ช็อค
เราเคยได้ยินคำว่า ช็อค มานานแล้ว และบางทีชินหูเสยจนไม่รู้ความหมายของมันว่าเป็นอะไรกันแน่ ในทางการแพทย์ ช็อค หมายถึง ภาวะที่ร่างกายหมดความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ เหตุที่สำคัญที่สุดก็คือ เลือดไม่สูบฉีดไปหล่อเลี้ยงร่างกายส่วนต่างๆ ได้อย่างพอเพียง
ความบกพร่องที่ทำให้เลือดไม่ถูกสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายมีหลายอย่าง ที่นับว่าสำคัญมี 2 อย่าง คือ
1. หัวใจทำงานไม่ได้เต็มที่ หรือหยุดทำงานไปเลย
2. ปริมาณของเลือดลดลง
ความบกพร่องนี้มีสาเหตุมากมาย จะกล่าวถึงเฉพาะที่สำคัญเท่านั้น
ก. สาเหตุที่ทำให้หัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือหยุดไปเลย ได้แก่
1. เลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อย หัวใจอาศัยหลอดเลือดชื่อ โคโรนารี่ ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อของหัวใจ หลอดเลือดนี้อาจตีบ หรือตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อย หัวใจจะทำงานได้ไม่เป็นปกติ
2. ผู้ป่วยได้รับยาเกินขนาดหรือแพ้ยา ยาหลายชนิดมีฤทธิ์กดกล้ามเนื้อหัวใจ ทำการทำงานของหัวใจทำได้ไม่เต็มที่
3. ผู้ป่วยที่ขาดอากาศนานๆ เช่น อยู่ในห้องอับทึบ อากาศถ่ายเทไม่ได้หรือถูกอบในห้องที่มีแก๊ส เช่น แก๊สหุงต้ม แก๊สจากท่อไอเสียรถยนต์ เป็นต้น พวกที่จมน้ำหรือสำลักอาหารก็เกิดได้เช่นเดียวกัน
4. ผู้ป่วยที่ถูกไฟฟ้าช็อต (จะกล่าวละเอียดในบท เรื่องไฟฟ้าช็อต)
ข. สาเหตุที่ทำให้ปริมาณของเลือดน้อยลง สาเหตุนี้นับเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดเกี่ยวกับเรื่องช็อค เป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ และถ้ารู้และแก้ไขได้ทันท่วงที ผู้ป่วยจะรอดชีวิตเสมอ
1. เลือดออก เลือดออกจากภายนอก มองเห็นได้ และห้ามเลือด (ตามวิธีที่จะได้กล่าวถึงในเรื่องเกี่ยวกับการห้ามเลือด) เลือดที่ออกภายใน เช่น ออกในช่องท้อง ช่องปอด หรือออกจากกระดูกหัก
2. เสียน้ำออกไปจากร่างกายมาก ได้แก่ พวกถูกไฟไหม้ ท้องเดินอย่างมาก และพวกหอบแดด เป็นต้น
อาการช็อค
ช็อค จะมีอาการเริ่มแรก เช่นเดียวกับเป็นลม คือ มีอาการหน้ามืด วิงเวียน มือเท้าอ่อนแรง อยากล้มตัวลงนอน หายใจไม่เต็มอิ่ม ใจหวิว มืออาจสั่น และตาลาย หน้าซีดหรือเขียวอาจมีเหงื่อออกซิบๆ ชีพจรเบาเร็วแลหายใจหอบ ความดันเลือดตก ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย จมูกบานเข้าออกพร้อมกับการหายใจ ไม่ค่อยพูดเพราะเหนื่อย อาการอาจไม่ครบทุกอย่างตามที่กล่าวมาแต่จะมีมากบ้างน้อยบ้าง ตามความรุนแรงของอาการ ถ้าช็อคอยู่นานสมองจะขาดเลือดมากทำให้หมดสติได้
การปฐมพยาบาลของอาการช็อค
ช็อค เกิดจากสาเหตุใดๆ ก็ตามการรักษาเริ่มแรกเหมือนกันหมด คือ พยายามให้มีการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น อวัยวะที่ทนต่อการขาดเลือดได้น้อยที่สุด คือ สมอง หัวใจ และไต ดังนั้นการให้ผู้ป่วย
1. นอนราบ เลือดจะได้ไปเลี้ยงสมองได้พอเพียง พร้อมกับจะทำให้หัวใจทำงานน้อยลงด้วย ควรยกเท้าให้สูงขึ้น (รูปที่ 1) ไม่ควรในนอนหัวต่ำ เพราะจะทำให้อวัยวะในช่องท้องดันกะบังลมข้ามาเบียดที่ในอก ทำให้หายใจได้น้อยลง
2. ถ้ามีเลือดออกจากภายนอก ต้องห้ามเลือด ตามวิธีที่เหมาะสม
3. ถ้ามีกระดูกหัก ต้องใส่เฝือกชั่วคราว เพราะป้องกันไม่ให้เสียเลือดมาก และทำให้ไม่เจ็บปวดเพิ่มขึ้น
4. ถ้าอากาศเย็นหรือหนาวควรให้ความอบอุ่น เช่น คลุมด้วยผ้าห่มไม่ควรใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรือขวดน้ำร้อนวาง เพราะคนที่ช็อคอาจมีความรู้สึกตัวไม่ดี กระเป๋าน้ำร้อนอาจลวกผิวหนัง ทำให้เป็นแผลน้ำร้อนลวกได้ ถ้าอากาศร้อนควรเปิดให้ลมโกรกได้สะดวก ถ้าไม่มีลมอาจใช้พัดโบก อาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว ถ้าจะคลุมผ้าควรใช้ผ้าบางๆ คลุม
5. ถ้าให้น้ำเหลือเพื่อทดแทนปริมาตรของเลือดที่เสียไป ที่ดีที่สุด คือ ให้น้ำทางหลอดเลือด อาจใช้ Lactared Ringer ’s Soluine หรือ 50% Detrose in Normol Saline ก็ได้ ถ้าไม่สามารถให้ทางหลอดเลือด อาจให้กินทางปาก โดยใช้น้ำเกลือนอร์มัล ดีกว่าใช้น้ำธรรมดา ไม่ควรดื่มครั้งละมากๆ เพราะอาจอาเจียน น้ำธรรมดาไม่ช่วยเพิ่มเกลือแร่ที่เสียไป และมักจะทำให้เกิดอาเจียน เมื่ออาเจียนแล้วจะทำให้เสียเกลือแร่มากขึ้นไปอีก ถ้าไม่มีน้ำเกลือสำเร็จรูป อาจใช้น้ำส้มคั้นจางๆ ผสมน้ำเกลือ และน้ำตาล ซึ่งใช้ได้ดีมาก
6. ให้ยาระงับปวด ใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีความเจ็บปวดมากเท่านั้นที่ดีที่สุดคือยาที่ฉีดเข้าหลอดเลือดได้เช่น มอร์ฟีน หรือให้ดมไนตรัสอ๊อกไซด์ผสมอ๊อกชิเจน ทั้งสองอย่างที่กล่าวมา ต้องให้ด้วยความระมัดระวัง และเมื่อมีความจำเป็นจริง ๆ ถ้าให้ถูกวิธีจะมีประโยชน์มาก ไม่ควรให้ยาแก้ปวดทางปาก เพราะจะทำให้อาเจียนได้
7. นำส่งโรงพยาบาล
- อ่าน 16,291 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้