• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การป้องกันโรค ความหวังอันสูงสุด

ปกติแล้วประชาชนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าการแพทย์คือ การรักษาคนไข้ให้หายจากโรคแต่เพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วการป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่างหากที่เป็นความหวังสูงสุดที่ทางการสาธารณสุขต้องการ การรักษาเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการป้องกันเท่านั้น
เราอาจแบ่งการป้องกันออกได้เป็น 3 ชนิดคือ

1. การป้องกันขั้นต้น
2. การป้องกันขั้นที่ 2 (ป้องกันการตายหรือความพิการ)
3. การป้องกันขั้นที่ 3 (การฟื้นฟูสมรรถภาพ)

การป้องกันขั้นต้น
เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคในแต่ละคน โดยใช้มาตรการชนิดหนึ่งใดชนิดใดที่จะไปขัดขวางกระบวนการของการเกิดโรค เช่น การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ผู้ที่ได้รับวัคซีนก็จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองไม่ให้เป็นโรคนั้นๆ แม้จะได้รับเชื้อโรคเข้าไป

ตัวอย่างของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน คางทูม และวัณโรค เป็นต้น

หรือการใส่ทรายอะเบตในตุ่มน้ำที่ใช้บริโภคเพื่อทำลายตัวอ่อนของยุงลาย มีจุดประสงค์เพื่อลดจำนวนยุงลาย เป็นการลดการแพร่ไข้เลือดออก

การไม่สูบบุหรี่ก็เป็นการป้องกันขั้นต้นมิให้เกิดมะเร็งปอด

การป้องกันขั้นที่ 2
เมื่อมีโรคเกิดขึ้นแล้วในคนต้องรีบให้การรักษาให้หายโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยต้องเกิดความพิการมากหรือถึงขั้นเสียชีวิต

ตัวอย่างโรคที่เมื่อรักษาด้วยยาหรือวิธีทางการแพทย์ที่ถูกต้องจะลดอัตราตายลงได้อย่างมาก ได้แก่ ปอดบวม ไข้เลือดออก โรคหัดที่มีโรคแทรกซ้อน เป็นต้น

ผลพลอยได้จากการรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรค โดยการใช้ยาก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อยู่ใกล้ชิดเกิดป่วยตามมาได้ ทั้งนี้กระบวนการป้องกันนี้จะสำเร็จด้วยดี ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรค และกินยาให้ครบตามขนาดที่แพทย์สั่ง

ตัวอย่างโรคที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้ ได้แก่ วัณโรค หากปล่อยให้เป็นมากจนเชื้อออกมากับเสมหะ และมีอาการไอมากแล้ว โอกาสที่ผู้ป่วยรายนั้นจะแพร่โรคไปสู่ญาติใกล้ชิดหรือลูกหลานก็มีมาก

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเริ่มมีอาการไอเรื้อรัง 3-4 สัปดาห์แล้วยังไม่หาย หากสามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นวัณโรค การรักษาก็ได้ผลดี การแพร่โรคสู่ชุมชนก็ยังมีน้อย ดังนี้ก็เรียกว่า การรักษา เป็นการป้องกันขั้นที่ 2 ต่อตัวคนไข้และเป็นการป้องกันขั้นต้นต่อผู้ใกล้ชิด

การป้องกันขั้นที่ 3
เป็นการป้องกันมิให้เกิดความพิการขึ้นมา หรือถ้าเกิดก็ให้เกิดน้อยที่สุด โดยการรักษาหรือฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยให้ใกล้เคียงกับสภาพปกติ มากที่สุด

เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อน เมื่อเกิดเป็นขึ้นมาแล้ว ผู้ป่วยไม่สนใจติดตามรักษาให้หายขาด ปล่อยให้เป็นมากจนถึงขั้นข้อต่างๆถูกทำลาย

การป้องกันขั้นนี้ก็คือ พยายามรักษาข้อที่ถูกทำลายให้สามารถทำหน้าที่ได้สูงสุดเท่าที่จะทำได้ การป้องกันขั้นนี้อาจเรียกว่า เวชศาสตร์ฟื้นฟูก็ได้

กระทรวงสาธารณสุขก็ได้พยายามจัดให้มีบริการการป้องกันทั้ง 3 ระดับนี้ขึ้นมา เช่น
การป้องกันขั้นต้นก็ได้จัดให้มีกองวิชาการต่างๆทำหน้าที่นี้ เช่น กองโรคติดต่อทั่วไป มีหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนส่งให้สถานีอนามัยต่างๆแลโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในการฉีดให้แก่เด็ก หรือกองมาเลเรีย มีหน้าที่ในการพ่นหมอกควันทำลายยุงก้นปล่อง ที่เป็นพาหะมาลาเรีย เป็นต้น

การป้องกันขั้นที่ 2 ก็จัดให้มีโรงพยาบาลในระดับจังหวัด ระดับอำเภอให้มีขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้บริการในการให้การวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆ

การป้องกันขั้นที่ 3 ได้จัดให้มีโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขความพิการ เช่น โรงพยาบาลโรคเรื้อน ให้บริการผ่าตัดแก้ไขความพิการของข้อในผู้ป่วยเป็นต้น

ในบรรดาการป้องกันทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ การป้องกันขั้นที่ 1 นับเป็นการป้องกันที่ถูกหลักเวชศาสตร์ในการป้องกันการเกิดโรค และลงทุนน้อยที่สามารถเก็บเกี่ยวผลกำไรจากการที่ประชาชนทั่วไปไม่ป่วย มีสุขภาพแข็งแรงดี

การป้องกันในขั้นนี้เป็นวิธีการป้องกันที่ชมรมเวชศาสตร์ป้องกันมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่ต้องการจะเผยแพร่ความรู้ในด้านนี้ให้แพร่หลายแก่ประชาชนทั่วไปนั่นเอง

ฉบับหน้าพบกับ โรคหัด

 

ข้อมูลสื่อ

105-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 105
มกราคม 2531
นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์