เป็นลมหมดสติ ตอน 2 คนเป็นลมที่คลำชีพจรไม่พบ
การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น
เราอาศัยการสังเกตพบอาการดังนี้ คือ
1. ผู้ป่วยหมดสติโดยสิ้นเชิง
2. คลำชีพจรไม่พบ
3. หยุดหายใจ
การตรวจสามอย่างนี้ต้องทำให้โดยเร็ว ตามธรรมดาไม่ควรเสียเวลานานเกิน 1 นาที เมื่อแน่ใจว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ควรบอกให้คนข้างเคียงรู้หรือไม่ต้องพิจารณาให้ดี ถ้าผู้อยู่ข้างเคียงเป็นญาติสนิท และใจเสาะ ไม่รู้วิธีแก้ไข จะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นได้ เช่น ร้องไห้ หรือเข้ามากอดร่างกายผู้ป่วย ทำให้ปฏิบัติการช่วยเหลือขัดข้อง เราไม่ควรบอก ควรทำการช่วยเหลือทันที แค่ถ้าคนข้างเคียงเป็นเพื่อนซึ่งรู้วิธีช่วยเหลืออยู่บ้างควรจะบอกให้รู้ จะได้ช่วยกันได้เพราะบางทีการทำการช่วยเหลือคนเดียวจะไม่สะดวก
ข้อควรจำ การกระทำต่อไปนี้ควรทำโดยไม่ชักช้า และไม่ลังเลที่จะทำ อย่าทำอย่างลุกลี้ลุกลน หรือเร่งรีบ ควรตั้งสติให้มั่นคง และทำติดต่อกันไปโดยไม่ขาดตอน
วิธีทำ เพื่อให้ง่าย จึงได้วางเป็นหัวข้อให้ทำตามลำดับไป ดังนี้
1. ช่วยการหายใจโดยเป่าลมเข้าไปในปอด
2. ช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายโดยการกดกระแทกหน้าอก ให้ผู้ป่วยนอนราบบนพื้นแข็งและแก้เครื่องรัดกุมออกดังได้กล่าวไว้ตอนที่แล้ว ถ้าผู้ป่วยนอนบนที่นอนที่อ่อนนุ่ม เช่น เตียงสปริง ควรหากระดานแข็งมารองหลัง ถ้าคิดว่าการหากระดานจะทำให้เสียเวลามากเกินไปควรอุ้ม หรือหามผู้ป่วยลงมานอนบนพื้นเสียเลย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการช่วยเหลือสามารถกดหน้าอกได้ถนัด
1. ช่วยการหายใจ
ก่อนอื่นต้องทำทางเดินหายใจให้โล่ง โดยการจับศีรษะให้หงายขึ้นเพื่อไม่ให้ลิ้นตกลงไปอุดที่หลอดลม
ในคนหมดสติ อวัยวะทุกส่วนของร่างกายจะคลายและหย่อนตัว ลิ้นจะตกลงไปอุดทางเดินหายใจ ที่แสดงด้วยเส้นราบขนาน (รูปที่ 5) การที่จับคอหงายขึ้นจะทำให้โคนลิ้นถูกดึงออกมาจากคอหอย และทางเดินหายใจจะโล่ง (รูปที่ 6)
ในผู้ป่วยที่มีของอยู่ในปากควรเอาออก เช่น ฟันปลอมหรือของที่เคี้ยวกินอยู่ ยังไม่ทันกลืนลงไป อาจใช้นิ้วที่พันผ้าล้วงเอาออก การใช้นิ้วพันผ้ามีประโยชน์ 2 อย่าง คือ 1. ทำให้เกิดความฝืด เพราะถ้าใช้นิ้วเปล่าๆ มักจะลื่นดึงไม่ออก 2. ถ้าผู้ป่วยที่ยังไม่หมดสติเสียทีเดียวงับเอา จะได้ไม่เจ็บมากนัก
- อ่าน 7,897 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้