้าน ขอบหน้าต่างแล้วยืดตัวไปข้างหลัง ห้ามทำท่าก้มลงเอามือแตะกับพื้น จะทำให้ปวดมากขึ้นและทับเส้นประสาทมากขึ้น

ขั้นที่ 2 พยายามแก้ที่ต้นเหตุโดยให้ผู้ป่วยนอนคว่ำบนแผ่นกระดาน ใช้มือทั้งสองกดลงที่กล้ามเนื้อสองข้างกระดูกสันหลัง (รูปที่ 7) อาจเอามือหนึ่งกดที่หลัง อีกมือหนึ่งยกขาให้ขึ้นมาข้างหลัง (รูปที่ 8) ท่าดัดเหล่านี้ต้องทำความระมัดระวัง ควรหยุดถ้าผู้ป่วยปวดมากขึ้น ในรายที่เส้นประสาทถูกกดทับ ใช้วิธียืดหลังด้วยน้ำหนัก ให้ผู้ป่วยนอนหงาย ดึงที่ขาทั้งสองข้าง (รูปที่ 9) แต่วิธีนี้มีข้อเสียอยู่ตรงที่ว่าคนที่ปวดเข่าอยู่แล้วอาจทนไม่ได้ และเกิดอาการปวดที่สะโพกและข้อเข่าได้ ทางที่ดีควรดึงที่สะโพก โดยใช้ผ้าพันรอบสะโพกแล้วดึงน้ำหนักที่ใช้ไม่ควรเกิน 15 กิโลกรัมในกรณีดึงตลอดเวลาแต่การดึงเพียงระยะเวลาสั้นอาจเพิ่มน้ำหนักได้ (รูปที่10)

ขั้นที่ 3 ทำได้เมื่ออาการปวดหลังทุเลาลง แก้ไขท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน และท่าหิ้วน้ำให้ถูกต้องและขณะทำงานต้องรักษาส่วนโค้งของหลังไว้ ให้หลังแอ่น และไม่ก้มลง (รูปที่ 11) นอกจากนี้บริหารกล้ามเนื้อหลังดังนี้คือ นอนคว่ำยกขาทั้งสองไปยังข้างหลัง (รูปที่ 12) บางครั้งการแบกหามเป้ของ ควรใช้ผ้ารัดบริเวณเอวไว้ให้แน่น เพื่อให้หลังมีกำลังขึ้น เป็นการป้องกันการปวดหลังได้อย่างดี วิธีการรักษาการปวดหลังอาจจะทำได้โดยวิธีอื่น เช่น ผ่าตัดเอากระดูกที่ทับเส้นประสาทออก เชื่อมกระดูกสองท่อนให้ติดกัน แต่ควรจะทำเมื่อการรักษาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ไม่ได้ผลหรืออาการเลวลง

ข้อมูลสื่อ

1-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 1
พฤษภาคม 2522
โรคน่ารู้
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข