• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำอย่างไรจึงนั่งได้สบาย

การนั่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ ทุกวันนี้เราใช้เวลานั่งวันละหลายชั่วโมง ออกจากบ้านนั่งรถยนต์ รถเมล์ เรือยนต์ เรือข้ามฟาก รถไฟ มาที่ทำงาน นั่งทำงาน นั่งกินอาหารเที่ยง (คงมีน้อยคนที่ยอมยืนกินอาหาร) กลับบ้านนั่งรถนั่งเรือ เมื่ออยู่ในบ้านนั่งกินอาหารเย็น นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ นั่งฟังวิทยุ นั่งดูโทรทัศน์ บางคนจึงใช้เวลานั่งอาจรวมกันเกินกว่า 10 ชั่วโมงด้วยซ้ำ

การนั่งอาจนั่งบนพื้น คือนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งทอดน่อง (เหยียดเข่าให้ตรงทั้ง 2 ข้าง) นั่งบนเก้าอี้ นั่งในเก้าอี้โซฟา นั่งบนม้านั่ง

เก้าอี้ที่ใช้มีหลากหลายและราคาตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาทจนถึงชนิดมีเครื่องนวดหลัง ราคาหลายหมื่นบาท และผู้ขายมักจะรู้จิตวิทยาของมนุษย์ที่ชอบโอ้อวด จึงตั้งชื่อตามความแพงของเก้าอี้ เช่น เก้าอี้ประธาน เก้าอี้พนักงานชั้นสูง เก้าอี้ผู้จัดการ ทำให้อดนึกถึงการชิงบัลลังก์องค์จักรพรรดิหรือราชาในภาพยนตร์และโทรทัศน์ไม่ได้

ประเพณีการนั่งของไทยนั้นคือการนั่งอยู่บนพื้น ไม่ใช่นั่งอยู่บนเก้าอี้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของยุโรป
ท่านั่งเป็นท่าที่ต้องมีปัจจัยหลายอย่างคือ

กระดูกหลังต้องตรง
กล้ามเนื้อหลังต้องสามารถยึดหลังให้อยู่ในท่าตรงได้ มิฉะนั้นจะเกิดอาการปวดหลัง ปวดคอ และหลังคร่อมหลังเบี้ยวตามมา ก้นต้องสัมผัสกับพื้นที่จะนั่ง รวมถึงพื้นเก้าอี้

ธรรมชาติได้สร้างกระดูกก้นซึ่งเป็นส่วนต่อของกระดูกเชิงกราน การนั่งบนกระดูกก้นจะนั่งได้นานและไม่ปวด เพราะมีผิวกระดูกค่อนข้างกลมและราบเรียบ

ในลิงกระดูกก้นจะเห็นได้ค่อนข้างชัดมีลักษณะเป็นไตแข็งที่บริเวณก้นลิง แต่ในมนุษย์กระดูกก้นถูกปกคลุมด้วยกล้ามเนื้อก้นอีกทีหนึ่ง หลายๆ คนไม่ได้นั่งบนกระดูกก้นทั้งสองข้าง แต่กลับนั่งบนกระดูกก้นกบซึ่งแหลมและงออยู่ตรงกลางก้นเมื่อนั่งในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน

ในที่สุดถ้านั่งเป็นเวลานานในท่านี้ จะเกิดการอักเสบอย่างฉับพลัน และเจ็บปวดมากที่รอยต่อระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บและกระดูกก้นกบ ทำให้แทบจะนั่งลงไม่ได้ ต้องรีบรักษาทางกายภาพบำบัด หรือผ่าตัดเอากระดูกก้นกบออก

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งของการนั่งคือการจัดขาและเท้า ท่านั่งที่มั่นคงที่สุดคือ ท่านั่งขัดสมาธิ โดยให้สองเข่างอและเท้าทั้งสองไขว้เข้าหากัน ท่านี้ทำให้หลังตรงไม่ปวดเมื่อยเมื่อต้องนั่งนานๆ หายใจสะดวกและยังเพิ่มความสง่างามเมื่อผู้อื่นได้พบเห็น

การนั่งบนเก้าอี้ ฝ่าเท้าทั้งสองต้องวางอยู่บนพื้นเข่างอเข้าเป็นมุมฉาก หลังตรงพิงบนพนักพิง เก้าอี้ในเมืองไทยส่วนหนึ่งเลียนแบบมาจากเก้าอี้ที่มาจากตะวันตกจึงทำให้นั่งไม่สบาย พื้นเก้าอี้มักจะกว้างใหญ่เกินไป หลังพิงไม่ถึงพนักเก้าอี้ เท้าห้อยโตงเตงเหยียบไม่ถึงพื้น และที่ร้ายแรงคือ

เมื่อเก้าอี้สูงเกินไปทำให้คอต้องก้มลงทำงานเขียนหนังสือ ทำให้ปวดคอและอาจมีอาการปวดร้าวลงแขนข้างหนึ่งข้างใดจากการถูกกดทับของรากประสาทคอที่ออกจากสองข้างของกระดูกคอ

การนั่งบนเก้าอี้ที่นิ่มเกินไปทำให้กล้ามเนื้อหลังออกแรงได้ไม่สะดวก ทำให้หลังคร่อมและอาจลงน้ำหนักที่กระดูกก้นกบ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เก้าอี้ทำงานควรมีพื้นเก้าอี้ที่เรียบแน่น และค่อนข้างแข็ง เก้าอี้ที่ดีที่สุดทำมาจากไม้เนื้ออ่อน ไม่ใช่ใยแก้ว หรือหุ้มด้วยฟองน้ำ

การนั่งพักผ่อนในเก้าอี้โซฟาขณะอ่านหนังสือ คุยกันหรือดูโทรทัศน์นั้น มักจะมีพื้นเก้าอี้ที่ใหญ่และนิ่มเกินไป ทำให้ผู้นั่งจมไปในเก้าอี้โซฟา ควรออกแบบเพื่อคนไทย ซึ่งมีโครงร่างแตกต่างกับชาวตะวันตกและมีที่วางแขนพอเหมาะไม่ต้องกางแขนออก ซึ่งไม่สบายและเมื่อยมากขึ้นอีก เก้าอี้ผ้าใบและเก้าอี้โยกเป็นเก้าอี้สำหรับนอนมากกว่านั่งและทำให้ปวดหลังได้ง่าย

การนั่งบนม้านั่ง หรือเก้าอี้ไม่มีพนักพิง ควรเป็นเก้าอี้สี่เหลี่ยมมีพื้นเก้าอี้และฐานใหญ่พอสมควร ม้านั่งเหมาะสำหรับการทำงานชั่วคราวเท่านั้น การนั่งทำงานเป็นเวลานานควรมีพนักเก้าอี้สำหรับพิง

โรงงานทำเก้าอี้เหล็กมักจะทำพนักเก้าอี้มีสปริงอ่อนเกินไป ทำให้ไม่ได้ช่วยค้ำจุนการพิงของหลัง ทำให้ปวดหลังมาก พนักเก้าอี้ที่ดีควรจะมีส่วนโค้งเข้ากับกระดูกบั้นเอว แต่ไม่ต้องสูงเกินกว่าไหล่ เก้าอี้ผู้จัดการมักถูกออกแบบให้มีพนักพิงที่สูงมากจนสามารถนอนพิงได้ ซึ่งไม่ใช่รูปแบบเก้าอี้ทำงานแต่เป็นเก้าอี้ใช้ในรถทัศนาจรมากกว่า

ประเทศไทยมีอุณหภูมิของอากาศค่อนข้างร้อน ดังนั้นนอกจากในห้องทำงานที่ปรับอากาศเท่านั้นที่เก้าอี้อาจบุด้วยหนังเทียม หรือกำมะหยี่ เก้าอี้ทำงานทั่วไป ควรทำด้วยไม้ ซึ่งใช้ได้ทุกสถานที่และโอกาส

มีเก้าอี้ไม้ที่ทำมาจากประเทศเชโกสโลวะเกีย ที่สมัยหนึ่งเคยนิยมกันมาก เป็นเก้าอี้ที่มีพื้นเก้าอี้รูปร่างกลมต่ำลงที่ส่วนกลางของพื้นวงกลม และมีพนักพิงเป็นส่วนโค้งประกอบจากแท่งไม้ เก้าอี้รุ่นนี้เหมาะกับเมืองไทยมาก เพราะทั้งสบายไม่ร้อนและหลังตรงทำให้ไม่ปวดหลัง แต่เนื่องจากสั่งจากนอก ราคาจึงแพงเกินเหตุ ซึ่งถ้าทำในประเทศไทยได้จะมีราคาถูกลงมาก

เมื่ออยู่ในบ้าน แทนที่จะต้องซื้อเก้าอี้มาวางเต็มบ้าน ลองนั่งขัดสมาธิบนพื้นไม้ หรือแคร่ไม้ในลักษณะไทยๆ บ้างคงจะดี เพราะเมื่อนั่งเมื่อยแล้ว ยังสามารถล้มตัวลงนอนได้อย่างสบายๆอีก และถ้าจะห้อยเท้าลงข้างแคร่หรือมีหมอนสามเหลี่ยมไว้พิงหรืออิงย่อมทำได้เสมอ ที่สำคัญคือโอกาสที่จะเกิดอาการปวดหลังจะน้อยลงกว่าการนั่งบนเก้าอี้ทั่วๆไป

ลองมานั่งกันสบายๆกันเถิด

 

ข้อมูลสื่อ

104-024
นิตยสารหมอชาวบ้าน 104
ธันวาคม 2530
บุคลิกภาพ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข