การดูแลเด็กมีไข้
เมื่อลูกหลานของท่านมีอาการไข้ตัวร้อน ควรให้การดูแลดังต่อไปนี้ คือ
1. เช็ดตัว
2. ให้ยาลดไข้ ถ้าจำเป็นควรให้ยากันชักตามที่แพทย์สั่ง
3. ดื่มน้ำมากๆ
4. ไม่ควรห่มผ้าที่หนาเกินไป
5. อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวกไม่อับหรือร้อนเกินไป
6. นอนพัก
การเช็ดตัว
เมื่อรู้สึกไข้สูงหรือหลังจากวัดปรอทพบว่ามีไข้ 38° ซ. ขึ้นไป ควรเช็ดตัวให้ด้วยน้ำก๊อกหรือน้ำอุ่นถ้ารู้สึกหนาว ควรถอดเสื้อผ้าออกให้หมดถ้าเป็นเด็กเล็ก แต่ถ้าผู้ใหญ่จะถอดทีละส่วนก่อนก็ได้ วิธีเช็ดตัวนั้นให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ ถูตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช็ดค่อนข้างแรงเพื่อให้เส้นเลือดบริเวณนั้นขยาย มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น จะช่วยให้ความร้อนระเหยออกจากร่างกายได้ดี ตามบริเวณข้อพับ ขาหนีบ รักแร้ หน้าผากควรใช้ผ้าชุบน้ำบอดหมาดๆ วางประคบไว้ เมื่อรู้สึกว่าผ้าร้อน ควรชุบน้ำให้หมาดๆ วางประคบใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนน้ำที่นำมาเช็ดตัวรู้สึกร้อน ห้องที่เช็ดตัว ไม่ควรมีลมโกรกมากเกิน และควรปิดพัดลมก่อนเพื่อมิให้คนไข้หนาวสั่นระหว่างเช็ดตัว เมื่อเสร็จควรซับตามตัวให้แห้งแล้วใส่เสื้อผ้าให้ ถ้าคนไข้รู้สึกหนาว ห่มผ้าให้ได้อีกเนื่องจากความร้อนในร่างกายไม่มีทางระบายออกสู่ภายนอก หรือระบายได้แต่ไม่ดี ภายหลังเช็ดตัวแล้ว 20 นาที ให้วัดปรอทอีกครั้ง ถ้าไข้ยังสูงอีกก็ควรเช็ดตัวอีกครั้งจนรู้สึกดีขึ้น
ยาลดไข้
ก็เป็นสิ่งจำเป็นทุกครั้ง เมื่อมีไข้ตั้งแต่ 38°. ซ. ขึ้นไปควรรับประทานยาลดไข้ตามขนาด และตามเวลาที่แพทย์สั่ง ยาลดไข้มักจะเป็นยาประเภทลดไข้แก้ปวดไปด้วย ที่รู้จักกันดีก็คือ แอสไพริน,พาราเซตามอล, เอ.พี.ซี. ฯลฯ ถ้าเป็นของเด็กเล็กที่กลืนยาเม็ดไมได้จะมีชนิดน้ำเชื่อม สำหรับเด็ก รายละเอียดต่างๆ ดูในคอลัมน์ยาน่าใช้
ดื่มน้ำ
ให้ดื่มน้ำมากๆ น้ำที่ว่านี้นอกจากจะเป็นน้ำดื่ม เครื่องดื่มแล้ว อาหารก็ควรจะมีน้ำอยู่มาก เช่น ข้าวต้ม หรือ โจ๊ก เพื่อให้น้ำขับความร้อนออกทางปัสสาวะ จะสังเกตได้เวลามีไข้ปัสสาวะที่ออกมาจะร้อนมาก ถ้าปัสสาวะที่ออกมาสีเหลืองเหมือนน้ำชา และปริมาณน้อยแสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ฉะนั้นควรได้น้ำเข้าไปให้เพียงพอ (ประมาณ 2-3 ขวดแม่โขงกลมต่อวันหรือกินให้มากพอจนกระทั่งปัสสาวะบ่อย สีใสขึ้น) สำหรับน้ำดื่มจะจำกัดในคนไข้ที่มีอาการบวมเพราะจะทำให้บวมเพิ่มขึ้น
เสื้อผ้า ผ้าห่ม
คนไข้ที่มีไข้สูงๆ ส่วนมากจะมีอาการหนาวสั่นด้วย และพ่อแม่จะหาผ้าห่มมาให้ห่ม หาเสื้อผ้าที่หนาๆ แขนยาวมาให้ใส่กันหนาว การที่ทำเช่นนี้ผิดอย่างมากเพราะจะทำให้ไข้สูงยิ่งขึ้น ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ฉะนั้นเสื้อผ้าควรใส่ชนิดธรรมดาตามฤดูกาล ผ้าห่มควรเป็นผ้าที่เบาบาง อากาศถ่ายเทได้ เช่น ผ้าแพร เป็นต้น
บรรยากาศโดยรอบ
ห้องที่คนไข้อยู่ ไม่ควรมีลมโกรกมากและไม่อับและร้อนเกินไป ควรเป็นห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก พัดลมอาจเปิดได้แต่ควรส่ายไปมา เพื่อไม่ให้ถูกตัวคนไข้มากนัก เพราะจะทำให้มีอาการหนาวสั่นได้ พักผ่อน ควรให้นอนพัก การนอนพัก หมายถึง การลดการออกกำลังกายของร่างกาย เพื่อลดระบบการเผาผลาญอาหารในร่างกายไปด้วย เมื่อการเผาผลาญอาหารน้อย ความร้อนก็จะไม่สูง
การวัดปรอท
ปรอทที่ใช้วัดไข้ มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ใช้วัดทางปากและทางก้น (ดังรูป)
วิธีวัดปรอท
มี 3 วิธี คือ ทางปาก ทางรักแร้ และทางก้น
- ทางปาก ใช้กับคนไข้ที่เป็นผู้ใหญ่ หรือเด็กที่อายุเกิน 5 ขวบ พูดรู้เรื่องไม่กัดปรอทเมื่อเวลาอม
วิธีวัด
1. สลับปรอทก่อน ให้ปรอทที่เป็นสีเงินลงต่ำกว่าขีดเลข 35° ซ. ซึ่งเป็นเลขต่ำสุด ในตารางปรอทที่ใช้วัด ถ้าสลัดให้ปรอทลงไปอยู่ในกระเปาะได้ยิ่งดี แต่ระวังเวลาสลัดปรอทๆ อาจหลุดตกลงแตกได้
2. อมปรอทด้านที่เป็นกระเปาะไว้ใต้ลิ้น ห้ามพูดหรืออ้าปากหรือดึงปรอทออกแล้วอมใหม่ ให้อมปรอทไว้ จับเวลา 3 นาที แล้วเอาออกอ่าน ก่อนอ่านให้เช็ดน้ำลายออกให้หมด วิธีเช็ดควรใช้กระดาษเช็ดมือหรือกระดาษทิชชู จับปรอท แล้วหมุนไปมาพร้อมกับดึงปรอทออกอ่านได้
- ทางรักแร้ วิธีนี้นิยมใช้วัดน้อยมาก แต่อาจจำเป็น เมื่อเวลาเด็กเล็กไม่สบาย ท้องเดิน หรือคนไข้ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก ที่มีอาการหุบปากไม่ลง
วิธีวัด
วิธีการเช่นเดียวกับการวัดทางปาก แต่ใช้เวลา 5 นาที
- ทางก้น วิธีนี้ใช้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 5 ขวบ
วิธีวัด
วิธีการเช่นเดียวกับการวัดทางปาก แต่ลักษณะปรอทที่ใช้วัดจะใช้ปรอทท่สำหรับวัดทางก้น ก่อนวัดจะต้องหล่อลื่นปรอทด้วยวาสลินหรือสบู่ก้อน แล้วค่อยๆ สอดปรอทเข้าไปลึกประมาณ 1-1 1/2นิ้ว จับเวลา 1 นาที ก่อนอ่านควรทำความสะอาดด้วยกระดาษก่อน ห้ามนำปรอทไปทำความสะอาดโดยวิธีล้างน้ำก่อนดู แนะนำให้ใช้กระดาษเช็ดมือหรือกระดาษทิชชู เพื่อมิให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง
การอ่าน
อ่านเป็น องศาเซ็นติเกรด (เซลเซียส) = ซ. องศาฟาเรนไฮท์ = ฟ.
ค่าปกติของอุณหภูมิฌลี่ยประมาณ 37° ซ. หรือ 98.6 ฟ อุณหภูมิที่ถือว่ามีไข้ต่ำๆ คือ อุณหภูมิระหว่าง 37.5-37.9° ซ. อุณหภูมิที่ถือว่าไข้สูงตั้งแต่ 38.5° ซ. ขึ้นไป บางรายอาจเป็น 40 ซ ถึง 41° ซ
วิธีอ่าน
เอียงปรอทไปมาช้าๆ ดูว่า สีเงินของปรอทขึ้นถึงขีดอะไร ซึ่งจะมีเลขกำกับไว้ให้เห็น
ในแต่ละหน่วยหรือทุก 1 (องศา) จะมี 10 ช่องเล็ก ถ้าปรอทขึ้นถึง 1 ช่องเล็ก ก็เท่ากับ 1 ปรอทขึ้นถึง 2 ช่องเล็กจะเท่ากับ 2 และอุณหภูมิที่อ่าน จะได้เป็น 37.1 หรือ 37.2 เป็นต้น
จำนวนครั้งที่วัด
ควรวัดทุก 4 ชั่วโมง จดความร้อนที่วัดได้ทุกครั้ง เพื่อรู้อาการเปลี่ยนแปลง ส่วนมากในช่วงบ่ายไข้จะสูงกว่าเวลาเช้า
ความแตกต่างของอุณหภูมิทั้ง 3 วิธี
- อุณหภูมิทางรักแร้จะต่ำกว่าอุณหภูมิทางปากประมาณ 1 ฟ
- อุณหภูมิทางก้นจะสูงกว่าอุณหภูมิทางปากประมาณ 0.6 ฟ
การทำความสะอาดปรอท
ทุกครั้งที่วัดปรอทเรียบร้อยแล้ว ให้นำปรอทไปล้างด้วยน้ำก๊อกหรือน้ำธรรมดา ห้ามล้างด้วยน้ำร้อนเป็นอันขาด เพราะปรอทจะแตกได้ แล้วนำไปแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์นาน 30 นาที จึงนำไปล้างด้วยน้ำธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วใช้ผ้าหรือกระดาษที่สะอาดเช็ดปรอทให้แห้ง สลัดปรอทให้ลงในกระเปาะ แล้วเก็บเข้าที่ พร้อมที่จะนำมาใช้ในครั้งต่อไป
- อ่าน 110,034 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้