ใจเขาใจเรา
ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขลาราม เขียนไว้ว่า มนุษย์เรานั้นเกิดมาเพื่อเดินทาง การดำเนินชีวิตของคนเรานั้นตามวิสัยของชาวโลกเพื่อได้ “กิน” หรือ การบำรุงความสุขทางกายทั้งหลาย เพื่อ “กาม” หรือการได้รับความรักความอบอุ่นทางใจ และเพื่อ “เกียรติ” หรือความภาคภูมิใจในตนเอง ในการสรรเสริญจากผู้อื่นความต้องการต่างๆ เหล่านี้ส่วนหนึ่งติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เช่นเดียวกับสัตว์โลกทั้งหลาย แต่อีกส่วนหนึ่งได้รับมาจากการอบรมเลี้ยงดูและความนิยมในสังคมรวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่บุคคลผู้นั้นเจริญเติบตาตั้งแต่เป็นเด็ก
ในทางจิตวิทยานั้น กล่าวถึงปัญหาทางจิตใจว่าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่สำคัญก็ได้แก่ ความขัดสนทางการดำรงชีวิต เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ การไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการของบุคลนั้น และความรู้สึกว่าตนเองต้อยต่ำ เป็นต้น
อาการของโรคทางใจ ก็มีได้ตั้งแต่ความไม่สบายใจ ความกังวล ซึมเศร้า หงุดหงิด โกรธ เคียดแค้น ประพฤติตนก้าวร้าว หรือไม่ก็แยกตัว ถ้าหนักหน่อยก็เป็นอาการของโรคจิตหรือวิกลจริต เช่น ระแวง หูแว่ว หลงผิด ประสาทหลอน ในบางคนก็แสดงออกเป็นอาการเจ็บป่วยทางร่างกายที่พบป่วย เช่น ปวดหัว เจ็บหน้าอก เป็นลม ชาตามมือเท้า ปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน ความดันโลหิตสูง อาจถึงชัก แขนขาเป็นอัมพาต ตาบอด หูหนวกก็พบได้ อาการต่างๆ นี้เกิดขึ้น เมื่อดำเนินชีวิตของผู้นั้นประสบอุปสรรค หรือเกิดความขัดแย้งระหว่างความต้องการของเขากับสิ่งที่เขาได้รับ ทำให้ไม่สบอารมณ์ ผู้นั้นก็พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีต่างๆ ตามที่ได้เรียนรู้มาตั้งแต่วัยเด็กถ้าแก้ปัญหาได้ ได้รับความพอใจ อุปสรรคก็หมดไป ถ้าแก้ปัญหาไม่ก็ไม่พอใจ ความไม่สบายใจทั้งปวงก็คือ ทุกข์ นั่นเอง
หัวใจของคำสั่งสอนหรือธรรมะในพระพุทธศาสนา ก็คือ การขจัดความทุกข์ พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้หรือทรงค้นพบเรื่องความทุกข์และวิธีดับทุกข์ ซึ่งเราชาวพุทธควรจะได้นำมาพิจารณาและปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกัน ความทุกข์ และแก้ไขเมื่อเกิดทุกข์ขึ้นกับเรา
ผู้อ่านส่วนมากก็คงรู้จัก อริยสัจสี่ หรือ ความจริงแท้ 4 ประการ แล้วว่า พระพุทธองค์ตรัสรู้ถึง
- ความทุกข์ที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้
- ความทุกข์เกิดจากเหตุ
- ความทุกข์นั้นมีทางดับได้
- การดับความทุกข์นั้นมีข้อพึงปฏิบัติ
จะเห็นได้ว่าพระธรรมนั้นมุ่งดับทุกข์ ถ้านำปฏิบัติได้ก็จะช่วยรักษาหรือแก้ไขปัญหาทางจิตใจได้
เราลองมารู้จักการเกิดทุกข์ในทางพระพุทธศาสนากันก่อนดีไหม
มีผู้หญิงมากรายเมื่ออายุมากขึ้นจะมีความเศร้าโศกเสียใจที่บุตรชายสุดที่รักของเธอไปแต่งงานแล้ว “หลง” ภรรยามากกว่ารัก “แม่” ที่อาการหนักก็มีถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะความน้อยใจที่อุตส่าห์เลี้ยงดูมาด้วยความรักความเสียสละ บางคนก็หงุดหงิดเจ้าอารมณ์ ถ้าอาการมากและอยู่แรมเดือนแรมปีก็เป็นโรคประสาท โรคจิตได้
ถ้ามองด้วยธรรมะก็จะเห็นว่า ผู้หญิงเหล่านี้ หลง คิดว่าบุตรชายเป็น “บุตรของเรา” ไม่คิดว่าเขาโตขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติรักและเอาใจใส่บุตรภรรยานั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่แหลายคนก็อดที่จะนำตนไปเปรียบเทียบไม่ได้ ทั้งนี้ เราความยึดมั่นจนเกินไป
มีคนอีกหลายคนที่ทำกิจการค้าขายหรือประกอบอาชีพอื่น แล้วรู้สึกโกรธหรืเสียใจเมื่อผลงานไม่เป็นไปอย่างที่คิดหวังไว้ ไม่ได้กำไรมากพอหรือขาดทุน ไม่ได้ยศและคำสรรเสริญเท่าที่ต้องการก็เกิดความกระวนกระวายใจ เศร้าใจได้ หนุ่มสาวหรือแม้แต่ผู้ที่มีอายุแล้วที่ผิดหวังในเรื่องความรักก็เกิดอาการทุกข์ใจอย่างรุนแรง ในบางรายก็ต้องการให้คู่ครองประพฤติตนไปในทางที่ตัวเองคิดว่าควรจะเป็นจนเกินไป...ทางฝ่ายผู้เห็นธรรมะจะพิจารณาว่าทุกข์ที่กล่าวมานี้เกิดจากความโลภ คือความต้อการที่มากเกินไปจนทำให้ตนเองเดือดร้อนผิดหวังหรือทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ไปด้วยก็ได้
ที่พบบ่อยก็คือ ความไม่พอใจหรือความโกรธ เด็กๆ ที่ไม่ได้ของเล่นที่พี่หรือน้องกำลังเล่นอยู่ก็โกรธ อาจเข้าไปแย่งของเล่นมาหรือร้องไห้เสียใจ เมื่อเราโตขึ้นและถูกติฉินนินทาเราก็ไม่พอใจ ความลุ่มหลงในวัตถุหรือในของรักของหวงแล้วไม่ได้ดังใจเราก็อาจทำให้เรารู้สึกโกรธ ถ้าโกรธมากก็อาจนำไปสู่ความเคียดแค้น
โลภ โกรธ หลง เป็นอารมณ์ที่เกิดจากความอยากของเราเองเป็นเรื่องสำคัญ อยากมีอยากเป็นในหลายสิ่ง แล้วก็อยากให้สิ่งที่เราไม่ชอบพ้นไปจากเรา แต่เราก็มักจะโทษผู้อื่นว่าเป็นเหตุแห่งความทุกข์ของเรา ซึ่งก็เป็นความจริง ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นนั้นเป็นเหตุได้ ถ้าเราไม่ได้เตรียมรับสิ่งที่จะมากระทบกระเทือนใจเราก็ทำให้เป็นทุกข์
เราจะป้องกันหรือแก้ไขอย่างไรดีล่ะ
พระพุทธองค์ได้ทรงชี้แนะแนวทางให้เราปฏิบัติตนว่า ถ้าเราต้องการหลีกหนีจากทุกข์หรือหลบทุกข์ให้ได้เราก็ควรจะมองดูสิ่งแวดล้อมโดยความเป็นจริง มีสติและปัญญาที่จะรู้เท่าทันชีวิตเราเอง
ดูอย่างไรจึงจะรู้จักความเป็นจริงล่ะก็ควรดูแลยอมรับว่า
1. สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น คนสัตว์ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องไข้ ต้องตาย สิ่งของก็จะเสื่อมสูญเปลี่ยนรูปไปได้และไม่มีใครจะทำให้สิ่งใดคงที่อยู่ได้ ถ้าเราเข้าใจและยอมรับเสีย เราก็จะเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความทุกข์น้อยหรือไม่มีทุกข์ เช่น เมื่อคนที่เรารักจากไปหรือเปลี่ยนใจไป เราก็ไม่ประหลาดใจหรือตกใจเพราะเรารู้อยู่แล้วว่าคนเราเปลี่ยนไปได้ไม่วันใดวันหนึ่ง ลาภยศสรรเสริญที่เราเองมีอยู่ก็จะต้องสูญเสียไปสักวันหนึ่งเช่นเดียวกัน
2. สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ก่อให้เกิดความทุกข์ได้ เพราะมันมิได้คงอยู่นาน ถ้าเราไปยึดว่ามันจะอยู่กับเราเราก็ผิดหวัง ถ้าเราไปคิดว่าสิ่งใดจะไม่เปลี่ยนแปลง เราก็จะไม่สมหวังเพราะเราไปนึกคิดหรือยึดมั่นในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราจึงควรระวังตัวไว้เสมอเพระเรามักจะ “ปรุงแต่ง” สิ่งต่างๆ แล้วเราก็ยึดไว้
บางท่านอ่านแล้วจะแย้งว่าถ้าเช่นนั้น เราก็ไม่ควรไว้ใจอะไรเลยหรือมิได้เราควรจะเชื่อมั่นในตนเองและผู้อื่น แต่ควรเตรียมใจไว้บ้างเท่านั้นเพราะเรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน เพราะจะประสบความทุกข์แน่ๆ แต่เราไม่ควรเป็นทุกข์จนเกินไป หรือเราทุกข์แล้วเราก็ควรจะหาทางออกได้
3. ความจริงแล้ว สิ่งต่างๆ ในโลกนี้มิได้มีตัวตน ข้อนี้ถ้าจะยากสักหน่อยที่เราจะยอมรับก็เราเห็น เราจับต้องได้นี่นา จะว่าไม่มีตัวตนได้อย่างไรกัน ทางธรรมะถือว่าสิ่งต่างๆ ในโลกนี้เป็นการรวมตัวของของหลายอย่าง แต่ถ้าเราดูถึงการเปลี่ยนแปลงด้วยก็จะเห็นว่าในที่สุดสิ่งทังหลายก็จะสลายตัวไป คนสัตว์ก็ต้องตายไปในที่สุด บ้านเรือนข้าวของของเราหรือของผู้อื่นก็พังทลายลงสักวันหนึ่ง ที่จริงแล้วเราสมมตขึ้นว่าสิ่งนั้นๆ มีชื่อต่างๆ กันนั่นเอง
ข้อนี้ถ้าจะเข้าใจยาก ยอมรับยากสักหน่อย
สรุปก็คือว่า ความอยากของเราเมื่อกระทบกับสิ่งภายนอกตัวเราหรือเหตุการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดอารมณ์พอใจ หรืออารมณ์ไม่พอใจ ซึ่งผลก็คือ ความทุกข์ นั่นอง คงจะมีบางท่านค้านว่าอารมณ์ที่พอใจเราก็อยากได้ในสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นอีก เมื่อไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือกลัวว่าจะไม่ได้ก็เกิดทุกข์ขึ้นแล้ว
เราจะนำธรรมะมารักษาใจเราได้อย่างไรกันดี มีผู้รู้แนะนำไว้หลายวิธีสรุปได้ดังนี้
เราควรรู้จักชีวิต รู้จักความจริงของธรรมชาติ คือ “ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่มีตัวตน” เพื่อเตรียมตัวไว้
เราควรรู้จักกับปัญหาในการดำเนินชีวิต รู้ว่าเหตุแห่งความทุกข์กายทุกข์ใจนั้น ได้แก่ ความอยาก คือ ความโลภ โกรธ หลง ควรมองกว้างในชีวิตของตนเองและผู้อื่นโดยเฉพาะรู้จักตนเองให้ชัดเจน
การเรียนรู้การดำเนินชีวิต ควรมีหลายวิธี ยอมรับความจริงในหลายๆ ด้าน มองให้รอบทั้งด้านดีและด้านไม่ดี หัดยอมรับทั้งผลดีและผลไม่ดี
มีความอดทนในการเผชิญชีวิตอย่างมีสติ คือ ความรู้ตนและรู้โลก พยายามแก้ไขปัญหาที่ตนเอง อย่าโทษผู้อื่น ใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาช่วย คือ
- มีปัญญาในการเห็นความจริงของธรรมชาติในโลกนี้
- ลดการปรุงแต่งของความรู้สึกมิให้มากเกิน
- ลดความอยากให้น้อยลง
- ลดการยึดมั่นในสิ่งต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ให้มาก ๆ
- ควบคุมตนเองในด้านความคิด การพูด การกระทำ
- รู้จกบทบาท สิทธิ และหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม
เราก็จะมีความทุกข์น้อย หรือไม่ทุกข์เลย เมื่อของรักของเราหาย ผู้ที่เป็นที่รักของเราจากไป หรือเมื่อเราเสื่อมในลาภยศสรรเสริญ แต่ก็มีผู้ปฏิบัติตนโดยยึดธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตมามาก ท่านเหล่านั้นก็ต่างยืนยันในผลต่อจิตใจอย่างแน่แท้
- อ่าน 5,073 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้