• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารกับการเจ็บป่วย

อาหารกับการเจ็บป่วย

เรื่องของการเจ็บป่วยเป็นเรื่องของที่หนีกันไม่พ้นในชีวิตเรา แต่เมื่อเกิดแล้ว ทุกคนก็อยากหายเร็ว ไม่มีผลแทรกซ้อนหรือพิการจากการเจ็บป่วย อาหารการกินก็เป็นเรื่องสำคัญในยามเจ็บป่วย ถ้าละเลยไม่เอาใจใส่ในเรื่องนี้ก็อาจซ้ำเติมโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่แล้วให้เลวร้ายยิ่งขึ้นได้ครับ

การเจ็บป่วยมีผลกระทบกระเทือนภาวะโภชนาการอย่างใด

ถึงแม้ว่าเรามีภาวะโภชนาการดีมาก่อน แต่เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้น โรคที่เป็นอยู่อาจคุกคามทำให้ต้นทุนเดิมด้านโภชนาการที่ดีอยู่แล้วร่อยหรอลงได้ ถ้าหากต้นทุนเดิมแย่อยู่แล้ว การเจ็บป่วยอาจซ้ำเติมให้ภาวะโภชนาการเลวร้ายกว่าเดิม มาถึงตอนนี้ผมก็อยากให้ท่านทราบว่า การเจ็บป่วยมีผลกระทบกระเทือนต่อภาวะโภชนาการได้หลายวิธีครับ ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้

1. อาการเบื่ออาหาร

การเบื่ออาหารเป็นอาการที่พบบ่อยเมื่อเกิดการเจ็บป่วย เมื่อผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า เจ็บปวด หวาดกลัววิตกกังวล หรือแม้แต่ยาบางชนิดที่ผู้ป่วยกินอยู่ สามารถทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารได้ โรคบางชนิด เช่น ตับอักเสบ นอกจากมีอาการเบื่ออาหารแล้ว อาจรุนแรงถึงขั้นคลื่นไส้อาเจียนได้

ความรู้สึกเรื่องรสอาหารอาจเปลี่ยนแปลงได้ในระหว่างเจ็บป่วยทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีขีดระดับความรู้สึกรสหวานสูงกว่าคนปกติ การปรุงแต่งอาหารให้มีรสหวานมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยกินอาหารได้ดีขึ้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางรายไม่ยอมกินเนื้อสัตว์บ่นว่า เนื้อสัตว์มีรสชาติเลว บางคนว่า เนื้อสัตว์ที่เอามาให้กินเป็นเนื้อเน่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มีขีดระดับความรู้สึกด้านรสขมต่ำลงครับถ้าหากจัดอาหารประเภทไข่ เป็นตัวให้โปรตีนแทนเนื้อสัตว์ก็จะช่วยไม่ให้ขาดโปรตีนได้

2. การดูดซึมของอาหารเป็นไปได้ไม่ดี

โรคบางอย่างทำให้การดูดซึมของอาหารเป็นไปได้น้อยลง เช่น คนไข้ที่เป็นโรคท้องเดินเนื่องจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง จะสูญเสียน้ำและเกลือแร่บางชนิด ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยอาจถึงแก่กรรมได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธิปากขอเกิดอาการซีดได้ เพราะตัวพยาธิที่เกาะอยู่ที่เยื่อบุของลำไส้ของผู้ป่วยจะดูดกินเลือด ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดซึ่งเท่ากับสูญเสียเหล็กไปด้วยถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับยาถ่ายเอาตัวพยาธิออก และเหล็กเสริมเพียงพอแล้วย่อมขาดเหล็ก ทำให้ร่างกายมีเหล็กไม่เพียงพอสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดง เกิดอาการซีดได้

3. การสูญเปล่าของสารอาหารเนื่องจากการทำลาย

โรคติดเชื้อและการอักเสบมีผลทำให้ร่างกายเกิดการขับถ่ายสารประเภทไนโตรเจน ซึ่งได้จากการเผาผลาญโปรตีนในร่างกายเราออกมาในปัสสาวะมากขึ้น ถ้าหากเราไม่สามารถหยุดยั้งการเจ็บป่วยดังกล่าวได้ และให้อาหารโปรตีนได้เพียงพอแล้ว ก็จะทำให้เกิดการขาดโปรตีนถ้าเป็นรุนแรงก็จะเห็นว่า กล้ามเนื้อแขนและขาลีบลง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อและการอักเสบยังสูญเสียเกลือแร่ และวิตามินบางชนิดออกมามากในปัสสาวะด้วย

4. สารอาหารถูกใช้มากเกินไป

ในระหว่างที่มีไข้ร่างกายมีการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ มากขึ้น ถ้ากินเข้าไปไม่พอก็เกิดโรคขาดสารอาหารได้ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อและมีไข้ ต้องการวิตามินบีหนึ่งมากขึ้น เพื่อไปใช้เร่งปฏิกิริยาการเผาผลาญสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้เกิดเป็นกำลังงาน ถ้าได้วิตามินบีหนึ่งไม่พอก็เกิดเป็น โรคเหน็บชาได้

5. ร่างกายไม่สามารถนำสารอาหารไปใช้เป็นประโยชน์

ในระหว่างเป็นโรคติดเชื้อ หรือเกิดการอักเสบ ร่างกายอาจสูญเสียสารอาหารไปได้โดยถูกอาบัด เช่น เหล็กอาจถูกเซลล์บางชนิดในร่างกายจับไว้ ไม่สามารถนำเหล็กมาสร้างเม็ดเลือดแดงได้ เป็นต้น นอกจากนี้สารอาหารบางชนิดอาจถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสารอื่น ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็ได้

สิ่งที่ผมเล่ามาแล้ว คงชี้ให้ท่านเห็นแล้ว การเจ็บป่วยมีแต่ผลไม่ดีต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วย ถ้าโรคชนิดใดมีผลกระทบทั้ง 5 ประการที่กล่าวมาแล้ว ก็จะทำให้เกิดโรคขาดสารอาหารได้เร็วขึ้นเมื่อเกิดการเจ็บป่วย

บทบาทของอาหารยามเจ็บป่วย

นับตั้งแต่สมัยฉิปโปคราติส (บิดาแห่งการแพทย์ของโลก เกิดในสมัยเมื่อ 2200 ปีมาแล้ว) ท่านได้เน้นถึงความสำคัญของอาหาร และโภชนาการต่อสุขภาพของคน ถ้าหากเราได้อาหารดีมีคุณค่าทางโภชนาการ ร่างกายก็อยู่ในสภาพที่เรียกว่า ภาวะโภชนาการดี ไม่เป็นโรคขาดสารอาหารหรือได้อาหารมากเกินไป ในขณะเดียวกันการมีภาวะโภชนาการดียังช่วยทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อโรคติดเชื้อต่างๆ ซึ่งพบบ่อยในบ้านเรา

เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้น ในด้านโภชนาการมีแต่ขาดทุน เพราะการเจ็บป่วยมีผลกระทบกระเทือนต่อภาวะโภชนาการอย่างที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าหากผู้ป่วยได้อาหารเพียงพอ ถูกสัดส่วน และเหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่แล้ว ก็จะมีส่วนรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคที่เป็นอยู่ ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดโรคขาดสารอาหารร่วมอยู่ด้วยแล้ว อาหารดีย่อมบำบัดความผิดปกติดังกล่าวได้

อาหารอะไรที่เรียกว่ามีคุณค่าทางโภชนาการ

มาถึงตอนนี้ผมคิดว่าอ่านเข้าใจถึงอาหารที่เราเรียกว่ามีคุณค่าทางโภชนาการนั้นคืออะไรเสียก่อน ถ้าเรานำอาหารที่คนไทยเรากินกันอยู่เป็นร้อยเป็นพันชนิดมาวิเคราะห์ทางเคมี จะพบว่า มีสารประกอบอยู่มากมายหลายชนิด โดยอาศัยหลักคุณค่าทางโภชนาการ เราสามารถจัดสารประกอบต่างๆ ในอาหารออกเป็น 6 ประเภท คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ สารอาหารทั้ง 6 กลุ่มนี่แหละครับที่เรียกว่า สารอาหาร ร่างกายคนเราประกอบด้วยสารอาหารเหล่านี้ และการทำงานของร่างกายจะเป็นปกติอยู่ได้ก็ต่อเมื่อได้สารอาหารทั้ง 6 ประเภทนี้ครบถ้วน

สำหรับความสำคัญของสารอาหารต่างๆ ต่อร่างกายเรานั้นมีดังนี้ครับ พวกคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเผาผลาญก่อให้เกิดกำลังงานเปรียบเหมือนกับการเผาไหม้ของน้ำมันเบนซิน ทำให้รถยนต์เดินได้ ตัวโปรตีนเองยังมีส่วนสำคัญต่อการสร้างเซลล์ เนื้อเยื่อ และสารอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ฮอร์โมน เอ็นซัยม์ (น้ำย่อย) เป็นต้น เมื่อใดร่างกายได้อาหารที่ให้กำลังงานจากคาร์โบไฮเดรตและไขมันเพียงพอแล้ว ก็จะสงวนโปรตีนไว้ใช้เพื่อหน้าที่ประการหลังมากกว่า ส่วนวิตามินเกลือแร่และน้ำมัน แม้จะไม่ให้กำลังแก่ร่าง ร่างกายก็ขาดสารเหล่านี้ไม่ได้ เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้ร่างกายปฎิกิริยาต่างๆ ภายในร่างกายดำเนินอยู่ได้โดยมีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการทำงานของโปนตีน และคาร์โบไฮเดรต

สารอาหารทั้ง 6 ประเภทนี้มีอยู่ในอาหารหลัก 5 หมู่ของคนไทยเราแหละครับ ถ้าในวันหนึ่งๆ เราได้อาหาร 4 หมู่ครบถ้วน อย่างที่กล่าวไว้แล้วใน หมอชาวบ้าน ครั้งที่แล้ว

โภชนบำบัดคืออะไร

ผมขอให้ความหมายของคำว่าโภชนบำบัดง่ายๆ ดังนี้ คือ การจัดอาหารให้ผู้ป่วย โดยใช้หลักทางโภชนาการให้เหมาะสมกับโรค อาหารที่จัดให้หรือแนะนำให้ผู้ป่วยกิน อาจเป็นหลักในการรักษาโรคหลายชนิดผู้ป่วยอาจไม่ต้องใช้ยาเลย หริถ้าต้องกินยาก็ในจำนวนที่น้อยลง เช่น ผู้ป่วยที่มีโคลเลตเตอรอล* ในเลือดสูง การลดการกินอาหารที่มีโคลเลตเตอรอลสูงและไขมันสัตว์ลง ร่วมกับการใช้น้ำมันพืชที่ได้มาตรฐาน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด จะมีส่วนลดระดับโคลเลตเตอรอลในเลือดได้ หรือในผู้ป่วยโรคเบาหวาน การลดหรือการงดใช้น้ำตาลในการปรุงอาหาร เลิกกินขนมหวานตลอดจนจัดปริมาณที่กินในแต่ละวันให้ได้กำลังงานที่เหมาะ ล้วนมีส่วนใช้คนในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

คนที่มีอาการท้องผูกถ้าเพิ่มการกินผักและผลไม้ซื่งให้ใยอาหารมากขึ้นความผิดปกติดังกล่าวก็ดีขึ้น ในโรคบางชนิด เช่น โรคตับแข็ง หรือโรคไตล้มเหลว (ไตพิการ ทำงานไม่ได้) แบบเรื้อรัง ถ้าจัดอาหารให้เหมาะสม อาหารจะมีส่วนช่วยบรรเทาอาการของโรคที่เป็นอยู่ และป้องกันโรคแทรกซ้อนบางอย่างไม่ให้เกิดขึ้น เช่น ผู้ป่วยทั้งสองประเภทที่กล่าวแล้วต้องได้อาหารที่ให้กำลังงานเพียงพอ ต้องจำกัดอาหารที่พอเหมาะ และชนิดของโปรตีนที่กินต้องเป็นพวกที่มีคุณค่าสูง เป็นต้น

อาหารที่ดัดแปลงในยามเจ็บป่วย

อย่างที่กล่าวมาแล้วในยามเจ็บป่วย อาจต้องอาศัยหลักโภชนบำบัดดัดแปลงอาหารให้เหมาะสมกับโรคหรือสภาพที่เป็นอยู่ พูดง่ายๆ คือ ต้องกินอาหารที่ดัดแปลงไปจากภาวะปกติรายละเอียดของอาหารแต่ละโรคก็ต่างกันไป แต่ก็พอจัดชนิดของอาการที่ดัดแปลงในยามเจ็บป่วยเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้ครับ

1. อาหารที่ดัดแปลงในเรื่องความแข็งและความเหลว อาหารที่อยู่ในกลุ่มนี้มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ

อาหารอ่อน เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเหมือนอาหารปกติ แต่ต้องจัดอาหารให้มีลักษณะเปื่อยนุ่ม ทำให้ไม่ต้องเคี้ยวมากเวลากิน และอาหารอ่อนเมื่อถึงกระเพาะอาหารควรย่อยได้ง่ายด้วยเมื่อพูดถึงอาหารอ่อน ชาวบ้านเรามักจะเข้าใจว่าเป็นข้าวต้ม กินกับกับข้าวบางชนิด เช่น กุ้งแห้งยำ ซีเซ็กฉ่าย เป็นต้นครับเรื่องนี้จะต้องระวังว่ากับข้าวที่จัดให้ผู้ป่วยกิน ต้องได้สารอาหารครบถ้วนด้วย เราจึงจะเรียกว่า อาหารอ่อน เช่น ผู้ป่วยยังกินเนื้อสัตว์ได้ เพียงแต่ต้องเอาส่วนของพังผืดออกไป ซึ่งเหนียวทำให้ย่อยยาก และสับหรือบดเนื้อสัตว์ให้ละเอียด อาหารอ่อนนี้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเคี้ยว หรือระบบการย่อย

อาหารน้ำใส เป็นอาหารที่มีลักษณะเหลว ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำซุป

อาหารน้ำข้น ก็เป็นอาหารที่มีลักษณะเหลวอีกแหละครับ แต่มีลักษณะข้นขึ้น เช่น น้ำข้าว น้ำผลไม้ น้ำเชื่อม เป็นต้น

ทั้งอาหารน้ำใสและอาหารน้ำข้นมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ครบถ้วนจึงใช้เฉพาะ ในระยะที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เกี่ยวกับการเคี้ยว การกลืนและการทำงานของระบบทางเดินอาหารยังไม่ดี ไม่ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารประเภทนี้เกิน 7 วัน และถ้าจะให้ดีผู้ป่วยควรได้อาหารทางเลือดดำร่วมด้วย

2. อาหารที่ดัดแปลงในเรื่องปริมาณกำลังงาน บางครั้งแพทย์อาจกำหนดให้ผู้ป่วยกินอาหารที่ให้ปริมาณกำลังงานเหมาะสมกับโรค เช่น ผู้ป่วยโรคอ้วนต้องกินอาหารที่ให้กำลังงานน้อยลง เพื่อลดน้ำหนักตัวเพราะร่างกายจะนำเอาไขมันที่สะสมไว้มาใช้เป็นกำลังงาน ในด้านตรงกันข้าม ผู้ป่วยผอมแห้งก็ต้องกินอาหารที่ให้พลังงานมาก น้ำหนักตัวถึงจะเพิ่มได้

3. อาหารที่เพิ่ม หรือลดปริมาณอาหารบางชนิด เช่นผู้ป่วยที่มีโฆเลสเตอรอลในเลือดสูง ควรกินโฆเลสเตอรอลให้น้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคขากโปรตีน ก็ต้องได้โปรตีนมากขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้เมื่อกินกุ้ง ก็ไม่ควรกินอาหารชนิดนี้ เป็นต้น

4. อาหารที่ดัดแปลงในเรื่องรสชาติ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร ไม่ควรกินอาหารรสเผ็ดเป็นต้น

ท่านกับอาหารในยามเจ็บป่วย

ผมหวังว่าเรื่องอาหารกับการเจ็บป่วยนี้คงทำให้ท่านได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของโภชนาการในภาวะเจ็บป่วย เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นสิ่งสำคัญคือ ต้องกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่หลงงมงายในเรื่องของแสลง ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้กินอาหารที่มีคุณค่าครับ สิ่งที่ผมเล่ามาในเรื่องอาหารกับการเจ็บป่วย เป็นเพียงการโหมโรงเท่านั้น รายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทของโภชนาการในโรคต่างๆ เห็นจะต้องไว้คุยกันวันหน้าครับ

เชิงอรรถ

โคลเลตเตอรอล เป็นสารประเภทไขมันชนิดหนึ่ง มีมากในไข่แดง และน้ำมันสัตว์ ถ้ามีอยู่ในเลือดสูงเกินไป อาจทำให้เส้นเลือดแข็งตัว เป็นโรคความดันเลือดสูง และเส้นเลือดหัวใจตีบได้

ข้อมูลสื่อ

2-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 2
มิถุนายน 2522
กินถูก...ถูก
นพ.วิชัย ตันไพจิตร