• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดหัว

ปวดหัว

“โรคปวด ระดับชาติ”

ใครบ้างที่ไม่เคยปวดศีรษะ

ปวดศีรษะหรือที่เรามักจะเรียกกันง่ายๆ ว่า “ปวดหัว”นั้น เป็นอาการหนึ่งของโรคที่พบได้บ่อยมาก ทุกครั้งที่ผู้เขียนออกตรวจผู้ป่วยที่ตึกตรวจผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลศิริราช อาการปวดศีรษะเมื่อเป็นอาการที่ผู้ป่วยมาหาแพทย์เป็นประจำ แพทย์คนอื่นๆ ที่ออกตรวจผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราช หรือแม้แต่โรงพยาบาลอื่นๆ ก็คงจะเช่นเดียวกัน คือ ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ ว่าไปแล้วไม่ว่าทั้งไทยและเทศก็เหมือนกันหมด ที่ว่าอาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อย

ถ้าให้ผู้เขียนตอบคำถามข้างบนนั้นจริงๆ เห็นทีจะตอบไม่ได้ถูกต้อง ก็คงจะมีสัก 1 ในล้าน หรือหลายๆ ล้านที่เกิดมาแล้วไม่เคยปวดศีรษะเลยในชีวิตคงต้องย้อนกลับไปถามประสบการณ์ในชีวิตของผู้อ่าน “หมอชาวบ้าน” ดีกว่า ว่าท่านเคยปวดศีรษะบ้างหรือไม่? แลเคยพบใครที่ไม่เคยปวดศีรษะบ้างไหมโปรดแจ้งชื่อและที่อยู่ให้ผู้เขียนทราบถ้าหากตัวท่านองหรือบุคคลอื่นที่ท่านรู้จักไม่เคยมีอาการปวดศีรษะมาเลยเพื่อที่ผู้เขียนจะได้มีโอกาสนำมารายงานให้ผู้อื่นได้ทราบว่าคนที่โชคดี (หรือไม่ดี) อย่างนี้ก็มีด้วย เห็นทีจะต้องมีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับผู้ที่พูดไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่อง ซึม หรือหมดสติ ที่ไม่สามารถจะบอกได้ว่าอะไรคืออะไร หรือแม้ในเด็กเล็ก ถ้าปวดหัวไม่มากก็คงจะไม่ร้องไห้ให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กรู้

ทำไมจึงปวดศีรษะ

ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ปวดเข้าไปในสมอง” หรือแม้แต่ “ปวดเข้าไปในหัวขมอง” คนเหล่านั้นคงจะเข้าใจว่าน่าจีอะไรกระทบกระแทกต่อสมอง จึงทำให้มีอาการปวดศีรษะ ที่จริงในความผิดโดยสิ้นเชิง เพราะเนื้อสมองของมนุษย์นั้นเป็นอวัยวะหนึ่งที่ไม่มีความเจ็บปวดแต่อย่างใด การผ่าตัดสมองอย่างหนึ่งเพื่อรักษาโรคซึ่งภาษาไทยไม่มีชื่อเฉพาะ แต่ฝรั่งเรียกว่า พาร์คินโซนิซึม ในโรคนี้ ประสาทศัลยแพทย์หรือหมอผ่าตัดโรคประสาทจะใช้ยาชาเฉพาะที่ในการผ่าตัด ฉีดยาชาที่หนังศีรษะ แล้วจึงลงมีด ฉีดยาชาที่เยื่อที่ติดกับกะโหลกศีรษะ ต่อจากนั้นจึงใช้เครื่องมือแยงผ่านเนื้อสมองเข้าไปยังบริเวณที่ต้องการจะผ่าตัด มีข้อสังเกตอย่างน้อยก็ 2 ประการในการผ่าตัดนี้ คือ ประการแรก ตลอดเวลาที่ผ่าตัด ผู้ป่วยที่ถูกผ่าตัดสมองนั้นรู้ตัวตลอดเวลา สามารถจะพูดคุยได้ และสามารถเคลื่อนไหวแขนขาของตนเองได้ ประการที่สอง แพทย์ไม่ได้ฉีดยาชาเฉพาะที่ไปที่ตัวกระดูกของกะโหลกศีรษะ (ก็ฉีดไม่ได้อยู่ดีเพราะแข็งต้องใช้สว่านเจาะเพื่อผ่าตัดอยู่แล้ว) และเนื้อสมองเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าทั้งเนื้อสมองและกระดูกกะโหลกศีรษะนั้นไม่มีความเจ็บปวดแต่อย่างใด

ถ้าอย่างนั้นแล้ว อวัยวะอะไรบ้างที่ทำให้ปวดศีรษะได้ คำตอบที่ถูกต้องก็คือ หนังศีรษะ เยื่อหุ้มสมองและหลอดเลือด (เส้นเลือด) ใหญ่ๆ ทั้งที่อยู่ภายนอกและภายในกะโหลกศีรษะและทั้งที่เป็นหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง

หนังศีรษะคงไม่ต้องพูดถึง ถ้าท่านไม่เชื่อว่าทำให้เจ็บปวดได้ก็จงทดลอง “เขกหัว” ท่านดู!

ท่านคงจะได้ยินหรือแม้แต่เคยได้พบผู้ป่วยที่แพทย์บอกว่าเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการสำคัญของโรคนี้ก็คือ ปวดศีรษะ

ท่านเคยมีอาการปวดศีรษะที่มีลักษณะ “ตุ๊บตุ๊บ” คล้าย ๆกับชีพจรหรือหัวใจเต้นบ้างไหม เพราะนั่นแหละเป็นอาการแสดงว่าหลอดเลือดแดงมีการขยายตัวมากกว่าธรรมดา ถึงขนาดทำให้เจ็บปวดขึ้นได้

หลายท่านคงจะสงสัยว่า แล้วเนื้องอกในสมองไม่ทำให้ปวดศีรษะหรือ คำตอบที่ถูกต้องก็คือ เนื้องอกในสมองนั้นจะมีอาการปวดศีรษะหรือไม่มีก็ได้ แต่เมื่อถึงระยะที่มาหาแพทย์ ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกสมองเรียกได้ว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ ทีเดียวมาแพทย์ด้วยเรื่องปวดศีรษะ ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะเนื้องอกนั้นเองไปกด ดึง ดัน หรือ เบียด เยื่อหุ้มสมองหรือหลอดเลือดภายในกะโหลกศีรษะ จึงทำให้เจ็บปวดได้ เมื่อเนื้องอกโตมาก หรือไปอุดกั้นทางเดินขงน้ำหล่อสมองจะทำให้ความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงขึ้นได้มากๆ ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดหัววอย่างรุนแรงได้

 

 

ทำอย่างไรจึงจะหายปวดศีรษะ

คำตอบที่ง่ายและถูกต้องที่สุดก็คือ กินยาแก้ปวด ยาแก้ปวดที่ดีที่สุดก็คือ แอสไพริน

แอสไพรินที่ดีที่สุดและถูกที่สุดก็คือ แอสไพริน ขององค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข แอสไพรินเป็นยาตำราหลวง ราคาต่อหนึ่งร้อยเม็ดคงประมาณ 5 บาท (ห้าบาท) หรือเม็ดละ 5 สตางค์เท่านั้น ในผู้ใหญ่กินครั้งละ 1 เม็ด (เม็ดละ 5 เกรนหรือประมาณ 300 มิลลิกรัม) แล้วดูอาการปวดศีรษะจะหายไปประมาณ 15-30 นาที ถ้าเม็ดเดียวไม่หายจะกิน 2 เม็ดก็ได้ และอาจกินซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรซื้อแอสไพรินที่อ้างว่าเป็นของนอก ราคาแพงกว่าสิบเท่าตัวของแอสไพริน ตำราหลวง อย่าเชื่อคำโฆษณาที่ว่าของนอกดีอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะความจริงแล้วมันเป็นตัวยาแอสไพริน ตัวเดียวกันนั่นเอง ไม่ควรไปซื้อของนอกให้เสียดุลการค้ามากขึ้น ในเมื่อของเราก็เหมือนของนอก ราคาก็ถูกกว่าตั้งสิบเท่าตัว

แต่ถ้าท่านเคยมีอาการปวดท้อง หรือจุกเสียดยอดอก หรือเคยเป็นโรคกระเพาะอาหาร ก็ไม่ควรกินแอสไพรินแก้ปวด เพราะอาจจะมีอันตรายได้ ในกรณีเช่นนี้ท่านควรกิน พาราเซตามอลแทน ยานี้ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมก็มี หรือแม้แต่ผลิตโดยบริษัทยาในประเทศไทยก็มีอีกนับไม่ถ้วน ราคาเม็ดหนึ่งถ้าซื้อปลีกก็ไม่ควรเกินเม็ดละ 25 สตางค์ รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด เช่นเดียวกับแอสไพรินอย่าลืมว่าถ้าท่านไม่เคยมีโรคของกระเพาะอาหาร เสียดยอดอกเวลาหิวหรืออิ่ม กินแอสไพริน เพื่อแก้ปวดศีรษะดีกว่า พาราเซตามอล เพราะแอสไพรินแก้ปวดได้ดีกว่า และถูกกว่าด้วย ถ้าไม่แน่ใจจงกินแอสไพรินก่อนดีกว่า ถ้ามีอาการปวดท้องตามมาจึงเปลี่ยนเป็นพาราเซตามอล

ทั้งแอสไพรินและพาราเซตามอล นอกจากจะแก้ปวดศีรษะได้แล้วยังมีคุณสมบัติแก้ไข หรือลดไข้ได้อีกด้วย ที่จริงยาทั้งสองชนิดนี้แก้ปวดอย่างอื่นๆ ก็ดีอีกด้วย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง และปวดประจำเดือน เป็นต้น ยาอื่นๆ ที่โฆษณากันเกร่อ มีชื่อชวนให้ซื้อหรือแสดงสรรพคุณยาว่าแก้ปวดแก้ไข้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นซอง (ข้างในเป็นผง) ก็มี ปัจจุบันทำเป็นเม็ดก็มี ซองละเป็นบาทหรือมากกว่า ยาเหล่านี้ไม่ควรซื้อมากินเลย ไม่มีสรรพคุณดีไปกว่าแอสไพริน แต่อย่างใด อย่าไปหลงในคำโฆษณาชวนเชื่อที่กรอกหูท่านอยู่ทุกวันๆ

โรคปวดศีรษะที่พบบ่อยๆ

โรคเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องไปหาแพทย์ทันที ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในบทความนี้เสียก่อน เมื่อไม่หายแล้วจึงไปปรึกษาแพทย์ที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลแล้วแต่ว่าที่ใดสะดวกกว่า โรคปวดศีรษะที่พบบ่อยๆ ส่วนมากไม่ต้องไปหาแพทย์ ปฏิบัติตามคำแนะนำก็หาย หรือไม่ก็หายไปได้เอง

ปวดหัวเป็นไข้ เป็นคำพูดที่เราได้ยินกันบ่อยๆ และก็เป็นความจริง ถ้ามีอาการเป็นไข้ ไม่ว่าจะโดยสาเหตุใดก็ตาม เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ไข้ทัยฟอยด์ มาลาเรีย ก็จะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยได้

การรักษาที่ถูกต้องตามหลักแห่งความจริงมากที่สุดก็คือ รักษาสาเหตุแห่งไข้นั่นเอง เช่น เป็นมาลาเรีย ไข้ทัยฟอยด์ ก็กินยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง สำหรับอาการปวดศีรษะที่เกิดร่วมด้วยนั้น ก็รักษาได้ง่ายโดยกินแอสไพริน ยาฆ่าเชื้อ หรือพาราเซตามอล แล้วแต่กรณี ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ปวดหัวนอนไม่หลับ ถ้านอนไม่หลับหรืออดนอน จะโดยสาเหตุใดก็ตามจะทำให้ศีรษะมีอาการหนักตื้อ ปวดทั่วๆ ไปได้ บ่อยครั้งทำให้ความคิดไม่แจ่มใส ถ้าอดนอนเพราะธุรกิจการงาน มีเวลานอนไม่เพียงพอ แล้วรุ่งขึ้นมีความคิดไม่แจ่มใสเช่นนี้กินยาแก้ปวดก็หายปวดศีรษะ อย่างไรก็ดี ถ้านอนไม่หลับจากสาเหตุอื่นหรือจากความกังวลทางจิตใจก็ดี ก็จำเป็นต้องรักษาสาเหตุเสียก่อน อาการปวดศีรษะก็หายไปเองได้โดยไม่ต้องกินยาแก้ปวดแต่อย่างใด

ปวดหัวจากความเครียด พบได้บ่อยมาก มักจะทำให้มีอาการตื้อๆ หรือที่มักจะเรียกกันว่า มึนหัว ถ้าปวดมากจะปวดรอบๆ กะโหลกศีรษะบางครั้งปวดมากที่ท้ายทอยหรือขมับทั้ง 2 ข้างก็ได้ ถ้ามีความเครียดจากการทำงาน หรือถูกแดดร้อนจัดเป็นเวลานานๆ หรือแม้แต่ถูกเย็นจัดนานๆ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ กะโหลกศีรษะบีบตัว หดตัวมากกว่าธรรมดา ทำให้เกิดอาการมึนหัวหรือปวดตื้อๆ ได้ ผู้อ่านหลายคนคงจะเดาได้ว่ามักจะเป็นในเวลาบ่ายๆ หลังจากเคร่งเครียดจากการทำงานหรือจากตากแดดมานานปวดศีรษะเช่นนี้ถ้านอนพักสักครู่ก็จะหายไปได้เอง วิธีป้องกันที่ดีที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด อาการปวดศีรษะก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าปวดมากจริงๆ ก็กินยาแก้ปวดดังได้กล่าวข้างต้นได้

ปวดหัวข้างเดียว หรือปวดหัวซีกเดียวปวดศีรษะแบบนี้ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า มีเกรน หรือ ไมเกรน ปวดข้างเดียวจริงๆ และมักจะปวดที่บริเวณขมับ ทุกครั้งที่ปวดจะปวดตุ๊บๆ เสมอ แต่ก็มักจะมีอาการปวดศีรษะอย่างอื่นผสมโรงด้วยเป็นประจำ โรคนี้อาจเริ่มเป็นมาตั้งแต่อายุน้อยๆ เป็นหายๆ ปวดครั้งหนึ่งๆ นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน บางครั้งมักปวดซ้ำกันอยู่นั่นแหละ เช่น มักปวดเสาร์อาทิตย์ พอถึงวันนี้ก็ปวด เวลาปวด ปวดข้างเดียวจริง แต่แต่ละครั้งจะสลับข้างปวดได้ เช่น คราวนี้ปวดซีกซ้ายต่อมาปวดซีกขวาแล้วก็ซ้ำขวาอีก เป็นต้น บางครั้งมี ตาพร่าตามัว ก่อนปวดศีรษะด้วย และถ้าเป็นมากๆ ถูกแสงสว่างจัดก็ไม่ได้ อาจมีคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และเป็นมากถึงต้องหยุดการหยุดงานก็ได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะรู้ตัวเองและถ้าช่างสังเกตก็อาจจะพอบอกได้ว่าเมื่อไรจะเริ่มเป็น บางรายถ้ามีเรื่องกระทบกระเทือนทางจิตใจหรือทำให้ต้องคิดมากก็อาจจะกระตุ้นให้ปวดศีรษะแบบนี้ได้ปวดศีรษะแบบนี้ถ้าเริ่มเป็นหรือรู้ว่าเป็นกินยาแก้ปวด จะเป็นแอสไพรินหรือพาราเซตามอลก็ได้แล้วแต่กรณีสัก 1-2 เม็ด ก็จะหายหรือทุเลาไปได้ ถ้าหมดฤทธิ์ยาแก้ปวดแล้วอาการปวดศีรษะกลับเป็นมาอีกก็กินยาซ้ำได้อีก

ปวดหัวคิดมาก หรือคิดมากแล้วปวดหัว ถ้ามีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจทำให้ต้องคิดมาก กลุ้มใจหรืออารมณ์หมกมุ่น ก็จะทำให้ปวดศีรษะได้ ยิ่งถ้านอนไม่หลับร่วมด้วยจะทำให้ปวดศีรษะได้บ่อย เรียกว่าร้อยทั้งร้อยทีเดียว แบบนี้มักจะปวดตื้อๆ ทั่วศีรษะความคิดไม่แจ่มใส ต้องการจะทำอะไรก็ไม่มีความตั้งใจทำได้นานพอ เช่นนี้ต้องแก้ไขที่สาเหตุอาการปวดศีรษะจึงจะหายไปได้แน่นอน ยาแก้ปวดไม่ว่าจะเป็นแอสไพริน หรืออย่างอื่นเพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น กินยาแก้ปวดบ่อยๆ แบบนี้ไม่ดี สู้รักษาสาเหตุให้หายคิดมากจะดีกว่า

อะไรอะไรก็ปวดหัว มีความจริงอยู่มากแต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกๆ อย่างจะทำให้ปวดศีรษะ มีหลายอย่างที่ถ้าเกิดมีขึ้นและโดยเฉพาะถ้าเป็นอยู่เป็นเวลานานจะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยได้ เช่น ท้องผูก ท้องเดิน ขาดน้ำ หิวข้าว หรือแม้แต่คนเป็นโรคหัวใจก็มีอาการปวดศีรษะได้ ความสังเกตสังกาของคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สังเกตว่าอะไรที่ไม่ใช่ของ “ปรกติ” ของเรา รู้แล้วก็ควรรีบแก้ไข เช่นนี้จะช่วยบรรเทาอาการ

เมื่อไรจะไปหาแพทย์

ถ้าตอบได้ง่ายที่สุดก็คือ ถ้าเมื่อใดปวดศีรษะเป็นรุนแรงเพิ่มขึ้น เป็นมานาน กินยาแก้ปวดแล้วไม่ทุเลา และมีอาการอื่นร่วมแทรกหรือเป็นร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการตามัวเห็นภาพซ้อนสอง ปวดเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน แขนขาไม่มีแรง เดินเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ทันที แพทย์ในที่นี้หมายถึงแพทย์ปริญญา เช่น ที่โรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลจังหวัดเป็นต้น

ต้องปวดศีรษะรุนแรงแค่ไหนจึงไปหาแพทย์ คำตอบก็คือ เมื่อกินยาแก้ปวดแล้วก็หายปวดศีรษะ หรือกินยาแก้ปวดแล้วอาการปวดศีรษะหายไปก็จริง แต่ต้องกินยาแก้ปวดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ปวดศีรษะติดต่อกันไม่สร่างเลย เช่นนี้ถ้าเป็นเกิน 5 วันก็ควรไปพบแพทย์ ที่จริงผู้ป่วยส่วนมากก็จะได้อยู่ดี ถ้ามีอาการเช่นนี้รีบไปหาแพทย์ รักษาได้เท่าใดยิ่งจะช่วยได้มากเท่านั้น

ถ้าปวดช้ำที่อยู่ตลอดเวลาทำอย่างไร แบบนี้ควรไปหาแพทย์เช่นเดียวกัน เช่นถ้าปวดหัวครึ่งซีก แต่เป็นซีกเดียว เช่น ซีกขวา เช่นนี้ ควรรีบไปหาแพทย์

อาการปวดแทรกอย่างไรต้องไปหาแพทย์ ถ้ามีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการต่อไปนี้ ควรไปหาแพทย์โดยเร็ว คือ ตาพร่ามองเห็นไม่ชัด ลานสายตาแคบลง หรือบางส่วนของลานสายตามืดมองไม่เห็น ปากเบี้ยว แขนขาไม่มีแรง เดินเซ ซักกระตุก หูอื้อหรือหูตึง คอแข็งก้มคอไม่ได้ ซึม พูดไม่รู้เรื่องหรือพูดผิดปรกติ เป็นต้น

ทำไมต้องรีบไปหาแพทย์

มีสาเหตุของโรคปวดศีรษะหลายชนิดที่ต้องใช้ยาพิเศษหรือวิธีพิเศษ เช่น โดยการผ่าตัด ซึ่งแพทน์เท่านั้นที่จะทำได้ โรคประเภทนี้ถ้ายิ่งมาหาแพทย์ได้เร็วเท่าใดก็จะวินิจฉัยและรักษาได้เร็วเท่านั้น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมจึงจะวินิจฉัยได้ถูกต้อง แล้วแพทย์จึงจะรักษาให้หายได้ เช่นเดียวกัน เนื้องอกในสอง ยิ่งวินิจฉัยได้เร็ว ประสาทศัลยแพทย์ (หรือหมอผ่าตัดสมอง) ก็จะสามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกมาได้ สมัยนี้ทั้งการผ่าตัดและยาต่างๆ เจริญไปมาก โอกาสที่ผู้ป่วยต้องได้รับความทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวดหรืออื่นๆ นับว่ามีน้อยมากหรือเรียกว่าไม่มีเลย

ก่อนไปหาแพทย์ทำอย่างไร

เมื่อไปหาแพทย์ แพทย์มักจะต้องถามอาการโดยละเอียด อย่าลืมว่าแพทย์ไม่ใช่ หมอดู หรือ โหรที่จะดูวันเดือนปีเกิดหรือดูลายมือแล้วบอกว่าเป็นโรคอะไรได้ แพทย์ต้องวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรเสียก่อนแล้วจึงจะรักษาสาเหตุของโรคนั้นๆ ได้ถูกต้อง การที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำ ก็โดยการวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ดังนั้นการเตรียมตัวที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยก็คือ พยายามสังเกต จดจำหรือบันทึกอาการปวดศีรษะ และการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรจะรู้ว่า ปวดศีรษะตรงไหนมาก ปวดมานานเท่าใด ลักษณะการปวดเป็นเช่นไร (เช่น ปวดตุ๊บ ตุ๊บ ปวดตื้อๆ ปวดร้าว) ปวดถี่แค่ไหน ครั้งละนานเท่ใด ปวดมากเวลาไหน ทำอย่างไรจึงจะหายปวดหรือปวดมากขึ้น มีอาการอื่นใดร่วมด้วยบ้าง รักษาอย่างใดมาแล้วบ้างและได้ผลอย่างใด การบอกประวัติเหล่านี้โดยละเอียดและแม่นยำเท่าใดจะทำให้แพทย์วินิจฉัยได้เร็วเท่านั้น ถ้าให้ประวัติไม่ละเอียดก็หมายถึงว่า แพทย์อาจต้องทำการสืบค้นเพิ่มเติมมากขึ้น การตรวจบางอย่างก็เจ็บตัวและเสียเงินมาก ดังนั้นจึงควรมีความสังเกตและบันทึกอาการผิดปรกติของตนเองเพื่อความสะดวกแก่ทุกๆ ฝ่ายและเป็นการประหยัดอีกด้วย

 

ข้อมูลสื่อ

2-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 2
มิถุนายน 2522
อื่น ๆ